28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

May 16,2020

3 เจ๊งหากไร้มาตรการรองรอง เปิดวิ่งรถโดยสาร

จากการที่ โคราชเดลี่ ได้เสนอข่าว เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 เวลา 10.20 น. โดยเนื้อหาของข่าวนั้นได้นำเสนอ ความคืบหน้าของการกลับมาเปิดบริการเดินรถโดยสารข้ามจังหวัด  https://www.facebook.com/KoratDaily/photos/a.420002544687181/3062655773755165/?type=3&theater

โดยนายจรูญ จงไกรจักร จากสำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยระหว่างแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ว่า ได้ประสานกับผู้ประกอบการรถโดยสารกว่า 20 ราย ถึงความพร้อมในการเดินรถว่ามีมากน้อยแค่ไหน โดยผู้ประกอบการ 90% ยังกังวลในนโยบายจากกระทรวงคมนาคม

 คือ การเว้นระยะห่างบนรถโดยสาร หากเดินรถแล้ว เว้นระยะห่าง สามารถรับผู้โดยสารได้ 50% ของพื้นที่นั่ง ยังขาดทุน และไม่คุ้มที่จะเกิดการเดินรถ  ดังนั้น ผู้ประกอบการเกือบ 30 เส้นทาง ยังไม่มีความพร้อม รวมถึงความชัดเจนใน การชดเชยสำหรับผู้ประกอบการของกระทรวงคมนาคม        ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด และนครชัย 21 ได้แสดงความเห็น และเสนอมาตรการเยียวยาฟื้นฟูรถสาธารณะ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีเนื้อหาว่า

 

3 เจ๊งหากไร้มาตรการรองรับ

3เจ๊ง   ที่จะเกิดกับระบบขนส่งสาธารณะภายใต้มาตรการเว้นระยะห่าง Social Distancing ถ้าจะกำหนดให้เปิดวิ่งให้บริการโดยไม่กำหนดมาตรการฟื้นฟูรองรับ

มีคำถามว่า การเปิดการเดินรถ ควรเปิดเมื่อไร? คงต้องตั้งคำถามว่า รถสาธารณะที่มีที่นั่งแน่นอน ยังคงให้กันที่นั่งเว้น ระยะห่างหรือไม่ หากยังคงนโยบายนี้กับรถสาธารณะ ปัญหาที่ตามมา ก็ขึ้นอยู่ว่า ใครจะรับแบกภาระปัญหานั้น ซึ่งไม่ว่าใครจะรับภาระนั้น ก็จะเกิดอาการ เจ๊ง!!! ตามหัวข้อที่ตั้งขึ้นมา
                1. ผู้ประกอบการเจ๊ง คือ รับผู้โดยสารได้เพียง 50 % ของจำนวนที่นั่งต่อคัน ภายใต้ค่าโดยสารเดิม ทั้งที่ อัตราการบรรทุกที่จะประกอบการได้ อยู่ที่ 70-75% ของจำนวนที่นั่ง บังคับให้วิ่งแต่ไม่ช่วยเหลือชดเชยการขาดทุน (ไม่ต้องให้กำไรก็ได้) ก็เจ๊ง และบางรายอาจจะไปเบียดเบียนผู้โดยสารด้วยการเก็บเกินราคา หรือ บรรทุกคนเกินตบตาเจ้าหน้าที่ ก็จะเป็นปัญหาเชิงปฏิบัติ ที่ต้องมาตามแก้กันอีกไม่สิ้นสุด
                 2. รัฐบาลเจ๊ง คือ ถ้ารัฐยังคงนโยบายเว้นระยะห่างในรถสาธารณะและบังคับให้เปิดการเดินรถ ก็ควรต้องมีหน้าที่ชดเชยส่วนต่างของที่นั่งที่หายไปตามอัตราการบรรทุกที่ประกอบการได้ ซึ่งรัฐบาลคงเจ๊งอีก เพราะต้องชดเชยเงินจำนวนมากทั่วประเทศ ทั้งที่ภาวะปัจจุบันก็ใช้งบประมาณไปจำนวนมากแล้ว (แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรทำและต้องทำนะ ถ้าคิดจะเปิดบริการด้านการขนส่งทั่วประเทศจริงๆ)
                3. ประชาชนเจ๊ง ถ้า ผลักภาระไปที่ผู้โดยสารโดยการขึ้นราคาส่วนหนึ่งเพื่อชดเชยที่นั่งที่หายไป ประชาชนที่ต้องใช้รถสาธารณะ ซึ่งหลักๆก็เป็นผู้มีรายได้น้อย และภาวะโรคโควิด-19 นี้ ทำเอากระเป๋าแบนแฟบกันทั้งประเทศ ถ้าต้องควักเงินจ่ายมากขึ้น จะดำรงชีวิตกันต่อไปอย่างไร
                ย้อนกลับมาดู ต้นตอปัญหาที่จะทำให้ระบบสารธารณะล่ม คือ การเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ซึ่งที่ผ่านมา ไม่ผิดที่รัฐบาลกำหนดแนวทางป้องกันและหยุดการแพร่เชื้อด้วยการเว้นระยะห่างในทุกๆการประกอบการ แต่ผ่านมาจนวันนี้ อยากเปิดวิ่งรถ แต่จะคงมาตรการทุกชนิดโดยไม่ปรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ใครจะรับภาระเจ๊ง รัฐบาลต้องคิดละ!!!

 การสร้างกระแส การให้ข้อมูล ความตื่นตระหนก ในช่วงแรกเป็นผลดีทำให้ประชาชนตื่นตัว ป้องกัน และส่งผลถึงสถานการณ์ที่ดีขึ้นในวันนี้ และเห็นด้วยที่เรายังต้องควบคุมกันต่อการ์ดอย่าตก แต่เมื่อเราดีขึ้น และเริ่มมองภาพอนาคตในการฟื้นฟูการกลับมาใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การเร่งรัดฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้ นโยบายต้องไม่ติดเชื้อกันซ้ำอีก รถสาธารณะซึ่งเกี่ยวข้องกับการเดินทาง จึงถูกยกขึ้นมาเพื่อกำหนดกรอบเวลาในการกลับมาเดินรถและมาตรการการเดินรถที่ปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน สถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อมองภาพว่า การเว้นระยะห่าง ทำให้ไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเจ๊ง!!! คงต้องย้อนกลับมามองข้อเท็จจริงว่า การระบาดของไวรัสชนิดนี้ ในช่วงก่อนหน้าและปัจจุบันเป็นอย่างไร อย่ายึดติดกับ กรณีเมื่อเดือน มกราคม ที่ คนขับแท็กซี่ และ คนขับรถนำเที่ยว ติดเชื้อจากทัวร์จีนหรือคนจีน จนเป็นข่าวดัง

 ในขณะนั้น คนขับรถ มีการป้องกันตัวที่ต่ำมากใช่หรือไม่ แมสไม่ใส่ หรือใส่ก็เหมือนไม่ใส่ ยังคงใช้มือสัมผัสทุกสิ่งและเอาเข้า ปาก จมูก แต่หลังจากประชาชนตระหนัก เข้าใจช่องทางการรับเชื้อมากขึ้น อัตราการติดเชื้อลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่

และที่ผ่านมา เชื่อว่า มีผู้ติดเชื้อ เดินทางกับรถสาธารณะที่ถูกตรวจพบจำนวนมากจากการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับบ้าน เมื่อตรวจไทม์ไลน์การเดินทาง และติดตามผู้ที่อยู่ในรถคันเดียวกัน มีผู้ติดเชื้อต่อเนื่องจากคนคนนั้นหรือไม่ ที่โคราช มีผู้ติดเชื้อจากแหล่งอื่นมาก่อนและเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง เกือบ 10 ราย (ประมาณการจากข่าว) และการติดตามยังไม่พบว่า คนที่เดินทางในรถคันเดียวกัน ติดเชื้อเพิ่มหรือแม้แต่ พนักงานประจำรถคันนั้น ก็ไม่ได้ติดเชื้อแต่ประการใด

เสนอมาตรการเยียวยารถโดยสาร

เหตุผลที่ไม่ติด เชื่อว่า เพราะทุกคนป้องกันตนเองอย่างเข้มงวดเมื่อต้องเดินทางภายใต้ภาวะวิกฤตนี้ ถ้าขึ้นรถสาธารณะ นั่งในที่นั่งที่กำหนด ใส่แมส ไม่พูดไม่คุย ไม่ทานอาหาร (ไม่เปิดแมส เปิดปาก เปิดจมูก) ย่อมมีความเสี่ยงต่ำมากในการรับเชื้อ ซึ่งประเด็นนี้ อยากให้ สาธารณสุขเอาข้อเท็จจริงประกอบกับหลักทางการแพทย์มาสรุปเพื่อความชัดเจน ดังนั้น หากจะเปิดการเดินรถ ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เจ๊ง!!!! ควรต้องพิจารณาเงื่อนไขความจำเป็นในการเว้นระยะห่างสำหรับรถที่มีที่นั่งแน่นอน ก่อนจะมีคำสั่ง ส่วนถ้าไม่คิดจะขยับมาตรการเยียวยาฟื้นฟูอย่างไรกับรถสาธารณะ คิดจะสั่งการอย่างเดียว ก็จงหยุดการเดินรถต่อไปเถอะ ไหนๆเขียนแล้วขอเสนอมาตรการดังนี้

 

          1. ยกเลิกการเว้นระยะห่างในรถสาธารณะที่มีที่นั่ง เพื่อให้กลับมาวิ่งได้ โดยไม่ต้องผลักภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตามวันเวลาที่ภาครัฐเห็นควรว่า เหมาะสมว่าจะเปิดวิ่ง
          2. กำหนดให้ผู้ประกอบการ วัดไข้ผู้โดยสารทุกคน และ จัดเจลล้างมือไว้ให้บริการ ทั้งก่อนขึ้นรถและในรถ กรณีที่ผู้ประกอบการสงสัยในอาการของผู้โดยสาร กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่สาธารณะสุข 1 คน ประจำทุกสถานนีขนส่ง เพื่อตรวจสอบและตัดสินใจในการอนุญาตให้โดยสารหรือเดินทาง
          3. กำหนดให้ผู้โดยสารต้องใส่แมสทุกคน ประชาสัมพันธ์ให้ งดทานอาหาร พูดคุย สัมผัสบุคคลอื่น (ป้องกันการเปิดปาก จมูก)
          4. รถทุกคัน ผู้ประกอบการควรทำความสะอาด เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกเที่ยว โดยเฉพาะจุดสัมผัสต่างๆ
          5. กรณีรถมีระยะทางยาว หากต้องบริการอาหาร ต้องกำหนดจุดจอดทานอาหาร เพื่อจอดให้ผู้โดยสารลงทานอาหาร และที่ร้านอาหาร เมื่อผู้โดยสารต้องเปิดปาก มีการสัมผัสอุปกรณ์ต่างๆด้วยมือ ร้านอาหารต้องปฏิบัติตามมาตรการเข้มงวดในการให้บริการตามนโยบายรัฐเพื่อความปลอดภัย
          6. พนักงานประจำรถต้องใช้มาตรการป้องกันเช่นเดียวกับผู้โดยสาร และ งดการสัมผัสระหว่างกันในการให้บริการ งดการแจกอาหารของบริโภคภายในรถ การซื้อตั๋ว ขายตั๋ว ใช้มาตรการเว้นระยะและลดกระบวนการที่ต้องสัมผัส เงิน สิ่งของ ระหว่างกันให้มากที่สุด
          7. บันทึกข้อมูลผู้โดยสารทุกคนให้ครบถ้วนตามแบบฟอร์ม ต.8 เพื่อติดตามได้ในภายหลัง กรณีเกิดปัญหาหรือต้องการข้อมูล
          8. ใช้จุด ChecK Point ที่กำหนดโดยกรมการขนส่งทางบก ที่มีทุกระยะตลอดเส้นทางให้เป็นประโยชน์ ในการควบคุม ตรวจสอบ ประชาสัมพันธ์ผู้โดยสารตลอดการเดินทาง
แต่ทั้งนี้หากพิจารณาแล้วว่า รถสาธารณะยังคงต้องเว้นระยะ ภายใต้ความเชื่อหรือข้อเท็จจริงก็ตาม ต้องพิจารณาว่า จะยอมให้ใครเจ๊ง!!! ซึ่งก็สมควรที่รัฐ จะยอมชดเชย เพื่อให้ ผู้ประกอบการและผู้โดยสาร สามารถประกอบการและเดินทางได้ภายใต้นโยบายเว้นระยะบนรถสาธารณะ แต่หากรัฐไม่หาทางออก เลือกใช้วิธีสั่งการเพียงอย่างเดียว โดยไม่พิจารณาเยียวยาผลกระทบ ทั้ง 3 ด้านดังกล่าว การเปิดให้บริการ จะยังคงเป็นปัญหากับทุกฝ่าย ทั้งการป้องกันการระบาด ปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการและผู้โดยสารต่อไปแบบคาราคาซัง เรื่องนี้ ใครจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวดี........

 

 


771 1432