19thApril

19thApril

19thApril

 

May 28,2020

โคราชพิชิตโควิด-๑๙ ไข้เลือดออกระบาดแทน เสียชีวิตแล้ว ๒ ราย

 

โคราชพิชิตโควิด-๑๙ ไข้เลือดออกระบาดแทน เสียชีวิตแล้ว ๒ ราย

วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา จัดการแถลงข่าวสถานการณ์การป้องกันและเฝ้าระวังโควิด-๑๙ โดยมีนายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายแพทย์วิญญู จันทร์เนตร รอง นพ.สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และ นพ.ธนณัท สุเมธเชิงปรัชญา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ร่วมแถลงอย่างเป็นทางการถึงสถานการณ์โควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา


นายแพทย์วิญญู จันทร์เนตร กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาพบผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-๑๙ จำนวน ๑๙ ราย โดยขณะนี้ทุกรายรักษาหายทั้งหมด และกลับบ้านแล้วจำนวน ๑๘ ราย รวมรายล่าสุด (รายที่ ๘) ด้วย แต่เหลือ ๑ ราย ยังต้องกักตัวที่ รร.ปัญจดารา คือรายที่ ๑๙ จากจำนวนผู้ผ่านระบบคัดกรองทั้งหมด ๑๐๒,๖๗๗ ราย พบว่า มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อ จำนวน ๑,๐๙๙ ราย ไม่พบเชื้อจำนวน ๑,๐๒๗ ราย รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการจำนวน ๘ ราย สรุปยอดผู้กักตัว (๓๐ มีนาคม ๒๕๖๓-ปัจจุบัน) ยอดสะสม ๒๒๗ ราย กักตัวครบ ๒๑๘ ราย กักตัวอยู่ ๙ ราย (รร.ปัญจดารา) จากข้อมูลศูนย์ COVID-19 KORAT พบว่า มีผู้ที่เดินทางเข้าจังหวัดนครราชสีมา รายงานจาก ๓๒ อำเภอ รวม ๖๒,๓๑๒ ราย เฝ้าระวังครบ ๑๔ วันจำนวน ๕๗,๕๒๕ ราย ปัจจุบันติดตามต่อเนื่องจำนวน ๔,๗๘๗ ราย


“ต้องขอแสดงความยินดีกับชาวโคราชทั้งหมด วันนี้มีผู้ป่วยทั้งหมด ๑๙ ราย รักษาหายทั้งหมดแล้ว เนื่องจากผู้ป่วยรายสุดท้ายเป็นรายที่ ๘ รักษาอยู่ที่ โรงพยาบาลโชคชัย เมื่อวานนี้ทางทีมแพทย์โรงพยาบาลมหาราช ทีมแพทย์โรงพยาบาลโชคชัยและสาธารณสุขจังหวัดฯ ไปตรวจซ้ำ ผลออกมาเป็น Negative (ลบ) สรุปว่า แอดมิททั้งหมดนับถึงวันนี้เป็นวันที่ ๕๘ เป็นรายที่อยู่โรงพยาบาลนานที่สุดในประเทศไทย การหายป่วยในโคราชยอมรับได้ตรงที่ผลเป็น Negativ เท่านั้น โดยหลักการแล้วผลเป็น Negative คือไม่พบเชื้อแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนก็สบายใจได้ ผู้ป่วยไม่สามารถที่จะแพร่เชื้อได้อีกแล้ว ทุกคนที่อยู่ในชุมชนเตรียมรับกลับเข้าชุมชนด้วยความสบายใจ แต่ทั้งนี้ การ์ดเราต้องไม่ตก แปลว่าต้องใส่หน้ากาก ล้างมือด้วยเจลล้างมือ การเว้นระยะห่าง เรายังคงต้องทำอยู่ อย่าให้มีการระบาดรอบที่ ๒ มาตรการต้องทำแบบนี้เสมอ ในขณะที่มีการผ่อนคลายมาตรการทางสังคม มาตรการทางสาธารณสุข การ์ดเราก็ต้องไม่ตก ต้องคิดเสมอว่า ความปลอดภัยขึ้นอยู่กับเราเอง เมื่อเราดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ก็จะทำให้เราปลอดภัย รวมถึงหลายๆ โรคด้วยไม่ใช่เฉพาะแค่โควิด-๑๙” นพ.วิญญู กล่าว


ในส่วนของนโยบายการเปิดโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมถึงการคลายความตึงเครียด คลายความกังวล ที่จริงแล้วมีมาตรการของกรมอนามัยอยู่แล้วในเรื่องการเปิดสถานบริการ เรื่องความสะอาด การป้องกันโรค  สิ่งที่จะต้องดำเนินการเข้าไปสนับสนุนคือ ช่วยแนะนำ ช่วยตรวจตราไม่ให้การ์ดตก ถ้าวันใดวันหนึ่งลดมาตรการนี้ ต้องไม่นิ่งนอนใจว่าโรคนี้จะกลับมาอีกไหม ซึ่งเห็นในหลายๆ ประเทศ หลายพื้นที่ยังมีเหตุการณ์แบบนี้อยู่ ในโคราชก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ต้องบอกผู้ประกอบการร่วมมือกัน ประชาชนที่ใช้บริการก็ต้องร่วมมือกันทั้งผู้ให้และผู้รับบริการต้องมีมาตรการความปลอดภัยตรงนี้เสมอ
ต่อข้อถามว่า “ในเมื่อเราไม่พบผู้ติดเชื้อ แสดงว่า ไม่มีเชื้ออยู่แล้วใช่หรือไม่” นายแพทย์วิญญู กล่าวว่า กรณีที่เราไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อ ไม่พบไม่ได้แปลว่า ไม่มี ไม่พบอาจจะแปลว่าซ่อนอยู่ จึงต้องเสริมในมาตรการของการตรวจหาที่เรียกว่า active case finding ลองหาคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยว่าจะเจอไหม นี่เป็นมาตรการที่กำลังทำ เริ่มทำตั้งแต่วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓  โคราชจะทำ case active  finding ประมาณ ๒,๗๖๓ ตัวอย่างคน จะพยายามหาเท่าที่หาได้ ไม่พบไม่ได้หมายความว่าไม่มี  อาจจะมีโดยที่ไม่รู้ จะพยายามทำให้ดีที่สุด สิ่งที่กังวลคืออาจจะมีเชื้อที่หลบเข้ามาจากข้างนอกซ่อนอยู่ มากับคนโดยไม่แสดงอาการ  ต้องตรวจหาแบบนี้ ขณะนี้มาตรการคนจากข้างนอกเข้ามายังต้องมีอยู่  มาตรการเรื่องความปลอดภัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ยังต้องมีอยู่ ช่วงระยะ ๑-๒ ปี  ต้องทำแบบนี้  กรณีเดินทางข้ามเขต ไปพื้นที่ไหนต้องลงทะเบียนพื้นที่นั้น โดยเฉพาะในโคราช คนที่มาจากต่างจังหวัดต้องไปลงทะเบียนกับเจ้าพนักงานควบคุมโรค นายอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ เจ้าหน้าที่ รพ.สต. และเจ้าหน้าที่ อสม. ให้รับทราบ  เผื่อว่าวันใดวันหนึ่งเราตรวจเจอเชื้อจะได้ไล่ไทม์ไลน์ได้ถูก นั่นคือมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่เราทำมาตั้งแต่แรก


“ขณะนี้เป็นช่วงประจวบเหมาะพอดีกับเข้าหน้าฝน ไข้เลือดออกซึ่งนำโดยยุงลาย ขณะนี้ที่โคราชโรคไข้เลือดออกเริ่มระบาด ขณะนี้มีอัตราผู้ป่วย ๓๗ ต่อ ๑๐๐,๐๐๐ ประชากร  โคราชอยู่ประมาณลำดับที่ ๕ ของประเทศ เพราะฉะนั้นที่ใดก็ตามที่มีแหล่งน้ำนิ่งขังอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือรอบบ้าน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เราไม่อยากให้คนที่อยู่บ้านในขณะนี้นอกจากจะเผชิญความเสี่ยงต่อโควิด-๑๙ แล้ว  ต้องเผชิญความเสี่ยงต่อไข้เลือดออกอีก เพราะยุงลายหากินในบ้านและรอบๆ บ้าน เชิญชวนให้ทุกคนที่อยู่ที่บ้านกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กะลาที่ขังน้ำต่างๆ จัดการให้เรียบร้อย พยายามฉีดสเปย์สัปดาห์ละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อยในบ้าน เพื่อฆ่าตัวแก่ เป็นการตัดวงจรของยุง เมื่อไรก็ตามที่ผ่านภาวะนี้ไปแล้ว ถ้ามีไข้ แล้วไข้ไม่ลงเกิน ๔๘ ชม. ต้องพบแพทย์ อย่านิ่งนอนใจหรือถ้าปล่อยไปมากกว่านั้นอาจจะทำให้เกิดการรักษาที่ยากขึ้น เกิดภาวะช็อกจนกระทั่งเสียชีวิตได้” นพ.วิญญู กล่าว
ไข้เลือดออกเสียชีวิต ๒ ราย


ล่าสุดวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ศูนย์บัญชาการเหตุตอบโต้โรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.สุผล ตติยนันทพร รอง นพ.สสจ.นครราชสีมา และ พญ.สาวิตรี วิษณุโยธิน นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รพ.มหาราชนครราชสีมา ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดต่อโควิด-๑๙ โดยการแถลงข่าวมีการปรับเปลี่ยนเวลาเหลือ ๓ วัน คือ จันทร์-พุธ และวัน ศุกร์


นพ.สุผล ตติยนันทพร แถลงว่า สถานการณ์โรคโควิด-๑๙ ปัจจุบันไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มติดต่อกัน ๓๐ วัน โดยขณะนี้มีผู้ป่วยสะสม ๑๙ ราย และรักษาหายทั้งหมดแล้ว ซึ่งวันนี้มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อ ๑,๑๗๔ ราย ไม่พบเชื้อ ๑,๑๕๑ ราย รอผลตรวจ ๔ ราย แม้ว่าสถานการณ์โรคโควิด-๑๙ ของโคราชจะคลี่คลายแล้ว แต่ขณะนี้มีโรคที่ระบาดรุนแรงเช่นเดียวกันคือโรคไข้เลือดออก ซึ่งโคราชพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นอันดับที่ ๖ ของประเทศ จำนวน ๑,๐๓๗ ราย เสียชีวิต ๒ ราย (อำเภอโนนสูง ๑ ราย และอำเภอสีคิ้ว ๑ ราย) โดยอำเภอที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ๑๐ อันดับ ดังนี้ ๑.อำเภอโนนไทย อัตราป่วย ๑๒๐.๔๔ ต่อแสนประชากร ๒.อำเภอโชคชัย อัตราป่วย ๖๙.๓ ต่อแสนประชากร ๓.อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อัตราป่วย ๖๖.๖๕ ต่อแสนประชากร ๔.อำเภอโนนสูง อัตราป่วย ๖๒.๘๙ ต่อแสนประชากร ๕.อำเภอประทาย อัตราป่วย ๖๒.๕๖ ต่อแสนประชากร ๖.อำเภอขามทะเลสอ อัตราป่วย ๖๐.๐๖ ต่อแสนประชากร ๗.อำเภอสูงเนิน อัตราป่วย ๕๙.๕๔ ต่อแสนประชากร ๘.อำเภอเมือง อัตราป่วย ๕๗.๕๕ ต่อแสนประชากร ๙.อำเภอพิมาย อัตราป่วย ๕๕.๔๙ ต่อแสนประชากร และ ๑๐.อำเภอจักราช อัตราป่วย ๕๓.๙๖ ต่อแสนประชากร

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๒๙ วันพุธที่ ๒๗ เดือนพฤษภาคม - วันอังคารที่ ๒ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓


708 1344