28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

July 03,2020

โพลชี้คนอีสานใส่ใจท้องถิ่นน้อย เลือกตั้งส.ส.สำคัญกว่า ส่วนใหญ่รับได้กับการซื้อเสียง

‘อีสานโพล’ สำรวจความเห็นกลุ่มตัวอย่าง ๑,๑๐๖ ราย อ้างคนอีสานให้ความสำคัญกับการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส. มากกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น ระบุจะเลือกพรรคที่ชอบ นโยบายหาเสียง และประวัติผลงาน ผู้สมัคร ส่วนใหญ่รับได้กับการซื้อเสียง แต่จะเลือกคนที่ชอบ 

ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจเรื่อง “คนอีสานกับการการเลือกตั้งท้องถิ่น” ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๓ จากกลุ่มตัวอย่างอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป จำนวน ๑,๑๐๖ ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ๒๐ จังหวัด เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานที่มีต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น 

ผลสำรวจพบว่า คนอีสานให้ความสำคัญกับการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส. มากกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเห็นว่า ช่วงมกราคม-มีนาคม ๒๕๖๔ เหมาะสมเลือกตั้งท้องถิ่นมากที่สุด ซึ่งมี ๓ ปัจจัยสำคัญในการชนะเลือกตั้งท้องถิ่นในอีสาน คือ การสังกัดพรรคที่ชอบ นโยบายหาเสียง ประวัติและผลงานผู้สมัคร ส่วนใหญ่รับได้กับการซื้อเสียงแต่จะเลือกคนที่ชอบ การสังกัดพรรคเพื่อไทยจะทำให้ได้เปรียบการเลือกตั้งท้องถิ่นที่สุด ตามมาด้วยพรรคพลังประชารัฐ ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าเหมือน กทม. เกินครึ่งต้องการภายใน ๕ ปี และคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยยังนำเป็นอันดับ ๑

เมื่อสอบถามว่า การเลือกตั้งใดที่ให้ความสำคัญในการไปใช้สิทธิ์มากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ ๗๔.๙ ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ส.ส. มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ ๑๒.๕ ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง อบต. หรือ เทศบาล และ ร้อยละ ๔.๖ ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง อบจ. ในขณะที่ร้อยละ ๘.๐ ไม่แน่ใจ

ในประเด็นคำถามเมื่อถามต่อว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น (อบจ. อบต. และ เทศบาล) ควรจัดในช่วงใด? พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ ๕๐.๑ เห็นว่าช่วงเดือนมกราคม–มีนาคม ๒๕๖๔  เหมาะสมมากที่สุด รองลงมา ร้อยละ ๒๑.๓ เห็นควรให้เร่งจัดเลือกตั้งในช่วง สิงหาคม–กันยายน ๒๕๖๓  ตามมาด้วยช่วง ตุลาคม–ธันวาคม ๒๕๖๓ ร้อยละ ๒๐.๒ และมีเพียงร้อยละ ๘.๔ ที่คิดว่าควรจัดช่วง เมษายน–มิถุนายน ๒๕๖๔ 

เมื่อถามต่อว่า ท่านต้องการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งท้องถิ่นครั้งหน้ามากน้อยเพียงใด? พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ ๕๖.๗ ต้องการใช้สิทธิ์มาก รองลงมา ร้อยละ ๒๘.๓ ต้องการปานกลาง ตามมาด้วย ร้อยละ ๑๓.๒ ที่ไม่ค่อยต้องการ และมีเพียงร้อยละ ๑.๘ ที่ไม่ต้องการเลย

จากนั้นเมื่อถามว่า ปัจจัยใดที่สำคัญที่สุดที่ท่านใช้เลือกผู้สมัครในการเลือกตั้งท้องถิ่น? พบว่า อันดับ ๑ หรือร้อยละ ๓๗.๗ ระบุว่าการสังกัดพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ชอบ รองลงมา นโยบายหาเสียง ร้อยละ ๒๖.๙ ตามมาด้วย ประวัติและผลงานผู้สมัคร ร้อยละ ๒๓.๗  ขณะที่มีผู้ตอบว่าปัจจัยด้านการให้เงินหรือสิ่งของตอบแทนจากผู้สมัคร เพียงร้อยละ ๔.๑ การชักชวนของผู้นำชุมชนและหัวคะแนนมีเพียงร้อย ๔.๐ และการขยันลงพื้นที่ของผู้สมัครมีเพียงร้อยละ ๓.๖ 

เมื่อสอบถามต่อว่า คนในชุมชนท่านคิดเห็นอย่างไรกับการใช้เงินซื้อเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง? พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ ๗๐.๘ รับได้แต่จะเลือกคนที่ชอบ รองลงมา ร้อยละ ๒๕.๐ รับไม่ได้และไม่เลือกคนแจกเงิน และมีเพียงร้อยละ ๔.๒ ที่รับได้และจะเลือกคนที่ให้เงินมากกว่า

ส่วนคำถามที่ว่า ในการเลือกตั้งท้องถิ่นในเขตท่าน การสังกัดพรรคหรือกลุ่มการเมืองใด จะทำให้มีโอกาสชนะมากขึ้น? พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ ๕๔.๑ ระบุว่าพรรคเพื่อไทย รองลงมา พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ ๒๑.๐ ตามมาด้วยคณะก้าวหน้าร้อยละ ๑๒.๒ และพรรคภูมิใจไทยร้อยละ ๙.๐ ขณะที่เหลือร้อยละ ๓.๗ เป็นพรรคและกลุ่มการเมืองอื่นๆ

เมื่อสอบถามต่อว่า ต้องการให้จังหวัดของท่านมีการกระจายอำนาจและการเลือกตั้งผู้ว่าเหมือนกรุงเทพมหานครหรือไม่? พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ ๕๘.๗ ต้องการภายใน ๕ ปี รองลงมาร้อยละ ๒๑.๗ ไม่แน่ใจ ตามมาด้วยร้อยละ ๑๒.๑ ที่ไม่ต้อง   การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เหมือน กทม. ร้อยละ      ๓.๘ ตอบต้องการภายใน ๑๕ ปี และร้อยละ ๓.๗ ต้องการภายใน ๑๐ ปี และสุดท้ายเมื่อสอบถามว่า ถ้าเลือกตั้ง ส.ส. วันนี้ ท่านมีแนวโน้มจะลงคะแนนให้พรรคใด? พบว่า เกือบครึ่งหรือร้อยละ ๔๗.๗ มีแนวโน้มจะเลือกพรรคเพื่อไทย รองลงมา ร้อยละ ๑๙.๕ จะเลือกพรรคพลังประชารัฐ ตามมาด้วย ร้อยละ ๑๗.๔ จะเลือกพรรคก้าวไกลร้อยละ ๑๐.๕ จะเลือกพรรคภูมิใจไทย และร้อยละ ๔.๙ จะเลือกพรรคอื่นๆ

สำหรับกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ ประกอบด้วยเพศหญิง ร้อยละ ๕๖.๐ และเพศชายร้อยละ ๔๔.๐ โดยมี อายุ ๑๘-๒๕ ปี ร้อยละ ๘.๗ อายุ ๒๖-๓๐ ปี ร้อยละ ๙.๖ อายุ ๓๑-๔๐ ปี ร้อยละ ๒๘.๖ อายุ ๔๑-๕๐ ปี ร้อยละ ๓๓.๐ อายุ ๕๑-๖๐ ปี ร้อยละ ๑๖.๕ และอายุ ๖๑ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๓.๖

ด้านการศึกษา จบประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ ๓๑.๙ มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ ๒๗.๗ มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ ๑๒.๒ ระดับอนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ ๖.๖ ระดับปริญญาตรี ร้อยละ ๑๙.๖ และสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ ๒.๐ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ ๔๐.๓ ผู้ใช้แรงงาน/รับจ้างทั่วไป/ลูกจ้างสถานประกอบการ ร้อยละ ๑๔.๕ ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว/งานอิสระ ร้อยละ ๑๑.๔ รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ ๑๑.๑ พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ ๙.๔ นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ ๕.๑ พ่อบ้าน/  แม่บ้าน ร้อยละ ๖.๒ และ อื่นๆ ร้อยละ ๑.๙

สำหรับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๑๘.๖ รายได้ระหว่าง ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๔๑.๑ รองลงมามีรายได้อยู่ระหว่าง ๑๐,๐๐๑-๑๕,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๑๘.๙ รายได้ระหว่าง ๑๕,๐๐๑-๒๐,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๑๑.๘ รายได้ระหว่าง ๒๐,๐๐๑-๔๐,๐๐๐ ร้อยละ ๘.๑ และรายได้มากกว่า ๔๐,๐๐๑ บาทขึ้นไปร้อยละ ๑.๑ 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๔ วันพุธที่ ๑ - วันอังคารที่ ๗ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


782 1405