29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 03,2020

‘เมืองไร้สายไฟ’สาหัส แช่งชักหักกระดูกระงม ถนนพัง...อันตราย

ชาวเมืองไม่ปลื้ม เสียงบ่นถนนพังยับ หลัง PEA จ้างผู้รับเหมาลุยโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ซ้ำบางจุดยังไม่เปิดสัญญาณไฟเตือนในยามค่ำคืน แม้แต่พนักงานการไฟฟ้าฯ ก็ประสบอุบัติเหตุ ผู้บริหารยืนยันไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งรีบแก้ไข และตระหนักในความปลอดภัยอยู่เสมอ มั่นใจเมื่อแล้วเสร็จ โคราชสวยงามแน่

สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ อนุมัติและเห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ (คพญ.๑) เพื่อก่อสร้างและปรับปรุงระบบไฟฟ้า พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมในพื้นที่โครงการเพื่อเพิ่มความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าลดปัญหาและอุปสรรคด้านการปฏิบัติการบำรุงรักษาและความปลอดภัย พื้นที่ดำเนินการ ๔ เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครนครราชสีมา เมืองพัทยา และเทศบาลนครหาดใหญ่ วงเงินลงทุน ๑๑,๖๖๘.๕๖ ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน ๘,๗๔๘.๕๖ ล้านบาท และเงินรายได้ PEA จำนวน ๒,๙๒๐ ล้านบาท ซึ่งในส่วนของเทศบาลนครนครราชสีมา เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๒ เป็นต้นมา 

โดยปี ๒๕๖๒ PEA มีแผนดำเนินการ ๒ ล็อต ซึ่งเริ่มดำเนินการขุดโดยนำสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดิน ด้วยวิธีการก่อสร้างวางท่อร้อยสาย เป็นแบบดันท่อลอด (HDD) ทั้งด้านระบบไฟฟ้าแรงสูงและแรงต่ำ เพื่อลดปัญหาผลกระทบเรื่องการขุดเปิดผิวการจราจรของประชาชนในพื้นที่ โดยมีแนวท่อ    ร้อยสายระบบแรงต่ำอยู่ด้านริมทางเท้า (Footpath) ของทั้งสองฝั่งถนน เพื่อจ่ายไฟผ่านบ่อพักสายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า แนวท่อร้อยสายระบบแรงสูงอยู่บริเวณกลางถนน การก่อสร้างบ่อพักสายใช้วิธีการหล่อสำเร็จจากนอกพื้นที่แล้วนำมาติดตั้งบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง การก่อสร้างของ PEA อาจจำเป็นต้องมีการขุดเปิดผิวการจราจร และปิดการจราจรบางส่วนบ้าง ก็ต้องขอความอนุเคราะห์ประชาชนในพื้นที่เพื่อความสำเร็จของโครงการ ซึ่งจะมีการประสานงานกับเทศบาลนครฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดคุยช่วงระยะเวลาดำเนินการ ทำความเข้าใจเพื่อแก้ปัญหา ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผู้รับจ้างกำลังดำเนินโครงการฯ มีการเปิดผิวถนน และขุดเจาะเพื่อวางระบบ แม้จะมีการคืนผิวจราจร และนำแผ่นเหล็กมาปิดทับในจุดที่กำลังดำเนินการ แต่ก็ยังมีประชาชนร้องเรียนและบ่นมาอย่างต่อเนื่อง เพราะสภาพผิวจราจรขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ และแผ่นเหล็กมีรูโบ่ รวมทั้งในตอนค่ำในบางจุดยังไม่มีไฟสัญญาณเตือนภัยว่าเป็นจุดที่กำลังมีการก่อสร้าง ส่งผลให้ประชาชนหวั่นว่าจะเกิดอันตรายและบาดเจ็บตามมา 
ประชาชนร้องเรียน

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ ที่ชั้น ๔ อาคารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ถนนมุขมนตรี เขตเทศบาลนครนครราชสีมา “โคราชคนอีสาน” เข้าพบนายกานต์ระพี ธงชัยไตรวัฒน์ รองผู้จัดการ (บริการลูกค้า) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานประชาสัมพันธ์โครงการเคเบิลใต้ดิน จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้า และแนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่ประชาชนร้องเรียน 

นายกานต์ระพี ธงชัยไตรวัฒน์ เปิดเผยว่า “โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ (คพญ.๑) ของจังหวัดนครราชสีมา เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ มีทั้งหมด ๖ สัญญา หรือที่เรียกว่า ๖ ล็อต โดยแต่ละล็อตมีระยะเวลาการก่อสร้าง ๑ ปี โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดปี ๒๕๖๔ โดยโครงการฯ นี้จะครอบคลุมตั้งแต่หน้าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ถนนโพธิ์กลาง ถนนสุรนารี ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ และในเขตรอบคูเมืองครึ่งหนึ่ง โดยมี ถนนที่วิ่งระหว่างประตูพลแสนกับประตูไชยณรงค์คั่นไว้ ส่วนครึ่งหลังของเมืองจะอยู่ในโครงการระยะต่อไป ซึ่งในการก่อสร้างนั้นจะแยกผู้รับจ้างรับผิดชอบ ๑ บริษัทต่อ ๑ ล็อต โดยแต่ละสัญญาจะให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี สำหรับการก่อสร้างจะต้องให้เทศบาลนครนครราชสีมาเห็นชอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดผิวจราจรก็ต้องให้เทศบาลนครฯ เป็นผู้ชี้จุดให้ดำเนินการ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็ต้องคืนผิวจราจรให้เหมือนเดิมที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจะเป็นความร่วมมือของการไฟฟ้าฯ กับเทศบาลนครฯ ในการดำเนินการคืนผิวจราจร 

คาดแล้วเสร็จปลายปี ๖๔

“ขณะนี้ ล็อตที่ ๑ และ ๒ ถนนบริเวณรอบลานย่าโม จะเสร็จในปีนี้ เพราะกำลังเริ่มดึงสายไฟฟ้าแล้ว ซึ่งปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการที่ทำให้งานล่าช้าคือท่อประปาที่อยู่ใต้ผิวถนน หากขุดไปเจอต้องมีการย้ายและปรับแผน แต่ก็ถือว่าเป็นปัญหาธรรมดาที่เราต้องเจอ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ส่วนล็อต ๔, ๕, ๖ เพิ่งมีการเซ็นสัญญาเมื่อเดือนที่ผ่านมานี้ คาดว่าจะเคลื่อนไปแล้วเสร็จในปลายปี ๒๕๖๔ ซึ่งประชาชนที่เข้ามาในตัวเมืองโคราชจะเห็นว่ามีการขุดถนน ปิดช่องจราจร วางแท่งแบริเออร์ เพื่อให้ช่างดำเนินการ โดยส่วนใหญ่จะทำในช่วงกลางคืนเพื่อไม่ให้รบกวนการจราจร เนื่องจากโคราชเป็นเมืองค้าขาย แต่ในบางพื้นที่เป็นย่านที่พักอาศัย ทางการไฟฟ้าฯ ก็จะทำหนังสือขออนุญาตทำกลางวัน เช่น แถวบขส.เก่า ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัย” 

รีบแก้ไขข้อร้องเรียน

นายกานต์ระพี เปิดเผยอีกว่า “สำหรับการดำเนินการนั้น เรามีช่องทางให้ประชาชน มีทางออกหรือร้องเรียน ๖-๗ ช่องทาง รวมทั้งร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมฯ หรือโทร.ไปที่คอลเซ็นเตอร์ ๑๑๒๙ รวมทั้ง Line ทุกครั้งที่เราไปเดินประชาสัมพันธ์โครงการ เราจะมีใบปลิวพร้อม QR code ให้สแกนและติดต่อกับการไฟฟ้าฯ ได้ทางไลน์ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในแอดมินที่คอยตอบคำถามด้วย เรื่องปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เราจะเร่งตอบคำถามโดยเร็วทุกปัญหาเราจะรีบดำเนินการในไม่ช้า จะรีบติดต่อกับผู้รับจ้าง ติดต่อกับวิศวกรผู้ควบคุมงาน ตอนกลางคืนก็ขับรถตรวจตามจุดต่างๆ เป็นระยะ สิ่งที่เราตระหนักและเป็นห่วงมากที่สุดคือ อันตรายหรืออุบัติเหตุที่จะเกิดกับประชาชน เช่นในบางจุดที่มีแผ่นเหล็กปิดและมีเสียงดัง หากมีแจ้งมาก็จะรีบลงไปดำเนินการทันที ถ้าเกิดข้อพิพาทระหว่างประชาชนเราจะไม่โต้ตอบแต่ต้องรีบดำเนินการแก้ไข โดยช่องทางการร้องเรียนที่ได้รับเรื่องรวดเร็วที่สุดคือ Line โดยการสแกน QR Code ซึ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการจะมีช่องทางในการติดต่อกับการไฟฟ้าฯ อย่างแน่นอน รวมทั้งเข้าไปใน Facebook ของการไฟฟ้าฯ ก็ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ทางเราก็เข้าไม่ถึงทุกคน บางครั้งคนที่โพสต์ปัญหาความเดือดร้อนก็ไม่ใช่คนโคราช แต่เป็นคนที่ขับรถผ่านมา ซึ่งจริงๆ เราทำเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยเราตระหนักมากที่สุด” 

“อาจจะสงสัยว่าทำไมต้องปิดแผ่นเหล็ก ทำไมไม่คืนผิวจราจรเลย ซึ่งมีกระบวนการว่า การขุดเจาะผิวจราจรเพื่อนำสายไฟลงดินแต่ละครั้งมีกระบวนการขั้นตอน และต้องรอ ทั้งรอการเซ็ตตัวของปูน รอการนำสายไฟฟ้าลงไป บางครั้งฝนตกทำไม่ได้ก็ต้องหยุด เมื่อหยุดและการเปิดผิวจราจรไว้แล้ว แต่ทำงานต่อไม่ได้ ก็ต้องนำแผ่นเหล็กมาปิดไว้ก่อน การทำงานส่วนใหญ่จะทำจุดละประมาณ ๕๐ เมตร แต่ไม่เกิน ๑๐๐ เมตร เมื่อทำเสร็จก็ปิดผิวจราจร แล้วย้ายไปจุดอื่น ประชาชนที่มีบ้านอยู่บริเวณนั้นจะเดือดร้อนจริงๆ ไม่เกิน ๓ วัน แต่ในขณะเดียวกัน ร้านค้าก็ไม่ต้องปิดร้าน เพราะเราจะหาช่องให้รถสามารถจอดได้ การค้าไม่ชะงัก เพียงแต่ว่า อาจจะมีความลำบากบ้างเรื่องการจอดรถ แต่ยืนยันว่าไม่เกิน ๓ วัน” รองผู้จัดการฯ กล่าว

อันตรายหลากหลาย  

“โคราชคนอีสาน” ตั้งข้อสังเกตและถามว่า สภาพพื้นผิวจราจรเดิมในเขตเทศบาลนครฯ ไม่ดีอยู่แล้ว เมื่อมาก่อสร้างโครงการนี้ กลับพบว่าทำให้ผิวถนนขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งการนำแผ่นเหล็กมาปิดทับกลับมีช่องโหว่ และช่วงกลางคืนในบางจุดไม่เปิดสัญญาณไฟเตือนว่าเป็นเขตก่อสร้างส่งผลให้ตระหนักว่า จะเกิดอันตรายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของโครงการนี้ ทางการไฟฟ้าฯ มีการพูดคุยกับผู้รับจ้างเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้หรือไม่? 

ในประเด็นนี้ นายกานต์ระพี ชี้แจงว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องจริงและสำคัญมาก เราไม่เคยมองข้ามและทำอยู่เสมอ เพียงแต่ว่ากระบวนการอาจดูล่าช้า อันดับ ๑ คือความปลอดภัย ทั้งเรื่องผิวจราจร และการใช้รถใช้ถนนช่วงกลางคืน (ไฟสัญญาณเตือน) เราบอกตลอด แต่ก็อาจจะมีบ้างในบางจุด โดยเจ้าหน้าที่จะเริ่มทำงาน ๓ ทุ่ม บางทีมาช้า ไฟสัญญาณเตือนก็มีแต่ไม่เปิด โดยในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ ก็ลงพื้นที่ไปสอดส่องตลอด และเมื่อเช้านี้ก็มีการประชุมกันในเรื่องความปลอดภัย ส่วนการนำแผ่นเหล็กมาปิดแต่ปิดไม่สนิทหรือมีช่องโหว่นั้นแม้การไฟฟ้าฯ จะวิ่งดูตลอด แต่บางครั้งก็ลอดสายตาไป ก็มีประชาชนที่หวังดีแจ้งเข้ามา ทุกวันนี้มีมอนิเตอร์การทำงานตลอด รวมทั้งทางโซเชียลมีเดีย แล้วเราก็รีบไปแก้ไข เราไม่ได้มองข้ามแน่นอน 

ตรวจงานตลอด

“โคราชคนอีสาน” ถามอีกว่า ทางการไฟฟ้าฯ มีการพูดคุยกับผู้รับเหมาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้หรือไม่? นายกานต์ระพี ตอบว่า “คุยกันตลอด เช่นเมื่อเช้านี้ก็เชิญมาประชุมทุกบริษัท ได้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย เพราะมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก ทางการไฟฟ้าฯ ก็มีการตรวจสอบงานเป็นระยะ ซึ่งตั้งแต่ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลงานนี้ก็มีการประชุมกับผู้รับเหมาทุกสัปดาห์ โดยเน้นย้ำในเรื่องความปลอดภัย เขาก็รับไปปฏิบัติ แต่บางครั้งก็อาจจะตกหล่นบ้าง ซึ่งผมกล้าพูดได้เลยว่า เราดูแลอย่างใกล้ชิด สิ่งที่เกิดขึ้นเราก็เสียใจที่บางครั้งประชาชนก็เกิดอุบัติเหตุ เราก็ต้องรีบไปเยียวยา และต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะตามทางแยกที่วางแผ่นเหล็ก ซึ่งอาจจะทำให้ลื่น แต่ขณะนี้เราจะใช้เป็นแผ่นเหล็กตาไก่เพื่อป้องกันการลื่นเพราะเป็นช่วงฤดูฝน ส่วนที่ว่ามีประชาชนร้องเรียนมาว่า การวางแผ่นเหล็กไม่สนิท เราก็ให้ความสำคัญมาก เพราะอันตราย รวมทั้งเรื่องสัญญาณไฟ ซึ่งเพิ่งเกิดอุบัติเหตุไปเมื่อ ๒ คืนที่ผ่านมากับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ ขับรถไปแล้วกระจกรถไปชนกับแบริเออร์เพราะไม่มีสัญญาณไฟ โดยแจ้งให้ผู้รับเหมาทราบและรีบแก้ไข ทั้งนี้ ในการดำเนินการทุกวันนี้ ในช่วงกลางคืนจะมีพนักงานการไฟฟ้าฯ ประจำอยู่ทุกจุด” 

นายกานต์ระพี กล่าวอีกว่า “สำหรับการก่อสร้างโครงการที่เห็นว่ามีการขุดทั้งสองข้างถนนนั้น เป็นระบบของไฟฟ้าแรงต่ำ ส่วนไฟฟ้าแรงสูงจะอยู่ตรงกลางถนน โดยสายไฟฟ้าแรงต่ำเป็นสายไฟฟ้าที่จะเชื่อมเข้าบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งโครงการที่จะทำให้โคราชไร้สายไฟฟ้า จะไม่เห็นสายไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้บ้านเมืองดูสะอาดและสวยงามขึ้น” 

คืนผิวจราจรราบเรียบ

เมื่อ “โคราชคนอีสาน” ถามว่า การคืนผิวจราจรชั่วคราวจะดีกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่? นายกานต์ระพี เผยว่า จะต้องเป็นไปตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าจุดไหนปูดเพราะมีการเจาะถนน เราก็จะซ่อมเป็นจุดๆ ไป แต่จะทำให้ดีนั้น แน่นอนว่า เมื่อโครงการแล้วเสร็จ ทางเทศบาลนครฯ และการไฟฟ้าฯ จะต้องมาหารือเรื่องนี้ ความจริงแล้วทางเทศบาลนครฯ หรือชาวโคราชคง  ไม่ยอมเห็นถนนเป็นแบบนี้แน่นอน เพราะบ่งบอกถึงภาพลักษณ์ของเมือง 

“โคราชคนอีสาน” ถามอีกว่า เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ การคืนพื้นผิวจราจรจะเป็นงบประมาณของเทศบาลนครฯ หรือการไฟฟ้าฯ? นายกานต์ระพี กล่าวว่า “ผมต้องบอกว่าเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นแนวคิดส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นของทั้งสองฝ่าย เพราะเป็นพื้นที่ในการดูแลของเทศบาลนครฯ อาจจะมีการเจรจาเพื่ออุดหนุนเรื่องงบประมาณกัน แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการปรับพื้นผิวจราจรใหม่ ไม่เช่นนั้นจะแย่มาก เพราะยางปูถนนเก่ากับยางใหม่คนละสี” 

จะทำให้เร็วและดีที่สุด

“สุดท้าย ต้องขออภัยคนโคราชและประชาชนที่สัญจรไปมาในพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง ต้องการให้เห็นใจเราด้วย ซึ่งเราจะทำให้เร็วที่สุด ดีที่สุด ให้ถูกใจทุกคน แต่อยากให้คิดถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาในวันข้างหน้า โคราชจะกลายเป็นเมืองที่ไร้สายไฟและสวยงาม ชาวโคราชจะไม่เห็นเสาไฟฟ้าและสายสื่อสาร หน้าบ้านจะสวยมาก การถ่ายภาพวิวบ้านเมืองก็จะสวยไปหมด เพราะมีตัวอย่างให้เห็นในเมืองที่ทำสำเร็จแล้ว” รองผู้จัดการฯ กล่าวท้ายสุด

รายละเอียด คพญ.๑

อนึ่ง โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ (คพญ.๑) แบ่งออกเป็น ๘ ล็อต ได้แก่ ล็อต ๑ ถนนชุมพลและถนนราชดำเนิน ระยะทาง ๑.๖๖ กิโลเมตร วงเงิน ๑๖๐.๐๑๘ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน), ล็อต ๒ ถนนสุรนารี, ถนนบุรินทร์, ถนนพิบูลละเอียด, ถนนจอมสุรางค์ยาตร์, และถนนโพธิ์กลาง ระยะทาง ๒.๕๘ กิโลเมตร วงเงิน ๒๓๕.๕ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท RSS 20108 จำกัด
ล็อต ๓ ถนนจอมสุรางค์ยาตร์, ถนนบัวรอง, ถนนโพธิ์กลาง และถนนโยธา ระยะทาง ๓.๑ กิโลเมตร วงเงิน ๒๗๗.๘ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน), ล็อต ๔ ถนนราชดำเนิน, ถนนราชนิกูล, ถนนไชยณรงค์, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย และถนนสรรพสิทธิ์ ระยะทาง ๔.๘ กิโลเมตร วงเงิน ๓๑๔ ล้านบาท ผู้รับจ้าง กิจการค้าร่วม ศรีชลธร และโปรเอ็น (บริษัท ศรีชลธร จำกัด และ บริษัท โปรอิมเมจ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด)

ล็อต ๕ ถนนมนัส, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย และถนนสรรพสิทธิ์ ระยะทาง ๒.๖ กิโลเมตร วงเงิน ๑๘๗ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท ธนวรรณ อีเล็คทริค คอนสตรัคชั่น จำกัด ล็อต ๖ ถนนจักรี, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย, ถนนสรรพสิทธิ์และถนนกำแหงสงคราม ระยะทาง ๒.๖๓ กิโลเมตร วงเงิน ๑๘๓.๗๕ ล้านบาท ผู้รับจ้างบริษัท ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอล คอนโทรล จำกัด 

ส่วนในล็อตที่ ๗ เป็นงานจ้างเหมาก่อสร้างสายส่ง ๑๑๕ เควี เคเบิลใต้ดินช่วงโรงแรมสีมาธานีถึงสถานีไฟฟ้านครราชสีมา ๖ (บริเวณสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา) ระยะทาง ๒.๒ กิโลเมตร วงเงิน ๓๐๘.๔ ล้านบาท ผู้รับจ้าง กลุ่ม Consortium FEC & ETE และล็อตที่ ๘ เป็นงานก่อสร้าง “สถานีไฟฟ้านครราชสีมา ๖” วงเงิน ๑๖๒ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท พรีไซซ ซิสเท็ม แอนด์ โปรเจ็ค จำกัด

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๔ วันพุธที่ ๑ - วันอังคารที่ ๗ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


703 1375