28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

July 08,2020

เฝ้าระวังโควิด-๑๙ ควบคู่ไข้เลือดออก-พิษสุนัขบ้า

วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ศูนย์บัญชาการตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา จัดแถลงข่าวสถานการณ์การป้องกัน เฝ้าระวังและแนวทางการดำเนินงานตามมาตรการผ่อนปรนเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-๑๙ โดยมี นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และคณะกรรมการควบคุมโรค ร่วมแถลงอย่างเป็นทางการถึงสถานการณ์โควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา

หลังจากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย เพื่อให้สามารถใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ ๒๕๕๘ ในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และสามารถควบคุมได้มีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม อำนวยความสะดวกกับเจ้าหน้าที่ในการค้นหาผู้ป่วย สอบสวนและควบคุมโรคได้เร็ว คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา มีผลการดำเนินงานการคัดกรองประชาชน (ยอดสะสม ณ วันที่ ๓ มกราคม-๘ กรกฏาคม ๒๕๖๓) จำนวนทั้งหมด ๑๑๒,๑๑๐ คน พบว่า

มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อ จำนวน ๑,๓๖๐ ราย (รายใหม่ ๑ ราย) ไม่พบเชื้อ จำนวน ๑,๓๔๐ ราย ผู้ป่วยยืนยันพบเชื้อ จำนวน ๑๙ ราย รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติ จำนวน ๑ ราย (วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ไม่มีผู้ป่วย PUI รอผลตรวจ)

รักษาหายจำนวน ๑๙ ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ติดต่อกัน ๗๒ วันติดต่อกัน

ยอดผู้กักตัวกลุ่มเสี่ยง (๓๐ มีนาคม ๒๕๖๓-ปัจจุบัน) ยอดสะสม ๒๔๑ ราย กักตัว ๒๔๐ ราย กักตัวอยู่ ๑ ราย ที่โรงพยาบาลเทพรัตน์ (Hospital Quarantine)

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-๑๙ ในระดับประเทศมีสถานการณ์ดีขึ้นซึ่งภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนดำเนินกิจกรรมและใช้ชีวิตประจำวันได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จังหวัดนครราชสีมา จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขและ ศบค. อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะดำเนินการตามมาตรการควบคุมการป้องกันโควิด-๑๙ และสร้างความปลอดภัยตามวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ไม่ประมาท การ์ดไม่ตก ล้างมือทั้งวัน กินร้อน ช้อนฉัน (ช้อนเรา) ห่างกัน ๒ เมตร และสวมหหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย

เนื่องจากคณะนี้ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งสัญญาณเตือนประชาชน หากการ์ดตกและประมาท อาจเกิดการระบาดเป็นวงกว้าง เพื่อให้ชาวโคราชปลอดภัยจากโควิด-๑๙ และสามารถป้องกันการระบาดระลอก ๒ ของวิกฤตโควิด-๑๙ ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อีก ฉะนั้นให้ประชาชนชาวโคราชไม่ประมาท รักษาการ์ดอย่างเข้มแข็งต่อไป

รวมทั้งร่วมมือกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก เนื่องจากพบสถานการณ์ไข้เลือดออกจังหวัดนครราชสีมา อยู่ลำดับที่ ๕ ของประเทศ  มีผู้ป่วยสะสม ๒,๔๔๔ ราย อัตราป่วย ๗๔.๒๔ ต่อแสนประชากร มีผู้เสียชีวิต ๒ ราย อัตราตาย ๐.๐๘ ต่อแสนประชาชกร พบมาในกลุ่มอายุ ๑๐-๒๕ ปี พบอัตราป่วยมากในพื้นที่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอโนนไทย อำเภอปักธงชัย อำเภอเมืองนครราชสีมา และอำเภอโชคชัย ตามลำดับ ช่วงเดือน มิถุนายน-สิงหาคม มีการระบาดร้อยละ ๕๐ ของการระบาดทั้งปี จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด

ดังนั้น ในการเปิดโรงเรียนจึงมีทั้งความพร้อมด้านการป้องกันโควิด-๑๙ และประเมินลูกน้ำยุงลายไปพร้อมๆ กัน ทั้งจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดโครงการ “โคราชเมืองปลอดลูกน้ำยุงลาย” ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประชาสัมพันธ์การป้องกันกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง” นายวิเชียร กล่าว

ด้านนพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวถึง การเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดโรคพิษสุนัขบ้าว่า “เป้าหมายไม่ต้องการให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ตัวชี้วัดคือผู้สัมผัสหรือผู้ติดเชื้อยืนยันว่าติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ทุกคนที่เลี้ยงหรือสัมผัสสุนัขและแมวทุกคนต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรค ๑๐๐% โรคนี้ถ้าเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้ ความสำคัญต้องป้องกันโรคก่อนที่จะเป็น จากข้อมูลปี ๒๕๖๑ พบว่า มีผู้เสียชีวิตและได้ทำการรักษาแต่ตัวผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา ไม่เกิดความตระหนัก จึงเป็นที่มาของการเสียชีวิต การรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุขนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์ที่อำเภอเสิงสางทำได้เกือบ ๑๐๐% ปี ๒๕๖๒ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีเพียงการพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมวเท่านั้น และปี ๒๕๖๓ ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า แต่มีการพบเชื้อในสุนัขที่เขตอำเภอเมืองนครราชสีมา จากการสุ่มตรวจทั้งหมด ๑๐๗ ราย พบเชื้อใน ๑ ตัวอย่าง

การดำเนินงานตามมาตรการเชิงรุก ประกอบไปด้วย ๓ ประเด็น ๑.สุนัขที่มีอายุต่ำกว่า ๓ เดือน จะไม่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด สุนัขทุกช่วงอายุสามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ ๒.โรคพิษสุนัขบ้า เมื่อได้รับเชื้อแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ความสำคัญจึงอยู่ที่การป้องกัน ๓.สัตว์ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก็ยังสามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้อีก ไม่ได้ปลอดเชื้อเสมอไป การรณรงค์ให้ประชาชนรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขและแมว ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนด้วย”

นพ.วิญญู  ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “เรื่องของการผ่อนปรนทุกระยะ โดยเฉพาะระยะที่ ๕ ในส่วนของกิจกรรม-กิจการต่างๆ ประชาชนได้ใช้ชีวิตสะดวกขึ้น อย่างไรก็ตาม การ์ดคนโคราชต้องไม่ตก เพราะสถานการณ์รอบโลกยังมีการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ฝากถึงพี่น้องประชาชน การสวมหน้ากากอนามัยยังจำเป็นอยู่ การเว้นระยะห่าง รวมถึงการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ อย่าประมาท ทุกคนต้องช่วยกัน ในส่วนของราชการฝ่ายเดียวมีกำลังไม่เพียงพอที่จะดูแลทุกคนได้ ประชาชนต้องตระหนักด้วยตัวเอง”

 

 

 


685 1340