13thJanuary

13thJanuary

13thJanuary

 

July 22,2020

จิ้งหรีดอีสาน ภูมิปัญญาชาวบ้าน สู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต

              เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2563 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น รศ.รังสรรค์  เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการจิ้งหรีดอีสานสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ซึ่ง มข. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้กำหนดจัดการประชุมขึ้น โดยมีนักวิชาการด้านการเกษตร จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งประเทศรวมถึงผู้ประกอบการเลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมประชุมรวมกว่า 200 คน

รศ.รังสรรค์  เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “แผนการขับเคลื่อนที่ มข. ได้ดำเนินการด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาของคนอีสาน คือการเลี้ยงจิ้งหรีด ให้กลายมาเป็นการดำเนินงานในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าอาหารเพื่อสุขภาพเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วโลกให้ความสนใจและใส่ใจ ดังนั้นเมื่อผลงานวิจัยที่เป็นการนำหลักวิชาการจากสถาบันการศึกษา เข้าไปสนับสนุน ส่งเสริมและต่อยอดให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้วันนี้การเลี้ยงจิ้งหรีดของคนอีสานได้กลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างมาก เพราะจิ้งหรีดนั้นเลี้ยงเพียง 45 วัน ก็สามารถที่จะเก็บผลผลิตไปจำหน่ายได้ และราคาจำหน่ายวันนี้อยู่ที่ขีดละ 20 บาท หรือกิโลกรัมละ 200 บาท แต่การเลี้ยงจิ้งหรีดทุกคนต้องใส่ใจและเข้าใจ เพราะคณะทำงานไม่ได้มุ่งเน้นให้มีการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดที่พากันเลี้ยงจนล้นตลาด แต่จะเน้นไปในกลุ่มคนที่ใจรักและต้องการสร้างรายได้จากภาคเกษตรกรรม เพราะจิ้งหรีดที่ทำการเลี้ยงในปัจจุบันมี 4 สายพันธุ์ คือจิ้งหรีดสะดิ้ง, จิ้งหรีดทองดำ, จิ้งหรีดทองแดง และจิ้งหรีดเวียตนาม แต่ที่ได้รับความสนใจมาที่สุดคือจิ้งหรีดสะดิ้ง ที่นอกจากจะจำหน่ายเป็นตัวแล้ว ยังคงมีการนำมาแปรรูปในกลุ่มอาหารประเภทโปรตีน, น้ำพริกจิ้งหรีด, ข้าวเกรียบจิ้งหรีด,ผงโรยข้าว.จิ้งหรีดแช่แข็ง ทั้งยังคงเตรียมที่จะนำผงจิ้งหรีดนั้นเป็นส่วนผสมของเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ และอาหารประเภทเส้น เพราะจิ้งหรีด 4 ตัวเทียบเท่ากับไข่ไก่ 1 ฟอง ดังนั้นจึงเป็นการเติมโปรตีนจากจิ้งหรีดและลดปริมาณแป้งลงได้อย่างมาก”

                "จากการที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO  คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2593 หรือ ค.ศ.2050 ประชากรโลกจะเพิ่มมากขึ้นถึง 9,000 ล้านคน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแหล่งอาหารโปรตีนของมนุษย์และสัตว์  ดังนั้นแมลงกินได้จึงเป็นทางเลือกของแหล่งอาหารโปรตีนสำรองสำหรับประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ในปีที่ผ่านมา เราได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ฝ่ายเกษตร และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด ที่ บ.แสนตอ ต.บัวใหญ่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น จนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 21 คน มากที่สุดของประเทศไทย และอยู่ระหว่างการส่งเสริมให้ได้รับการรับรองเพิ่มขึ้นอีกในพื้นที่ บ.ฮ่องฮี ต.ยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ รวมถึงเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดรายอื่นในภาคอีสาน อย่างไรก็ดี การจัดประชุมวิชาการจิ้งหรีดในปีนี้ เป็นการมองอนาคตของการเลี้ยงจิ้งหรีดจะถูกพัฒนาจาการเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารพื้นบ้านไปสู่ระบบการผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดส่งออก รวมทั้งการสร้างการยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่อแมลงเพื่อขยายตลาดกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มาจากจิ้งหรีดให้ตรงกับความต้องการอย่างเหมาะสมแตกต่างกันไปในแต่ละตลาดอีกด้วย"

รศ.รังสรรค์ กล่าวต่ออีกว่า “มข. เตรียมตั้งคณะทำงาน ในการวิจัยจิ้งหรีดที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มจิ้งหรีดปีกแข็ง เนื่องจากพบว่าสารของจิ้งหรีดนั้นสามารถนำมาเป็นส่วนผสมของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมความงาม ทั้งการทำอายไลน์เนอร์ หรือการคัดแยกเอาโอเมก้า 3 จากจิ้งหรีด มาเป็นส่วนผสมของการทำเครื่องสำอางต่างๆ เพื่อที่จะยกระดับภูมิปัญญาอีสาน สู่การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน อย่างไรก็ตามจากการที่ภาคอีสานมีการเลี้ยงจิ้งหรีดมากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ การประชุมครั้งนี้จึงมีการเชิญเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดจากภาคเหนือ มาประสานการทำงานร่วมกันจนนำไปสู่การพัฒนาอาหารจากแมลงที่ยั่งยืนต่อไป”


755 1,557