13thJanuary

13thJanuary

13thJanuary

 

July 29,2020

ติวเข้มผู้เลี้ยงแมลงภาคอีสาน มุ่งสู่มหาอำนาจจิ้งหรีดโลก ยกระดับรายได้เกษตรกรยั่งยืน

ติวเข้มผู้ประกอบการเลี้ยงจิ้งหรีดอีสาน ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ ตั้งทีมนักวิชาการวิจัยจิ้งหรีดปีกแข็งสู่อุตสาหกรรมความงาม สร้างรายได้ให้กับคนอีสานอย่างยั่งยืน ด้าน สศก.เดินหน้าศักยภาพการผลิตตามนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด พร้อมนำศาสตร์พระราชา ดึง Big Data ขับเคลื่อนในยุค New Normal  

 

 

ตามที่ เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่ห้องประชุมชั้น ๒ โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น มีการจัดประชุมวิชาการ “อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต : อนาคตของอีสาน” ครั้งที่ ๑ ประจำปี ๒๕๖๓ “จิ้งหรีดอีสานสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต” โดยมีผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และกรมปศุสัตว์ ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น จัดโดยสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ภายใต้การนำของ รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันฯ มีผู้เข้าร่วมกว่า ๒๐๐ คน

รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า แผนการขับเคลื่อนที่ มข.ได้ดำเนินการด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาของคนอีสาน คือการเลี้ยงจิ้งหรีด ให้กลายมาเป็นการดำเนินงานในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่า อาหารเพื่อสุขภาพเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วโลกให้ความสนใจและใส่ใจ ดังนั้นเมื่อผลงานวิจัยที่เป็นการนำหลักวิชาการจากสถาบันการศึกษา เข้าไปสนับสนุน ส่งเสริมและต่อยอดให้เกษตรกรในพื้นที่ ทำให้วันนี้การเลี้ยงจิ้งหรีดของคนอีสาน กลายมาเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างมาก เพราะจิ้งหรีดนั้นเลี้ยงเพียง ๔๕ วัน ก็สามารถที่จะเก็บผลผลิตไปจำหน่ายได้ และราคาจำหน่ายวันนี้อยู่ที่ขีดละ ๒๐ บาท หรือกิโลกรัมละ ๒๐๐ บาท แต่การเลี้ยงจิ้งหรีดทุกคนต้องใส่ใจและเข้าใจ เพราะคณะทำงานไม่ได้มุ่งเน้นให้มีการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดที่พากันเลี้ยงจนล้นตลาด แต่จะเน้นไปในกลุ่มคนที่ใจรักและต้องการสร้างรายได้จากภาคเกษตรกรรม เพราะจิ้งหรีดที่เลี้ยงในปัจจุบันมี ๔ สายพันธุ์ คือจิ้งหรีดสะดิ้ง, จิ้งหรีดทองดำ, จิ้งหรีดทองแดง และจิ้งหรีดเวียตนาม แต่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือจิ้งหรีดสะดิ้ง ที่นอกจากจะจำหน่ายเป็นตัวแล้ว ยังมีการนำมาแปรรูปในกลุ่มอาหารประเภทโปรตีน, น้ำพริกจิ้งหรีด, ข้าวเกรียบจิ้งหรีด, ผงโรยข้าว และจิ้งหรีดแช่แข็ง ทั้งยังคงเตรียมที่จะนำผงจิ้งหรีดนั้นเป็นส่วนผสมของเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ และอาหารประเภทเส้น เพราะจิ้งหรีด ๔ ตัวมีสารอาหารเทียบเท่ากับไข่ไก่ ๑ ฟอง ดังนั้นจึงเป็นการเติมโปรตีนจากจิ้งหรีดและลดปริมาณแป้งลงได้อย่างมาก

“จากการที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO  คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.๒๕๙๓ หรือ ค.ศ.๒๐๕๐ ประชากรโลกจะเพิ่มมากขึ้นถึง ๙,๐๐๐ ล้านคน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแหล่งอาหารโปรตีนของมนุษย์และสัตว์ ดังนั้น แมลงกินได้จึงเป็นทางเลือกของแหล่งอาหารโปรตีนสำรองสำหรับประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ในปีที่ผ่านมา เราได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ฝ่ายเกษตร และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด ที่บ้านแสนตอ ต.บัวใหญ่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น จนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน ๒๑ คน มากที่สุดของประเทศไทย และอยู่ระหว่างการส่งเสริมให้ได้รับการรับรองเพิ่มขึ้นอีกในพื้นที่ บ้านฮ่องฮี ต.ยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ รวมถึงเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดรายอื่นในภาคอีสาน อย่างไรก็ดี การจัดประชุมวิชาการจิ้งหรีดในปีนี้ เป็นการมองอนาคตของการเลี้ยงจิ้งหรีดจะถูกพัฒนาจาการเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารพื้นบ้านไปสู่ระบบการผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดส่งออก รวมทั้งการสร้างการยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่อแมลงเพื่อขยายตลาดกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มาจากจิ้งหรีดให้ตรงกับความต้องการอย่างเหมาะสม แตกต่างกันไปในแต่ละตลาดอีกด้วย”

รศ.รังสรรค์ กล่าวต่ออีกว่า มข.เตรียมตั้งคณะทำงาน ในการวิจัยจิ้งหรีดที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มจิ้งหรีดปีกแข็ง เนื่องจากพบว่าสารของจิ้งหรีดนั้นสามารถนำมาเป็นส่วนผสมของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมความงาม ทั้งการทำอายไลเนอร์ หรือการคัดแยกเอาโอเมก้า ๓ จากจิ้งหรีด มาเป็นส่วนผสมของการทำเครื่องสำอางต่างๆ เพื่อที่จะยกระดับภูมิปัญญาอีสาน สู่การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม จากการที่ภาคอีสานมีการเลี้ยงจิ้งหรีดมากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ การประชุมครั้งนี้จึงมีการเชิญเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดจากภาคเหนือ มาประสานการทำงานร่วมกันจนนำไปสู่การพัฒนาอาหารจากแมลงที่ยั่งยืนต่อไป

ทางด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ได้ร่วมเสวนาในการประชุมวิชาการ “อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต : อนาคตของอีสาน” ครั้งที่ ๑ ประจำปี ๒๕๖๓ จิ้งหรีดอีสานสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต พร้อมด้วยผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และกรมปศุสัตว์ ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ โดยได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัด ส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลผลิตให้ผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกได้หันมาบริโภคจิ้งหรีดมากขึ้น  ตลาดส่งออกไทยไปต่างประเทศได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็วเติบโตถึงร้อยละ ๒๓ ต่อปี โดยเฉพาะ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป  ญี่ปุ่น และ จีน ประกอบกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ส่งเสริมให้คนทั่วโลก หันมาบริโภคกัน เพราะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี อีกทั้งมีราคาถูก และหาได้ง่ายในท้องถิ่น และสามารถนำมาผลิตหรือแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งจิ้งหรีดสด ทอด แช่แข็ง คั่วกรอบ หรือ บรรจุกระป๋อง

กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายขยายพื้นที่ในการผลิตจิ้งหรีดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภายใต้  “โครงการเกษตรฐานชีวภาพแมลงเศรษฐกิจใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” และคาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (GRP) เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน เกษตรกรมีการรวมตัวเป็นกลุ่ม แปลงใหญ่เพาะเลี้ยงจิ้งหรีด นิยมสายพันธุ์ทองคำ ทองแดง และสะดิ้ง แหล่งสำคัญที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครพนม บุรีรัมย์ และมหาสารคาม ซึ่งในปี ๒๕๖๑ มีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดทั่วประเทศกว่า ๒๐,๐๐๐ ฟาร์ม กำลังการผลิตกว่า ๗๐๐ ตัน/ปี รวมมูลค่ากว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท/ปี เกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ย ๔๑ บาท/กิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยง ๔๕-๕๐ วัน/รุ่น (๑ ปี ได้ ๖ รุ่น) ราคาขายเฉลี่ย ๘๐ บาท/กิโลกรัม สร้างรายได้สุทธิ (กำไร) ๑๖๓,๔๖๔ บาท/ปี  

“การขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด สศก.ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแนวทาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ศึกษาและจัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมจิ้งหรีด ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี สู่การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรฐานชีวภาพแมลงเศรษฐกิจใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างรายได้ร่วมกับการทำเกษตรผสมผสาน ตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พัฒนาเครือข่ายผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และ Young Smart Farmer ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมแมลงเศรษฐกิจครบวงจร ทั้งนี้ การเลี้ยงจิ้งหรีดนั้น ทำได้ง่ายแถมยังเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากเกษตรกรสามารถเก็บไว้บริโภคเองได้แล้ว ยังสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ และสู่การส่งออกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารไทยในฐานะครัวของโลกอีกด้วย” เลขาธิการ สศก. กล่าว

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการ สศก. กล่าวท้ายสุดว่า สศก.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตร เรามีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง ๒๒ หน่วยงาน และกระทรวงภายนอกเพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) เชื่อมโยงข้อมูลด้านการผลิต การตลาด เพื่อการบริหารจัดการ โดยใช้ตลาดนำการผลิต หรือ demand driven โดยเฉพาะตลาด Premium และตลาดเฉพาะ หรือ Niche Market ดังนั้น จึงมีความพร้อมที่จะให้บริการ ให้ข้อมูลในด้านต่างๆ ทั้งการปลูกพืช การเพาะเลี้ยงสัตว์และแมลงเศรษฐกิจ รวมทั้งข้อมูลการผลิตและการตลาดเพื่อร่วมสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในยุค New Normal ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๘วันพุธที่ ๒๙ เดือนกรกฎาคม - วันอังคารที่ ๔ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓


770 1,478