29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 01,2020

สหกรณ์ครูโคราชรวมพล ๒๖,๐๐๐ คน เลือกตั้งกก.ชุดใหม่ป้องกันโควิดเข้มข้น

สหกรณ์ออมทรัพย์ครูโคราช จัดประชุมสมาชิกและเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ประจำปี ๒๕๖๓ กำหนดเลือกตั้ง ๔ ตุลาคม ๒๕๖๓ เตรียมมาตรการป้องกันไวรัส โควิด-๑๙ เข้มข้น เน้นกระชับเวลา รักษาระยะห่าง พร้อมรองรับสมาชิกที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกว่า ๒๖,๐๐๐ คน

ตามที่ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด จะจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ ชุดใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่างลงตามวาระ ในวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๓ ณ อาคารสุรพัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดยมีนายปรีชา กำพุฒกลาง เป็นประธานกรรมการการเลือกตั้งสหกรณ์ฯ (กกต.) นั้น โดยเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ได้เข้านำเสนอมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสวิด-๑๙ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ณ หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ โดยมีนางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วย นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์สุรัตน์ ส่งวิรุฬห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และนายแพทย์สุผล ตติยนันทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการเลือกตั้งนี้จะมีสมาชิกมาร่วมกว่า ๒๖,๐๐๐ คน 

๔ มาตรการป้องกันไวรัส

นายปรีชา กำพุฒกลาง กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อฯ ได้แจ้งให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมาชี้แจง พร้อมทั้งเสนอแผนมาตรการรองรับการเลือกตั้งคณะกรรมการประจำปี ๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ในที่ประชุมมีมติอนุมัติให้มีการเลือกตั้งได้ โดยมีเงื่อนไขให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูและคณะ มานำเสนอและชี้แจงยืนยันแผนมาตรการในการรองรับการเลือกตั้ง เนื่องจากมีสมาชิกจำนวนมาก ที่ประชุมเกรงว่า หากแผนรองรับไม่กระชับ อาจเป็นปัญหาในการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยมี ๔ มาตรการรักษาระยะห่าง ที่จะนำไปใช้ในการเลือกตั้งคณะกรรมการ ดังนี้ มาตรการที่ ๑ ด้านสถานที่ใช้อาคารสุรพัฒน์ ๒ มทส. โดยแบ่งพื้นที่เลือกตั้งออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ โซนเอ ๑๖ หน่วยเลือกตั้ง, โซนบี ๑๖ หน่วยเลือกตั้ง และโซนซี ๑๙ หน่วยเลือกตั้ง รวมทั้งสิ้น ๕๑ หน่วยเลือกตั้ง โดยแต่ละโซนสามารถเข้าออกได้เพียง ๑ ประตู พร้อมจุดคัดกรองในแต่ละโซน 

มาตรการที่ ๒ ด้านการรักษาระยะห่าง กกต. จัดให้มีอนุกรรมการอย่างเพียงพอ เพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงคอยสังเกตบริเวณที่มีจุดแออัด เพื่อให้เกิดระยะห่างทางสังคมอย่างแท้จริง โดยมีขั้นตอนดังนี้ ๑.อนุกรรมการจะนำสมาชิกสแกนคิวอาร์โค้ดลงทะเบียนไทยชนะหน้าจุดคัดกรอง แล้วจะผ่านจุดคัดกรอง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจวัดอุณหภูมิ ด้วยเครื่องสแกนอัตโนมัติ โดยสมาชิกจะต้องบอกรหัสสมาชิกและอุณหภูมิที่วัดได้กับเจ้าหน้าที่ ลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อบันทึกข้อมูลผู้ผ่านการคัดกรอง เสร็จแล้วสมาชิกล้างมือด้วยแท่นเหยียบเจลแอลกอฮอล์ พร้อมติดสติกเกอร์ เพื่อครบขั้นตอนการคัดกรอง กรณีที่พบสมาชิกที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ ๓๗.๕ องศาเซลเซียสขึ้นไป ให้นำไปพักในจุดพักอุณหภูมิ เพื่อนั่งพัก ๕ นาทีและวัดอุณหภูมิซ้ำอีก ๓ ครั้ง หากอุณหภูมิไม่ลด จะส่งไปที่หน่วยพยาบาลที่ประจำการตลอดระยะเวลาการเลือกตั้ง ๒.อนุกรรมการจัดให้สมาชิกนั่งที่จุดพัก หลังจุดคัดกรอง กรณีที่พบว่าผู้ใช้สิทธิ์ไม่หนาแน่น ก็สามารถเดินเข้าอาคารได้ ๓.กกต.จัดให้มีซุ้มพ่นยาฆ่าเชื้อ และแท่นเหยียบแอลกอฮอล์ บริเวณทางเข้าประตูอาคารทั้ง ๓ จุด ๔.จัดให้มีเครื่องหมายเข้า-ออกแต่ละโซนอย่างชัดเจน โดยไม่สามารถเดินข้ามโซนได้ ๕.จัดทำเครื่องหมายกำหนดเส้นทาง ระยะห่างทางเดินตั้งแต่จุดคัดกรอง ไปจนถึงภายในหน่วยเลือกตั้ง ๖.กกต.อนุญาตให้เฉพาะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เข้าจุดคัดกรอง และภายในอาคารหน่วยเลือกตั้งได้เท่านั้น และ ๗.อนุกรรมการจะเตือนให้สมาชิกสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา ในขณะอยู่ในพื้นที่จุดคัดกรอง 

มาตรการที่ ๓ ประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง เพื่อความรวดเร็วและลดความเสี่ยงต่อการระบาด กกต.จัดให้มีการประชาสัมพันธ์มาตรการรักษาระยะห่างและข้อมูลที่จำเป็นสำหรับสมาชิก ได้แก่ ๑.สื่อวิดีทัศน์ เพื่อประชาสัมพันธ์การเตรียมความพร้อม และข้อควรปฏิบัติในพื้นที่ที่ทำการเลือกตั้ง ๒.เผยแพร่สื่อวิดีทัศน์และข้อมูลที่จำเป็นในทุกช่องทาง เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป หรือไลน์กลุ่มที่สมาชิกสังกัดอยู่ ๓.ส่ง sms ไปยังโทรศัพท์มือถือ โดยมีข้อมูลมาตรการ รวมถึงข้อมูลของหน่วยเลือกตั้ง ที่สมาชิกมีรายชื่อ เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว และลดความแออัด ๔.แจ้งมาตรการการเลือกตั้งไปยังหน่วยงานการศึกษาทุกแห่งทุกสังกัดที่สมาชิกสังกัดอยู่ ๕.แจ้งมาตรการผ่านช่องทางใบเสร็จรับเงินของสมาชิกทุกคน ทุกเดือน ก่อนการเลือกตั้ง และ ๖.แจ้งมาตรการเลือกตั้ง ผ่านการประชุมประจำเดือนของหน่วยงานทางการศึกษาทุกสังกัดที่สมาชิกสังกัดอยู่ และมาตรการที่ ๔ การเหลื่อมหน่วยงานและเวลามาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อลดความแออัด และง่ายต่อการจัดมาตรการรักษาระยะห่าง กกต.มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้สมาชิกแต่ละหน่วยงาน เดินทางมาเลือกตั้งแบบเหลื่อมหน่วยงานและเวลา ทั้งหมดนี้ คือมาตรการที่ กกต.สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด ได้จัดเตรียมไว้ เพื่อทำให้วันเลือกตั้ง มีความเรียบร้อยและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

สร้างโปรแกรมคัดกรอง

นายปรีชา กำพุฒกลาง ประธาน กกต.ฯ กล่าวว่า “จุดเด่นของมาตรการ คือ การสร้างโปรแกรมคัดกรอง โดยใช้ระบบอัตโนมัติ มีทั้งหมด ๑๒ เครื่อง เมื่อสมาชิกเดินทางมาคัดกรอง ก็จะบอกอุณหภูมิทั้ง ๑๒ หน่วย ๓ โซน เมื่อแจ้งเลขสมาชิก ๕ หลัก และนำมือมาอังหรือเดินผ่าน อุณหภูมิจะขึ้นทันที โดยมีเจ้าหน้าที่บันทึกอุณหภูมิที่วัดได้ เมื่อบันทึกเสร็จ ชื่อของสมาชิกจะปรากฏในฐานข้อมูลของสมาชิกทั้งหมดในแต่ละโซน พร้อมชี้แจงรายละเอียดอย่างชัดเจน หากเป็นกลุ่มเสี่ยงจะขึ้นสีแดง ซึ่งสามารถประมวลผลได้ทันที สามารถออนไลน์ได้ทั้งหมดจากบริเวณการเลือกตั้ง ในกรณีที่มีรหัสผ่านก็จะสามารถเข้าควบคุมได้ทั้ง ๓ โซน โดยแต่ละโซนเฉลี่ยสมาชิกประมาณ ๘,๐๐๐ กว่าคน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ ๓๓% ต่อโซน ร่วมทั้งป้ายประชาสัมพันธ์ว่าแต่ละโซนมีหน่วยงานใดบ้าง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์บริเวณจุดจอดรถเพื่อให้สมาชิกเดินทางเข้าโซนการเลือกตั้งตามโซนของตนอย่างสะดวก โดยปกติผู้เข้าใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะอยู่ที่ ๙๒% ซึ่งคาดการณ์ว่า สิ้นเดือนสิงหาคม จะมีผู้สมัครสมาชิกถึง ๒๖,๐๐๐ คน หากคำนวณจาก ๙๒% จะอยู่ที่ ๒๔,๐๐๐ คน เมื่อแบ่งเป็น ๓ โซน อัตราเร่งในการคัดกรองและดำเนินการเลือกตั้งจะเร็วกว่า จึงมั่นใจในมาตรการครั้งนี้ซึ่งภายในอาคารจะจัดหน่วยเลือกตั้งในแต่ละหน่วย ดังนี้ ความกว้าง ๒๔ เมตร ใน ๑ หน่วยเลือกตั้งทั้ง ๒ ฝั่ง จะยาว ๘ เมตร กว้าง ๔ เมตร ตรงกลางจะห่าง ๘ เมตร และใน ๑ หน่วยเลือกตั้งจะมีเจ้าหน้าที่ ๑๕ คน โดยจะเป็นประธาน ๑ คน และอีก ๗ คน จะแบ่งเป็น ๒ ชุด เพื่อรองรับการเลือกตั้งให้รวดเร็ว เท่าทันปริมาณการคัดกรอง กกต.มั่นใจมาตรการครั้งนี้ ใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการจัดทำโปรแกรมและประชุมเชิงปฏิบัติการ พร้อมทั้งนำผลของแผนมาตรการออกมา เพื่อสามารถยืนยันต่อคณะกรรมการโรคติดต่อและศูนย์บัญชาการตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ จังหวัดนครราชสีมาได้ พร้อมทั้งมั่นใจว่า สามารถปฏิบัติได้ตามแผน”

ห้ามขายของ

นางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ สอบถามกรณีมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของในวันเลือกตั้งจะมีมาตรการควบคุมอย่างไร โดยประธาน กกต.ฯ ชี้แจงว่า “มีการแจ้งแผนมาตรการในบอร์ดของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ว่า คณะกรรมการจังหวัดขอความร่วมมือไม่ให้ขายของ แม้แต่ญาติที่ไปกับสมาชิก ก็ไม่อนุญาตให้เข้าไปในจุดคัดกรองและเขตการเลือกตั้ง แต่จะมีเต็นท์อำนวยความสะดวกให้เพียงพอกับญาติที่ไป พร้อมบริการน้ำดื่ม โดยใช้เวลาเลือกตั้งไม่นาน อีกทั้งไม่สามารถข้ามโซนได้ ทำให้เมื่อเลือกตั้งเสร็จก็เดินทางกลับทันที ซึ่งมาตรการนี้ พร้อมที่จะปฏิบัติ มีแผน และเตรียมการประชุมถึง ๘ ครั้ง อีกทั้ง มทส. มีมาตรการงดการขายของภายในมหาวิทยาลัย แม้แต่การทำสัญญาจัดเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ระบุจะไม่ให้มีการขายของ ฉะนั้น ตำรวจ และ รปภ.ประจำมหาวิทยาลัย จะเข้มงวดมาก หากมีการขายจะเชิญออกทันที”

จากนั้น ตัวแทนสาธารณสุขอำเภอเมืองนครราชสีมา แนะนำเกี่ยวกับมาตรการว่า “มีความกังวลเกี่ยวกับจุดพักอุณหภูมิ เมื่อสมาชิกเดินทางมาถึงจุดพักอุณหภูมิ ต้องคัดกรองให้ชัดเจนและแน่ใจว่า บุคคลที่นำมาพักอุณหภูมิจะต้องไม่เข้าเกณฑ์ PUI เพราะเมื่อไหร่ที่คนที่มีอุณหภูมิสูงมาพักรวมกัน โดยไม่ได้จำแนกว่าใครบ้างที่เข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อ หรือไม่ตรวจหาเชื้อ ซึ่งคนที่ไม่เข้าเกณฑ์จะได้รับผลกระทบจากการแพร่เชื้อของกลุ่มที่เข้าเกณฑ์ PUI ดังนั้น ก่อนที่จะนำคนที่มีไข้สูงมารวมไว้ที่จุดเดียวกัน ต้องคัดกรองจนจำแนกให้ได้ว่า ใครบ้างที่เข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อ และใครบ้างที่เป็นไข้แต่ไม่ได้สัมผัสอะไรเลย เพราะจุดนี้คือจุดที่อันตรายที่สุด และอาจกระทบไปถึงระบบส่งต่อไปที่โรงพยาบาล มทส. ถ้าไม่ได้จำแนกเอาไว้ ระบบส่งต่อจะไม่รัดกุมพอ ต้องให้ความสำคัญในจุดนี้ด้วย” 

แจ้งสมาชิกล่วงหน้า

นายปรีชา กำพุฒกลาง ประธาน กกต.ชี้แจงว่า “กรณีคนที่มีอุณหภูมิสูงหรือมีไข้ มาตรการที่ ๑ กกต.จะประชาสัมพันธ์ถึงหน่วยงานและสังกัด ขอความร่วมมือไม่ให้เข้าร่วมเลือกตั้ง มาตรการที่ ๒ เมื่อสมาชิกเข้ามาจอดรถ แล้วเดินทางไปที่หน่วยเลือกตั้ง จะต้องผ่านเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ ซึ่งหากเกิน ๓๗.๕ องศาเซลเซียส จะเข้าสู่จุดพักที่ ๑ เป็นการทราบในเบื้องต้น ซึ่งยังไม่ถึงจุดคัดกรอง เมื่อพักครบเวลาแล้ว มาสแกนอีกครั้ง เมื่อผ่านแล้วจะเข้าไปนั่งพัก เมื่อนั่งพักจนอุณหภูมิปกติ ก็จะสามารถเดินทางไปยังจุดคัดกรอง โดยแต่ละโซน จะมีจุดคัดกรอง ๔ จุด พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่บริการลงข้อมูลแก่สมาชิก ทำให้สร้างความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งการเขียนจะช้ากว่า เมื่อผ่านจุดนี้แล้วก็จะมีเจ้าหน้าที่พาไปยังจุดพ่นยาฆ่าเชื้อและเหยียบเจลแอลกอฮอล์ เมื่อเข้ามาภายในอาคารจะพบสัญลักษณ์กำหนดระยะห่างตามที่กำหนด คือ ๑-๒ เมตร ซึ่งส่วนของอนุกรรมการภายในอาคาร จะคอยเตือนเรื่องการยืนตามจุด ปีนี้ กกต.จะทำวิดีทัศน์ เป็นคลิปวิดีโอความยาวประมาณ ๔ นาที แบ่งเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ การจัดมาตรการและกระบวนการเลือกตั้ง ส่วนที่สอง ทำเป็นมาตรการที่เสนอในที่ประชุม โดยทำออกไปให้ถึงมือสมาชิกให้ได้ศึกษาและทราบก่อน พร้อมทั้งสามารถเช็คคิวอาร์โค้ดที่ กกต.ส่งไปตามหนังสือซึ่งสามารถตรวจสอบรายละเอียดของตนเองได้ รวมทั้งชี้แจงหน่วยและโซนที่จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งสะดวกต่อสมาชิกในการเปิดดูรายชื่อ ณ หน่วยเลือกตั้ง”

“หากผู้ใดไม่ได้สืบค้นมา จะมีเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมให้ที่บริเวณทางเข้าอาคาร ฉะนั้น หากสมาชิกเข้าผิดโซนการเลือกตั้ง จะไม่ผ่านโปรแกรมและต้องหาโซนของตนเอง ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะต้องแบ่งพื้นที่ออกเป็นสามส่วน (ส่วนละ ๘,๐๐๐ คน) ซึ่งจะช่วยให้ความหนาแน่นลดลง ยิ่งเหลื่อมหน่วยงานและเหลื่อมเวลาด้วย จะเหลือเพียง ๔,๐๐๐ คนต่อโซนในช่วงเช้า และ ๔,๐๐๐ คนต่อโซนในช่วงบ่ายโดยเฉลี่ย ซึ่งเมื่อคำนวณออกมาแล้ว มั่นใจว่าระยะเวลา ๖ ชั่วโมงนั้น  กกต.สามารถทำการเลือกตั้งจบได้ไม่เกิน ๕ ชั่วโมง เหล่านี้คือมาตรการที่ประชุมเชิงปฏิบัติการ พร้อมทั้งวิพากษ์ ผ่านการอนุมัติจากบอร์ดสหกรณ์ฯ และนำมาเสนอในที่ประชุมนี้” ประธาน กกต.ฯ กล่าว

เชิญ สธ.ตรวจสอบพื้นที่ก่อน

จากนั้น นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา แนะมาตรการเพิ่มเติมว่า “มาตรการที่นำมาเสนอมีความชัดเจน แต่ในกลุ่มที่เข้าเกณฑ์ PUI นั้น ก็ให้มีการจำแนกเพิ่มเติม จะทำให้มาตรการละเอียดขึ้น ควบคู่กับการสังเกตอุณหภูมิ ซึ่งทำมาตรการออกมาได้ดีมาก”

ประธาน กกต.ฯ กล่าวว่า “แผนจัดการวันเลือกตั้งจะเป็นวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๓ ซึ่งเวลาที่เหลือจะออกแบบงานให้เข้ากับมาตรการที่นำเสนอไปให้เป็นไปได้มากที่สุด พร้อมทั้งเชิญ สาธารณสุขและคณะกรรมการจังหวัดตรวจสอบสถานที่ ๑ วันก่อนการเลือกตั้ง โดยจะจัดสถานที่ในวันที่ ๒ ตุลาคม และเสร็จสิ้นในวันที่ ๓ ตุลาคม เวลา ๑๒.๐๐ น. ฉะนั้น วันที่ ๓ ตุลาคม เวลา ๑๓.๐๐ น. จะเชิญคณะกรรมการตรวจความพร้อมของสถานที่ต่อไป” 

รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กล่าวสรุปในท้ายสุดว่า “ถือเป็นการอนุมัติในหลักการ ขอให้ดำเนินการตามที่ได้แจ้งคณะกรรมการไว้ พร้อมทั้งให้สาธารณสุขและคณะกรรมการโรคติดต่อตรวจสอบเพื่อดำเนินการเลือกตั้งในวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๓”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๘วันพุธที่ ๒๙ เดือนกรกฎาคม - วันอังคารที่ ๔ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 

 


896 1422