28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

September 05,2020

มอเตอร์เวย์‘โคราช-ขอนแก่น’ มูลค่า ๑๐๑,๑๕๔ ล้าน ๓,๙๖๙ ล้านจ่ายค่าเวนคืน

ประชุมสรุปผลศึกษา “มอเตอร์เวย์โคราช-ขอนแก่น” ระยะทาง ๒๐๒ กม. มูลค่าทั้งโครงการ ๑๐๑,๑๕๔ ล้าน เจ้าของที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน เข้ายืนยันสิทธิ์จำนวนมาก กรมทางหลวงตั้งงบจ่าย ๓,๙๖๙ ล้านพร้อมย้ำสามารถใช้พื้นที่ได้ปกติ เพราะยังไม่ประกาศเวนคืน

 

เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐–๑๒.๐๐ น. ณ โรงแรมดิ อิมพีเรียล โคราช มีการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ ๓) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motor way) สายนครราชสีมา–ขอนแก่น จัดโดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน ร่วมด้วยนางสาวสุดาวดี ศิริสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์นโยบาย กรมทางหลวง กล่าวรายงาน ซึ่งมีส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอ ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนชุมชน และประชาชนในพื้นที่โครงการกว่า ๑,๐๐๐ คน ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินมาแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ พร้อมรับฟังรายละเอียดโครงการ

น.ส.สุดาวดี ศิริสวัสดิ์ กล่าวรายงานว่า สายโคราช–ขอนแก่น เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข ๖ สายบางปะอิน–หนองคาย ตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ภายใต้โครงการศึกษาจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมืองของประเทศไทย โดยจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับสายบางปะอิน–นครราชสีมา มีลักษณะโครงข่ายวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ และไปสิ้นสุดแนวสายทางที่ขอนแก่น จะเป็นทางเลือกที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบทางหลวงที่อำนวยความสะดวกรวดเร็วในการขนส่ง สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างภาคอีสานตอนล่างกับตอนบนได้อย่างเป็นระบบ   

นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “ดีใจที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ หลังจากรับฟังในวันนี้แล้วกรมทางหลวงจะนำไปออกแบบเพิ่มเติม อาจจะศึกษาและนำประสบการณ์การสร้างมอเตอร์เวย์ในเฟสแรกมาเป็นบทเรียนด้วย เรื่องการจัดการในระหว่างการก่อสร้าง และเรื่องการคมนาคมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มอเตอร์เวย์จะเป็นทางปิดไปตลอด วิถีชีวิตประชาชนในบริเวณนี้จะเปลี่ยนไป และโครงการใหญ่ๆ เหล่านี้ จะมาซึ่งการเปลี่ยนของกระแสน้ำ จึงต้องการข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อเป็นผลดีกับทุกฝ่ายในอนาคต”

นำเสนอรายละเอียดอีกครั้ง

            จากนั้นเป็นการนำเสนอรายละเอียดโครงการโดยบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งนายเสกสิทธิ์ ศิริไวทยพงศ์ ผู้จัดการโครงการฯ ให้ข้อมูลว่า “หลังจากประชุมมาแล้ว ๔ ครั้ง พร้อมทั้งประชุมกลุ่มย่อยที่โคราชและขอนแก่น วันนี้เป็นสรุปผลการศึกษารวมถึงรับฟังข้อคิดเห็นประชาชน ภาพรวมของมอเตอร์เวย์ หมายเลข ๖ ซึ่งอยู่ในแผนหลักการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่ต้องทำทั้งประเทศ โดยกรมทางหลวงทราบดีว่า ภาคอีสานมีจำนวนประชากรมากที่สุด ประชาชนยังไม่ได้รับความสะดวกจากการเดินทาง ทำให้จัดลำดับความสำคัญว่าสายบางปะอิน-โคราชต้องสร้างก่อน สำหรับการระบายน้ำ เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่สำรวจ ขอข้อมูลจากผู้นำชุมชนและประชาชนตลอดเส้นทาง ๒๐๒ กิโลเมตร เพื่อที่จะกำหนดขนาดตำแหน่งของตัวสะพานแม่น้ำ-ลำธาร หลังจากนั้นจะดูเรื่องการลงทุนต่อ หากให้ภาครัฐเข้ามาลงทุนเพียงฝ่ายเดียวดูจะเป็นไปได้ยาก และใช้ระยะเวลานาน ฉะนั้นจะแบ่งว่า มีเอกชนเจ้าใดบ้างที่สนใจจะมาร่วมลงทุน ซึ่งรัฐจะลงทุนเรื่องการเวนคืน ลงทุนเรื่องการก่อสร้าง ส่วนเอกชนจะเข้ามาดูแลระบบเก็บค่าผ่านทาง การอำนวยความสะดวกความปลอดภัยและงานด้านต่างๆ”  

“ขั้นตอนการเวนคืนนั้น คาดว่าจะอยู่ในราวต้นปี ๒๕๖๖ รอให้เส้นทางบางปะอิน-โคราชเปิดใช้งานในปี ๒๕๖๕ ก่อน และให้สำรวจรายละเอียดเสร็จสิ้น เมื่อเวนคืนเสร็จจะเริ่มก่อสร้าง ซึ่งโครงการมอเตอร์เวย์สาย ๖ ช่วงต้นมีผู้รับเหมาหลายราย จึงแบ่งสัญญาออกเป็น ๔๐ ตอน จากระยะทางกว่า ๑๙๖ กิโลเมตร และต้องการให้โครงการเดินหน้า จึงต้องแบ่งงานเป็นหลายส่วน เมื่อก่อสร้างเสร็จ ติดตั้งงานระบบ ทดสอบเสร็จจึงจะเริ่มเปิดใช้งาน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงสิ้นสุดต้นทางของโครงการ คาดว่าโครงการนี้จะเปิดใช้งานเร็วที่สุดปี ๒๕๗๑ หลังจากจบการประชุม กรมทางหลวงจะพิจารณารายงานขั้นสุดท้าย และนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” ผู้จัดการโครงการ กล่าว   

นายเสกสิทธิ์ ศิริไวทยพงศ์ กล่าวอีกว่า “โครงการนี้มีความสำคัญในด้านยุทธศาสตร์ กรมทางหลวงมีความจำเป็นที่จะต้องทำมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ สายนี้คือเส้นสำคัญที่สุดเส้นหนึ่งของกรมทางหลวง ตั้งแต่บางปะอิน-หนองคาย ฉะนั้นเส้นโคราช-ขอนแก่น ถือว่ามีความสำคัญ หากทำจบแค่เพียงโคราช ประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศชาติจะได้รับนั้นจะลดลงอย่างมหาศาล สำหรับเส้นทางบางปะอิน-หนองคาย มีความสำคัญอีกด้านคือ สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างภาคตะวันเฉียงเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างอย่างเป็นระบบ หมายถึงรถบรรทุกขนส่งนั้นผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญเรื่องความตรงต่อเวลา และความปลอดภัยในการเดินทางจึงมักเลือกใช้เส้นทางที่มีระบบทางเข้า-ออกอย่างสมบูรณ์ ส่วนนี้จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ และรองรับการขนส่งในหลายรูปแบบ ซึ่งแตกต่างจากรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ รวมทั้งยังช่วยลดความแออัดของการจราจรบนเส้นทางหลักด้วย”

การศึกษาด้านวิศวกรรม

สำหรับรูปแบบทั่วไปของทางหลวงพิเศษในระยะแรก (First Stage) จะมีขนาด ๔ ช่องจราจร โดยมีเกาะกลางแบบ Depressed median ช่องจราจรขนาดช่องละ ๓.๖๐ เมตร ไหล่ทางด้านนอก ๓.๐๐ เมตร ไหล่ทางด้านใน ๑.๐๐ เมตร โดยแบ่งเป็น ๒ รูปแบบ โดยรูปแบบแรกเป็นถนนขนาด ๔ ช่อง จราจรแบบไม่มีทางบริการบนเขตทางปกติกว้างประมาณ ๗๐ เมตร และรูปแบบที่ ๒ เป็นถนนขนาด ๔ ช่อง ส่วนจราจรมีทางบริการข้างละ ๒ ช่องจราจรบนเขตทางกว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับทางหลวงพิเศษสาย M6 ช่วงบางปะอิน-นครราชสีมา หรือโครงการทางหลวงพิเศษสายอื่นที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ทางหลวงพิเศษหมายเลข M7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ทางหลวงพิเศษสาย M81 ช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี รวมถึงโครงการทางหลวงพิเศษสายอื่นที่ได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดแล้ว ทั้งสองรูปแบบได้กำหนดรูปแบบการก่อสร้างระยะสุดท้าย (Ultimate Stage) โดยขยายเส้นทางหลักเข้าด้านในเป็นขนาด ๖ ช่องจราจรไว้รองรับปริมาณการจราจรในอนาคต 

นายเจษฎา นาวาสิทธิ์ วิศวกรงานทาง ให้รายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบของมอเตอร์เวย์ว่า “จะใช้เขตทาง ๗๐ เมตร แบ่งเป็น ๔ ช่องจราจร (ขาไป ๒ ขากลับ ๒) มีพื้นที่เกาะกลาง พร้อมทั้งความปลอดภัยด้านข้าง รูปแบบจะเหมือนกับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา กรณีผ่านพื้นที่ชุมชนที่ใช้สัญจรเดิมเป็นจุดที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม แต่อาจจะลำบากมากขึ้น เช่น การขยับจุดข้ามทางให้ไปใช้งานในจุดเดียวกัน โดยใช้ทางคู่ขนานที่อยู่นอกรั้วที่สามารถเชื่อมเส้นทางได้ ซึ่งหากมีจุดข้ามทั้งสองฝั่งจะใช้เขตทางรวม ๑๐๐ เมตร หลังจากสร้างเส้นทางจราจร ก็คาดการณ์ผลการการจราจรว่า อีก ๒๐ ปีข้างหน้า หากมีการขยายเส้นทางการจราจรก็สามารถขยายเป็น ๖ ช่องทางจราจรได้โดยไม่ต้องเวนคืนที่ดิน โดยขยายจากด้านในบริเวณเกาะกลางและด้านข้าง”

ครอบคลุม ๓ จังหวัด

สำหรับพื้นที่โครงการครอบคลุม ๓ จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น และมหาสารคาม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ และพื้นที่เกษตรกรรมมีชุมชนกระจายตัวเป็นกลุ่มตลอดพื้นที่ศึกษา โดยมีทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) เป็นทางหลวงสายหลัก ในการเดินทางระหว่างนครราชสีมาและขอนแก่น และมีทางหลวงสายอื่นรองรับการเดินทางเข้าสู่พื้นที่อำเภอต่างๆ ได้แก่ทางหลวงหมายเลข ๒๐๕ ผ่านอำเภอโนนไทย อำเภอพระทองคำ และเข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ ทางหลวงหมายเลข ๒๐๖ และทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ เชื่อมต่อพื้นที่ อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอพิมาย และการเดินทางเข้าสู่จังหวัดบุรีรัมย์ ทางหลวงหมายเลข ๒๐๗ ผ่านอำเภอสีดา อำเภอประทาย ทางหลวงหมายเลข ๒๐๒ ซึ่งเชื่อมต่อ จังหวัดชัยภูมิ อำเภอบัวใหญ่ อำเภอสีดา อำเภอประทาย และจังหวัดบุรีรัมย์ ทางหลวงหมายเลข ๒๓ ผ่านอำเภอบ้านไผ่ เชื่อมต่อจังหวัดมหาสารคาม ทางหลวงหมายเลข ๒๒๙ ผ่านอำเภอชนบท อำเภอมัญจคีรี ทางหลวงหมายเลข ๒๓ ที่เป็นทางหลวงสายหลักเชื่อมจากอำเภอเมืองขอนแก่น ผ่านจังหวัดมหาสารคาม เข้าสู่จังหวัดร้อยเอ็ด และทางหลวงหมายเลข ๑๒ ที่เป็นโครงข่ายจากด่านชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านจังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ และเข้าสู่จังหวัดขอนแก่น แล้วจึงผ่านจังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์เข้าสู่จังหวัดมุกดาหาร เชื่อมต่อด่านมุกดาหาร ส่วนการเดินทางในรูปแบบอื่นจะมีเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงสถานีชุมทางจิระ–ขอนแก่น และยังมีทางรถไฟสายชุมทางแก่งคอย-ลำนารายณ์-ชุมทางบัวใหญ่ เข้ามาเชื่อมที่ชุมทางบัวใหญ่ รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่ในอนาคต ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่–นครพนม

แนวเส้นทาง

นายเจษฎา นาวาสิทธิ์ กล่าวว่า “สำหรับแนวเส้นทางของมอเตอร์เวย์โคราช-ขอนแก่น จะแยกออกมาจากแนวของมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช บริเวณ กม. ๑๘๓+๐๐๐ ในพื้นที่อำเภอขามทะเลสอ โดยแนวเส้นทางจะมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนจะเข้าสู่จุดพักรถ (Rest Stop) บริเวณ กม. ๑๘๗+๔๐๐ จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่อำเภอเมืองนครราชสีมา แล้วจึงเข้าสู่พื้นที่อำเภอโนนไทย ก่อนจะเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข ๒๐๕ บริเวณ กม. ๒๐๙+๗๐๐ ในพื้นที่ตำบลโนนไทย ก่อนจะเข้าสู่ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) ในพื้นที่ตำบลด่านจาก อำเภอโนนไทย และเข้าสู่ตำบลมะค่า จากนั้นแนวเส้นทางจะเข้าสู่พื้นที่อำเภอโนนสูง เชื่อมทางหลวงหมายเลข ๒๐๖๗ บริเวณ กม. ๒๒๘+๐๐๐ ในพื้นที่ตำบลขามเฒ่า แล้วจึงเข้าสู่ตำบลพลสงคราม ผ่านจุดพักรถ บริเวณ กม. ๒๓๘+๗๐๐ ก่อนจะข้ามทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ กม. ๒๔๒+๐๐๐ แล้วจึงเข้าสู่พื้นที่อำเภอคง แนวเส้นทางจะตัดทางหลวงหมายเลข ๒๑๕๐ เชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ บริเวณ กม. ๒๕๑+๐๐๐ ก่อนแนวเส้นทางจะเข้าสู่พื้นที่ตำบลดอนตะหนิน อำเภอบัวใหญ่ ผ่านสถานีบริการทางหลวง (Service Area) บริเวณ กม. ๒๖๘+๑๐๐ แล้วจึงตัดผ่านทางหลวงหมายเลข ๒๐๒ เข้าเชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ บริเวณ กม. ๒๗๒+๓๐๐ แล้วเข้าอำเภอบัวใหญ่และอำเภอสีดา”

นายเจษฎา นาวาสิทธิ์ กล่าวอีกว่า “จากนั้นแนวเส้นทางจะเข้าสู่พื้นที่อำเภอบัวลาย ตัดผ่านถนนมิตรภาพ เชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ บริเวณ กม. ๒๘๗+๕๐๐ ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ตำบลวังไม้แดง อำเภอประทาย จากนั้นแนวเส้นทางจะเข้าสู่พื้นที่ตำบลหนองแวงโศกพระ อำเภอพล (ขอนแก่น) โดยผ่านจุดพักรถ บริเวณ กม. ๒๙๘+๑๐๐ แล้วจึงเข้าสู่ตำบลพันโจด อำเภอหนองสองห้อง ตัดทางหลวงหมายเลข ๒๐๗ เชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ บริเวณ กม. ๓๐๗+๐๐๐ พื้นที่อำเภอโนนศิลา ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่อำเภอบ้านไผ่ แนวเส้นทางในช่วงนี้จะผ่านตำบลป่าปอ เข้าศูนย์บริการทางหลวง บริเวณ กม. ๓๒๘+๑๐๐ แล้วจึงตัดผ่านทางหลวงหมายเลข ๒๓ เชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ บริเวณ กม. ๓๔๑+๐๐๐ ในพื้นที่ตำบลหินตั้ง แล้วจึงมุ่งขึ้นทิศเหนือผ่านตำบลภูเหล็ก” 

“จากนั้นแนวเส้นทางจะเข้าสู่พื้นที่อำเภอโกสุมพิสัย ผ่านจุดพักรถ บริเวณ กม. ๓๕๕+๕๐๐ แล้วจึงตัดทางหลวงหมายเลข ๒๐๘ เชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ บริเวณ กม. ๓๗๐+๐๐๐ จากนั้นแนวเส้นทางจะเบี่ยงซ้าย โดยมีตำแหน่งด่านเก็บค่าผ่านทางแบบ Barrier Type บริเวณ กม. ๓๗๖+๕๐๐ ในพื้นที่ตำบลเขาไร่ และผ่านตำบลโพนงาม จากนั้นจึงยกระดับข้ามแม่น้ำชี เข้าสู่พื้นที่ตำบลดอนหัน อำเภอเมืองขอนแก่น จากนั้นแนวเส้นทางจากกม. ๓๖๑+๕๐๐ ถึงจุดสิ้นสุดโครงการ ในจุดที่โครงการผ่านชุมชนหรือตัดผ่านถนนท้องถิ่น เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองตลอดแนวก่อนจะสิ้นสุดโครงการบนทางหลวงหมายเลข ๒๓๐ ในพื้นที่ตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่น โครงการได้ออกแบบมาให้ ทางบริการ ทางลอดหรือสะพานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การสัญจรในท้องถิ่นให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อกันได้ และในอนาคตจะต่อเส้นทางนี้ไปยังหนองคาย” นายเจษฎา กล่าว 

เชื่อมโยงโครงข่ายและเส้นทางต่อขยาย

นายเจษฎา นาวาสิทธิ์ กล่าวว่า “การออกแบบไม่ได้ดูเพียงโครงข่ายมอเตอร์เวย์เท่านั้น แต่มองถึงจุดเชื่อมทุกจุดว่าโครงข่ายนั้นสมบูรณ์หรือไม่ เช่นการเชื่อมระหว่างอำเภอ นอกจากนั้นยังเสนอแนวถนนตัดใหม่ด้วย โดยเชื่อมโยงจุดสำคัญของโคราช คือ อำเภอพิมาย ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ที่อยู่ห่างจากมอเตอร์เวย์ สามารถที่จะเชื่อมกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา นอกจากนี้ ยังศึกษาเส้นทางต่อขยายจากจุดปลายทางเพื่อตรงขึ้นไปยังจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองคาย จะเดินทางอย่างไร ซึ่งมีเส้นทางแนะนำไว้ในอนาคต”

ทางแยกต่างระดับ

“การออกแบบทางแยกต่างระดับนั้น จะเป็นจุดในการเชื่อมไปยังอำเภอที่สำคัญต่างๆ ใน จ.นครราชสีมา โดยเน้นให้เป็นจุดเข้าออกของโครงการ ได้แก่ ๑.จุดเชื่อมกับเส้นทางมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา (ทางแยกต่างระดับขามทะเลสอ) ๒.ทางแยกต่างระดับโนนไทย ๓.ทางแยกต่างระดับโนนสูง ๔.ทางแยกต่างระดับคง ๕.ทางแยกต่างระดับบัวใหญ่ ๖.ทางแยกต่างระดับบัวลาย ๗.ทางแยกต่างระดับพล ๘.ทางแยกต่างระดับบ้านไผ่ ๙.ทางแยกต่างระดับโกสุมพิสัย และ ๑๐.ทางแยกต่างระดับขอนแก่น” 

ระบบชำระค่าผ่านทาง

นายเจษฎา กล่าวว่า “ส่วนรูปแบบการชำระค่าผ่านทางจะเป็นรูปแบบเดียวกับเส้นทางมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา เพื่อความต่อเนื่องและสะดวกต่อการใช้เส้นทาง หากใครมีบัตรเติมเงินเมื่อผ่านทางเงินก็จะถูกหักทันที ถ้าไม่มีบัตรสามารถชำระด้วยเงินสดได้ ซึ่งคิดระยะทางด้วยระบบ AI ตรวจสอบ หากขึ้นจากอำเภอใด ระบบก็จะคำนวณจากจุดนั้น เมื่อถึงจุดสิ้นสุดก็จะแจ้งในจุดปลายทางว่าใช้ระยะทางเท่าไหร่ คิดเป็นเงินกี่บาท ซึ่งจะมีป้ายแจ้งก่อนการชำระเงินเพื่อเตรียมเงินก่อนถึงด่านผ่านทางชำระเงิน”

“การออกแบบเพื่อลดผลกระทบท้องถิ่นนั้น ให้ความสำคัญมาก นำประสบการณ์การก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราชมาแก้ไขปัญหาโดยให้กระทบกับท้องถิ่นให้น้อยที่สุด เพื่อความสะดวกของประชาชนในพื้นที่ ทำให้เส้นทางมีการยกระดับในทุกจุดตัดการสัญจร หากบางเส้นที่ไม่สามารถยกระดับได้ก็จะทำสะพานข้ามทดแทน ซึ่งมีกว่า ๒๙ จุดตลอดเส้นทาง” นายเจษฎา กล่าว

สำรวจและออกแบบระบบระบายน้ำ 

“สำหรับการออกแบบระบบระบายน้ำ โครงการเริ่มสำรวจทางน้ำและน้ำท่วมตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ ซึ่งนำข้อมูลมาประกอบกับการออกแบบกำหนดเป็นพื้นที่รับน้ำ คำนวณปริมาณการไหลสูงสุดผ่านอาคารระบายน้ำ แล้วจึงทำการออกแบบทางชลศาสตร์เพื่อหาขนาดอาคารระบายน้ำ โดยพิจารณาเป็นการไหลในทางน้ำเปิด (Open Channel) ด้วยแรงดึงดูดของโลก (Gravity Flow) และออกแบบให้แนวสายทางมีผลกระทบต่อระบบระบายน้ำที่มีตำแหน่งและขนาดช่องเปิดที่เหมาะสม รวมถึงการออกแบบสะพานข้ามแหล่งน้ำผิวดินโดยไม่มีการก่อสร้างตอม่อลงในแหล่งน้ำ เพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงอุทกวิทยาน้ำผิวดินจากสภาพปัจจุบัน ซึ่งมีสะพานทั้งหมด ๕๔ แห่ง และท่อเหลี่ยมทั้งหมด ๘๗ แห่ง ในการออกแบบอย่างละเอียดจะเริ่มจัดวางท่อให้เห็นภาพชัดขึ้นในอนาคต”

จุดพักรถริมทาง

“ภายในมอเตอร์เวย์จะต้องมีจุดพักรถทุก ๒๕ กิโลเมตร โดยจะแบ่งขนาดดังนี้ หากวิ่งรถตามยาวไป ๑๐๐ กิโลเมตร จะมีจุดพักรถขนาดใหญ่ บริเวณอำเภอโนนไทยและอำเภอบ้านไผ่ วิ่งตามยาวไป ๕๐ กิโลเมตร จะมีจุดพักรถขนาดกลาง และวิ่งตามยาวไป ๒๕ กิโลเมตร จะมีจุดพักรถขนาดเล็ก ซึ่งกระจายอยู่ตลอดเส้นทาง” 

“นอกจากนั้นยังมีความปลอดภัยมากขึ้น ประกอบด้วยป้ายการจราจรต่างๆ พร้อมแจ้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งกล้องวงจรปิดในระยะ ๑ กิโลเมตร เพื่อตรวจสอบสิ่งของตกหล่น และตู้โทรศัพท์ที่มีตลอดเส้นทางไม่เก็บค่าบริการ อีกทั้งยังมีระบบความปลอดภัยต่างๆ เช่น ที่กั้นแสงบริเวณทางโค้งเพื่อให้รถขับขี่ปลอดภัยมากขึ้น รั้วกั้นป้องกันสัตว์ กำแพงกั้นเสียงในพื้นที่ชุมชน แนวป้องกันการชนบริเวณทางแยก พร้อมทั้งผู้ควบคุมการจราจรจากศูนย์อำนวยการส่วนกลาง” นายเจษฎา กล่าว

มูลค่าทั้งหมด ๑๐๑,๑๕๔ ล้าน

รศ.ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า “ด้านเศรษฐศาสตร์เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ต้องศึกษาว่า โครงการดังกล่าวมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากน้อยอย่างไร เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการผลักดันโครงการ และเป็นแนวทางเลือกรูปแบบการลงทุน ทั้งการเก็บค่าผ่านทาง หรือการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งการประเมินค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านเศรษฐกิจของโครงการ โดยใช้ข้อมูลจากด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในการออกแบบ มีการประเมินผลประโยชน์ทางตรงต่อผู้ใช้ทาง การประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถ การประหยัดมูลค่าในการเดินทาง และลดมูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ โดยนำข้อมูลดังกล่าวมาทำการวิเคราะห์ความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจของโครงการ”

อย่างไรก็ตาม การประเมินค่าใช้จ่ายโครงการในเบื้องต้นนั้น ได้ใช้ข้อมูลต้นทุนค่าใช้จ่ายที่อ้างอิงจากการออกแบบโครงการมาคำนวณ และสามารถสรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการ ดังนี้ ๑.ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ๓,๙๖๙ ล้านบาท ๒.ค่าสำรวจและออกแบบ ๑,๐๒๕ ล้านบาท ๓.ค่าก่อสร้าง ๕๑,๒๙๐ ล้านบาท ๔.ค่าควบคุมงานก่อสร้าง ๑,๒๘๒ ล้านบาท ๕.ค่าบริหารจัดการโครงการ ๗๖๙ ล้านบาท ๖.ค่าดำเนินงาน ๒๖,๘๔๖ ล้านบาท ๗.ค่าบำรุงรักษางาน ๑๕,๘๑๘ ล้านบาท และ ๘.ค่าติดตามประเมินผลและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ๑๕๒ ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายโครงการ ๑๐๑,๑๕๔ ล้านบาท

กรรมสิทธิ์และการเวนคืนที่ดิน

จากนั้น ภายในห้องประชุมได้จัดให้ประชาชนสอบถามในเรื่องการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งคลินิกรับคำปรึกษาเกี่ยวกับที่ดินและทรัพย์สิน ซึ่งมีประชาชนมาแสดงสิทธิ์กว่า ๑,๐๐๐ คน โดยมีนายธนากร ธนภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกรรมสิทธิ์ มาร่วมแลกเปลี่ยนกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในโครงการ โดยกล่าวว่า “ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการสรุปโครงการขั้นต้น เมื่อประชุมเสร็จก็จะเข้าสู่กระบวนการออกแบบรายละเอียด และเข้าสู่การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเวนคืน กระบวนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจะจ่ายค่าเวนคืน โดยใช้ราคาประเมินเป็นราคาเทียบเคียงกับราคาที่ซื้อขายตามท้องตลาด ซึ่งสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับความเป็นธรรมสำหรับค่าเวนคืนอย่างแน่นอน”

“ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๕๖๒ กำหนดการจ่ายเงินทดแทนค่าเวนคืนออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ๑.ค่าทดแทนที่ดิน ๒.ค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้าง ๓.ค่าทดแทนพืชผล/ต้นไม้ โดยการกำหนดราคาค่าเวนคืนที่ดินจะแต่งตั้งคณะกรรมการประกอบด้วย ๑.นายอำเภอ ๒.ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๓.ผู้แทนจากกรมทางหลวง ๔.ผู้แทนจากกรมธนารักษ์ และ ๕.ผู้แทนสำนักที่ดิน เพื่อร่วมกันหารือและกำหนดราคาค่าเวนคืนที่ดินที่เหมาะสมและเป็นธรรมที่สุดให้แก่ประชาชน” นายธนากร กล่าว 

ผู้เชี่ยวชาญด้านกรรมสิทธิ์ กล่าวอีกว่า“กรมทางหลวงจะจ่ายทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนด้วย นอกจากส่วนที่ถูกเวนคืนไปแล้ว ในกรณีที่ที่ดินส่วนที่เหลือนั้นมีราคาลดลงกรมทางหลวงจะทดแทนค่าเสียผลประโยชน์เพิ่มให้ แต่ในกรณีที่ถนนตัดผ่านแล้วทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือมีมูลค่าสูงขึ้น ก็จะนำมาหักออกจากค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแต่ไม่เกินครึ่งหนึ่ง” 

“การสำรวจสิ่งปลูกสร้างก่อนการเวนคืนนั้น จะเริ่มจากการแจ้งหนังสือและเข้าไปสำรวจภายในพื้นที่เพื่อประเมินราคา โดยจะสร้างสิ่งปลูกสร้างประเภทเดียวกันขึ้นมาทดแทน ส่วนค่าก่อสร้างบ้านจะคิดราคาค่าก่อสร้าง ณ ปัจจุบันที่ พ.ร.ฎ.เวนคืนประกาศไม่ใช่ราคาที่ใช้ก่อสร้างไปแล้ว โดยทางกรมทางหลวงจะจ่ายค่าชดเชยค่าเสียโอกาสในการออกจากบ้าน, ค่าสาธารณูปโภค และอื่นๆ พร้อมทั้งค่าเสียโอกาสสำหรับกิจการขนาดเล็ก ๖ เดือน, ขนาดกลาง ๘ เดือนและขนาดใหญ่ ๑๒ เดือน ส่วนต้นไม้นั้นจะคิดเป็นรายต้น ซึ่งดูราคาว่าแต่ละต้นแต่ละประเภทราคาเท่าไหร่ หากใครที่ปลูกต้นไม้เป็นอาชีพ ก็จะได้รับการทดแทนค่าเสียโอกาสทางรายได้ด้วย” นายธนากร กล่าว 

ปัจจุบันสามารถใช้พื้นที่ได้ปกติ 

นายธนากร ธนภิวัฒน์ กล่าวปิดท้ายว่า “การเวนคืนจะจ่ายก่อนการก่อสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์ ก่อนการสำรวจขอให้เก็บหลักฐานว่าพื้นที่ของตนใช้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งปัจจุบันยังสามารถใช้พื้นที่ของตนในการปลูกสร้างและซื้อขายได้ตามปกติ จนกว่าจะมีการออกแบบรายละเอียด พร้อมทั้งกรมทางหลวงออกนโยบายที่จะก่อสร้าง และเมื่อประกาศผลบังคับใช้ พ.ร.ฎ.เวนคืน ก็จะไม่สามารถจัดการกับพื้นที่ของตนได้” โครงการยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำแผนแม่บทระหว่างเมือง โดยศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งออกแบบรายละเอียด และชี้แจงการเวนคืนของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ซึ่งคาดว่าจะเวนคืนก่อนก่อสร้างหลังเปิดเส้นทางมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และเปิดใช้งานในปี ๒๕๗๑ 

ความเป็นมามอเตอร์เวย์โคราช-ขอนแก่น

อนึ่ง โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) สายนครราชสีมา–ขอนแก่น เป็นโครงการตามแผนแม่บท การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๐ และเป็นส่วนหนึ่ง ของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข ๖ สายบางปะอิน–หนองคาย ตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๗๙ ภายใต้โครงการศึกษาจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย โดยจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน–นครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้าง มีลักษณะโครงข่ายวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ และไปสิ้นสุดแนวสายทางที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบทางหลวงที่อำนวยความสะดวกรวดเร็วในการขนส่ง เนื่องจากเป็นทางหลวงที่มีมาตรฐานสูงและมีการควบคุมการเข้า-ออกอย่างสมบูรณ์ สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างภาคอีสานตอนล่างกับตอนบนได้อย่างเป็นระบบ อีกทั้งจะเป็นโครงข่ายหลักสำหรับการคมนาคมขนส่งทางถนนของประเทศที่รองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ตลอดทั้งการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคอินโดจีน รวมถึงจะช่วยลดปัญหาจราจรที่คับคั่งบนทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) และเขตเมืองนครราชสีมาในอนาคต และช่วยกระจายการพัฒนาจากกรุงเทพมหานครไปสู่ภูมิภาค ซึ่งกรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แอคโนเลดจ์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบ สิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครราชสีมา–ขอนแก่น โดยคาดว่าโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบทางหลวงที่อำนวยความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางและขนส่งเนื่องจากเป็นทางหลวงที่มีมาตรฐานสูง มีการควบคุมทางเข้า-ออกอย่างสมบูรณ์ และมีการเชื่อมโครงข่ายอย่างมีระบบ รวมทั้ง ช่วยลดอุบัติเหตุในการเดินทางและบรรเทาปัญหาจราจรที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาพรวมของประเทศ


1017 1723