28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

September 11,2020

เปิดใจ “วิเชียร จันทรโณทัย” ๖ ปีในเก้าอี้ ‘ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา’

การได้คนโคราชมาเป็น “ผู้ว่าฯ โคราช” ดูจะเป็นความปรารถนาของชาวเมืองส่วนหนึ่ง ด้วยคิดว่า “คนในพื้นที่ย่อมเข้าใจพื้นที่” สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ ก็เป็นไปตามหวัง เมื่อปลัดกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง  “วิเชียร จันทรโณทัย” ซึ่งเป็นคนสีคิ้วมานั่งเก้าอี้ “ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา” และเมื่อผ่านไป ๔ ปี ก็ต่ออายุให้เป็นผู้ว่าฯ โคราชอีก ๑ ปี รวม ๕ ปี และล่าสุดก็ต่ออายุการเป็นผู้ว่าฯ โคราชให้อีก ๑ ปี จึงเท่ากับว่า “วิเชียร” จะนั่งเก้าอี้นี้ ๖ ปี

ใน ๕ ปีที่ผ่านมา มีงานใดที่เขาทำไปแล้วบ้าง และอีก ๑ ปีต่อจากนี้ “วิเชียร จันทรโณทัย” มีงานใดที่ต้องการเดินหน้า “โคราชคนอีสาน” จึงถือโอกาสในวาระครบรอบ ๔๖ ปีสัมภาษณ์พิเศษ เพื่อนำมาเผยแพร่สู่สาธารณชน 

• บทเรียนจากเหตุกราดยิง
บทเรียนที่ได้รับจากการทำงานนี้ ผมคิดว่า “คนโคราชและคนไทยทั้งประเทศมีน้ำใจ” ทุกอย่างเป็นไปได้ง่ายและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเงินในการจัดพิธีศพ ค่าใช้จ่ายในวัดต่างๆ ส่วนหนึ่งมาจากพระมหากรุณาธิคุณ และส่วนหนึ่งผมร่วมทำบุญด้วย ซึ่งหลังจากเกิดเหตุนี้ จังหวัดก็ตระหนักถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเน้นไปที่การจัดงานกระตุ้นด้านการท่องเที่ยว การจัดงานวิ่ง และการจัดประชุมสัมมนาต่างๆ แต่ก็โชคไม่ดีนัก เพราะโคราชต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-๑๙ กลายเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามโคราชจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งได้โดยเร็ว เนื่องจากเป็นจังหวัดแรกๆ ของประเทศไทย ที่มีการปลดล็อกมาตรการต่างๆ อนุญาตให้จัดประชุมสัมมนา คอนเสิร์ต และงานถนนคนเดิน โดยงานให้เริ่มจากภาคราชการก่อน เพื่อเรียกขวัญกำลังใจให้คนโคราชกลับมาเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองต่อไป

 

“บทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์เหล่านี้ คือการติดตามงานทุกวัน ผมคิดว่า ถ้าเราทำเช่นนี้ได้กับทุกปัญหาในจังหวัด ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่แค่ไหน ก็สามารถแก้ได้ทันท่วงที” ซึ่งขณะนี้จังหวัดนำระบบ Video Conference มาใช้ เพื่อประชุมกับนายอำเภอทุกแห่งทุกสัปดาห์ เพื่อรับทราบปัญหาของแต่ละอำเภอ และเป็นการเตรียมพร้อมการสื่อสารไว้ เพราะโคราชเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างมาก หากวันหนึ่งเกิดภัยต่างๆ ขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แล้วผมต้องลงไปดูแลพื้นที่นั้น ผมก็จะไม่ทราบเลยว่า พื้นที่อื่นเป็นอย่างไร เนื่องจากการลงพื้นที่นั้น ไม่สะดวกต่อการสื่อสาร แต่ถ้าเราใช้ระบบ Video Conference ก็จะสามารถติดตามงานได้ต่อเนื่อง และในทุกๆ วัน ก่อนเริ่มทำงาน จะมีการบรีฟงานว่า วันนี้จะทำอะไรบ้าง ดังนั้น ในอนาคตการแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็จะสะดวกและง่ายขึ้น

• ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากเหตุกราดยิงสู่วิกฤตโควิด-๑๙ 
เดิมทีโคราชมีนักท่องเที่ยวประมาณ ๗-๘ ล้านคน ขณะนี้กำลังเช็คดูว่า นักท่องเที่ยวเหลือเท่าไหร่ อาจจะหายไปมากถึง ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ ผลกระทบยังขยายวงกว้างไปถึงพ่อค้าแม่ค้า ร้านอาหาร ธุรกิจต่างๆ รวมถึงการจ้างงาน โคราชมีภาวการณ์เลิกจ้างประมาณ ๒-๓ พันคน เนื่องจากธุรกิจหรือโรงงานต่างๆ ไม่มีรายได้ ในช่วงที่ไวรัสโควิด-๑๙ เข้ามาในโคราช  ใหม่ๆ มีการตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อแก้ปัญหา เป็นการเรียนรู้มาจากเหตุ กราดยิง โดยทุกภาคส่วนจะคอยอัพเดตสถานการณ์ในการประชุม เวลา ๑๑.๐๐ น. ของทุกวัน ซึ่งประชุมกันมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม มีการติดตามสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อทุกคน รวมถึงถ่ายทอดสดผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นประจำ เพื่อรับทราบข้อคิดเห็นของประชาชน เมื่อถึงกลางเดือนเมษายน โคราชพบผู้ติดเชื้อ ๑๕ ราย ก็คาดการณ์ไว้ว่า เมื่อสิ้นเดือนเมษายนอาจจะมีผู้ติดเชื้อมากถึง ๓๐ คน เป็นระดับที่น่าพอใจ แต่ปรากฏว่า โคราชมีผู้ติดเชื้อทั้งหมดเพียง ๑๙ รายเท่านั้น

• คิดว่าความสำเร็จเหล่านี้เกิดจากเหตุใด
“ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของจังหวัด เกิดขึ้นจากการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน” อย่างเช่น เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ ช่วงวันหยุดยาวหลายวัน ประชาชนจากกรุงเทพฯ ทะลักเข้ามาในโคราช ผมได้รับรายงานจากตำรวจว่า ด่านตรวจคัดกรองรับไม่ไหว คนมากเกินไป อาจจะนำเชื้อโรคเข้ามาด้วย จึงประชุมด่วนเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยผมให้แพทย์ประเมินว่า จังหวัดใดในขณะนั้นยังมีความเสี่ยงและยังมีการแพร่ระบาดอยู่ ซึ่งมีอยู่ ๑๔ จังหวัด จึงออกประกาศห้ามผู้ที่เดินทางมาจาก ๑๔ จังหวัดนี้เข้าสู่โคราช หากจะเข้ามาก็ต้องกักตัว ๑๔ วัน ส่วนคนที่ไม่ได้มาจาก ๑๔ จังหวัดนี้ สามารถเดินทางได้ปกติ แต่จากการออกประกาศไป ทำให้พบปัญหาตามมาว่า หลายคนไม่เห็นด้วย รวมถึงผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางท่าน โทรมาถามผมว่า ทำไมถึงทำเช่นนี้ เดี๋ยวประชาชนจะตื่นตระหนกไม่กล้ามาโคราช “แต่ผมต้องทำเพื่อปกป้องคนในพื้นที่หรือคนโคราช” ถึงแม้ว่าคนจาก ๑๔ จังหวัดจะมาโดยไม่มีเชื้อโรค แต่ก็ปล่อยไม่ได้ ต้องมีการคัดกรอง ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถควบคุมโรคได้ ดังนั้น ผมคิดว่า “ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นจากพี่น้องประชาชน อาสาสมัคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา และให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ของจังหวัด”

• เนื่องจากโควิด-๑๙ เป็นเหตุฉุกเฉิน นำงบส่วนใดมาบริหารจัดการ
ในการแก้ปัญหาเรื่องโควิด-๑๙ รัฐบาลตั้งงบประมาณทดรองราชการเป็นกรณีพิเศษไว้ ๓๐ ล้านบาท แต่โคราชใช้ไปเพียง ๑ ล้าน บาท เนื่องจากมีประชาชนบริจาคสิ่งของ แอลกอฮอล์เจล และเงินจำนวนมาก โดยโครงการถุงยังชีพ ๑๕๖๗ จังหวัดไม่รับบริจาคเป็นเงิน ให้ไปซื้อสิ่งของมาบริจาค แล้วนำมาจัดเป็นถุงยังชีพเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน จึงไม่ได้ใช้เงินงบประมาณ แต่เงินที่ใช้ไป ๑ ล้านบาท คือให้เจ้าหน้าที่ตั้งจุดคัดกรอง มีค่าเบี้ยเลี้ยงอาสาสมัคร และค่าน้ำมันให้กับหน่วยงานต่างๆ ออกไปตรวจในช่วงเคอร์ฟิว ส่วนการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเทศบาลฯ แต่ในส่วนของจังหวัดก็สามารถนำไปซื้อได้ แต่เราไม่ซื้อ เพราะคิดว่า มีการบริจาคมากพอแล้ว

• วิกฤตโควิด-๑๙ จะหายไปเมื่อใด 
“ในช่วงนี้คนโคราชต้องช่วยกันป้องกันให้เต็มที่ จนกว่าจะมีวัคซีน” คาดว่า ไม่ต่ำกว่า ๑ ปีนับจากนี้ไป ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัย ๑๐๐% ส่วนหน่วยงานใดที่ต้องการจัดงานใหญ่ๆ จังหวัดจะส่งเจ้าหน้าที่ปกครองไปตรวจ เจ้าหน้าที่ต้องเหนื่อยมากขึ้นในการไปช่วยจัดระเบียบ และควบคุมอย่างเต็มที่ ขณะนี้ร้านอาหารอาจจะได้รับผลกระทบจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ บางร้านมีลูกค้าแออัดมาก ต้องแก้ปัญหา กระจายโต๊ะ กระจายพื้นที่ เพื่อเว้นระยะห่าง ไม่ว่าจะเป็นสนามมวย สถานบันเทิง ธุรกิจเหล่านี้   ได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่ก็ต้องให้ความร่วมมือในการป้องกัน หากทำไม่ได้ก็ต้องสั่งปิด ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่จะขับรถสำรวจ หากพบว่า ไม่เว้นระยะห่าง ไม่สวมหน้ากากอนามัย จึงค่อยลงไปชี้แจงและตักเตือน หากพบว่ากระทำผิดหลายครั้งอาจจะต้องปิด เพราะถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน และถ้าวันหนึ่งโคราชมีการระบาดรอบ ๒ ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศไม่มีคนติดเชื้อ โคราชจะอยู่กันอย่างไร ดังนั้น “บางมาตรการอาจจะทำให้หลายคนอึดอัดบ้าง แต่ก็ต้องทำ”

• แก้ไขเรื่องปากท้องประชาชนอย่างไร?
โรงงานตุ๊กตาที่อำเภอด่านขุนทดปิดตัวลง โรงงานกระเป๋าที่อำเภอพิมายเลิกจ้างพนักงานอีก ๖๐๐ คน บัณฑิตจบใหม่ก็ไม่มีงานทำ คนเหล่านี้เป็นคนโคราชทั้งนั้น ขณะนี้มีเพียงงานราชการที่ยังเป็นปกติ แต่ก็มีการรับทำงานน้อยมาก จึงมีนโยบายแบ่งเป็นระยะว่า ระยะแรกถึงเดือนตุลาคม ทำอย่างไรให้คนตกงานอยู่ได้ และจากนั้นจะเป็นการสร้างงานให้กับประชาชน จังหวัดจะกระตุ้นให้คนมาท่องเที่ยวในโคราช นำเงินมาจับจ่ายใช้สอย คนที่ไม่มีกำลัง คนที่ไม่มีงาน จะได้กระตุ้นตัวเองในการประกอบธุรกิจ ขายสินค้าต่างๆ แล้วจังหวัดจะเข้าไปส่งเสริม เมื่อมีคนขายก็ต้องหาคนมาซื้อด้วย ซึ่งในเร็วๆ นี้ จังหวัดจะใช้ระบบไขว้อำเภอ คือ หาคนที่มีกำลังซื้อจากอำเภอหนึ่งมาจับจ่ายใช้สอยในอีกอำเภอ สลับกันไปเป็นประจำ เช่น นำคนจากปากช่องไปเที่ยวบัวใหญ่ แต่บัวใหญ่ก็ต้องมีกิจกรรมรองรับการท่องเที่ยว อาจจะไม่ไปทุกอำเภอ แต่อำเภอที่มีศักยภาพควรแสดงศักยภาพของตัวเอง และในขณะเดียวกันชาวบ้านที่ไม่มีอาชีพ จะต้องมาขายสินค้าสร้างรายได้ ควบคู่กันไปกับโครงการนี้ด้วย

อีกเรื่องหนึ่งคือการทำเกษตร แต่โคราชมีปัญหาภัยแล้ง พี่น้องบางคนก็ลำบาก จึงพยายามสร้างงานให้มากๆ ขณะนี้กำลังหารือร่วมกับภาคเอกชน ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีงานทำ เช่น การเปิดถนนคนเดินที่ด่านเกวียน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี คนในชุมชนก็ทำขนม นำสินค้ามาขาย บางคนขายวันเดียวได้ ๕-๖ พันบาท เหตุผลที่ต้องจัดวันเสาร์เพราะว่า เป็นการนำร่องก่อน ให้คนซื้อเก็บกำลังซื้อไว้แล้วค่อยไปใช้จ่ายในวันหยุด ซึ่งหลังจากนี้ผมขอให้นายอำเภอและคนด่านเกวียน นำสินค้ามาจำหน่ายในโครงการที่จัดไว้ให้ หากพ้นฤดูหนาวปีนี้ไป คิดว่าด่านเกวียนน่าจะดีขึ้น และเมื่อหมดฤดูฝน อำเภอปักธงชัยและอำเภอประทายก็จะเริ่มจัดตลาดถนนคนเดินเช่นกัน สำหรับการจัดตลาดนัดทั่วไป เป็นการนำสินค้าทางการเกษตรมาจำหน่าย แต่ถนนคนเดินจะเป็นการแสดงวัฒนธรรม ต้องหาพื้นที่จัดงานที่ดีมีต้นทุนทางวัฒนธรรมอยู่แล้ว เช่น อำเภอสีคิ้ว อาจจะจัดที่บริเวณหมู่บ้านไท-ยวน นอกจากจะมาเดินซื้อสินค้าแล้วยังชมวัฒนธรรมต่างๆ ด้วย 

• โคราช MICE CITY
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ผมเสนอให้โคราชเป็น “MICE City” หลายครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่เขาท้วงคือ การเดินทางมาโคราชใช้เวลานานเกินไป ที่ผ่านมาจัดได้แค่แข่งขันวอลเลย์บอล แต่เมื่อมอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูงกำลังจะมา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องประกาศว่า โคราชพร้อมในการจัดประชุม หน่วยงานที่จะมารับรองคือ สสปน. หรือ TCEB เขาจะไปประเมินว่าจังหวัดต่างๆ มีความพร้อม แล้วประกาศเป็น MICE City ดังนั้น เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา โคราชจึงเสนอตัวเข้าไปว่า มีความพร้อมและขอรับการประเมิน ซึ่งมีตัวชี้วัด ๘ ข้อ โคราชก็ปรับแก้มาตลอด กระทั่งในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นการประเมินครั้งสุดท้าย และประกาศผลในวันที่ ๑-๓ กันยายน ๒๕๖๓ ที่กรุงเทพมหานคร หากโคราชได้รับการตั้งเป็น MICE City ปลายปีนี้การจัดประชุมสัมมนาต่างๆ ของภาครัฐ ก็จะมาที่โคราช ซึ่งเร็วกว่าที่ผมกำหนด โดยขณะนี้แจ้งมายังภาคเอกชนในโคราชแล้วว่า สามารถจัดประชุมสัมมนาได้ โดย TCEB จะเป็นผู้สนับสนุน

• การเสนอตัวจัดงานพืชสวนโลกในปี ๒๕๗๒
เมื่อโคราชเป็น MICE City แล้ว ก็จะเสนอต่อเนื่องในการจัด “งานพืชสวนโลก” ผมคิดว่า ใน ๘ อำเภอทางทิศเหนือของจังหวัด ที่เขาจะขอแยกจังหวัดอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากว่า ประชาชนในพื้นที่อำเภอเหล่านั้น คิดว่ามีการพัฒนาน้อย ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติในเรื่องการท่องเที่ยว แต่ถ้าจังหวัดไปสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ก็อาจจะกลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งพื้นที่โคกหนองลังกา ตำบลเทพาลัย อำเภอคง เป็นพื้นที่เหมาะสม หากใช้พื้นที่แห่งนี้จัดงานพืชสวนโลกเหมือนที่เชียงใหม่ ซึ่งทุกวันนี้ยังมีคนไปเที่ยวอยู่ ถ้าเราสามารถจัดได้ที่โคราช ผมคิดว่า จะเป็นการกระจายความเจริญจากตัวเมืองไปที่นั่น โดยหลังจากปีนี้การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมีการจองหมดแล้ว มีว่างเพียงปี ๒๕๗๒ ซึ่งโคราชกำลังเสนอตัว อีก ๑๐ ปีข้างหน้า และใน ๑๐ ปีข้างหน้า บริเวณนั้นจะมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน มีสถานีรถไฟทางคู่อยู่ใกล้ๆ การเข้าสู่พื้นที่จะง่ายขึ้น ขณะนี้ออกแบบสวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังจ้างบริษัทที่ปรึกษาเขียนโครงการเสนอเข้า ครม.เร็วๆ นี้ เมื่อครม.เห็นชอบ ในปี ๒๕๖๔ โคราชก็ต้องไปเสนอตัวกับสมาคมพืชสวนโลกที่ต่างประเทศ แข่งกับนานาประเทศที่ต้องการเป็นเจ้าภาพเช่นกัน “เมื่อถึงเวลานั้นงานพืชสวนโลกจะสร้างความเจริญให้กับโคราช รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงด้วย”

การขอเป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก ผมคิดว่า ขึ้นอยู่กับ   รัฐบาลไทยในการไปสู้กับต่างประเทศ ซึ่งมีการพูดคุยกันในหลายประเทศว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพ เขาก็เปิดทางให้ แต่ขณะนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เนื่องจากมีวิกฤตโควิด-๑๙ เศรษฐกิจก็ไม่ดี เพราะงานพืชสวนโลกอาจจะต้องใช้เงินมากถึง ๒,๐๐๐ ล้าน ซึ่งรัฐบาลอาจจะรู้สึกว่าเป็นเงินจำนวนมาก แต่แท้จริงแล้วเป็นเงินตลอด ๙ ปี และเงินส่วนนี้ไม่ใช่เงินก้อนเดียว อาจจะมาจากหลายส่วน ผมจึงมีความกังวลว่า รัฐบาลจะไม่มีเงิน เพราะจำนวนเงินมากเกินไป แต่ก็ต้องไปทำความเข้าใจกับ ครม.

• งานพืชสวนโลก หากทำสำเร็จในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า จะนับว่าเป็นความสำเร็จของใคร
“งานนี้จะเป็นผลงานของคนโคราชทุกคน เพราะอีกนานกว่างานจะสำเร็จ ทุกคนคงต้องช่วยกัน” ซึ่งที่ผ่านมา งานทุกชิ้นที่สำเร็จไป ก็ไม่ใช่ผลงานของผู้ว่าฯ แต่เป็นหน้าที่ที่ผู้ว่าฯ จะต้องไปหามา การขยายถนนเส้นต่างๆ ก็ต้องใช้แรงของคนในจังหวัดทำ แต่จังหวัดมีหน้าที่ไปเร่งรัด ครม.ให้อนุมัติงบมาให้ เช่น โครงการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาเขื่อนลำตะคอง ซึ่งโครงการมีมาหลายสิบปีแล้ว จังหวัดจึงมีหน้าที่เข้าไปเสนอ ครม.เพื่อพิจารณา ผลงานทุกชิ้นที่ผ่านมา เกิดจากแรงกายแรงใจของคนโคราชทั้งหมด ถือว่าเป็นผลงานร่วมกัน

• ความเป็นไปได้ของสายการบินในโคราช ยังมีอยู่หรือไม่?
การเป็น MICE City จะต้องผ่านการประเมินข้อหนึ่ง ซึ่งเราสอบตกตั้งแต่ครั้งแรก เพราะโคราชไม่มีสายการบิน เมื่อคณะประเมินเห็นว่า เรายังไม่มีสายการบิน เขาแทบจะไม่อยากมาตรวจโคราช เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก การประชุมต่างๆ ผู้เข้าร่วมจะต้องเดินทางมาจากต่างประเทศ หากลงเครื่องที่กรุงเทพฯ แล้วต่อรถมาโคราชอีก ๓ ชั่วโมง ก็ถือเป็นเรื่องลำบาก โคราชจึงสอบตก แต่เมื่อจะมีมอเตอร์เวย์ มีรถไฟความเร็วสูงเข้ามา คะแนนจึงเพิ่มขึ้นมา ก็ถือว่า เป็นเรื่องที่ดี “ต่อจากนี้ไป สายการบินโคราช-กรุงเทพฯ อาจจะต้องหยุดคิดไปเลย” แต่เส้นทางที่เป็นไปได้คือ โคราช-ภูเก็ต หรือ โคราช-เชียงใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาพูดคุยกันตลอด แม้จะเสียเวลาไปค่อนข้างมาก บางครั้งผมต้องไปคุยด้วยตนเอง ทำให้ใช้เวลากับสิ่งนี้มากเกินไป 

• ยุทธศาสตร์ ๒๐ ปีจังหวัดนครราชสีมา ข้อที่บอกว่า ‘โคราชเมืองสะอาด’ จากสภาพปัจจุบันถือว่า พอใจหรือยัง
“ไม่พอใจ” เรามีเป้าหมายแล้ว แต่ส่วนราชการเขามีงานมาก หลายหน่วยงานก็คิดว่างานมากอยู่แล้ว ไม่ต้องการมีงานเพิ่ม รวมถึงเดี๋ยวนี้มีการตรวจสอบจากองค์กรต่างๆ ส่วนราชการก็ไม่กล้าทำอะไร กลัวจะโดนตรวจสอบ และรู้สึกว่าเป็นภาระในการรับการตรวจสอบ ดังนั้น งานที่ได้มาจากส่วนกลางก็เหนื่อยแล้ว ยุทธศาสตร์จังหวัดหลายตัวจึงไม่มีคนเขียนโครงการ ทั้งที่ผมพยายามกระตุ้นให้เขียนโครงการไป เมื่อเขียนเสร็จแล้วก็เสนองบประมาณไป ๓ เท่า และท้ายที่สุดเราจะไปถูกตัดโดยสำนักงบประมาณ บางโครงการก็ไม่ได้รับงบประมาณ และกรรมาธิการก็ตัดอีกต่อหนึ่ง เพราะอาจจะเห็นความสำคัญของปัญหาน้ำ ถนน และภัยแล้งมากกว่า ก็ถือว่าไม่ผิดที่เห็นความสำคัญเรื่องพวกนี้ แต่ผมแค่ต้องการกระจายไปสู่ยุทธศาสตร์ต่างๆ “ซึ่งในอนาคตต้องการให้โคราชเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ไร้มลพิษหรือมลภาวะ เป็นเมืองที่มีความเจริญด้านพลังงานสะอาด เปรียบเสมือนบ้านหลังที่ ๒ ของคนกรุง” แต่พวกเขาก็ต้องได้รับบรรยากาศที่ดี อากาศที่ดี และมีความสะอาดปลอดภัย

• “ท่าเรือบก” มีความเป็นไปได้หรือไม่?
ขณะนี้ เรื่องไปสะดุดอยู่ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงขอให้นายอภิรัฐ รัตนเศรษฐ (รมช.คมนาคม) ส.ส.คนโคราช ซึ่งคุมการท่าเรือ ช่วยผลักดัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็โทรไปกระตุ้นว่า โคราชจำเป็นต้องแข่งขันกับจังหวัดอื่นๆ วันนี้ถึงเวลาที่จะต้องออกแบบในรายละเอียด เพื่อให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุน ถ้าโคราชประกาศแล้วจะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วม แต่ผมกังวลว่า หากปล่อยไว้เช่นนี้อาจจะเกิดความล่าช้าเกินไป ในขณะที่บางจังหวัดภาคเอกชนเขาร่วมมือทำ มีความคล่องตัวกว่า อาจจะเป็นเพราะจังหวัดอื่นๆ มีการพูดคุยกับการท่าเรือไว้แล้ว ส่วนทำเลที่ตั้งขณะนี้เป็นพื้นที่ที่คณะที่ปรึกษาศึกษาไว้ (ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน) แต่ผมต้องการเสนออีกแห่งหนึ่ง คือบริเวณแยกรวมถนนหมายเลข ๒๔ โชคชัย-เดชอุดม เชื่อมถนน ๒๐๑ ชัยภูมิ-สีคิ้ว และมีถนนมายังถนนมิตรภาพด้วย ผมคิดว่า จะเป็นจุดรวมของรถทุกสายในภาคอีสาน แต่พื้นที่เดิมคือกุดจิก ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม น้ำอาจจะท่วม และอยู่ใกล้ตัวเมืองมากเกินไป เพราะถึงวันหนึ่งเมืองจะต้องขยายไปทางนั้น อาจจะทำให้เกิดความแออัดขึ้น

• โคราชมักถูกเปรียบเทียบกับขอนแก่นอยู่เสมอ คิดว่าโคราชจะสามารถสู้กับขอนแก่นได้หรือไม่
หากมองเรื่องความทันสมัย ความปื๊ดป๊าด ผมว่า “เราอาจจะยังสู้เขาไม่ได้ เรายังเป็นเมืองผู้ใหญ่แบบเก่าหน่อย โบราณหน่อย” ในระยะเวลาที่ผ่านมา ขอนแก่นมีสายการบิน แต่โคราชไม่มี ซึ่งโลเคชั่นของ มทส.กับ มข. แตกต่างกัน เนื่องจาก มข.ตั้งอยู่ในเขตเมือง ทำให้เงินหมุนเวียนในเมือง แต่ที่ มทส.เด็กส่วนใหญ่อยู่นอกเมือง อีกทางหนึ่ง ขอนแก่นมีสายการบิน ทำให้เข้าถึงได้ง่าย ขอนแก่นจึงมีการพัฒนาไปข้างหน้าได้รวดเร็ว แต่โคราชมีความแข็งแรงด้านจำนวนคน รายได้ต่อหัว และความแข็งแกร่งทางการเกษตร ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนจังหวัดได้ และเปลี่ยนโคราชได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ นักธุรกิจของขอนแก่นมีความตื่นตัวกว่าโคราช ในการเรียกร้องโครงการต่างๆ เข้าสู่พื้นที่ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่านักธุรกิจขอนแก่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานที่ต้องดิ้นรนมา แต่โคราชเป็นในลักษณะของการสร้างงาน ไม่ใช่เป็นการดึงกิจกรรมหรือโครงการใหญ่ๆ เข้ามา

• ความคืบหน้าของ Khorat Geopark 
ขณะนี้กำลังรอการประเมินจากยูเนสโก ซึ่งยังไม่สามารถตอบได้ว่าเขาจะมาประเมินเมื่อไหร่ จากเดิมจะมีการประเมินในเดือนมิถุนายน และทราบผลในเดือนกันยายน มีการเตรียมงานรับการประเมินว่า โคราชพร้อมเป็น Geo Park แต่เมื่อพบกับวิกฤต โควิด-๑๙ ทำให้คณะกรรมการฯ ไม่สามารถเดินทางมาประเทศไทยได้ แต่การเลื่อนออกไปก็มีข้อดีว่า เราสามารถมาทบทวนตัวเองว่าขาดตกบกพร่องอะไรไปบ้าง โดยเฉพาะเรื่องความเข้าใจของชุมชน เพราะการประเมินจะต้องตรวจวัดชุมชนด้วย ผมจึงนำเรื่องนี้เข้ามาในส่วนราชการ บอกข้อมูลให้ผู้นำชุมชนทราบ จากนั้นก็ไปบอกต่อกับประชาชน เมื่อมีการสุ่มถามชาวบ้านก็สามารถตอบได้และทราบว่ากำลังจะมีอะไรเกิดขึ้น วันนี้ยังมีเวลาที่จะทำความเข้าใจกับชุมชนให้มากขึ้น

• ปัญหาที่โคราชแก้ไม่ได้อย่างยั่งยืน คือ น้ำท่วม เพราะเหตุใด
ปัจจุบันจุดที่มีน้ำท่วมเป็นจุดที่น้ำไหลไปรวมกัน โดยเดี๋ยวนี้พื้นที่ต่างๆ เทปูนหมดแล้ว ทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงสู่ใต้ดินได้ แต่ไหลมารวมกันที่บริเวณพื้นที่ต่ำ เช่น หน้าตลาดเซฟวันและจวนผู้ว่าราชการจังหวัด โดยจังหวัดมีการติดตามพื้นที่ที่น้ำจะท่วมอยู่ ๘ จุด ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นที่ต่ำจริงๆ ประกอบกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จะต้องบูรณาการกับหลายหน่วยงาน เช่น การระบายน้ำจากหน้าเซฟวันไปลงหน้าโฮมโปรถนนบายพาส จะต้องผ่านพื้นที่เอกชน การรถไฟ กรมทางหลวง กว่าจะดำเนินการได้ก็ช้า วันนี้เทศบาลฯ มีงบประมาณ แต่ทางหลวงบอกว่าจะต้องทำทางระบายน้ำให้ดี แต่ทางหลวงไม่มีงบประมาณ ก็ต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไร “สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ความรู้ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะส่วนมากเป็นความรู้จากความรู้สึก การแก้ปัญหายังไม่มีข้อยุติ เวลามีการประชุมทุกคนก็จะเสนอในแบบที่ตัวเองคิดว่าถูกต้อง”

การประชุมแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากหลายส่วนมักเสนอในมุมมองของตนเท่านั้น ซึ่งความรู้ที่มียังไม่ตกผลึก บางเรื่องที่ตกผลึกกลับไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งทำให้งบบานปลาย หากไม่เข้าทำการแก้ไขก็เหมือนไม่ได้ทำอะไร “ความรู้ของนักวิชาการอาจแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด ทำให้มีปัญหาตามมา” จึงต้องแก้ปัญหาโดยการแบ่งหน้าที่ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบใน ๘ จุด (๑.ถนนราชดำเนิน หน้าค่ายสุรนารี ๒.แยกไอทีพลาซ่า ๓.ตลาดเซฟวัน ๔.ถนนสุรนารายณ์ หน้าหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ๕.สามแยกหัวทะเล ๖.หมู่บ้านจามจุรี ๗.เทศบาลตำบลบ้านใหม่ และ ๘.โรงพยาบาลเซนต์เมรี่) เมื่อ น้ำท่วมต้องลงพื้นที่แก้ไขทันที แต่นี่อาจจะไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันกรมโยธาธิการเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา บางครั้งลงทุนไปเยอะ แต่ก็ไม่ใช่ทางออก 

• ในเรื่องภูมิทัศน์เมือง ซึ่งยังมีบางแห่งที่ดูไม่สวยงามและเป็นระเบียบ จะมีการแก้ปัญหาอย่างไร
การปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองนั้น มีการพูดคุยและเน้นย้ำกับเทศบาลเสมอ แต่อาจจะไม่ได้พูดกับนายกเทศมนตรีโดยตรง แต่เรียกเจ้าหน้าที่และปลัดมาคุย ความสะอาดในจุดที่เห็นๆ นั้นถือว่าดีแล้ว แต่ในจุดที่ลับสายตาอาจจะต้องช่วยกัน เราก็ช่วยกันในเรื่องเกี่ยวกับการเดินหน้าในเรื่องของขยะ ซึ่งช้าและมีหลายขั้นตอน ส่วนเรื่องผิวถนนต่างๆ ก็มีการพูดคุย พยายามบอกว่า นี่คือ “มหานคร” เพราะฉะนั้นพื้นที่เมืองต้องไม่เหมือนกับพื้นที่ในตำบลอื่นๆ ซึ่งต้องช่วยกัน แต่ผมคิดว่า อาจจะต้องมีความเข้มงวดในเรื่องเหล่านี้ด้วย ซึ่งเน้นในส่วนผู้บริหาร

• งานอะไรที่ทำแล้วรู้สึกภูมิใจมากที่สุด
ภูมิใจที่ได้ถวายงานอย่างสมพระเกียรติร่วมกับชาวโคราช ในงานถวายดอกไม้จันทน์ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งยิ่งใหญ่มาก และไม่มีใครรู้หรอกว่า คนมาแล้วปัญหาอะไรจะเกิด เด็กศูนย์ฝึกอาชีพมาช่วย เพราะผมเป็นคนให้นำมาเอง คอยจุดเทียน ยืนประจำจุดต่างๆ คิดว่าประชาชนจะต้องถือไม้ขีด ถือไฟแช็กมา เขาต้องถือเทียนมา “ผมไม่เคยให้พี่น้องประชาชนเดินสะเปะสะปะมา” อาหารอยู่ตรงไหน ของกินอยู่ตรงไหน การแสดงอะไรที่เหมาะสมควรหรือไม่ หลายจังหวัดเกิดปัญหากันตลอด  ซึ่งมีความกังวลตลอดเช่นกัน รวมทั้งการได้ถวายงานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ทำโครงการศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดนครชัยบุรินทร์ สำเร็จเป็นที่เดียวของประเทศไทย แต่คนโคราชอาจจะไม่ได้เห็นความสำคัญ เพราะอาจจะเป็นเรื่องของสุนัขจรจัด พระองค์รับเป็นโครงการส่วนพระองค์ และมีคนมาดูงานเป็นประจำ เมื่อทำโครงการเสร็จพระองค์ก็เมตตาว่า วันนี้จะมีศูนย์แพทย์ มีโรงเรียนแพทย์ มีศูนย์พักคนชราต่างๆ มาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพิ่มขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดี

• ในอนาคตโคราชจะมีการพัฒนาอย่างไร?
โคราชยังจะต้องนำเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลเข้ามา และหาประโยชน์ให้กับคนโคราชให้มากที่สุด ผมคิดว่ายังไม่จบเพียงเท่านี้ การสร้างระบบเชื่อมต่อ ผมก็ดำเนินการไปพอสมควรว่า ทำอย่างไร คนมาแล้วจะมีรถโดยสารเชื่อมต่อเส้นทาง ขณะนี้ยังไม่ได้ทำข้อตกลงกับผู้สัมปทาน นี่คือสิ่งที่เราเตรียมไว้ การเดินทางมาเขาใหญ่ ทำอย่างไรให้มีรถบริการไปถึงเขาใหญ่หรือวังน้ำเขียว ต้องมีการเจรจากับผู้สัมปทาน สิ่งเหล่านี้ถูกเตรียมไว้ และทำอย่างไรพี่น้องประชาชนจะมีรายได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ณ วันนี้เราทำการเกษตร ก็ต้องปรับไปเป็นเรื่องเกษตรปลอดสาร ซึ่งพยายามทำมาตลอด แต่ก็ยังไม่พอใจ ทั้งในส่วนของราชการ ที่ความจริงจัง ความต่อเนื่องยังไม่ดีพอ ทั้งที่บอกว่างบประมาณจังหวัดมีให้ ฉะนั้นวันนี้เราอาจจะสร้างมาตรฐานเกษตรปลอดภัยนครราชสีมาขึ้นมา ซึ่งจะเห็นผลในปี ๒๕๖๓ หลังจากทดสอบแบบประเมิน พร้อมทั้งลงไปให้ข้อมูลพี่น้องประชาชน ภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ จะมีเกษตรปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะขอนำไปขายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งคิดว่าต่อไปชาวนครราชสีมา ต้องไม่ใช่ทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ที่ไหนเปลี่ยนเป็นเลี้ยงโคได้ ก็จะเปลี่ยนเป็นเลี้ยงโค คนมีประสบการณ์เลี้ยงโคก็ควรที่จะเลี้ยงโคที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น โควากิว ชาร์โรเล่ส์ ส่วนคนที่ปลูกพืชผัก ก็จะเป็นพืชผักปลอดภัย ปรับเปลี่ยนจากการทำพืชไร่ไปทำพืชที่มีราคามากขึ้น นี่คือสิ่งที่อยากเห็นในอนาคต

• การขอต่ออายุอีก ๑ ปี มีเป้าหมายหรืองานที่จะทำเพื่อคนโคราชอย่างไร
ผมมีโครงการที่ยังคงค้างอยู่ ยังต้องจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนอีกหลายจุด ที่เป็นปัญหามากและยังจัดไม่ได้ ยังหาที่ดินไม่ได้ ซึ่งจะต้องหามาอีก ขณะนี้สามารถหาได้บ้างแล้วในหลายพื้นที่ บางจุดได้ด้วยระบบ บางจุดได้ด้วยความภาคภูมิใจ หมายถึง เรามีส่วนชี้นำ บางจุดที่ได้ด้วยระบบนั้นคือ มีที่ดินที่โดนยึดมาแล้วว่างจึงสามารถจัดสรรได้โดยระบบ บางจุดก็ไปควานหามาจนได้ นี่เป็นสิ่งที่ได้มาด้วยความภาคภูมิใจที่เราไปชี้นำมา แต่ยังมีอีกหลายจุดที่พี่น้องยังไม่ได้และเรียกร้องมาตลอด หลายพื้นที่ยังเกิดข้อขัดแย้งกัน เช่น ตำบลมาบกราด ประชาชนไปส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว มีเรือนำเที่ยวไว้ แต่วันนี้เข้าไปขายไม่ได้ เพราะถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ซึ่งจะต้องแก้ปัญหานี้ เรื่องแนวเขตอุทยานแห่งชาติก็ยังแก้ไม่จบ และพยายามจะเร่งให้เสร็จภายในปีนี้ในหลายๆ เรื่อง และเรื่องที่พูดไปแล้วคือระบบเชื่อมต่อรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ทั้งในตัวเมืองและอำเภอปากช่อง 

ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องน้ำลำตะคองเน่าเสีย “ผมต้องการเห็นน้ำลำตะคองที่ผ่านจังหวัดนครราชสีมา เป็นแม่น้ำที่ใช้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ใช้เพื่อท่องเที่ยว มากกว่าการใช้เป็นเพียงที่ระบายน้ำอย่างเดียว” ต้องการให้มีการพัฒนาวัดพระนารายณ์ บริเวณศาลหลักเมือง ซึ่งก็พยายามจะเร่งรัดให้เสร็จ และคงมีอีกหลายเรื่อง แต่ก็ไม่ทราบว่าจะทำเสร็จทันหรือไม่ หลายเรื่องต้องใช้เวลา ต้องเร่งรัดการทำงาน วันนี้บอกกับรองผู้ว่าฯ และนายอำเภอต่างๆ ว่า “ต่อไปนี้ต้องทำงานเสาร์อาทิตย์กันแล้ว” เพราะการทำงานที่ผ่านมานั้น ในวันธรรมดาเราจะมีแต่การประชุมเราจะเจอคณะผู้ใหญ่มาตรวจงานราชการ เราจะเจอกรรมาธิการเรียกเราไปชี้แจง เราเสียเวลากับเรื่องพวกนี้เยอะ ทำให้ขาดการตามงาน ทำให้ปัญหาต่างๆ ยังช้าอยู่ ทั้งที่ความจริงผมพยายามจะให้เวลากับพื้นที่มากอยู่แล้ว บางครั้งด้วยเหตุของระบบราชการ มีผู้หลักผู้ใหญ่มาก็จะต้องไปให้ข้อมูล ฉะนั้นวันนี้ตกลงกันแล้วจะอยู่โคราชด้วยกันอีก ๑ ปีข้างหน้า จะเป็นรองผู้ว่าฯ เป็นนายอำเภอ ถ้าหากงานไม่กระทบกระเทือนสิ่งอื่นแล้วก็ให้จัดในวันเสาร์-อาทิตย์ นี่เป็นข้อตกลงร่วมกัน

• อายุราชการเหลืออีก ๒ ปี อีก ๑ ปีอยู่โคราช แล้วอีก ๑ ปีตั้งเป้าหมายไหมว่าเกษียณในตำแหน่งใด
คิดไว้ในใจตอนนี้ว่า “พร้อมที่จะหยุด” หมายความว่า “วันหนึ่งก็อาจจะพอแล้ว แล้วไปทำให้สิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ได้ละเลยครอบครัวไปมากเหมือนกัน เพราะว่าไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน” คิดว่าวันหนึ่งอาจจะตัดสินใจอะไรได้ง่ายๆ และไม่ได้ยึดติดว่าต่อไปจะต้องไปเป็นอะไร

• ตำแหน่งก่อนเกษียณที่คิดไว้คือตำแหน่งอะไร 
การแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาเขาก็มีเหตุผล ไม่จำเป็นต้องไปถึงจุดที่เราต้องการ อยู่ในจุดที่เขาให้เราทำ แต่เราก็ทำให้ดีที่สุด แล้วท้ายที่สุดผมคิดว่า “น่าจะเพียงพอสำหรับผม” อย่างที่ผมบอกตัดสินใจได้ง่ายๆ ว่าจะเดินต่อหรือหยุด ไม่ยาก และก็จะไม่ให้คนอื่นยุ่งยาก ผมเคยเป็นนายอำเภอสีคิ้ว วันหนึ่งผมย้ายไป ก็ไม่เคยให้เขาต้องเดือดร้อนกับผม ไม่ว่าเรื่องอะไร ผมไม่เคยขอความช่วยเหลือ ไม่เคยขอลูกน้องเก่าออกมาช่วยเหลือ นี่คือสิ่งที่ผมเป็นอยู่วันหนึ่งผมก็มีความสุขกับชีวิตผม กับครอบครัวผม ก็อาจจะมีเพื่อนฝูงอยู่ด้วย ก็แค่นั้นเอง 

• ชีวิตหลังเกษียณสนใจจะเล่นการเมืองหรือไม่?
ยังไม่แน่เหมือนกัน ต้องดูพี่น้องประชาชนด้วยว่า ประชาชนจะว่าอย่างไร (แต่สนใจอยู่ใช่ไหม?) “ครับ” แต่ถ้ามีปัจจัยอื่นเข้ามามากผมก็สู้ไม่ไหว หรือไม่ก็หลบตัวไปเงียบๆ ทำนองนั้น แต่ยังอยู่โคราช ทำงานวันนี้ก็พร้อมตอบคำถามหลังเกษียณไปว่าทำอะไร “ขอขอบคุณพี่น้องชาวโคราชที่ร่วมงานกัน” งานก็ไม่ได้ดั่งใจในทุกวัน “ในขณะที่ผมพยายามทำเรื่องนู้นเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน” เข้ามาที่ศาลากลางบ้าง มาเจอผมบ้าง ด้วยเหตุที่ว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากกลิ่นเหม็นโรงเลี้ยงหมู โรงซ่อมรถข้างบ้าน รังวัดที่ดินแต่ทำไมที่ดินหายไป เรื่องเหล่านี้ผมคิดว่า ด้วยความที่เป็นคนโคราชเขาก็มาเล่าให้ผมฟัง เขาก็มาตามกับผมได้ง่าย เรื่องพวกนี้ผมให้ความสนใจ ให้ความสำคัญ ยังมีอีกเยอะ แต่เมื่อผมไปอยู่จังหวัดอื่น ผมไม่ได้เจอเรื่องพวกนี้ เพราะเขาไม่รู้จักผม เขาไม่เจอผม ใครหลายคนที่ไม่เจอผมที่นี่เขาก็ไปเจอแม่ผมบ้าง ไปเจอภรรยาผมบ้าง หลายๆ เรื่องก็ต้องดูแลให้เขา ที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือจากพี่น้อง ส่วนราชการต่างๆ รวมถึงพี่น้องภาคประชาชน ผมเองต้องขอบพระคุณในการทำงานมาโดยตลอด “งานทุกงานทำด้วยความตั้งใจ แม้ว่างานจะออกมาไม่ถูกใจท่านบ้าง” เรื่องทุกเรื่องมีปัญหาอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันเรื่องข้อกฎหมาย ผมโดนฟ้องเยอะแยะไปหมด หลังเกษียณส่วนหนึ่งอาจจะต้องไปแก้คดีที่โดนฟ้องจากการทำงาน แต่ก็ต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนคนโคราชที่ให้ความร่วมมือ

“ผมมีความรู้ความสามารถเท่าไหร่ผมจะทำให้เต็มที่ผมยืนยันว่า ผมคิดตลอดเวลาเรื่องงานที่โคราช ทำอย่างไรบ้านเมืองจะดีขึ้น ทำอย่างไรพี่น้องประชาชนจะมีความสุขมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ผมคิดตลอดเวลา” นายวิเชียร กล่าวย้ำ ในช่วงท้ายก่อนจบการสนทนา

 

นสพ.โคราชคนอีสานฉบับพิเศษครบรอบ 46 ปี ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๔ วันพุธที่ ๙ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓


1016 1663