20thApril

20thApril

20thApril

 

October 15,2020

ชูโคขุนสู้วิกฤตโควิด-๑๙ สร้างอาชีพคนขอนแก่น ธกส.พร้อมอนุมัติสินเชื่อ

“ประภัตร” ชูโครงการโคขุนสู้วิกฤตโควิด-๑๙ ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันที่ขอนแก่น สร้างเป็นอาชีพแก้ปัญหาความยากจน ในกลุ่มคนรายได้ น้อยกว่า ๓๐๐,๐๐๐ ครัวเรือน ใน ๒๖ อำเภอ ย้ำชัดทุก หน่วยงานต้องร่วมกัน ขณะที่ ธ.ก.ส.พร้อมอนุมัติสินเชื่อทันที

 

เมื่อเวลา ๑๔.๓๐ น. วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๓ ที่ห้องประชุมชั้น ๑ ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยมี นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น นำ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนตามแผนขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายประภัตร โพธสุธน กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ต่างลงพื้นที่เพื่อกำกับ ติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือเยียวยา และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่โดยเริ่มจากปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วทันเหตุการณ์ โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา ๔ เดือนต่อจากนี้ ซึ่งจากการลงพื้นทีที่ จ.ขอนแก่นเป็นจังหวัดแรกตามที่ได้รับมอบหมายรับผิดชอบจังหวัดขอนแก่น และร้อยเอ็ด พบว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด มีการประชุมสรุปปัญหาในพื้นที่ อาทิ ภัยแล้ง ที่ดินทำกิน การเลี้ยงปลาในกระชังในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ด้านแรงงาน ตลอดจนมีประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาความยากจน การเพิ่มผลผลิตปลาในพื้นที่ดินเค็มที่ไม่สามารถทำการเกษตรประเภทอื่นได้

“เราจะร่วมกันทำให้ภาคการเกษตรเป็นอาชีพที่ยั่งยืนโดยเฉพาะด้านปศุสัตว์และการปลูกพืชสำหรับอาหารสัตว์ ที่วันนี้เราจะยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่องฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย ด้วยโครงการโคขุน กู้วิกฤตโควิด-๑๙ ในวงเงินสินเชื่อ ๕๐,๐๐๐  ล้านบาท ผ่าน ธ.ก.ส. โดยเกษตรกรต้องรวมกลุ่มจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน อย่างน้อย ๗ คน กู้ได้ไม่เกินกลุ่มละ ๑๐ ล้านบาท หรือกู้ ๑ ล้านบาท ดอกเบี้ย ๑๐๐ บาท ซึ่งขณะนี้ที่ขอนแก่นมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว ๑๖ ล้านบาทในชุดแรก ซึ่งโคขุนนั้นมีตลาดรองรับโดยมีการประกันราคาหากสัตว์เสียชีวิต”

รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า ความต้องการโคเนื้อของต่างประเทศมีมากถึง ๕๐๐,๐๐๐-๑,๐๐๐,๐๐๐ ตัวต่อปี ไก่พื้นเมืองโดยเฉพาะตลาดประเทศกัมพูชา ต้องการไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ ตัวต่อวัน ส่วนแพะมีความต้องการ ๒๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ ตัวต่อปี และในปี ๒๕๖๓ คาดว่า ความต้องการบริโภคเนื้อโคของโลกมีมากถึง ๖๐ ล้านตัน เนื้อสุกร ๙๐ ล้านตัน และเนื้อไก่ ๙๘ ล้านตัน ซึ่งความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสของพี่น้องเกษตรกรได้สร้างรายได้ รวมไปถึงการปลูกพืชสำหรับอาหารสัตว์ คือหญ้าเนเปียร์ แหนแดง, กลุ่มถั่วเขียว, ขิง, ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ที่เราจะสนับสนุนและส่งเสริมการเพาะปลูก ไปถึงการรับซื้อ และการตลาดทั้งระบบ อีกด้วย

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๘ วันพุธที่ ๑๔ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓


704 1344