December 24,2020
โทนโคราช
โทนโคราช เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี ถ้าใช้ตีประกอบการรำ เรียกว่า รำโทน
โทนโคราชมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างไปจากโทนอื่นๆ เช่น โทนชาตรี โทนมโหรี กล่าวคือ เรือนโทนหรือตัวโทนทำด้วยดินเผา ใช้หนังงูเหลือม ตะกวด หรือ เหี้ย ขึงด้านเดียวใช้ตีกำกับจังหวะ ซึ่งโทนโดยทั่วไปมักทำด้วยไม้ขึงด้วยหนังวัว ควาย เป็นต้น
ตัวโทนหรือเรือนโทนแต่ละลูกจะมีความยาวหรือความสูงประมาณ ๒๓ นิ้ว ประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ คอโทน ปลีโทน และก้นโทน จากคอโทนจนถึงก้นโทนจะมีขนาดลดหลั่นกันลงไป
๑. คอโทน เป็นส่วนที่เริ่มจากหน้าโทนที่ขึงหนังโทน วัสดุที่ใช้ขึงหนังโทนให้แน่นนั้น แต่ดั้งเดิมใช้เส้นหวายเส้นเล็กแบน ขึงจากขอบหนังโทนไปร้อยยึดตรงข้อของปลายคอโทน ซึ่งติดต่อกับปลีโทน เพราะหวายจะทำให้หนังหน้าโทนเคร่งและทนทานกว่าการใช้เชือกไนลอนที่มักจะยืด หย่อนยาน และผุง่าย
๒. ปลีโทน เป็นส่วนที่ต่อจากคอโทนมีรูปร่างคล้ายปลีกล้วย มีหน้ากว้างประมาณ ๙ นิ้ว ความยาวของปลีโทนต้องเท่าส่วนที่เป็นคอโทน
๓. ก้นโทน (ตูดโทน) เป็นส่วนที่ต่อจากปลีโทนแต่ความยาวสั้นกว่า ปลายก้นโทนมีลักษณะบานม้วนเป็นขอบกลมเหมือนปากลำโพงเพื่อความสวยงาม
โครงสร้างของโทน
โทนจะมีเสียงดังไพเราะหรือไม่เพียงใด ผู้สันทัดในการทำโทนกล่าวว่า อยู่ที่องค์ประกอบทั้ง ๓ ส่วน ที่จะทำให้โทนมีเสียงทุ้มนุ่มนวลไม่แข็งกร้าว และจะทำให้เสียงทุ้มจะค่อยๆ แผ่วเบาหายไปในที่สุดทำให้เกิดความไพเราะ และหนังโทนจะต้องเคร่งตึง โดยมักจะใช้วิธีผึ่งแดดหรือไม่ก็อังไฟ
สำหรับการดูแลรักษาโทน จะต้องทะนุถนอมไม่ให้แตกหรือร้าว เพราะตัวโทนทำด้วยดินเผามักชำรุดหรือแตกง่าย ไม่เหมือนโทนที่ทำด้วยไม้ที่ตกแล้วไม่แตก หากโทนบิ่นแตกหรือร้าวจะทำให้เสียงเพี้ยนไปจากเสียงมาตรฐาน
มีคำเล่าเป็นข้อสังเกตว่า จำนวนโทนที่ครัวเรือนมีอยู่จะบ่งบอกว่าบ้านนี้หรือเรือนหลังนี้มีลูกสาวกี่คน คือ ถ้ามีลูกสาว ๓ คนก็จะมีโทน ๓ ลูก โดยลูกสาวแต่ละคนมักจะตีโทนเล่นที่ชานเรือนหรือที่บันไดบ้าน
จากเรื่องราวของโทนโคราช พอจะทำให้ทราบว่า แหล่งผลิตโทนจะต้องอยู่บริเวณที่ทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งที่โคราชก็คงมีแห่งเดียวที่รู้จักกันดี คือ บ้านด่านเกวียน ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา
ข้อมูล : โทนโคราช- YouTube สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=f9pN1tvEmv๐.
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๘ วันพุธที่ ๒๓ - วันอังคารที่ ๒๙ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓
771 1,973