19thApril

19thApril

19thApril

 

January 22,2021

แนะผู้ว่าฯ ใช้เงินสะสมจังหวัด ๘ พันล้าน’กระตุ้นเศรษฐกิจ ถอดหัวโขนคุย‘โคราชเจริญ’

นักธุรกิจโคราชจะไม่ทน เปิดเวทีสานเสวนาปัญหาเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่นเพื่อคนท้องถิ่น ผนึกบิ๊กธุรกิจพิชิตทางรอดฝ่าวิกฤตโควิด-๑๙ ผู้ประกอบการแนะ ให้ผู้ว่าฯ เสียสละ นำเงินสะสมจังหวัด ๘,๐๐๐ ล้าน ออกมาใช้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้รัฐ-เอกชนต้องถอดหัวโขน แล้วใช้ใจคุยกัน เพื่อร่วมฝ่าวิกฤต

เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้อง ๔๓๐๕ ชั้น ๓ อาคาร ๔ (ขวัญทอง) มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล มีการจัดเสวนาปัญหาเศรษฐกิจท้องถิ่นภายใต้การขับเคลื่อนในแคมเปญ “โคราชรุ่งเรือง คนทั้งเมืองอุดหนุนกัน” ในหัวข้อ “ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม กับการประกอบการธุรกิจและมาตรการ และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม กับการประกอบธุรกิจในจังหวัดนครราชสีมา” จัดโดย Biz CLUB นครราชสีมา ร่วมกับมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล โดยมีตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจเข้าร่วม ประกอบด้วย ๑.ธุรกิจยานยนต์ ๒.ธุรกิจบริการ ๓.ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก ๔.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ๕.ธุรกิจสุขภาพ ๖.ธุรกิจเทคโนโลยี ๗.ธุรกิจเกษตร ๘.ธุรกิจร้านอาหาร ๙.ธุรกิจบันเทิง ๑๐.ธุรกิจสื่อและงานสร้างสรรค์ ๑๑.ธุรกิจเพื่อสังคม และ ๑๒.ธุรกิจหัตถกรรม เข้าร่วมเสวนากว่า ๔๐ คน

ดร.วันเกษม สัตยานุชิต หัวหน้าสาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดเสวนาในครั้งนี้ว่า “มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล มีทั้งหมด ๘ คณะ ประกอบด้วย คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย ทั้ง ๘ คณะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ มีความจำเป็นหรือความร่วมมือทางด้านวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาเทคนิคบางตัวในเชิงวิชาการ เช่น ออนไลน์ การตัดต่อ รวมถึงเทคนิคการสร้างแอปพลิเคชันต่างๆ และไวรัลวิดีโอ ของคณะนิเทศศาสตร์ ส่วนคณะบริหารธุรกิจก็มีหลากหลายสาขา เช่น บัญชี และการเงิน หากต้องการวางแผนธุรกิจหรือวางแผนการเงิน สามารถเข้ามาพูดคุยกับเราด้านวิชาการเพื่อเป็นแนวทาง มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลเปิดมา ๓๗ ปีแล้ว มีบุคลากรทางการศึกษาที่เข้ามาให้คำแนะนำต่างๆ ที่มาพูดคุยกันวันนี้ ต้องการให้ทุกคนนำประเด็นปัญหาของแต่ละหน่วยธุรกิจมาแก้ไข อาจจะมีบางคนแก้ไขไปแล้วบางส่วน การเสวนาหลายเวทีมีการพูดคุย บางคนแก้เกมทางออนไลน์ประสบความสำเร็จหรือไม่ นำมาพูดคุยกัน หรือบางคนทำออนไลน์โพสต์ไปมากแต่ไม่ได้การตอบรับเท่าที่ควร มีแฮชแท็ก มีการแชร์ มีเงื่อนไขการใช้งานหรือไม่ ทุกวันนี้รวดเร็วมาก สุดท้ายขอให้การเสวนาวันนี้ได้ข้อมูลและแนวคิดดีๆ กับผู้ประกอบการทุกคน”

ธุรกิจถูกบีบเพราะการเมือง

นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท นครชัย ๒๑ จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการบริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด  กล่าวว่า  “นครชัยทัวร์ เป็นธุรกิจขนส่งสาธารณะ ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา เน้นขนส่งทางบกเป็นหลัก ซึ่งในอีก ๑๕ ปีข้างหน้า เราจะก้าวไปเหมือนฝั่งยุโรปหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว คือการขนส่งระบบราง ขนส่งสาธารณะ มี ๒ แบบ คือขนส่งสินค้าและขนส่งคน ผมอยู่ในส่วนของการขนส่งคน ประเด็นปัญหาคือ ถ้าจะพัฒนาเมืองในเขตจังหวัด รูปแบบของการขนส่งสาธารณะในเมืองต้องดี ซึ่งจริงๆ แล้วจะเกี่ยวข้องในอนาคตคือการขนส่ง LRT สมาร์ทซิตี้ต่างๆ ขนส่งหมวด ๒ บริษัทขนส่งจำกัด หรือ บขส.เป็นผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้น เพราะฉะนั้น เส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปไหนก็แล้วแต่ ไม่ใช่ผู้ประกอบการเป็นผู้ถืออนุญาตแต่เป็นบริษัทขนส่งจำกัด และบริษัทขนส่งจำกัดเป็นรัฐวิสาหกิจทำไม่ไหว จึงให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ถือสัญญารับเส้นทางไปวิ่ง เพราะฉะนั้น นครชัยทัวร์ ๒๑ ก็ไม่ใช่ผู้ถือใบอนุญาต แต่นครชัยทัวร์ ๒๑ เป็นคู่สัญญากับ บขส. ขนส่งหมวด ๓ ขนส่งระหว่างจังหวัด ไม่มีเงื่อนไขกฎหมายกำหนดว่า บขส.ต้องเป็นผู้ถือใบอนุญาต ปัญหาของขนส่งสาธารณะในประเทศไทยคือถูกบีบราคา เพราะราคาขนส่งสาธารณะในประเทศไทยมีสูตรการคำนวณว่า ระยะทางกี่กิโลเมตรควรจะเป็นเงินเท่าไหร่ รถแต่ละชนิดมีอะไรบ้าง รถพัดลม รถ ป.๑ รถวีไอพี แต่ราคาขึ้นอยู่กับการเมืองเป็นหลัก ต้นทุนสูงขึ้นการเมืองบวกไม่ได้ก็จะบีบราคา แต่กฎหมายถูกพัฒนาขึ้นซึ่งเป็นเรื่องดีคือความปลอดภัย ก็ยังใส่กฎหมายมาบังคับเพิ่มให้เราตลอดเวลา ผมทำงานมา ๓๐ ปี  ๒๐ ปีที่แล้ว ผมคุยกับพ่อว่าโคราชนั้น ‘เงินกองเท่าหัวเข่า อยู่ที่ใครมีปัญญาคว้าเอา’ วันนี้ผมบอกพ่อว่า ธุรกิจในยุคปัจจุบันเงินอยู่ใต้ดิน อยู่ที่ว่าใครมีเครื่องมือขุดดีกว่ากัน วิธีคิดต่างกัน ขนส่งสาธารณะจะถูกบีบในเรื่องพวกนี้ เพราฉะนั้นการส่งเสริมขนส่งสาธารณะนี้ ทุกคนเรียกร้องการบริการที่ดี แต่การบริการที่ดีมาพร้อมต้นทุนที่สูงขึ้น ถ้ารัฐบาลและหน่วยงานมองเห็นสิ่งเหล่านี้ก็จะรู้ว่า การพัฒนาไม่ได้อยู่ที่การออกกฎระเบียบ เพราะเราทำงานภายใต้ใบอนุญาตที่เข้มข้นไม่เหมือนธุรกิจค้าขายทั่วไป การขอใบอนุญาตประกอบการค้า ขอเพื่อเป็นหลักฐานทางกฎหมาย หลังจากนั้นจะอยู่รอดหรือไม่รอดอยู่ที่ความสามารถ แต่รถสาธารณะจะอยู่รอดหรือไม่รอดอยู่ที่ราคาที่กำหนดให้ด้วย ไม่ว่าจะใส่เบาะนวดไฟฟ้า หรือทีวีหลังเบาะ แต่ราคาได้เท่าเดิม เพราะสิ่งเหล่านี้ที่เป็นต้นทุนการบริการ ไม่ได้ผูกราคาเข้าไปกับค่าโดยสาร ลงทุน ๑๐๐ บาท หรือ ๗๐ บาท แต่ราคาค่าโดยสารเท่ากัน และทางวิ่งก็เป็นทางเดียวกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะไม่ลงทุน” 

โคราชจังหวัดอนุรักษ์นิยม

“ก่อนที่จะพูดว่า แต่ละธุรกิจประสบปัญหาอะไรบ้าง เพราะแต่ละธุรกิจประสบปัญหาหมด แต่ว่ามีมิติที่ต่างกัน ระบบขนส่งสาธารณะไม่มีปัญหาเรื่องทัศนคติหรือการบริหาร แต่ระบบขนส่งสาธารณะประสบปัญหาเรื่องที่ไปเกี่ยวกับการเมืองมากไป เพราะเป็นเรื่องของฐานเสียง รวมถึงกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย แต่ในโคราชสิ่งหนึ่งที่ต้องการนำเสนอ ไม่ว่าจะตั้งเวทีคุยอะไรกันก็ตาม สิ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุดก็คือหัวขบวน โคราชเก่งเป็นจังหวัดอนุรักษ์นิยม มีนักธุรกิจส่วนใหญ่เป็นของตัวเอง สังเกตได้ว่าจะมีนักธุรกิจข้ามจังหวัดมาน้อยมาก ความเป็นอนุรักษ์นิยมทำให้เห็นว่า แต่ละคนทำอาชีพอะไรมาก็จะสืบทอดกันไปเรื่อยๆ คนอื่นก็เข้ามายาก เมื่อเข้ามายากเราก็อยู่กันเอง และอยู่กันได้ในระดับหนึ่ง ถือว่าพื้นฐานโคราชยังแข็งแกร่ง แต่โตหรือไม่ ก็ไม่โต อยู่กันแค่นี้ซื้อมาขายไปทำอยู่ในระบบของเราเอง คนที่จะทำให้เติบโตได้เหมือนในหลายๆ จังหวัดที่มีระบบที่ดีคือหัวขบวน ผมไม่เคยเห็นเลยและต้องการจะเห็น ถ้าเวทีนี้ช่วยได้ หัวขบวนทั้งหมดสิบกว่าหัวนี้ มีเป้าหมายเหมือนกันไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ยกตัวอย่าง หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวแทนชุมชน หรือตัวแทนธุรกิจอาชีพต่างๆ ทั้งธุรกิจและข้าราชการ ประเด็นคือว่า ไม่มีเวทีที่ทุกคนถอดสิ่งที่ตัวเองเป็นแล้วหันมาคุยว่าทำอย่างไรเศรษฐกิจโคราชจะเจริญ ถ้าผมต้องการให้โคราชเป็นเมืองท่องเที่ยวไม่ต้องนับเขาใหญ่เพราะเงินมาไม่ถึงเรา การท่องเที่ยวเป็นการดึงเอาเงินจากภายนอกเข้ามา และการท่องเที่ยวต้องยอมรับอะไรบ้าง จังหวัดยอมให้ใช้ถนนบางส่วนหรือไม่ ให้ใช้ที่จอดรถหรือไม่ เทศบาลช่วยเอกชนหรือผลักดันเรื่องพื้นที่ รวมถึงงบประมาณด้วยได้หรือไม่ เอกชนตอบรับด้วยการสรรหารูปแบบของการเป็นการท่องเที่ยวต่างๆ ช่วยสร้างขึ้นมาได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ใจล้วนๆ ถ้าใช้ตำแหน่งและหน้าที่คิดอะไรไม่ได้ก็ไปขอจังหวัด ไปขอเทศบาลฯ จังหวัดเป็นมุมของราชการ ให้บ้างไม่ให้บ้าง ช่วยบ้างไม่ช่วยบ้าง นี่ถือเป็นมุมมองเบื้องต้น” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ดึงนักท่องเที่ยวให้ค้างคืน

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า “กลุ่มที่ทำการค้าภายใน ในมิติของผม ผมสนับสนุนอยู่แล้ว แต่ขอเสนอให้ตั้งเป้าหมาย ถ้าคุยกันช่วยกัน ทำอย่างไรจะให้โคราชเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวมาค้างคืน ถ้าทำให้ทุกคนมาค้างคืนได้แล้วค่อยไปต่อยอดว่า จะทำอะไรต่อ ถ้าค้างคืนได้แสดงว่าโคราชต้องมีจุดเด่น ผู้ประกอบการ ส่วนราชการ และทุกคนต้องช่วยกัน  ผมใช้คำว่า story ยกตัวอย่างง่ายๆ ทุกคนมาไหว้ย่าโม ๑๐ นาที ซื้อพวงมาลัย ๒๐ บาท ก็จบแล้ว ออกรถแล้วไปไหนต่อ นี่คือธรรมชาติที่เป็นจริง คำถามคือมาแล้วทำไมไม่มีที่จอดรถ แล้วทำไมต้องมาเพียงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี รอบๆ อนุสาวรีย์เดินได้ ๑ ชั่วโมง ทำไมไม่สร้างจุดเด่นอะไรขึ้นมา ทำอย่างไรแหล่งเงินข้างนอกจึงจะเข้ามา เดิมค่าดอกไม้ ๒๐ บาท ให้เปลี่ยนเป็น ๑๐๐ บาท ได้หรือไม่ เพราะสุดท้ายก็นำมาจ่ายคนของเราทั้งนั้น ความจริงโคราชมีจุดเด่นมาก เช่น วัดศาลาลอย ลำตะคอง มีเรื่องราวมากมาย แต่รถวิ่งผ่านเฉยๆ ลำตะคองเหมาะกับทำการค้ามากกว่า ขอแค่พัฒนาเท่านั้นเอง ไม่ใช่แค่หน้าที่ของเทศบาลฯ หอการค้า แต่คือทุกคนทั้งจังหวัด นี่คือสิ่งที่ต้องการ”  

ราชการทำเหมือนผักชีโรยหน้า

นายอภิเชษฐ์ สันติเศรษฐสิน เจ้าของตลาด ๑๐๐ ปีเมืองย่า กล่าวว่า “ตลาด ๑๐๐ ปีเมืองย่าเป็นตลาดชุมชน เงินคนโคราชก็หมุนเวียนในโคราช ข้อด้อยของระบบราชการคือไม่ได้ช่วยเหลืออะไรอย่างจริงจัง มีเพียงชื่อ ตลาด ๑๐๐ ปีเมืองย่าที่เป็นตลาดต้องชมของกระทรวงพาณิชย์ ไม่มีอะไรมีแค่ป้ายมาติดเท่านั้น นี่คือส่วนของราชการ ถ่ายรูปหมู่เสร็จก็จบ กระทรวงพาณิชย์ก็เช่นเดียวกัน มีธงฟ้าเข้ามาช่วย เรียกว่าผักชีมาโรยหน้า ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลืออะไรมากมาย นำน้ำตาล น้ำมันพืช มาขายและถ่ายรูปเสร็จจบ ด้านโครงการคนละครึ่งต้องขอชมเชยรัฐบาล แต่ว่าคนได้สิทธิ์น้อยมากแต่ได้ผลดี สิ่งที่ต้องการให้แก้ไขคือเงินนอกระบบ จะมีใบมาวางตามแผงตลอด เป็นสิ่งที่ไม่ดี ล่อใจยั่วใจของคนกู้ ส่วนโครงการคนละครึ่งถ้าเพิ่มสิทธิ์ได้ก็ขอให้เพิ่ม โควิดระลอกใหม่เข้ามาตลาดคนก็เบาบางลง แต่ก็ดีกว่ารอบแรก ครั้งแรกที่โดนโควิด มีคำสั่งให้ซื้อกลับบ้านอย่างเดียว นั่งทานไม่ได้ เหมือนตายทั้งเป็น ร้านค้าซื้อของมาต้องนำไปทิ้ง ผมสงสารเขามาก ส่วนครั้งนี้ให้นั่งทานได้ ไม่กำหนดเวลา แต่ที่อื่นกำหนดเวลาถึง  ๒๑.๐๐ น. แต่โคราชยังอยู่ในโซนสีส้ม” 

ธุรกิจท้องถิ่นถูกมองข้าม

ด้าน นางสาวพันธิภา วงศ์ดี เจ้าของร้านอาหารบ้านย่า สเต็ก เฮ้าส์ กล่าวว่า “ตั้งแต่มีโควิดถือเป็นความโชคดีของร้านอาหาร ถ้าหากเราสามารถที่จะปรับตัวได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นทุกคนยังต้องทานอาหาร อยู่ที่ว่าแต่ละธุรกิจจะมีวิธีการปรับตัวอย่างไร เข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันได้อย่างไร เรื่องของการแก้ปัญหาและแนวทาง บ้านย่าสเต็กฯ ประกอบธุรกิจร้านอาหารมากว่า ๑๐ ปี สิ่งที่พบคือการเข้าถึงในเรื่องการสื่อสารหรือการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานต่างๆ น้อยมาก ทั้งที่เป็นร้านอาหารท้องถิ่น มีสาขาและการจ้างงานในท้องถิ่นจำนวนมาก และร้านอาหารเป็นธุรกิจที่เอื้อกับอีกหลายๆ ธุรกิจ เพราะการทำร้านอาหารหนึ่งร้านใช้องค์ประกอบจำนวนมาก ร้านอาหารท้องถิ่นมักจะถูกลืม โดยเฉพาะร้านที่เปิดมานาน ผู้ประกอบการรายเล็กงบประมาณในการทำโฆษณาหรือการเข้าถึงสื่อต่างๆ ค่อนข้างน้อยหรือแทบไม่มี สิ่งที่ทำได้คือต้องช่วยเหลือตัวเองในทุกด้าน รวมถึงเรื่องของการสร้างแบรนด์และการตลาดให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น เราพยายามปรับตัวให้สอดรับกับยุคสมัยที่เรียกว่า                   นิวนอร์มอล และปรับตัวกับยุคโควิด รูปแบบการขาย การให้บริการ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ของผู้คน ส่วนโควิดรอบใหม่ที่เข้ามา เราต้องสร้างยอดขายให้เป็นสองเท่าจากที่เป็นอยู่ ซึ่งทำได้จริง และต้องให้กำลังใจทีมงานด้วย เพราะทีมงานเป็นคนขับเคลื่อน ต้องการให้หน่วยงานช่วยดูแลสวัสดิการพนักงาน บางคนโดนลดเงินเดือน โดนพักงาน เราก็เคยทำเหมือนกัน เมื่อฟื้นฟูก็เห็นแล้วว่า การทำแบบนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง” 

สร้างแลนด์มาร์คดึงเงินเข้าโคราช

“เรื่องของการสร้างแลนด์มาร์คเป็นสิ่งที่คิดมาคนเดียวตลอด อยู่โคราชมา ๑๕ ปีแล้ว คิดเล่นๆ ว่า สร้างสวนนงนุชขนาดย่อมๆ ข้างอนุสาวรีย์ย่าโม เพื่อให้คนที่มาจากที่อื่น เมื่อไหว้ย่าโมเสร็จจะได้เดินถ่ายรูป ได้อุดหนุนสินค้าของคนในพื้นที่ งานอื่นๆ ก็เอื้ออำนวยกันไป ขนส่งก็อำนวยความสะดวกในเรื่องของการเดินทาง” น.ส.พันธิภา กล่าว

โชคดีโคราชไม่มีบ่อนใหญ่?

นายผดุง จตุรภักดิ์ ประธานมูลนิธินักข่าวนครราชสีมา กล่าวว่า “เวทีแบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียว แต่วันนี้จะมีธงอะไรร่วมกัน ส่วนราชการหนีไม่พ้น แต่บางเรื่องทำหนังสือแจ้งเพื่อทราบ บางเรื่องไม่ขออนุมัติ หากขออนุมัติทั้งหมดไม่ได้ทำ จริงๆ แล้วอยากเห็นสิ่งที่เราจะเดินร่วมกันเพราะธุรกิจทุกประเภทกระทบหมด ผู้ใช้บริการไม่มี อยากเห็นโคราชมีเซฟตี้โซนต้นแบบสักที่ ที่นำกิจกรรมที่หลากหลายมาทำ หลายเวทีที่ไป ผมตามดูความคืบหน้า พัฒนาการที่สานต่อ ก็มีแต่เวทีเสวนา บางสิ่งบางอย่างขยับแล้วแต่ติดที่ระบบราชการ ถึงบอกว่าบางสิ่งบางอย่างแจ้งเพื่อทราบ ผมเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟู มีหรือยัง ถ้ามีแล้วมันสอดคล้องกับอะไรได้บ้างกับแผนฟื้นฟูของจังหวัด กระแสโควิดมีทั้งแผนควบคุมและป้องกัน แต่ยังไม่ได้ยินเสียงสะท้อนดังๆ ว่า จะส่งเสริมธุรกิจอย่างไร ควบคุมกับป้องกันเพียงอย่างเดียว ถ้าควบคุมไม่ได้ ป้องกันไม่ได้ ก็เห็นใจทั้งผู้ว่าฯ และสาธารณสุข ความโชคดีของโคราชคือไม่มีบ่อนใหญ่ ถ้ามีบ่อนใหญ่จะระเนระนาดไปกว่านี้ เหมือนจังหวัดระยองจะขนาดไหน ปิดบ่อนระงับบ่อนแต่มีตู้ปันสุขมารองรับ ดังนั้น อยากเห็นสิ่งที่ธุรกิจร่วมมือกันและคงเดินไปก่อน ให้เป็นรูปธรรมและความมั่นใจ เวทีต่อไปพัฒนาการความคืบหน้าว่าจะทำอะไร สื่อมวลชนในโคราชตอนนี้ก็หนัก ลูกค้าไม่มาหา เราต้องไปหาลูกค้า วันนี้ขอเป็นส่วนหนึ่งในนามของสื่อมวลชน ผมจะเป็นกระบอกเสียงพร้อมกับสื่ออื่นๆ เราจะช่วยทุกรูปแบบที่จะนำเสนอสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในโคราช หวังว่าเวทีนี้จะเป็นต้นแบบให้กับเวทีต่อๆ ไป เมื่อเสร็จแล้วทำหนังสือแจ้งเพื่อทราบให้หน่วยราชการ”

แนะมหาวิทยาลัยตั้งศูนย์ช่วยเหลือ

นายรังสรรค์ อินทรชาธร เจ้าของห้างทองธนาธร กล่าวว่า “ทุกธุรกิจมีปัญหาหมด สมัยก่อนไม่มีร้านทอง ไม่มีโรงรับจำนำ ผมมองภาพรวม ขอแค่มีเงิน ขายถูกหรือแพงไม่สำคัญ คนมากไม่สำคัญ แต่มีเงินในกระเป๋าหรือไม่ คนโคราชมีเงินในกระเป๋าหรือไม่ สมัยก่อนคนจะนำทองรูปพรรณไปจำนำ ทุกวันนี้แกะพระไปจำนำ นำแหวนไปจำนำ มันแย่มาก นำทุกอย่างไปจำนำเพื่อนำเงินไปหมุนเวียน เรามาคุยกันมาหลายครั้งเหมือนเดิม คุยแล้วคุยอีก คุยจนไม่อยากจะมา ต้องคุยแล้วทำทันที ทำจุดหนึ่งก่อน แล้วจุดอื่นค่อยเริ่มเข้ามา Biz Club ร่วมกับ SME ทำตลาดที่ให้ทุกคนมาขายได้ ทำตลาดของ SME เข้ามา นำคนละครึ่งเข้ามา ให้ทุกร้านมีคนละครึ่ง คนก็จะเข้ามาซื้อ ก็จะนำเงินออกมาซื้อของมาจับจ่ายหมุนเวียน อีกจุดหนึ่งมหาวิทยาลัยในโคราชมีหลายมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน เคยคุยกันหรือไม่ว่า จะแก้ไขอย่างไร เรื่องเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหา ศูนย์รวมอยู่ตรงไหน ถามว่าประชาชนจะมาปรึกษาหรือไม่ เมื่อก่อนทำงานหาเช้ากินค่ำ เดี๋ยวนี้หามื้อกินมื้อ บางครั้งขายของไม่ได้ก็เก็บไว้กินเองสามวันเจ็ดวันเพื่อให้อยู่รอด มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน ต้องจับมือกัน แล้วตั้งศูนย์เพื่อที่จะให้ประชาชนที่มีปัญหาเข้ามาสอบถามว่า จะแก้ปัญหาธุรกิจได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าให้ประชาชนทำรูปแบบการแก้ปัญหาแล้วมายื่น มันไม่ใช่ โรงพยาบาลจิตเวชมีเบอร์ ๑๓๒๓ โทรได้เมื่อมีปัญหา มหาวิทยาลัยก็ต้องมีเบอร์ที่ให้คนโทรไปถามและแก้ปัญหาให้เขา โรงพยาบาลจิตเวชแจ้งว่าคนที่มีปัญหามากที่สุดคือคนประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ เป็นธรรมดาเมื่อไม่มีเงิน คนเริ่มฆ่าตัวตายแล้ว ต่อไปก็มากขึ้น บางคนอยู่ได้ บางคนอยู่ไม่ได้ บางคนแก้ปัญหาเป็น บางคนแก้ไม่เป็น ส่วนราชการและมหาวิทยาลัยต่างๆ ควรจะมีศูนย์แก้ไขปัญหาเหมือนโรงพยาบาลจิตเวช”

ดึงเงินสำรองออกมาใช้

ดร.กำปั่น นิธิวรไพบูลย์ หรือกำปั่น บ้านแท่น ศิลปินเพลงโคราช กล่าวว่า “ธุรกิจของแต่ละคนต่างจากธุรกิจของผม ผลกระทบของผมมีมากที่สุด ถูกยกเลิกงานตั้งแต่วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ ถึง ๑๐ มกราคม ๒๕๖๔ อย่าลืมว่าวงการบันเทิงโคราชมีมากที่สุดในประเทศไทย อิเล็กโทนมีประมาณ ๓๐๐ วงที่ถูกยกเลิกงาน วงดนตรีที่สามารถทำเงินให้โคราช ที่มีชื่อเสียง คือวงมหาหิงค์ วงวาสนา และวงราชสีห์มาเพชรดาราพันธ์ โด่งดังระดับประเทศ สามารถกอบโกยเงินมาสู่โคราชเดือนละหลายล้านบาท แต่ถูกยกเลิกงานหมด จะแก้ไขอย่างไร ผมมองปัญหาอย่างง่ายที่สุดแต่หลายคนอาจจะคิดไม่ถึง จะนำเงินจากไหนมาเยียวยา ผมดูเงินสำรองระหว่างประเทศมีถึง ๘.๘ ล้านล้านบาท แต่เมื่อประเทศเกิดวิกฤตทำไมไม่แบ่งออกมา ใช้สัก ๒ ล้านล้านก็ได้ มาตั้งเป็นทุนสำรองของแต่ละจังหวัดแล้วนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จะเก็บไว้ไปใช้ตอนไหน ในเมื่อขณะนี้ประเทศไทยกำลังเกิดวิกฤตไวรัส ทุกธุรกิจมีปัญหา หลายคนพูดว่า รัฐบาลป้องกันไวรัสแต่ป้องกันเรื่องเศรษฐกิจไหม ไม่มีใครพูด ผู้ว่าฯ บอกว่างานจัดได้แต่จำนวนคนห้ามเกิน ๓๐๐ คนเข้าไปในงาน ผมอยากหัวเราะ เมื่อผู้ว่าฯ ประกาศออกมาแบบนั้น ก็ประกาศแค่ให้พ้นตัวท่านไป ในขณะที่ขออนุญาตจากอำเภอแต่ตำรวจก็ไม่อนุญาต เขาก็ไม่ต้องการเสี่ยงเกิดปัญหาเหมือนกัน ทั้งๆ ที่จำนวนคนดูในโคราชไม่ถึง ๑๐๐ คน ปัญหาจะแก้อย่างไร ผมจะร้องเรียนใครได้ ไม่มีใครให้จัด ก็ต้องตกงานกันไป” 

ผู้ประกอบการหันหน้าคุยกัน 

นายธนกฤต ขจรโกวิทย์ เจ้าของ บจ.เค.วีเทเลคอม ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจด้านไอที กล่าวว่า “ถ้าหากจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้องติดตามข่าวสารด้วยตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนักมาก จ่ายค่าเช่าพื้นที่บนห้างเดือนละ ๑ ล้านบาท วันนี้มีคนเดินห้างน้อยลงไปกว่า ๘๐% ห้างปิดแอร์เร็วขึ้น ประหยัดไฟ แต่ห้างลดค่าเช่า ๑๐-๒๐% ผมไม่เข้าใจ แจ้งเพียงว่าใครอยู่ได้ก็อยู่ไป ไม่เหมือนการเอื้ออาทรกัน คุยกันดีๆ ก็ไม่เข้าใจ ทุก ๑๕ วัน ผมต้องเอายอดขายไปคุยกับห้างฯ เมื่อไม่มีกระแสเงินสดแล้วจะนำเงินค่าเช่าที่ไหนไปจ่าย สิ่งที่เป็นปัญหาหลักตอนนี้คือคิดต่างไม่ได้ แสดงความคิดเห็นในสังคมออนไลน์ใครคิดต่างไม่ได้ กลายเป็นวัวเป็นควาย เป็นสลิ่มกันไปหมด หากยอมรับการคิดต่างแล้ว เรื่องอื่นก็จะง่ายไปหมด ต้องการให้มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลเป็นแกนนำ เพราะ มทส.เป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์ ตอนนี้น่าจะป็น State Quarantine ไม่ใช่ผมไม่มีปัญหาแต่สังคมต้องการคนเสียสละบ้าง ยกตัวอย่าง ผมมีหนี้สินครึ่งร้อยล้าน และคาดว่าจะแก้ปัญหาไม่ได้ ใครมีปัญหาคล้ายๆ ผม มาคุยกัน ส่วนเรื่องแลนด์มาร์ค ถ้าผมเป็นคนต่างจังหวัดก็ไม่รู้จะมาทำอะไรที่โคราช เที่ยวปากช่องก็จบแล้ว แนวคิดเรื่องแลนด์มาร์คดูจังหวัดบุรีรัมย์ไม่มีอะไรก็สร้างขึ้นมา โคราชเป็นไปได้หรือไม่หากจะสร้างดิสนีย์แลนด์ ถ้าทำดิสนีย์แลนด์โคราชต้องลงทุน ๕-๘ พันล้านบาท ผมว่ามีคนมา สวนน้ำมีหลายจังหวัดแล้ว แต่เครื่องเล่นดีๆ ยังไม่มี ถ้าจะทำแลนด์มาร์คต้องคิดว่าจะทำอะไร ใช้เงินเท่าไหร่ เมื่อไม่มีแลนด์มาร์คการสัมมนาก็ไม่เกิด”

งานอีเว้นท์สูญรายได้มหาศาล

นางยุภาวรรณ สองเมือง เจ้าของเฟิร์สนิวส์ ผู้รับจัดงานอีเว้นท์ต่างๆ กล่าวว่า “เราเป็นบริษัทออแกไนซ์และมีการผลิตสื่อครบวงจร ในช่วงโควิดนี้ถือว่า เป็นบริษัทขาขึ้น ขึ้นไปก่ายบนหน้าผาก ที่ผ่านมามีมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิดสำหรับองค์กร ธุรกิจอีเว้นท์ได้รับผลกระทบอันดับต้นๆ ตัวเลขการจัดงานแต่งงานช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ในโคราชอยู่ที่ ๑๐,๗๔๒ คู่ ยอดเงินจัดงานแต่งงานประมาณ ๓ แสนบาทต่องาน เงินจำนวนนี้กระทบธุรกิจโรงแรม ร้านเจ้าสาว ร้านถ่ายภาพ ร้านดอกไม้ ร้านการ์ด-ของชำร่วย ร้านแหวน ร้านเครื่องเสียง และออแกไนซ์ แค่งานๆ เดียวกระทบไปกว่า ๑๐ ธุรกิจ ไม่ได้พูดถึงอีเว้นท์ใหญ่ๆ ที่ถูกปิดไปว่า สูญเสียเงินมูลค่ามหาศาลเท่าไหร่ เฉพาะอีเว้นท์งานแต่งในโคราชเราสูญเสียยอดเงินไปกว่า ๓,๒๒๒ ล้านบาท เป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก”

“ช่วงแรกที่เกิดวิกฤตโควิด เราใช้ต้นทุนที่มี บวกโควิด คูณตลาดออนไลน์ สามารถสร้างยอดขายให้ลูกน้องได้มีงานทำ ต้นทุนคือเครื่องจักร เรามีโรงงานผลิตสื่อ บวกโควิดด้วยการถามลูกค้าว่า ต้องการสิ่งใดในวิกฤตแบบนี้ และไปเห็นฉากกั้นเหมือนอย่างที่ประเทศจีนทำ สร้างการรับรู้ในการทำการตลาด ทั้งโรงเรียน ธนาคาร และร้านอาหาร จะต้องมีฉากกั้น เราเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำขึ้น ปรากฏว่า ๓ เดือน ขายได้ยอดเงินกว่า ๗ หลัก ต้องมองกลับมาว่า ผู้ประกอบการหลายๆ ส่วนในตอนนี้ต้องปรับตัว และมองดูประเทศจีน ที่สามารถขายได้แม้กระทั่งจรวดบนโลกออนไลน์ สร้างยอดขายเป็นพันๆ ล้านบาท มองมาดูที่คลังพลาซ่า ชั้น ๓, ๔ และ ๕ แทบไม่มีผู้ประกอบการ ร่วมมือเปิดวิดีโอไลฟ์ได้หรือไม่ แล้วนำสินค้าขึ้นมาขาย โดยใช้พิธีกรคนดังของโคราช เราต้องสร้างอีเว้นท์ขึ้นมา ถือเป็นมุมมองของนักการตลาดที่คิดว่าควรทำ” นางยุภาวรรณ กล่าว

การศึกษาปรับตามกระแสโลก

ดร.ณัฐวัฒม์ วงษ์ชวลิตกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ก่อตั้งมา ๓๖-๓๗ ปี ต่อสู้มาด้วยตัวเอง เพราะไม่มีงบประมาณจากรัฐบาล ทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงทั้งหมด รวมถึงเป็นสถาบันการศึกษาที่ช่วยผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการพัฒนาสินค้า ข้อมูลต่างๆ ได้นำเสนอให้ชุมชนและสังคมรับทราบ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย และสถิติต่างๆ มองให้เห็นสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง การศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ตั้งแต่มีโควิดเข้ามา ไม่สามารถอยู่ในรูปแบบเดิมได้ จากเดิมที่ต้องเรียน ๔ ปีและรับปริญญา ช่วงนี้จะเห็นว่า การศึกษาส่วนใหญ่สามารถเลือกเรียนในสิ่งที่สนใจและนำข้อมูลความรู้ไปประกอบกิจการ ยุคต่อไปจากนี้ หากจบวิศวกรแต่สนใจในธุรกิจก็สามารถมาเรียนวิชาการบัญชี การตลาด และการเงินเพิ่มเติมได้ และนำความรู้นั้นมาประกอบปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลก็ต้องปรับตัวในการประสานงานกับผู้ประกอบการมากขึ้น และต้องการความร่วมมือจากผู้ประการการเช่นกัน ในเรื่องของการฝึกงาน ทำโครงการร่วมกัน ทุกวิชามีความสนใจที่หลากหลาย พยายามนำสิ่งเหล่านี้ออกมาช่วยเหลือชุมชนให้มากขึ้น ยินดีช่วยเหลือในสิ่งที่สังคมต้องการ กระแสของโลกเปลี่ยนไป ต้องตามกระแสให้ทันการทำงานต่างๆ จะรวดเร็วขึ้น”

รัฐบาลเงินหมด

ด้านนายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ผมเสนอ ๓ เรื่องกับรัฐบาล ๑.ขอให้เราเยียวยาตัวเองไม่ขอพึ่งรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน โดยให้รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายกับธนาคาร ให้ชะลอหนี้อย่างน้อย ๖ เดือน หรือ ๑ ปี ทั้งต้นทั้งดอก สาธารณูปโภคทั้งหลายพักการชำระเงิน การแจกเงินให้ประชาชนห้ามผ่านคนกลางเด็ดขาด แจกผ่านบัตรประชาชนโดยตรง ๒.ขอใช้งบประมาณของท้องถิ่น เช่น งบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีคือ อบจ. ๔ พันล้านบาท เทศบาลนคร ๑๕๐ ล้านบาท และยังมี อบต. อีก รวมแล้ว ๑ ปี ๒ หมื่นกว่าล้านบาท ขอเพียง ๑๐% ให้ทุกฝ่ายเสียสละมาไว้กองกลาง แล้วมาทำแลนด์มาร์ค ช่วยโฆษณาธุรกิจ ยอดเงิน ๘,๘๔๗ ล้านบาท เป็นเงินที่ผู้ว่าฯ ถืออยู่ เรียกว่าเงินสะสมจังหวัด โคราชมีจำนวนมาก นำออกมาให้หมดก็ได้ตอนนี้ ถ้านำเงินมาบวกกันก็หลายพันล้านบาท ต้องบริหารแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อไปเสนอความคิดเห็น เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ ๓.เสนอให้ล็อกดาวน์ประเทศไทย ต่างประเทศล็อกดาวน์ไปแล้ว ทุกวันนี้เดี๋ยวโผล่ตรงนั้นโผล่ตรงนี้ เสียประสาทไปหมด ภาคอีสานมี ๒๐ จังหวัด ตอนนี้ติดไปแล้ว ๑๔ จังหวัด ถ้าไม่พยายามทำอาชีพเถื่อนลำเลียงคนเข้าประเทศจะรุ่งเรืองมาก ถ้าปิดประเทศการดูแลของรัฐบาลก็จะง่าย รัฐมนตรีแรงงานไม่ทราบว่าคิดอะไร บอกว่าให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในประเทศไทยได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์โดยไม่มีความผิด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ต้องการ เพราะฉะนั้นล็อกดาวน์ ๗-๑๔ วัน ให้ทุกคนอยู่บ้าน”

สร้างแลนด์มาร์คให้ผู้ว่าฯ นั่งดู

“รัฐบาลพยายามเลี่ยงคำว่าล็อกดาวน์ เพราะล็อกดาวน์มีค่าเยียวยา ดร.วิษณุ เครืองาม ก็ได้แจ้งแล้ว แล้วเราจะไม่เยียวยาลูกหลานได้อย่างไร ตอนนี้เครียดถึงขนาดฆ่าตัวตาย ปัญหาสังคมเกิดขึ้น ต้องคุยกันว่าจะเสนออย่างไร วันนี้เป็นโอกาสขององค์กร ให้ ดร.ณัฐวัฒม์ ตั้งศูนย์องค์กรภาคประชาชนคุยเรื่องเศรษฐกิจ สร้างสตูดิโอขายของออนไลน์ทันที โดยใช้งบกลางที่ผมบอก และขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฎฯ, มทร.อีสาน และมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ช่วยได้หรือไม่ แลนด์มาร์คเสนอขึ้นมาได้ ทำได้ทันที แล้วเงินพวกนี้เป็นเงินประชาชน ผมเป็นที่ปรึกษานายก อบจ.มาก่อนไม่รู้ว่างบ อบจ.นำไปทำอะไรบ้าง พูดออกมาก็ผิดใจกับเพื่อนฝูง ขอแค่ให้เสียสละมาแค่ ๑๐% เพราะขณะนี้เศรษฐกิจเป็นแบบนี้แล้ว เงินจากผู้ว่าฯ จะให้เท่าไหร่ก็แจ้งมา แล้วนำคนที่ไม่ทุจริตมาช่วยกัน ร้านอาหารต้องทำโฆษณาด้วยตัวเองเขาสู้ไม่ไหวต้องลงทุนระบบออนไลน์ แลนด์มาร์คที่จะทำก็มาคุยกัน ผมว่าเรายึดเมืองโคราชเลยครับ ให้ผู้ว่าฯ มานั่งดูเราทำ” นายทวิสันต์ กล่าว

ยื่นหนังสือกระตุ้นผู้ว่าฯ 

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ ที่ศาลากลางจังหวัดฯ ตัวแทนกลุ่มจัดเสวนา นำโดยนายรังสรรค์ อินทรชาธร, นายธฤษณุ ขจรโกวิทย์ ประธานเครือข่ายธุรกิจ Biz Club จังหวัดนครราชสีมา และดร.กำปั่น นิธิวรไพบูลย์ นำบทสรุป ปัญหา และแนวทางการแก้ไขที่ได้จากเวทีเสวนายื่นเสนอต่อนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ภายในการประชุมที่ทางจังหวัดจัดขึ้นเพื่อรับฟังปัญหา และแนวทางการปฎิบัติในการเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการ นักธุรกิจภายในจังหวัดนครราชสีมา 

นายวิเชียร  จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ให้สัมภาษณ์ว่า “เนื่องจากกลุ่มนักธุรกิจนำเสนอถึงผลกระทบที่ได้รับจากวิกฤตโควิด-๑๙ ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน ทางจังหวัดเชิญมาพูดคุยเพื่อหาทางออกและแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยจะจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทางราชการจะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งเรื่องเงินต้น ซอฟต์โลน พักชำระหนี้ ให้สินเชื่อ และดูแลด้านสาธารณูปโภค รวมทั้งด้านภาษี อีกส่วนหนึ่งคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำอย่างไรโคราชจะมีช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะสินค้าท้องถิ่น เช่น ผ้าไหม และเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น”

“สำหรับการส่งเสริมธุรกิจของคนโคราช จากนี้การนำเสนอหรือจัดกิจกรรมต่างๆ จะใช้คนโคราชในการดำเนินงาน ใช้ผลผลิตของคนโคราช เช่น การจัดดนตรีและการแสดง เนื่องจากโคราชมีวงดนตรีและศิลปินจำนวนมาก คนโคราชเที่ยวโคราช กินของโคราช และช่วยเหลือคนโคราช เพียงถือบัตรประชาชนและแสดงต่อร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการก็จะได้รับสิทธิ์ซื้อสินค้าราคาพิเศษ ซึ่งจะมีการพูดคุยรายละเอียดในสัปดาห์หน้า สำหรับผู้ประกอบการต่างๆ เช่น โรงแรม ร้านค้า และร้านอาหาร เพื่อเป็นการกระตุ้นในภาวะที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาภายในจังหวัด มีหลายเรื่องส่วนราชการคิดไม่ถึงโดยเฉพาะเรื่องธุรกิจและการตลาด เมื่อมีการพูดคุยถือว่าได้ข้อมูลที่ดี เรื่องที่เอกชนเสนอเข้ามาน่าจะประสบผลสำเร็จเมื่อร่วมกับทางราชการก็จะทำให้ยั่งยืนมากขึ้น” นายวิเชียร กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่ม “โคราชรุ่งเรือง” จะนำโครงการ “โคราชรุ่งเรือง คนทั้งเมืองอุดหนุนกัน” เข้ามานำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฯ อีกครั้ง ในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๔

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๓ วันพุธที่ ๒๐- วันอังคารที่ ๒๖ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

965 1396