26thApril

26thApril

26thApril

 

April 08,2021

เร่งเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจบริการโลจิสติกส์ รองรับการค้ายุคใหม่หลังพบแข่งขันรุนแรงขึ้น

อบรมหลักสูตร “การพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีประยุกต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจโลจิสติกส์” นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศในองค์กร วิเคราะห์แนวโน้มทางการตลาด และช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจ พัฒนาแผนงานและกลยุทธ์ เพื่อรองรับการแข่งขัน เน้นเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ หลังพบว่าการแข่งขันในธุรกิจรุนแรงขึ้น

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยว่า การจัดการโลจิสติกส์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ Supply Chain Management ซึ่งรวมถึงเรื่องการวางแผนการดำเนินการ การควบคุม การไหลเวียน และการจัดเก็บสินค้า การให้บริการ และการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จากแหล่งจุดกำเนิดของวัตถุดิบ จนถึงจุดบริโภคหรือจุดการใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เป็นกิจกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเกือบทุกประเภท อีกทั้งเป็นต้นทุนพื้นฐานที่สำคัญซึ่งกระทบต่อต้นทุนรวมของผลิตภัณฑ์และบริการ 

การเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ เป็นการประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมในระบบการทำงานของธุรกิจ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อธุรกิจ เพราะลูกค้าต้องการระบบโลจิสติกส์ที่มีความรวดเร็วในการขนส่งมีความถูกต้องแม่นยำ ระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการแก่ลูกค้าผู้ประกอบการจึงควรทราบแนวโน้มหรือเทรนด์ ของโลจิสติกส์ว่าจะไปทิศทางใด เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกกระแสและไม่พลาดเป้าหมาย
ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานสอดรับตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงพาณิชย์และระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่ มาช่วยพัฒนาสินค้าและ บริการให้ตรงตามความต้องการของ ผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ เพื่อรองรับกับการแข่งขันที่มีความรุนแรงมากขึ้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า​จึงเตรียมจัดอบรมหลักสูตร การพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีประยุกต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจโลจิสติกส์ ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๔ ณ จังหวัดสมุทรปราการ โดยผู้เข้าร่วมอบรม ได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ยุคดิจิทัล การประยุกต์ใช้โปรแกรม BI (Business Intelligence) การ รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบ Digital Transformation ผ่านเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Insight) ในการบริหารจัดการธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์กับ CRM เป็นต้น

“การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเป็นกุญแจที่สำคัญสู่ความสำเร็จในงานด้านธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการสินค้าที่ต้องมีระบบการขนส่งเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการจัดการด้านโลจิสติกส์ (Logistics Management) การมีแผนรองรับ ตลอดจนมีกระบวนการการวางแผนและการจัดการที่ดี จะทำให้การจัดการในระบบโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” อธิบดีกล่าวสรุป

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔) มีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น ๒๘,๘๕๔ ราย นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์จะ ได้รับการพัฒนาธุรกิจของตนเองได้อย่างถูกจุดและตรงตามความต้องการของตลาดยุคดิจิทัล โดยผู้สนใจเข้าร่วมอบรม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนส่งเสริมธุรกิจโลจิสติกส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร ๐๒-๕๔๗๕๙๕๕, สายด่วน ๑๕๗๐ และ http://www.dbd.go.th/ 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๓ วัวันพุธที่ ๗ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


709 1343