April 30,2021
ม.ขอนแก่นผลิตชุด‘พีเอพีอา’ สนับสนุนการทำงานชุดพีพีอี ทดลองใช้รักษาผู้ป่วยโควิด
มข.ผลิตชุดพีเอพีอา อุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ สนับสนุนการทำงานของชุดพีพีอี ใช้สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและเริ่มทดลองใช้งานแล้วในการใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-๑๙
เมื่อเวลา ๑๓.๐๐ น. วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๔ ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) รศ.ดร.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย นพ.อภิชาติ โซ่เงิน อายุรแพทย์ โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ร่วมทำการทดสอบอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ หรือ พีเอพีอาร์ (PAPR) ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ มข. ได้ทำการวิจัยและประดิษฐ์ขึ้น ชุดแรกจำนวน ๑๐ ชุด สำหรับการให้บุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้งานสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่ โรงพยาบาลสนาม จ.ขอนแก่น แห่งที่ ๑ (หอพัก ๒๖ มข.) อยู่ในขณะนี้
รศ.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มข. กล่าวว่า การปฏิบัติงานในปัจจุบันของบุคลากรทางการแพทย์นั้น ชุดพีพีอี เป็นชุดที่สามารถกรองเชื้อได้แต่ว่าในลักษณะของการกรองอากาศที่เข้าไปให้กับผู้ที่สวมใส่นั้นจะต้องสวมใส่หน้ากาก N95 เพิ่มเข้าไป ทำให้มีลำบากที่จะหายใจต่อการใช้งาน ทีมงานวิจัยร่วมระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ มข. จึงได้ร่วมกันวิจัยและผลิตชุดดังกล่าวขึ้นมาที่จัดเป็นชุดที่จ่ายอากาศบริสุทธิ์ที่มีความสามารถในการกรองเชื้อไวรัสได้มากกว่า ๙๖% ในลักษณะของหมวกแรงดันบวก โดยผ้าที่ใช้ต้องเป็นผ้าร่มกันน้ำกันลม เพื่อให้ภายในสามารถจ่ายลมแรงดันบวก จากด้านหลัง และออกแบบท่อให้นำอากาศมาด้านหน้า เพื่อความสะดวกในการหายใจ และยังมีฟิลเตอร์ที่สามารถกรองไวรัสได้ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในห้องที่มีอากาศไม่บริสุทธิ์หรือในห้องติดเชื้อผู้ที่สวมใส่จะหายใจได้สะดวกกว่าโดยไม่ต้องใส่หน้ากาก N95 โดยสามารถสวมหน้ากากที่ใช้ในทางการแพทย์แบบปกติได้
ขณะที่ นพ.อภิชาติ โซ่เงิน อายุรแพทย์ โรคระบบทางเดินหายใจ รพ.ศรีนครินทร์ กล่าวว่า กรณีที่มีโรคระบาดที่เราไม่มั่นใจว่าจะแพร่กระจายทางระบบทางเดินหายใจ ทุกครั้งที่มีโรคอุบัติใหม่จะต้องคิดเสมอว่าน่าจะเป็นโรคที่แพร่กระจายทางเดินหายใจ ดังนั้นผลงานวิจัยที่ร่วมกันคิดค้นขึ้นชุดนี้จึงมีความสำคัญในทุกครั้งที่มีโรคระบาดที่เกิดขึ้น ในยุคที่เจอมาไม่ว่าจะเป็น H5n1, H1n1 และซาร์ส กระทั่งมาถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือโควิด-๑๙
“โดยเฉลี่ย ๑๐ ปีจะเจอโรคแบบนี้สักครั้ง ซึ่งชุดนี้จะมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นชุดที่มีความปลอดภัยสูงสุด และทำให้ดูแลคนไข้ได้มากกว่าชุดพีพีอีทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล บุคลากรกลุ่มอื่นที่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในห้องที่ผู่ป่วยมีการหายใจ เช่น เจ้าหน้าที่รังษีเทคนิคที่เข้าไปเอ็กซ์เรย์ปอดคนไข้ หรือแม้กระทั่งแม่บ้านที่เข้าไปเก็บขยะหรือของเสียอะไรก็ตามที่ออกมาจากห้อง ถ้ามีชุดพอและเหมาะสมกับทุกฝ่ายที่จำเป็นต้องเข้าไปดูแลคนไข้ในห้องที่มีท่อช่วยหายใจกับผู้ป่วยแยกโรคดังกล่าว” นพ.อภิชาติ โซ่เงิน กล่าวท้ายสุด
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๖ วันพุธที่ ๒๘ เดือนเมษายน - วันอังคารที่ ๔ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
118 1,739