29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 14,2021

‘ต้นตอแพร่เชื้อโควิด’ อย่าเหมา‘รง.กุนเชียง’ ยืนยัน‘กินได้ปลอดภัย’

โคราชสถานการณ์โควิด-๑๙ เริ่มดีขึ้น มีผู้ติดเชื้อสะสม ๗๗๖ ราย รักษาหาย ๔๓๓ ราย แต่ยังต้องเฝ้าระวังเข้มงวด หลัง สสจ.พบคลัสเตอร์ใหม่หลายกลุ่ม โดยเฉพาะคลัสเตอร์โรงงานกุนเชียงดัง มีผู้ติดเชื้อ ๑๙ ราย กระจายหลายอำเภอ เป็นเหตุให้ปิดหมู่บ้าน ด้าน สสจ.ย้ำอย่าเพิ่งตีตราว่า โรงงานเป็นต้นเหตุการแพร่เชื้อ อาจมาจากหลายพื้นที่ พร้อมยืนยันรับประทานได้ปลอดภัย

ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ระลอกใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดจากกลุ่มคลัสเตอร์สถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๔ จึงจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรายงานความคืบหน้าทุกวันเรื่อยมา

สำหรับความคืบหน้า เริ่มจากวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๖ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๗๑๔ ราย รักษาหายแล้ว ๓๓๐ ราย ยังรักษาอยู่ ๓๘๐ ราย โดย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.วิญญู จันทร์เนตร รอง นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุม

นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ กล่าวรายงานว่า “วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย เป็นผู้ป่วยรายที่ ๕๗๓ เพศหญิง จากอำเภอครบุรี มีโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน มีภาวะอ้วน เสียชีวิตเมื่อประมาณเวลา ๐๓.๐๐ น. ของช่วงเช้าวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ และรายที่ ๕๒๘ เพศชาย อายุ ๘๕ ปี จากอำเภอโชคชัย มีโรคประจำตัว คือ โรคหัวใจ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อเวลา ๒๓.๐๐ น. ของวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง ๒ ราย”

อบจ.มอบอุปกรณ์เกือบ ๗ ล้านบาท

จากนั้น เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา พร้อมด้วย ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ร่วมลงนามความร่วมมือในการดำเนินการสนับสนุน และส่งเสริมระบบบริการด้านการสาธารณสุข เพื่อเสริมสร้างสุขภาพประชาชน และมอบเวชภัณฑ์ วัสดุการแพทย์ วัสดุวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน ๑๕ รายการ ให้กับ สสจ.นครราชสีมา รวมเป็นเงิน ๖,๙๒๓,๖๒๐ บาท

คลัสเตอร์งานขึ้นบ้านใหม่

วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๒ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๗๒๖ ราย รักษาหายแล้ว ๓๕๓ ราย ยังรักษาอยู่ ๓๖๙ ราย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รอง นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุม

นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รายงานว่า “กรณีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยรายที่ ๗๒๐ หญิง อายุ ๖๒ ปี รายที่ ๗๒๑ ชาย อายุ ๔๘ ปี และรายที่ ๗๒๒ เด็กชายอายุ ๗ ปี การสอบสวนโรคพบประวัติเกี่ยวข้องกับงานขึ้นบ้านใหม่ของชาวออสเตรเลีย จัดที่บ้านหนองแหนพัฒนา หมู่ ๑๙ ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ได้พบผู้ป่วยรายที่ ๖๓๕ พระสงฆ์ อายุ ๖๖ ปี วัดดอนหวาย ตำบลธารปราสาท ซึ่งงานดังกล่าวมีชาวบ้านร่วมงานด้านใน ๑๒ คน และงานเลี้ยงด้านนอก ๓๕ คน ขณะนี้ได้เร่งค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่และนำกลุ่มเสี่ยงรวม ๔๗ คน เข้าคัดกรองตรวจหาเชื้อเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดในพื้นที่”

โคราชพบ ๓ คลัสเตอร์ใหม่

วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๐ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๗๓๖ ราย รักษาหายแล้ว ๓๗๔ ราย ยังรักษาอยู่ ๓๕๘ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พญ.อารีย์ เชื้อเดช นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุม

พญ.อารีย์ เชื้อเดช กล่าวว่า “วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่ ๑๐ ราย เป็นผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงจากช่วงสงกรานต์ งานเลี้ยงสังสรรค์ และการติดเชื้อในครอบครัว ซึ่งรายที่ ๗๒๗ และ ๗๒๘ ไทม์ไลน์อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค รายที่ ๗๒๙ เป็นผู้ป่วยจากอำเภอโนนไทย ติดเชื้อจากกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ คือ โรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง รายที่ ๗๓๑, ๗๓๓, ๗๓๔ และ ๗๓๕ เป็นผู้ป่วยจากอำเภอโนนสูง เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์ทำบุญบ้านใหม่ ส่วนผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่พบวันนี้ เป็นการสัมผัสจากผู้ติดเชื้อรายอื่นๆ สำหรับไทม์ไลน์ของผู้ป่วยที่น่าสนใจ ในคลัสเตอร์งานขึ้นบ้านใหม่ซึ่งจัดขึ้นวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๔ ที่อำเภอโนนสูง มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๗ ราย โดยมีผู้ป่วยภายในงาน ๖ ราย และเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงอีก ๑ ราย โดยงานทำบุญบ้านใหม่ มีญาติมาจากกรุงเทพฯ ๒ ราย ซึ่งทั้งคู่มีอาการ จึงทำให้สัมผัสกับผู้มาร่วมงาน ซึ่งทีมควบคุมโรคได้สอบสวนโรคทั้งหมดแล้ว และคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๗ ราย ส่วนกลุ่มเสี่ยงได้ควบคุมและเก็บตัวอย่างไว้หมดแล้ว”

“กลุ่มคลัสเตอร์ศูนย์อาหาร จุดพักรถอำเภอโนนสูง มีผู้ป่วย ๑ ราย มีอาการเป็นหวัด จึงไปตรวจและพบเชื้อ ซึ่งทำงานกับภริยาในศูนย์อาหาร โดยภริยาตรวจพบเชื้อภายหลัง จากนั้นมีการติดเชื้อไปยังผู้สัมผัสรายที่ ๗๓๕ และทำให้เกิดการแพร่ระบาดในครอบครัว รายที่ ๗๓๐, ๗๓๓ และ ๗๓๔ จากเคสนี้จะเห็นว่า การติดเชื้อจากสถานที่อื่นๆ ทำให้นำมาติดเชื้อกับคนในครอบครัวได้ หากอยู่ร่วมกันในบ้าน และรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงควรจะมีมาตรการเว้นระยะห่าง รวมทั้งกักตัว ๑๔ วัน โดยรวมแล้วคลัสเตอร์นี้น่าจะจำกัดวงให้อยู่ในกลุ่มนี้ได้”

พญ.อารีย์ เชื้อเดช กล่าวอีกว่า “ส่วนคลัสเตอร์โรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา พบผู้ป่วยรายที่ ๖๙๙ มีอาการและตรวจเชื้อพบโควิด-๑๙ ซึ่งมีการติดเชื้อระหว่างสามีกับภริยา เมื่อสอบสวนโรคก็พบว่า มีการติดเชื้อกันภายในโรงงานทั้งหมด ๖ ราย โดยเราคิดว่า ผู้ติดเชื้อรายแรกของกลุ่มนี้ คือ ผู้ป่วยรายที่ ๗๑๖ และ ๗๒๖ ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อพบในภายหลัง จากการตรวจสอบคาดว่า มีความเกี่ยวข้องกับการเดินทางไปกับรถสาธารณะ และกลุ่มนี้ยังมีการแพร่ระบาดไปสู่ครอบครัวอีก ๑ ราย รวมคลัสเตอร์นี้มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๗ ราย ขณะนี้กำลังเร่งติดตามและหาตัวกลุ่มเสี่ยง”

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ขอฝากให้อำเภอโนนสูงไปติดตามการจัดงานขึ้นบ้านใหม่ว่า มีการฝ่าฝืนคำสั่งหรือข้อกำหนดตามประกาศหรือไม่ จากนั้นให้รายงานผลการตรวจสอบเข้ามา”

เสียชีวิตสะสม ๕ ราย

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบติดเชื้อเพิ่ม ๑๐ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๗๕๒ ราย รักษาหายแล้ว ๓๙๙ ราย ยังรักษาอยู่ ๓๔๘ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย รวมเสียชีวิสะสม ๕ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนคร ราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุม

นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวรายงานว่า “ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ เราพบผู้ป่วยระลอกนี้จากการเดินทางเข้าพื้นที่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แม้ช่วงนี้การพบผู้ป่วยรายใหม่จะมีแนวโน้มลดลง แต่การเฝ้าระวังจะต้องทำอย่างต่อเนื่องถึงประมาณสิ้นเดือนพฤษภาคม จึงจะบอกได้ว่าสถานการณ์สงบแล้วหรือยัง ซึ่งวันนี้พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ที่ยังไม่เคยพบผู้ป่วย คือ อำเภอขามทะเลสอ และวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย เป็นผู้ป่วยรายที่ ๔๑๐ เป็นชายไทยอายุ ๔๔ ปี อาศัยอยู่ในอำเภอเมือง ทำงานประจำบนรถไฟ ลำชี-โคราช มีน้ำหนักตัว ๗๕ กิโลกรัม มีโรคประจำตัวโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิต โดยวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๔ เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ จากนั้นวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๔ ได้ไปตรวจหาเชื้อที่รถตรวจพระราชทาน ปรากฏว่า พบเชื้อ ผู้ป่วยจึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา พบมีภาวะปอดอักเสบ ไตวาย เกิดภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และได้เสียชีวิตในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-๑๙ ในปัจจุบัน มี ๒ เหตุการณ์ที่น่าสนใจ คือ เหตุการณ์ที่อำเภอโนนสูงและโรงงานผลิตอาหาร ในอำเภอเมือง คือร้านเจ้าสัว บอกชื่อได้เลย เพราะแจ้งในไทม์ไลน์แล้ว เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อหลายราย และขณะนี้กำลังเข้าสู่การควบคุมเข้มข้น”

คลัสเตอร์โรงงานกุนเชียง

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า “ในส่วนของโรงงานเจ้าสัว อยู่ในฝ่ายผลิต เริ่มต้นเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ผู้ป่วยรายที่ ๖๕๔ อยู่โรงงานที่ ๒ มีอาการไข้ แสบคอ จึงลางานไปตรวจที่โรงพยาบาลเทพรัตน์ ผลตรวจออกมาวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบว่า ติดเชื้อโควิด-๑๙ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด ๑๒ คน ตรวจไม่พบเชื้อทั้งหมด และอยู่ระหว่างกักตัว ๑๔ วัน และมีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ๒๘ คน ส่วนโรงงานที่ ๑ ผู้ป่วยรายที่ ๖๙๙ ทำงานอยู่กับภริยา ลักษณะของโรงงานนี้จะมี ๖ แผนก ซึ่งกลุ่มที่ตรวจพบอยู่ในแผนกเดียวกัน เบื้องต้นสอบสวนพบว่า อยู่ในแผนกบรรจุกุนเชียง ซึ่งรายที่ ๖๙๙, ๗๑๒, ๗๑๖, ๗๑๐ และ ๗๓๗ มีลักษณะนั่งทำงานอยู่ข้างกัน หลังจากนั้นพบว่า รายที่ ๗๑๕ และ ๗๒๖ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่มีค่าที่บ่งบอกว่า มีการติดเชื้อมาก่อนรายอื่น เมื่อสอบสวนโรคก็พบว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก เป็นรายที่ ๗๒๗ และ ๗๔๐ นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของอำเภอพิมาย ซึ่งมาฝึกงานกับแผนกนี้ จึงทำให้พบว่าติดเชื้ออีก ๑ ราย ทั้งนี้ การตรวจหาเชื้อของผู้สัมผัสเสี่ยง ตั้งแต่วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ประมาณ ๑๙๐ ราย และวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ประมาณ ๔๐ ราย แต่เนื่องจากการตรวจมีปัญหาจึงส่งตรวจที่กรุงเทพฯ ซึ่งการตรวจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์นี้ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก ๑๒ ราย สำหรับการติดเชื้อของกลุ่มคลัสเตอร์นี้ คาดว่า รายที่ ๗๒๖ และ ๗๑๕ ใช้รถโดยสารสาธารณะร่วมกับผู้ติดเชื้อของอำเภอด่านขุนทด เพราะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันและรถคันเดียวกัน เมื่อดูรายงานผลแล็บก็มีเรื่องให้ทีมแพทย์ต้องคิดอีก จึงขอเวลาว่า จุดเริ่มต้นของการระบาดนี้อยู่ตรงไหน ซึ่งจะขอความร่วมมือในการสอบสวนโรค ทั้งในส่วนของโรงงานที่ต้องให้ความร่วมมือด้วย”

“ในกรณีของคลัสเตอร์งานขึ้นบ้านใหม่ ที่ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง พบว่า มีญาติเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ๒ ราย ไม่ได้ตรวจเชื้อหาโควิด-๑๙ และมีพระสงฆ์ ๒ รูป มาร่วมงานและติดเชื้อ ซึ่งรักษาตัวที่อำเภอพิมาย โดยคลัสเตอร์นี้มีผู้ป่วยยืนยันทั้งหมด ๕ ราย ส่วนกลุ่มเสี่ยงยังมีการเดินทาง ไม่มีการกักตัวอย่างเข้มข้น” นางสาวทิพวรรณ กล่าว

ด้านพันจ่าโททวี พิมพ์อุบล นายอำเภอโนนสูง ชี้แจงว่า “ขณะนี้ได้เตรียมปิดหมู่บ้าน ๒ แห่ง คือ บ้านหนองแหน และบ้านหนองแหนพัฒนา ตำบลธารปราสาท ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า ๑,๐๐๐ คน มี ๑๘๕ ครัวเรือน หากหารือเสร็จแล้ว จะทำเรื่องให้พิจารณาต่อไป”

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ด้วยเหตุการณ์เช่นนี้ สามารถสั่งปิดได้ทันที อำเภอก็เห็นด้วย ไม่ต้องรอหนังสือคำสั่ง ถือว่า เป็นการรายงานเข้ามาในที่ประชุมแล้ว มีมติให้ดำเนินการปิดตั้งแต่เย็นนี้เป็นต้นไป”

สำหรับกรณีที่มีประชาชนสงสัยว่า ผู้ติดเชื้อในโรงงาน ซึ่งมีแรงงานสัญชาติเมียนมาด้วยนั้น ต้องการทราบว่ามีการเดินทางไปไหนมาบ้างนั้น นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ เปิดเผยว่า “ประเด็นแรงงานต่างชาติ ในรอบแรกเราได้ไปทำ active case finding เนื่องจากมีชาวพม่าทำงานอยู่ที่นี่ด้วย เบื้องต้นพบ ๒ ราย แต่ไม่ได้เดินทางไปไหน เนื่องจากเดือนเมษายน แผนการผลิตของโรงงานนี้ พนักงานจะไม่ค่อยได้พัก พนักงานจึงอยู่แค่บ้านพักและมาทำงานที่โรงงานตลอด โดยในวันพรุ่งนี้จะขออนุญาตเข้าไปในโรงงาน เพื่อตัดวงจรการระบาด”

กุนเชียงกินได้ปลอดภัย

กรณีที่มีประชาชนสงสัยว่า ผลิตภัณฑ์กุนเชียงและอื่นๆ ที่อยู่ในสายการผลิตมีความปลอดภัยหรือไม่นั้น นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ ชี้แจงว่า “เรารับรู้ตั้งแต่เคสแรก คือรายที่ ๖๙๙ และเคสอีกโรงงานหนึ่ง เรามีความเป็นห่วง เพราะรับรู้มาว่า เขาอยู่ในส่วนของแผนกบรรจุภัณฑ์ ก่อนที่จะมาถึงมือผู้บริโภค ซึ่งทางโรงงานได้ทำความสะอาดสินค้าล็อตนั้น และกำจัดในส่วนของที่คิดว่า มีการปนเปื้อน ซึ่งทางโรงงานทำตั้งแต่วันแรกๆ แต่ไม่ได้แจ้งสื่อมวลชนทราบ”

นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์สสจ.นครราชสีมา กล่าวย้ำเพิ่มเติมว่า “ในกระบวนการทำอาหาร จะต้องมีการตรวจสอบทั้งคุณภาพและความปลอดภัย ไม่ว่าจะความสะอาดด้านใดก็ตาม จึงสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย ขอเน้นย้ำว่า นักระบาดวิทยาได้ลงไปตรวจสอบและทำกระบวนการให้สะอาดที่สุด เรายังรับประทานอาหารเหล่านี้ได้ตามปกติ”

ปิดหมู่บ้านเชื่อมโยงโรงงาน

วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๐ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๗๖๒ ราย รักษาหายแล้ว ๔๑๖ ราย ยังรักษาอยู่ ๓๔๑ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุม

นพ.วิชาญ คิดเห็น รายงานไทม์ไลน์ที่น่าสนใจว่า “ขณะนี้เรากำลังติดตามคลัสเตอร์ทั้งหมด ๓ กลุ่ม ได้แก่ คลัสเตอร์โรงงานเจ้าสัว วันนี้เราพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงตรวจพบเชื้อเพิ่ม ๑ ราย เป็นผู้ป่วยลำดับที่ ๗๖๐ เพศหญิง อายุ ๑๙ ปี ส่วนคลัสเตอร์งานขึ้นบ้านใหม่ อำเภอโนนสูง ขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม และคลัสเตอร์ศูนย์อาหารจุดพักรถ อำเภอโนนสูง ผู้ป่วยยังคงเท่าเดิม ๖ ราย และจากการตรวจหาเชื้อยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม”

ในระเบียบวาระที่ ๔.๒ อำเภอโนนไทย ได้ขอมติจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เพื่อปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ หมู่ที่ ๓ บ้านวัง ตำบลบ้านวัง อำเภอโนนไทย เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวน ๕ ราย ซึ่งจากการสอบสวนโรคมีความน่าเชื่อว่า มาจากคลัสเตอร์โรงงานผลิตกุนเชียง มีผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ๗๔ ราย สำหรับหมู่ที่ ๓ บ้านวัง ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัย ๑๒๗ หลังคาเรือน ประชากร ๔๖๒ คน หมู่บ้านมีสภาพแออัด ดังนั้น อำเภอโนนไทย จึงเสนอขอปิดหมู่บ้านดังกล่าว โดยมีข้อกำหนดว่า ห้ามผู้ใดเข้าหรือออกจากพื้นที่ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานโรคติดต่อ และในพื้นที่ห้ามรวมตัวกันในที่สาธารณะเกินกว่า ๒ คน ตั้งแต่ ๑๘.๐๐ น. วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๘.๐๐ น. เป็นเวลา ๑๔ วัน หากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่ง ถือเป็นความผิดตามมาตรา ๕๒ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ จำคุดไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คลัสเตอร์งานศพ

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๔ ราย มีอำเภอชุมพวง ๙ ราย, อำเภอเมือง ๒ ราย, อำเภอปากช่อง ๒ ราย และอำเภอสีคิ้ว ๑ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๗๗๖ ราย รักษาหายแล้ว ๔๓๓ ราย ยังรักษาอยู่ ๓๓๘ ราย โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา มีการประชุมด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และพญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา

พญ.อารีย์ เชื้อเดช รายงานไทม์ไลน์ที่น่าสนใจ ว่า “ในช่วงที่ผ่านมาเราได้ติดตามสถานการณ์คลัสเตอร์อำเภอโนนไทยและอำเภอโนนสูง ซึ่งยังไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนวันนี้พบคลัสเตอร์ใหม่ที่อำเภอชุมพวง มีผู้ติดเชื้อ ๙ ราย โดยมีผู้ป่วยรายที่ ๗๖๐ เป็นผู้ป่วยรายแรกของคลัสเตอร์นี้ ซึ่งผู้ป่วยรายนี้เป็นเด็กฝึกงานที่โรงงานในอำเภอเมือง ที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นโรงงานกุนเชียง ผู้ป่วยรายนี้มีไทม์ไลน์เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อในโรงงาน เมื่อทราบว่ารายที่ ๗๖๐ เป็นผู้ติดเชื้อ เจ้าหน้าที่จึงติดตามไทม์ไลน์และหาผู้สัมผัสเสี่ยงทั้งหมด พบว่า ในวันที่ ๔-๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ผู้ป่วยเดินทางกลับไปบ้านที่อำเภอชุมพวง ตำบลโนนรัง และไปร่วมงานศพ เจ้าหน้าที่จึงติดตามกลุ่มเสี่ยงได้ประมาณ ๕๐ คน ปรากฏว่า ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๙ ราย เป็นเด็ก ๖ ราย โดยกลุ่มคลัสเตอร์นี้รวมผู้ป่วยแล้ว มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๑๐ ราย จากข้อมูลระบาดวิทยา เราเชื่อว่าการแพร่ระบาดของเชื้อครั้งนี้ น่าจะเกิดขึ้นในงานศพ ซึ่งในงานมีญาติจากพื้นที่สีแดงเข้มมาร่วมงานด้วย ทั้งกรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี และจังหวัดอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่ตั้งข้อสงสัยไว้ว่า คลัสเตอร์นี้อาจจะเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในโรงงานกุนเชียง แต่ในทางระบาดวิทยาเชื่อว่า เป็นการแพร่ระบาดภายในงานศพ เราเข้าใจว่า ต้นตอของการระบาดคลัสเตอร์นี้ ไม่น่าจะเกิดจากผู้ป่วยรายที่ ๗๖๐ แต่น่าจะเป็นการติดเชื้อภายในงานศพเอง หากบอกว่า เป็นการแพร่เชื้อจากโรงงานอาจจะเป็นการสันนิษฐานที่ไม่เป็นจริงทั้งหมด ซึ่งวันนี้ทีมของสำนักงานสาธารณสุขฯ จะลงพื้นที่สำรวจและเก็บตัวอย่างกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติมต่อไป”

“ในส่วนของโรงงานกุนเชียง ขณะนี้ได้นำพนักงานทั้งหมดมาตรวจหาเชื้อแล้ว ๑๘๙ ราย ในกลุ่มนี้ไม่มีคนไข้ที่มีอาการหนัก และการติดเชื้อเป็นการติดเชื้อที่หลากหลาย บางคนอาจจะติดเชื้อมาระยะหนึ่ง และบางคนก็ใกล้หายแล้ว โดยพบผู้ติดเชื้อกระจายในอำเภอต่างๆ ทั้งหมด ๑๙ ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องหาต้นตอของการตติดเชื้อในโรงงานแห่งนี้ว่า เป็นต้นตอของการแพร่ระบาด หรือเป็นที่รวมของผู้ติดเชื้อจากหลายพื้นที่ แล้วเข้ามาทำงานร่วมกัน ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งไปตีตราว่า โรงงานกุนเชียงเป็นต้นตอของการติดเชื้อ เพราะระยะเวลาของการติดเชื้อใน ๑๙ รายนี้ แต่ละคนมีระยะเวลาติดเชื้อต่างกัน สถานที่นี้อาจจะเป็นแค่แหล่งรวมการติดเชื้อจากหลายๆ ที่” พญ.อารีย์ กล่าวท้ายสุด

นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “อำเภอชุมพวงวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๙ ราย ซึ่งไทม์ไลน์และข้อมูล รองนายแพทย์ สสจ.ได้นำเสนอไปแล้วเบื้องต้น ซึ่งอำเภอชุมพวงได้ส่งเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณา ขอปิดหมู่บ้านหนองหว้าบูรพา หมู่ที่ ๒๐ และบ้านหนองหว้า หมู่ ๒ ตำบลโนนรัง อำเภอชุมพวง ตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๘.๐๐ น. เป็นต้นไป”

ทั้งนี้ ผู้ป่วยสะสมในจังหวัดนคร ราชสีมา จำนวน ๗๗๖ ราย รักษาหาย ๔๓๓ ราย กำลังรักษา ๓๓๘ ราย เสียชีวิตสะสม ๕ ราย (ข้อมูล ณ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔) โดยพบผู้ป่วยสะสมทั้งหมดใน ๒๙ อำเภอ แยกเป็นอำเภอเมือง ๓๔๘ ราย ปากช่อง ๑๕๒ ราย สีคิ้ว ๔๔ ราย ด่านขุนทด ๓๓ ราย สูงเนิน ๑๒ ราย ชุมพวง ๒๐ ราย บัวใหญ่ ๓๐ ราย พิมาย ๑๐ ราย โนนไทย ๑๑ ราย ประทาย ๑๒ ราย ปักธงชัย ๑๑ ราย ครบุรี ๘ ราย บัวลาย ๑ ราย เสิงสาง ๗ ราย โนนสูง ๒๓ ราย คง ๘ ราย โชคชัย ๙ ราย ห้วยแถลง ๘ ราย ขามทะเลสอ ๑ ราย เทพารักษ์ ๑ ราย หนองบุญมาก ๓ ราย จักราช ๓ ราย เฉลิมพระเกียรติ ๒ ราย ลำทะเมนชัย ๑ ราย สีดา ๓ ราย โนนแดง ๑ ราย บ้านเหลื่อม ๓ ราย วังน้ำเขียว ๑๐ ราย และแก้งสนามนาง ๑ ราย สำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามชาติชายฮอลล์ และโรงพยาบาลสนามลิปตพัลภพฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มีผู้ป่วย ๑๖ ราย แบ่งเป็นชาย ๙ ราย หญิง ๗ ราย คงเหลือเตียงว่าง ๑๘๔ เตียง


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๘ วันพุธที่ ๑๒ - วันอังคารที่ ๑๘ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


963 1587