15thJanuary

15thJanuary

15thJanuary

 

June 10,2021

โควิดจบเร็วเศรษฐกิจฟื้นเร็ว โคราชต้องได้รับวัคซีนเพียงพอ

คิกออฟฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ พร้อมกันทั่วประเทศ “ผู้ว่าโคราช” มั่นใจจุดฉีดวัคซีน ๒ ห้างดังมีความพร้อม แนะรีบลงทะเบียน “โคราชพร้อม” ด้านสุวัจน์และหมอวรรณรัตน์ เข้าฉีดแอสต้าเซนเนก้าเข็มแรก ชี้วัคซีน คือคำตอบ ย้ำปัญหาโควิด-๑๙ จบเร็ว เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ล่าสุด ศบค.ปลดล็อกให้ รพ.เอกชนและ อปท. จัดซื้อวัคซีนได้แล้ว

ตามที่รัฐบาลไทยมีเป้าหมายให้ทุกคนในประเทศ ทั้งคนไทยและต่างชาติ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ด้วยความสมัครใจโดยไม่คิดมูลค่า ครอบคลุมประชากรที่อยู่ในประเทศไทยอย่างน้อยร้อยละ ๗๐ ซึ่งเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ เพื่อควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ระบาดและทดสอบระบบของแต่ละจังหวัด ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-๑๙ ลดอัตราการติดเชื้อหรือเจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๐ น. นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดจุดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ที่โคราชฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา และที่เอ็มซีซีฮอลล์ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์โคราช โดยในวันนี้เป็นการฉีดวัคซีน AstraZeneca (AZ) พร้อมกันทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ได้ตรวจเยี่ยมระบบการฉีดวัคซีนทุกขั้นตอน ให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน และพูดคุยกับประชาชนที่มารับการบริการอย่างเป็นกันเอง โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มารับบริการฉีดวัคซีนเข็มแรกด้วย นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นายสุริยา ตันเจริญ ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา และนายชินาพัฒน์ พิมพ์ศรีแก้ว ผู้จัดการทั่วไปปฏิบัติการ บริษัท เดอะมอลล์ราชสีมา จำกัด ร่วมให้การต้อนรับ

นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า “กรมควบคุมโรคได้จัดสรรวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ให้กับเขตสุขภาพที่ ๙ (นครชัยบุรินทร์) ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาได้รับจัดสรรวัคซีนแอสต้าเซนเนก้า จำนวน ๒๓,๖๐๐ โดส เพื่อให้บริการฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ๗ กลุ่มโรค บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และผู้ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม ในช่วงสัปดาห์ที่ ๑ และ ๒ ของเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ โดยกำหนดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ พร้อมกันทั่วประเทศ โดยจังหวัดนครราชสีมา เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไป โดยอำเภอเมืองมีจุดให้บริการ ดังนี้ ๑.ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา โดยโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ๒.ศูนย์การค้าเดอะมอลล์โคราช โดยโรงพยาบาลเทพรัตน์ สสจ.นครราชสีมา และเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ๓.โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (รพ.มทส.) ๔.โรงพยาบาลค่ายสุรนารี และ ๕.โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ส่วนจุดให้บริการต่างอำเภอ ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ทุกแห่ง ซึ่งจะนัดหมายมาฉีดวัคซีนตามลำดับการลงทะเบียน”

มีความพร้อมฉีดวัคซีน

นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “จากการตรวจเยี่ยมจุดบริการฉีดวัคซีนทั้ง ๒ แห่ง ที่เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา และเดอะมอลล์โคราช พบว่า สถานที่และเจ้าหน้าที่มีความพร้อม โดยศักยภาพของศูนย์การค้าทั้ง ๒ แห่ง สามารถรองรับการฉีดวัคซีนได้วันละ ๑๐,๐๐๐ ราย ดังนั้น เรื่องความพร้อมจะไม่มีปัญหา ซึ่งจากการพูดคุยกับประชาชนพบว่า วันนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้อยู่ใน ๗ โรคกลุ่มเสี่ยง และมีส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มาจากการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม ทุกคนมีความตั้งใจต้องการได้รับวัคซีนอย่างรวดเร็ว เรื่องความเจ็บป่วยหลายคนก็ไม่น่าห่วง เพราะหากมีอาการผิดปกติ หมอก็พร้อมที่จะให้คำแนะนำ ขณะนี้ยังไม่พบใครมีอาการหนัก ในขณะเดียวกันอีก ๓๑ อำเภอ ก็กำลังฉีดอยู่ในขณะนี้ด้วย สำหรับเรื่องวัคซีนไม่เพียงพอ ขอให้ประชาชนลงทะเบียนไว้ก่อน เมื่อมีวัคซีนมาแล้วก็จะได้ฉีดอย่างรวดเร็ว ดีกว่าจะต้องรอให้มีวัคซีนแล้วค่อยลงทะเบียน ถึงขณะนั้นอาจจะได้คิวล่าช้ากว่าช่วงนี้ และวันนี้มีแอปพลิเคชันเป็นของตัวเองชื่อ ‘โคราชพร้อม’ คนโคราชสามารถเข้าไปใช้ หากเป็นคนอำเภอคง แต่ต้องการฉีดที่อำเภอเมืองก็ได้ หรือเป็นคนอำเภอเมือง แต่ต้องการไปฉีดต่างอำเภอก็ได้ แอปฯ เดียวสามารถลงทะเบียนได้ทั้งจังหวัด ส่วนเรื่องการจัดสรรก็ให้รัฐบาลจัดการ ผมเชื่อว่า รัฐบาลจะทยอยออกมาเรื่อยๆ หากจะนำมาครั้งเดียวจำนวนมากก็ทำไม่ได้ เพราะวัคซีนมีอายุไม่กี่วัน โดยในช่วงสัปดาห์นี้จังหวัดนครราชสีมา จะได้รับวัคซีนทั้งหมด ๒๓,๖๐๐ โดส เป็นวัคซีนของแอสต้าเซนเนก้าทั้งหมด ส่วนซิโนแวคก็มีมาบ้าง แต่จะให้เฉพาะผู้ที่จะฉีดเข็มที่ ๒ ก่อน และอีก ๒ สัปดาห์ก็จะมาอีกประมาณ ๒๐,๐๐๐ โดส”

เมื่อถามว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดใหญ่ มีโอกาสได้รับจัดสรรเพิ่มหรือไม่ นายกอบชัย บุญอรณะ ตอบว่า “จังหวัดได้ชี้แจงไปแล้วว่า โคราชเป็นจังหวัดใหญ่ เป็นศูนย์กลางของการค้าการขนส่ง ดังนั้น จึงต้องการสร้างความมั่นใจ สร้างภูมิคุ้มกันให้คนโคราช สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เราก็พยายามเสนอไปยังข้างบน และในขณะเดียวกัน โคราชมีผู้ใหญ่มากมาย ที่สามารถพูดคุยกับรัฐบาลได้ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะได้รับการจัดสรรเพิ่ม”

โคราชควบคุมได้

“สำหรับสถานการณ์โควิด-๑๙ ขณะนี้ เราสามารถควบคุมได้ แต่เราก็ห่วงเรื่องของคนงาน ซึ่งผมก็เดินสายไปตรวจสอบว่าแต่ละแห่งมีมาตรการอย่างไร ห่วงเรื่องเรือนจำ ซึ่งจะประชุมกันว่าจะมีมาตรการอย่างไร หากจัดการกับกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดได้ ก็จะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มได้ จากตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันขณะนี้ และผู้รักษาหายสะสมแสดงให้เห็นว่า โคราชมีความพร้อม และสามารถควบคุมได้ แต่จะรีบเร่งทำให้การ์ดตกก็ไม่ดี ขอคนโคราชอย่าเพิ่งการ์ดตก และห้ามประมาทเด็ดขาด การไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ยังทำได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดต่อไป” นายกอบชัย กล่าว

‘สุวัจน์’ฉีดวัคซีนเข็มแรก

จากนั้น เวลา ๑๑.๐๐ น. ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อายุ ๖๖ ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา เดินทางมารับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ ๑ ซึ่งได้รับลำดับที่ ๕๕๕ และ ๓๗๗ มีนพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการภารกิจด้านอำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นผู้ฉีดวัคซีน โดยมีนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.เขต ๒ นครราชสีมา นายอุทัย มิ่งขวัญ ประธานสภาเทศบาลนครนครราชสีมา นายสุริยา ตันเจริญ ผู้จัดการทั่วไปศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ร่วมต้อนรับและให้กำลังใจ 

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า “หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรกก็ยังอาการปกติ ก่อนมาก็มีหมอแนะนำว่า จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เมื่อเราปฏิบัติตามคำแนะนำว่า พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก และก่อนจะฉีดก็ได้ตรวจสุขภาพหรือตรวจความดันก่อน ขณะนี้ฉีดมาแล้ว ๒๐ นาที ก็ยังไม่พบอาการผิดปกติใดใด ซึ่งตอนฉีดคุณหมอมือเบามาก ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ โดยเข็มที่ ๒ จะฉีดในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ แต่หลังจากนี้ก็จะต้องดูอาการตามคำแนะนำของแพทย์ว่า มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว และมีผื่นแดงขึ้นหรือไม่ ก็จะต้องคอยสังเกตอาการต่อไป”

โควิด-๑๙ จบเร็วยิ่งดี

“วันนี้เป็นวันแรกในการกระจายฉีดวัคซีนพร้อมกันทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายว่า ในเดือนมิถุนายนจะต้องฉีดให้ได้ ๖ ล้านโดส เดือนกรกฎาคม อีก ๑๐ ล้านโดส และภายในปีนี้จะต้องฉีดให้ครบ ๑๐๐ ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมประชากร ๕๐ ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ ๗๐ ของประชากรทั้งหมด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ วันนี้รัฐบาลต้องประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น ที่เซ็นทรัลโคราช และเดอะมอลล์โคราช ทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี และเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ในวันนี้ประชาชนมีความเข้าใจในการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาพรวมของผู้ลงทะเบียนเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น ในส่วนของประชาชนมีความพร้อม มีความเข้าใจ และเต็มใจ หากเราได้รับวัคซีนมาจำนวนมากและเร็ว โคราชก็จะสามารถจัดการกับโควิด-๑๙ ได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยลดผลกระทบต่างๆ ได้มากขึ้น หากโควิด-๑๙ จบเร็ว เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวเร็วขึ้น ปัญหาทั้งหมดขึ้นอยู่กับการจัดสรรวัคซีน เราจึงต้องร่วมมือกันทุกส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้โคราชได้รับวัคซีนมาอย่างเพียงพอและรวดเร็วเข้ากับสถานการณ์” นายสุวัจน์ กล่าว

โคราชโมเดลแก้ปัญหาโควิด

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กล่าวอีกว่า “ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ประชาชนมีความตื่นตัวมาก เพราะเป็นห่วงเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ห่วงปัญหาเศรษฐกิจ และห่วงเรื่องสุขภาพ ทุกคนต้องการให้ปัญหาโควิด-๑๙ จบ และรู้ว่า วัคซีน คือ คำตอบ วันนี้ทุกคนมีความพร้อมตรงกันแล้ว จึงจะต้องช่วยกันหาวัคซีนมาให้ได้เร็วที่สุด และที่สำคัญต้องเพียงพอต่อความต้องการ เพราะขณะนี้เราอยู่บนพื้นฐานของการระบาดระลอกที่ ๓ หากปล่อยไว้ให้ยืดยาว กระทั่งโควิด-๑๙ มีการกลายพันธุ์มากขึ้น เมื่อถึงตอนนั้นวัคซีนที่ได้รับมา ๒ เข็ม อาจจะไม่พอที่จะต่อสู้กับสายพันธุ์ใหม่ อาจจะต้องมีเข็มที่ ๓ หรือ ๔ ประกอบกับอาจจะมีไวรัสชนิดอื่นที่กลายพันธุ์อีก ผมจึงคิดว่า เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชน อยากจะเห็นเป้าหมายของการเตรียมจัดหาวัคซีนของรัฐบาล ให้มีจำนวนมากกว่า ๑๐๐ ล้านโดส อาจจะเตรียมไว้ ๑๕๐ ล้านโดส หากทำได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะไม่มีปัญหาอะไร ครั้งนี้เป็นเรื่องของทุกคนต้องร่วมมือกัน และผมก็เห็นว่า ทุกคนให้ความร่วมมือกันอย่างดี เช่น สถานการณ์โควิด-๑๙ ของโคราช วันนี้ตัวเลขก็เริ่มจะทรงตัว ในแต่ละวันตัวเลขก็เหลือหลักเดียวแล้ว ถือเป็นความสำเร็จของทุกฝ่าย ที่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ การควบคุมโควิด-๑๙ ได้รวดเร็ว และการฉีดวัคซีนที่เป็นวาระแห่งชาติก็ทำได้ดี สามารถนำไปใช้เป็นโคราชโมเดลได้” 

แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กล่าวท้ายสุดว่า “สำหรับสัดส่วนการจัดสรรวัคซีนของโคราช ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ มีประชากรมาก ปัญหานี้ทุกคนทราบกันอยู่แล้ว เป็นเรื่องของการจัดสรร จัดสรรไปตามลำดับของปัญหา ถ้าเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าอย่างหลากหลาย ทั้งภาครัฐและเอกชน หรือใครที่มีการติดต่อกับต่างชาติได้ก็ช่วยกัน ซึ่งวันนี้ อย.ก็รับรองวัคซีนไปหลายยี่ห้อแล้ว และองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็รับรองอีกหลายตัว ดังนั้น วัคซีนมีความหลากหลายและเพียงพอ แต่ขณะนี้ทุกประเทศทั่วโลกกำลังแสวงหาวัคซีนเช่นกัน ทำให้เกิดตลาดที่ผู้ซื้อจะต้องเป็นฝ่ายไปหามาเอง ทำให้การจัดสรรอาจจะไม่เพียงพอ ส่วนการจัดซื้อโดยท้องถิ่น ก็เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่สมมติว่า ทุกคนสามารถหาวัคซีนมาได้อย่างหลากหลายก็จะเป็นเรื่องที่ดี”

จากนั้น นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พร้อมคณะ ร่วมมอบน้ำดื่มตราทับแก้ว น้ำดื่มของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จำนวน ๒๐๐ โหล เพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมบุคลากรทางการแพทย์ และจิตอาสา รวมทั้งประชาชนที่เดินทางมาฉีดวัคซีน ณ โคราช ฮอลล์ ชั้น ๔ เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา

มทส.ร่วมฉีดวัคซีนให้ประชาชน

ในส่วนของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (รพ.มทส.) ๑ ใน ๔ จุดให้บริการฉีดวัคซีนของ อ.เมืองนครราชสีมา บริเวณอาคารสุรพัฒน์ ๒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ซึ่งใช้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) บรรยากาศคึกคัก มีประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” และเป็นกลุ่มเสี่ยงตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข คือ ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย ๗ กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนแอสต้าเซนเนก้าเข็มแรก เดินทางมาใช้บริการเต็มพื้นที่ โดยมี รองศาสตราจารย์ ร.อ.ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาความเป็นสากล มทส. ประธานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) และคณะ คอยอำนวยความสะดวก พร้อมพบปะพูดคุยกับประชาชนที่เข้ารับบริการฉีดวัคซีน และมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. เดินทางมาตรวจเยี่ยมความเรียบร้อยของจุดบริการ เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและสร้างความมั่นใจให้ประชาชนที่ลงทะเบียนรับวัคซีนที่ รพ.มทส.

แนวทางบริหารวัคซีน

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙ ) เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ เพื่อเร่งรัดให้การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ตามวาระแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับประโยชน์โดยเร็ว ดังนี้ ๑.ให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอแก่ประชาชน โดยอย่างน้อยให้ครอบคลุมร้อยละ ๗๐ ของจำนวนประชากร (ไม่น้อยกว่าจำนวนประชากร ๕๐ ล้านคน) ๒.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิต วัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ในการดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ๓.ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุข แก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ๔.เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ได้มากขึ้น สถานพยาบาลเอกชนและภาคเอกชนอาจจัดหาหรือขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ จากหน่วยงานตามข้อ ๓ ภายใต้กฎหมายและระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมา ให้บริการประชาชนหรือบุคลากรในความดูแลได้ตามความเหมาะสม โดยวัคซีนดังกล่าวต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย

ท้องถิ่นจัดหาวัคซีนได้

๕.ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ที่ผลิตหรือนำเข้ามายังมีจำนวนจำกัด หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ มาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ให้จัดหาจากหน่วยงานตามข้อ ๓ และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-๑๙ หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด หรืออยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และ ๖.ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูล กับระบบแพลตฟอร์มหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ และเพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนจำนวน ๓.๕๔ ล้านโดส (แอสตร้าเซนเนก้า ๒.๐๔ ล้านโดส และซิโนแวค ๑.๕  ล้านโดส) และวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า จะทยอยส่งมอบไปทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยสัปดาห์ที่ ๓ ของเดือนมิถุนายนนี้ จะมีวัคซีน ๘.๔ แสนโดส และสัปดาห์ที่ ๔ อีก ๒.๕๘ ล้านโดส ในภาพรวมตลอดเดือนมิถุนายน จะมีวัคซีน ๖ ล้านโดส ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (ศบค.) กำหนด และคาดว่าในเดือนมิถุนายนนี้ จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ ๑๐ ล้านโดส โดยจังหวัดนครราชสีมา มีเป้าหมายฉีดวัคซีนให้กับประชาชน จำนวน ๑,๘๘๕,๐๒๓ คน ซึ่งขณะนี้ฉีดวัคซีนแล้ว ๑๑๗,๓๔๖ คน หรือร้อยละ ๖.๒๓


 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๒ วันพุธที่ ๙ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


102 1,662