29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

June 23,2021

ฟื้นสนามบินหนองเต็ง รองรับเที่ยวบินพาณิชย์ข้ามภูมิภาค

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ณ กรมท่าอากาศยาน กรุงเทพฯ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รชค.) พร้อมด้วยนายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวดุจดาว เจริญผล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม และคณะ ตรวจเยี่ยมพร้อมติดตามการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยาน โดยมี นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และคณะผู้บริหารกรมท่าอากาศยาน ร่วมให้การต้อนรับ

ในการนี้ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เป็นประธานในการประชุมติดตามการดำเนินงาน ร่วมกับคณะผู้บริหารของกรมท่าอากาศยาน และผู้อำนวยการท่าอากาศยาน ผ่านระบบ Video Conference โดยได้ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของกรมท่าอากาศยาน มาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในท่าอากาศยาน รวมถึงการดำเนินงานตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามแผนปฏิบัติการที่กรมท่าอากาศยานวางไว้ในการดำเนินการ ดังนี้

1.การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานกาฬสินธุ์และมุกดาหาร ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการจัดทำแผนแม่บท MR-MAP พัฒนามอเตอร์เวย์สอดคล้องโครงข่ายรถไฟทางคู่รถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ

โดยในส่วนของโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดการประชุมรับฟังคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว แต่ยังไม่มีการขนส่งทางอากาศ กรมท่าอากาศยานจึงเล็งเห็นถึงประโยชน์ ในการก่อสร้างท่าอากาศยานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกต่อประชาชน โดยหลังจากนี้จะดำเนินการเกี่ยวกับงานสำรวจออกแบบระบบท่าอากาศยานและจัดทำแบบรายละเอียดเบื้องต้น รวมถึงงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เพื่อจัดการประชุมกลุ่มย่อยในระดับพื้นที่ตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับท่าอากาศยานมุกดาหาร ในตอนนี้ได้การจ้างที่ปรึกษาออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่น ๆ รวมถึงศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม วงเงินงบประมาณ 42.6926 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 เพื่อดำเนินการต่อไป โดยทั้งสองโครงการจะช่วยพัฒนาเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

2.การจ้างออกแบบและขยายท่าอากาศยานระนองและชุมพร ตามการศึกษาแผนโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Land bridge) เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกจังหวัดชุมพรและระนอง

โดยแผนพัฒนาท่าอากาศยานระนองจะดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดก่อสร้างขยายท่าอากาศยาน พร้อมศึกษารายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขยายท่าอากาศยาน อาคารที่พักผู้โดยสารและส่วนประกอบอื่น ๆ วงเงินงบประมาณ 17.1692 ล้านบาท

แผนพัฒนาท่าอากาศยานชุมพรจะดำเนินการจ้างออกแบบขยายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบินและองค์ประกอบอื่น ๆ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม วงเงินงบประมาณ 48.2500 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองโครงการอยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2565

3.การจัดพื้นที่เชิงพาณิชย์สำหรับ OTOP และวิสาหกิจชุมชนภายในท่าอากาศยาน ตามนโยบายการตั้งศูนย์จำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP ในพื้นที่สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ และท่าอากาศยาน โดยเน้นความเป็น “ท่าอากาศยานของชุมชน” การดำเนินงานจะเน้นการมีส่วนในการร่วมพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ ในด้านของการจัดให้มีพื้นที่สำหรับจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สินค้า OTOP เป็นการเสริมเศรษฐกิจฐานราก ขณะนี้ได้จัดสรรพื้นที่สำหรับโครงการนี้แล้วในท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบิน โดยจะประสานความร่วมมือกับจังหวัดเพื่อจัดหา ชนิดสินค้าที่หลากหลาย และผู้ประกอบการที่สนใจมาดำเนินการต่อไป

4.โครงการ Green Airport ท่าอากาศยานระนองและน่านนคร ตามนโยบายในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยกรมท่าอากาศยานจะนำท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยานเข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเสริมศักยภาพกิจการของสนามบินให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ใช้ทรัพยากรพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของท่าอากาศยาน ก่อนที่คณะกรรมการโครงการจะเข้าประเมินตามขั้นตอนของโครงการต่อไป

นอกจากนี้ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ยังมอบนโยบายการพัฒนาท่าอากาศยานนครราชสีมาเพิ่มเติมให้กับ ทย. โดยสั่งการให้กรมท่าอากาศยานจัดทำแผนงานศึกษาความเป็นไปได้ ในการพัฒนาท่าอากาศยานนครราชสีมา ให้เป็นท่าอากาศยานที่รองรับเที่ยวบินพาณิชย์ในการบินข้ามภูมิภาค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นเขตอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวของจังหวัดทางอีสานใต้ “นครชัยบุรินทร์” ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่ง ทย. รับข้อสั่งการเพื่อดำเนินการต่อไป


971 1603