18thApril

18thApril

18thApril

 

July 02,2021

๓ เดือนติดเชื้อโควิดทะลุพัน เปิดรับผู้ป่วยมารักษาที่โคราช ‘อ.เมืองยาง’แกร่งไม่มีคนติด

โควิด-๑๙ ยังไม่น่าวางใจ ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง หลังประกาศปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อเดินทางกลับเข้าโคราชต่อเนื่อง พบหลายคลัสเตอร์ติดเชื้อจากคนในครอบครัวและผู้ใกล้ชิดผู้ว่าฯ สั่งปิดโรงเรียน ให้เรียนออนไลน์แทน เตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนาม และเปิดรับผู้ป่วยที่เป็นคนโคราชเข้ามารักษาในจังหวัด ผู้ป่วยสะสม ๓ เดือน ๑,๒๔๙ ราย “อ.พระทองคำ” ไข่แตกแล้ว ส่วน “เมืองยาง” ยังเป็นสีเขียว

 

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ระลอกที่ ๓ ในจังหวัดนครราชสีมา มีการระบาดตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ ซึ่งสถานการณ์ช่วงหนึ่งเริ่มดีขึ้น แต่หลังจากพบคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้สถานการณ์เริ่มกลับมารุนแรงอีกครั้ง

ความคืบหน้าในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑๐ ราย แยกเป็นอำเภอโนนสูง ตำบลมะค่า ๓ ราย อำเภอโนนสูง ตำบลเมืองปราสาท ๑ ราย อำเภอประทาย ตำบลตลาดไทร ๑ ราย อำเภอเสิงสาง ตำบลเสิงสาง ๑ ราย อำเภอปากช่อง ตำบลหนองสาหร่าย ๑ ราย อำเภอปากช่อง ตำบลปากช่อง ๑ ราย และอำเภอขามทะเลสอ ตำบลพันดุง ๑ ราย 

วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑๓ ราย แยกเป็นอำเภอเมือง ตำบลในเมือง ๒ ราย, ตำบลสุรนารี ๑ ราย อำเภอโชคชัย ตำบลกระโทก ๓ ราย อำเภอเสิงสาง ตำบลสระตะเคียน ๑ ราย อำเภอโนนสูง ตำบลมะค่า ๑ ราย อำเภอขามทะเลสอ ตำบลพันดุง ๒ ราย อำเภอด่านขุนทด ตำบลตะเคียน ๒ ราย และอำเภอสีคิ้ว ตำบลหนองน้ำใส ๑ ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย (รายที่ ๑๐๑๘) นับเป็นรายที่ ๑๕ ของจังหวัดนครราชสีมา อายุ ๔๖ ปี อยู่ในพื้นที่ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง พบปัจจัยเสี่ยงป่วยเป็นโรคตับจากแอลกอฮอล์ มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง (กทม.) โดยเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ และรักษาตัวที่ รพ.ปากช่องนานา จากนั้นในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ จึงเสียชีวิต

ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ

วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑๙ ราย แยกเป็นอำเภอเมือง ตำบลในเมือง ๘ ราย, ตำบลสุรนารี ๑ ราย อำเภอโชคชัย ตำบลท่าเยี่ยม ๔ ราย อำเภอปากช่อง ตำบลจันทึก ๑ ราย อำเภอโนนสูง ตำบลพลสงคราม ๑ ราย อำเภอครบุรี ตำบลครบุรีใต้ ๑ ราย และอำเภอด่านขุนทด ตำบลตะเคียน ๓ ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย (รายที่ ๑๐๔๕) นับเป็นรายที่ ๑๖ ของจังหวัดนครราชสีมา อายุ ๕๔ ปี อยู่ในพื้นที่ตำบลมะค่า อำเภอโนนสูง พบปัจจัยเสี่ยงป่วยเป็นโรคหอบหืด พบเขื้อเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ โดยติดจากการสัมผัสผู้ป่วยรายอื่น เข้ารักษาที่ รพ.มหาราชฯ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔

ในวันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๒๕) โดยสรุปสาระสำคัญว่า ให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้างและงดเคลื่อนย้ายแรงงาน ห้ามนั่งทานอาหารและเครื่องดื่มในร้าน ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า เปิดได้ถึงเวลา ๒๑.๐๐ น. และห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน ๒๐ คน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา) เป็นการชั่วคราว โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งและมีผลตั้งแต่วันที่ ๒๘ มิถุนายน เป็นต้นไป

ติดเชื้อพุ่งสูงสุด ๔๗ ราย

วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๔๗ ราย นับเป็นยอดผู้ติดเชื้อมากที่สุดตั้งแต่มีการระบาดในระลอกที่ ๓ นี้ โดยผู้ป่วยอยู่ในอำเภอเมือง (ตำบลในเมือง ๑๑ ราย, ตำบลหนองจะบก ๑ ราย, ตำบลจอหอ ๑ ราย, ตำบลหมื่นไวย ๑ ราย, ตำบลประโดก ๑ ราย, ตำบลโพธิ์กลาง ๑ ราย), อำเภอปากช่อง (ตำบลปากช่อง ๔ ราย, ตำบลโป่งตาลอง ๖ ราย, ตำบลหมูสี ๑ ราย, ตำบลหมูสี ๑ ราย, ตำบลกลางดง ๑ ราย), อำเภอเสิงสาง (ตำบลกุดโบถส์ ๓ ราย, ตำบลสุขไพบูลย์ ๑ ราย, ตำบลสระตะเคียน ๑ ราย, ตำบลโนนสมบูรณ์ ๑ ราย), อำเภอโนนสูง (ตำบลมะค่า ๒ ราย, ตำบลลำคอหงษ์ ๒ ราย อำเภอโชคชัย ตำบลกระโทก ๒ ราย), อำเภอสูงเนิน (ตำบลสูงเนิน ๒ ราย), อำเภอบัวใหญ่ (ตำบลด่านช้าง ๑ ราย), อำเภอด่านขุนทด (ตำบลกุดพิมาน ๑ ราย อำเภอคง ตำบลเทพาลัย ๑ ราย) และอำเภอปักธงชัย (ตำบลสะแกราช ๑ ราย) โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย (รายที่ ๑๑๒๗) นับเป็นรายที่ ๑๗ ของจังหวัดนครราชสีมา อายุ ๓๑ ปี อยู่ในพื้นที่ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน น้ำหนัก ๘๒ กิโลกรัม เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง (ชลบุรี) เข้ารับการตรวจรักษาที่ รพ.เทพรัตน์นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ (เวลา ๒๑.๓๐ น.) จากนั้นเวลา ๐๐.๕๕ น.ของวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ ใส่ท่อช่วยหายใจ ส่งต่อมารักษาตัวที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา อาการทรุด และเสียชีวิต

๙ คลัสเตอร์สำคัญ

วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ โดยมีนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน มีภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมประชุม อาทิ นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.ชาญชัย บุญอยู่ นพ.วิญญู จันทร์เนตร และนพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา พร้อมด้วย นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา และนายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมด้วย 

นพ.นรินทร์รัชต์ ชี้แจงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ในพื้นที่ ๓๒ อำเภอ พบผู้ป่วยระลอกใหม่ ๓๕ ราย อยู่ในพื้นที่ อ.โชคชัย ๑๓ ราย อ.เมือง ๕ ราย อ.ปากช่อง ๓ ราย อ.ประทาย ๒ ราย อ.วังน้ำเขียว ๑ ราย อ.ขามทะเลสอ ๑ ราย อ.เสิงสาง ๔ ราย อ.ด่านขุนทด ๔ ราย อ.โนนสูง ๑ ราย อ.สูงเนิน ๑ ราย อ.ชุมพวง ๑ ราย อ.พิมาย ๒ ราย อ.ประทาย ๒ และ อ.สีดา ๑ ราย รวมยอดสะสม ๑,๑๙๖ ราย เสียชีวิต ๑๗ ราย รักษาหาย ๙๕๙ ราย และรักษาอยู่ ๒๒๐ ราย 

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสจ.นครราชสีมา ในฐานะนักระบาดวิทยา รายงานสถานการณ์คลัสเตอร์สำคัญ ว่า วันนี้พบการระบาดทั้งหมด ๙ คลัสเตอร์ คือ ๑.คลัสเตอร์โรงพยาบาลเซนต์แมรี่และโรงเรียนสอนพิเศษบ้านครูกานต์ จากการสอบสวนโรคและตรวจหาเชื้อ พบว่า ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อาศัยอยู่ในครอบครัว ตรวจพบเชื้อในวันที่ ๑๔ ส่วนครูกานต์และเด็กที่ร่วมห้อง ได้ไปตรวจหาเชื้อรอบที่ ๓ แล้ว และไม่พบเชื้อ

๒.คลัสเตอร์วงพนัน อำเภอโนนสูง ยังมีการระบาดไม่หยุด มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยมีจุดเริ่มต้นที่วงพนัน ตำบลพลสงคราม และทุกคนรวมตัวกันที่บ้านเลขที่ ๑๖๒ แต่ขณะนี้ต้องจับตาศูนย์เด็กเล็ก เพราะมีการติดเชื้อสู่เด็กนักเรียนอนุบาล ๒ โรงเรียนบ้านมะรุม และโรงเรียนโนนสูงศรีธานี ทำให้เกิดการติดเชื้อสู่เพื่อนสนิท กลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่ในวันนี้เป็นวงที่ ๒ ความต่อเนื่องของคลัสเตอร์นี้เชื่อมโยงกับวงพนัน มาสู่โรงเรียนและครอบครัว

๓.คลัสเตอร์ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง เริ่มจากพ่อ แม่ และลูก ทั้ง ๓ คน เดินทางไปขายของที่ตลาดพวงทอง จังหวัดสระบุรี ระหว่างวันที่ ๑๓-๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ จากนั้นได้รับแจ้งว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-๑๙ ในตลาด จำนวน ๑๔ คน และมีอาการไอ ตลาดจึงปิดและให้ทุกคนไปตรวจหาเชื้อ ทั้ง ๓ คนไปตรวจที่โรงพยาบาลปากช่องนานา ซึ่งตรวจได้แค่ ๒ คนก็พบว่า ติดเชื้อ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงตรวจหาเชื้อทุกคนในครอบครัว ซึ่งมีทั้งหมด ๖ คน และติดเชื้อทั้งหมด ที่สำคัญผู้ป่วยรายที่ ๑๑๕๐ และ ๑๑๕๑ เรียนพิเศษอยู่ที่โรงเรียนคุมอง ซึ่งกำลังติดตามเด็กที่เรียนร่วมห้องในช่วงเวลานั้น

๔.คลัสเตอร์แคมป์คนงานถนนช้างเผือก เทศบาลนครนครราชสีมา โดยวันที่ ๑-๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ ผู้ป่วยรายที่ ๑๑๐๑ พร้อมกับนายจ้างของผู้ป่วยรายที่ ๑๑๓๒ และเพื่อนร่วมงาน รายที่ ๑๑๓๕, ๑๑๓๔ และ ๑๑๒๙ ทํางานอยู่แคมป์คนงานก่อสร้างที่สวนมะลิเซ็นเตอร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ จากนั้นวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ ผู้ป่วยรายที่ ๑๑๐๑ เดินทางมากับนายจ้างและเพื่อนร่วมงาน ๔ คน เข้าพักที่แคมป์คนงานซอย ๓ ถนนช้างเผือก ตําบลในเมือง ซึ่งในแคมป์อยู่รวมกันทั้งหมด ๑๙ ราย วันที่ ๒๑-๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ นายจ้างพาผู้ป่วยรายที่ ๑๑๐๑, ๑๑๓๕, ๑๑๓๒, ๑๑๓๔, และ ๑๑๒๙ ไปทํางานที่ City Link Condo และกลับมาพักรวมกับคนงานที่ไซด์งานก่อสร้างของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในช่วงเย็นทุกคนจะรับประทานอาหารร่วมกัน เนื่องจากพักที่เดียวกัน ทำให้คนงานจากแคมป์โรงพยาบาลมหาราชฯ ติดเชื้ออีก ๔ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๙ ราย แต่มี ๑ ราย ไปรักษาตัวที่จังหวัดขอนแก่น”

๕.คลัสเตอร์ปักธงชัย เกิดจากเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เดินทางมาจากจังหวัดสุรินทร์ ทำให้เพื่อนที่อำเภอขามทะเลสอติดเชื้ออีก ๑ คน ต้องจับตาอย่างเข้มงวด เนื่องจากไทม์ไลน์ของ ตม.คนนี้หายไปช่วงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ซึ่งกำลังติดตามในส่วนนี้ว่า ไปสัมผัสใครที่ใดบ้าง สำหรับคลัสเตอร์นี้กระจายไปถึงครูที่โรงเรียนอุบลรัตน์ฯ จากการสอบสวนหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๒๑ ราย ขณะนี้ยังไม่มีใครติดเชื้อเพิ่ม 

๖.คลัสเตอร์บ้านของตำรวจภูธรอำเภอเมือง มีผู้ติดเชื้อในบ้าน ๕ ราย โดยเริ่มจากผู้ป่วยรายที่ ๑๐๘๗ ในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ ผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ และปวดศีรษะ จากนั้นวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ อาการไม่ดีขึ้น จึงเดินทางไปโรงพยาบาลเทพรัตน์ฯ เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ และผลพบว่า ติดเชื้อ ซึ่งบ้านหลังนี้อยู่ติดกับบ้านของรายที่เป็น ตม.จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งภริยาของตำรวจรายนี้ทำงานอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งทีมสอบสวนโรคยังไม่ทราบข้อมูลของภริยา เนื่องจากแจ้งว่า ต้องขออนุญาตผู้บริหารสถานศึกษาก่อนให้ข้อมูล โดยในส่วนของวิทยาลัยเทคนิคฯ ภริยามาทำงานและมีกิจกรรมรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อน ทำให้เพื่อนติดเชื้ออีก ๒ ราย 

๗.คลัสเตอร์เครือญาติ อำเภอโชคชัย เริ่มจากผู้ป่วยรายที่ ๑๐๕๔ และ ๑๐๕๕ ซึ่งเป็นสามีกับภริยา มีอาชีพขายอาหารเร่ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม และรับของที่ตลาดเสรี พุทธมณฑลสาย ๕ โดยเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ ตลาดเสรี ประกาศปิด เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ และให้ทุกคนไปตรวจหาเชื้อ ปรากฏว่า ทั้ง ๒ คน ตรวจหาเชื้อไม่พบ จึงเดินทางกลับมากักตัวภายในบ้านที่อำเภอโชคชัย ภายในบ้านอาศัยอยู่ทั้งหมด ๙ คน ทำให้ติดเชื้อ ๕ คน และหนึ่งในนั้นเป็นเด็กที่เรียนอยู่ศูนย์เด็กเล็ก อบต.กระโทก ทำให้ติดเชื้อสู่แม่บ้านในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นวงที่ ๒ และแม่บ้านก็นำไปติดเชื้อคนในครอบครัวอีก ๕ คน เกิดเป็นวงที่ ๓ ในส่วนของผู้ติดเชื้อวันนี้ คือ ผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากต้องมารับการรายงานตัวทุกวัน และเพื่อนบ้านที่ชอบมาพูดคุยกับบ้านของ ๑๐๕๔ และ ๑๐๕๕ ก็ติดเชื้อเพิ่ม และติดไปยังลูกๆ ด้วย รวมคลัสเตอร์นี้ติดทั้งหมด ๑๗ รายแล้ว

๘.คลัสเตอร์อำเภอเสิงสาง ซึ่งคลัสเตอร์นี้จะเกี่ยวข้องกับนักเรียนโรงเรียนภูริตา ซึ่งกระจายวงกว้าง โดยเริ่มต้นที่เด็ก ป.๑/๑ นั่งรถตู้ของโรงเรียนกับเพื่อนอีก ๒๘ คน ทำให้เพื่อนชั้นอื่นที่อยู๋ใกล้ชิดติดเชื้อด้วย ซึ่งเด็กอนุบาล ๓/๒ ก็นำไปติดเพื่อนอีก ๒ ราย เป็นวงที่ ๒ จากนั้นก็ติดไปยังคุณยายที่เลี้ยงอยู่บ้านอีก ๑ ราย กลายเป็นวงที่ ๓ นอกจากนี้ ยังมีเด็กชั้น ป.๑/๒ ติดอีก ซึ่งในห้อง ป.๑/๒ เด็กจะมีความสนิทกันทำให้ติดเชื้อเพิ่มอีก อีกทั้งยังกระจายไปสู่ผู้ปกครองในวงที่ ๓ อีกด้วย สำหรับคลัสเตอร์นี้เนื่องจากเด็กอยู่ชั้น ป.๑ ทำให้เรื่องการสวมหน้ากากอนามัยเป็นเรื่องยาก และในโรงเรียนก็มีจุดสัมผัสจำนวนมาก ห้องเรียนค่อนข้างคับแคบ ทำให้เกิดการกระจายเชื้อเป็นวงกว้าง รวมทั้งการกักตัวที่บ้าน  ทำให้คนในครอบครัวติดเชื้อไปด้วย สรุปคลัสเตอร์นี้กระจาย ๓ วง มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๒๓ ราย

๙.คลัสเตอร์โรงงานน้ำแข็ง อำเภอเมือง ซึ่งคลัสเตอร์นี้เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตก่อนหน้านี้ คือ รายที่ ๑๑๒๗ (เสียชีวิตวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔) ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร ทำงานอยู่จังหวัดชลบุรี และมาหาแฟน (รายที่ ๑๑๒๘) เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีอาการไม่สบาย แฟนจึงให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสูงเนิน และอาการไม่ดีขึ้น ในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ แฟนพามาโรงพยาบาลเทพรัตน์ฯ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งทีมสอบสวนโรคหาข้อมูลไม่ได้ว่า เดินทางมาด้วยรถประจำทางสายไหน ซึ่งในวันที่แฟนมารับผู้ป่วยรายที่ ๑๑๒๗ เมื่อรับเสร็จก็เดินทางไปตลาดเทิดไท เพราะผู้ป่วย ๑๑๒๘ มีอาชีพขนส่งน้ำแข็ง ระหว่างนั้นก็รับประทานอาหารร่วมกับเพื่อน โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๖ คน และตรวจพบเชื้อ ๓ ราย รวมแล้วคลัสเตอร์นี้ติดเชื้อ ๕ ราย

‘รพ.มหาราช’ยินดีรับผู้ป่วย

นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า “ทั่วทั้งจังหวัดนครราชสีมามีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ ๒๒๐ คน แอดมิดอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ๗๕ คน ใส่ท่อช่วยหายใจ ๔ คน มีอาการหนัก ๒ คน (มีแนวโน้มแย่ลง) ใส่เครื่องช่วยหายใจแรงดันสูง ๒๒ คน อาการปานกลาง ๒๘ คน และอาการปกติหรือไม่มีอาการ ๒๑ คน ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมีหลายระดับ ทั้งระดับเบาและมีอาการรุนแรง ดังนั้น จึงต้องคุยกันว่า จำนวนเตียงทั้งจังหวัดและจำนวนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะจัดการอย่างไร โรงพยาบาลสนามจะกลับมาเปิดอีกครั้งหรือไม่ และในส่วนของคนโคราชที่ติดเชื้อโควิด-๑๙ อาศัยอยู่จังหวัดอื่นๆ จะสามารถเข้ามารักษาในโคราชได้อย่างไร และต้องปฏิบัติตัวอย่างไรหากจะเข้ามา”

ป้องกันไว้ หวั่นพุ่งถึง ๒,๐๐๐ ราย

นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าวเสริมว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในโคราชตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ ช่วงแรกตัวเลขขึ้นสูง เนื่องจากมีการเดินทางเข้าจังหวัดเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันเป็นการติดเชื้อที่เดินทางมาพร้อมกันหลายคน หากยังจัดการหรือมีมาตรการเช่นเดิม อาจจะได้เห็นตัวเลขการติดเชื้อสะสมถึง ๒,๐๐๐ ราย แต่สิ่งที่เราต้องกลัว คือ ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรักษาอยู่ ๒๒๐ คน โคราชสามารถรองรับได้ถึง ๗๐๐ เตียง หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ภายใน ๑ สัปดาห์ จำนวนคนไข้ก็จะกลับไปล้นเตียง ดังนั้น หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มเรื่อยๆ การเปิดโรงพยาบาลสนามอาจจะต้องเปิดแน่นอน แต่ยังอุ่นใจได้ว่า หากมีคำสั่งก็สามารถเปิดโรงพยาบาลสนามได้ทันที หรืออย่างช้าก็ภายใน ๑ วัน”

เปิดรับคนโคราชกลับบ้าน

นายกอบชัย บุญอรณะ กล่าวว่า “ขณะนี้มี ๒ ประเด็น คือ คนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงตามประกาศจังหวัด และกลุ่มคนที่จะเข้ามารับการรักษา ซึ่งคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงจะยังไม่ให้เข้ามา จะต้องเข้ารับการประเมินความเสี่ยงก่อน เช่น การตรวจหาเชื้อ เมื่อตรวจแล้วก็ต้องรอผลตรวจ ในขณะที่รอต้องไปพักในจุดที่จังหวัดเตรียมไว้ให้ อาจจะเป็น Local Quarantine (LQ) หากทราบผลแล้วว่า ไม่พบเชื้อ ก็จะให้เข้ามาในจังหวัด แต่จะต้องกักตัวต่อ ๑๔ วันตามระบบ แต่ถ้าตรวจแล้วมีเชื้อ ก็ให้ส่งเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ อาจจะมีความลำบากต่อทีมแพทย์ เพราะต้องเตรียมเครื่องมือจำนวนมาก ซึ่งผมทราบมาว่า การทำเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ต้องมีการคัดกรองก่อนเข้าบ้าน ผมกำลังประสานกับทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะศูนย์การค้าในพื้นที่ ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการคัดกรองก่อนเข้าพื้นที่ และประสานกับกลุ่มสื่อมวลชนให้ช่วยนำเสนอ เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในโคราชได้รับรู้ เมื่อเกิดการรับรู้แล้ว ประชาชนก็จะได้แจ้งไปยังญาติพี่น้องที่กำลังจะเดินทางเข้ามาว่า โคราชมีมาตรการอย่างนี้ เข้ามาแล้วจะต้องปฏิบัติอย่างไร และผมมีอีกเรื่องที่ห่วง คือ นักเรียน โดยพฤติกรรมของเด็กมักจะเล่นกัน และควบคุมยาก ดังนั้น อาจจะเกิดการติดเชื้อข้ามรุ่นได้ง่าย และมีผู้ปกครองส่วนหนึ่งติดต่อมาว่า ต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ สั่งปิดโรงเรียน วันนี้จึงต้องการคุยกันว่า จะสามารถปรับเปลี่ยนอย่างไรได้บ้าง อาจจะต้องปิดการเรียน หรือเปลี่ยนแปลงระบบการเรียน แต่ศูนย์เด็กเล็กทั้งหมดผมว่า จะต้องปิด เพราะไม่ต้องการให้เด็กมารับความเสี่ยง สำหรับเด็กโตอาจจะงดการเรียนในโรงเรียน และให้เรียนออนไลน์ที่บ้านแทน”

นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

มี LQ ทุกอำเภอ

นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ กล่าวเสริมว่า “สำหรับการคัดกรองผู้เดินทางมากจากพื้นที่เสี่ยง ผมต้องการให้ทุกอำเภอจัดให้มี LQ หากไม่ทำก็จะไม่พร้อมสักที ไม่อย่างนั้นประชาชนก็จะมีความเสี่ยงทุกอำเภอ เราไม่ต้องการปล่อยให้คนเหล่านั้นเข้ามาโดยไม่ผ่านระบบคัดกรอง ดังนั้น หากใครที่เดินทางเข้ามาก็จะให้พักที่ LQ ก่อน จากนั้นทีมแพทย์จากโรงพยาบาลใกล้เคียงก็จะเข้าไปตรวจคัดกรอง เพราะหากปล่อยให้เดินทางมาคัดกรองที่โรงพยาบาลอาจจะแออัดเกินไป และอาจจะกำหนดให้พื้นที่ต่างๆ มีจุดตรวจโดยใช้รถเคลื่อนที่ ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาว่า ตามอำเภอใหญ่ๆ มีคนเดินทางเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก เช่น อำเภอโนนสูง บัวใหญ่ และพิมาย หากจัดให้มี LQ ก็จะสะดวกขึ้น คนจะได้ไม่ต้องเดินทางเข้ามาในอำเภอเมือง และในส่วนของพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมา จะขอความร่วมมือกับเทศบาลฯ ว่า อาจจะกำหนดโรงแรมแห่งหนึ่งให้เป็น LQ และประกาศให้ชัดเจนว่า ผู้ที่จะเดินทางเข้ามาให้แจ้งก่อน จากนั้นจะให้กักตัวที่โรงแรมนั้น ซึ่งขณะนี้เรามีสถานที่กักตัวเพียง ๑ แห่ง คือที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หากปล่อยให้ไปกักตัวที่บ้าน สุดท้ายก็อาจจะติดเชื้อกันทั้งครอบครัว เป็นเรื่องที่ต้องรีบทำ และทุกอำเภอต้องมีความชัดเจนว่า หากจะกักตัวต้องไปที่ใด”

นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา

นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าวว่า “การประกาศมาตรการเข้าพื้นที่นั้น สามารถประกาศได้ทันที แต่ปัญหาขณะนี้ คือ การมี LQ ตามอำเภอต่างๆ เช่น จะเดินทางเข้าอำเภอสีดา จำนวน ๑๐ คน ซึ่งเจ้าหน้าที่สอบประวัติแล้วพบว่า มี ๕ คน ที่จะต้องเข้าตรวจหาเชื้อ แต่อาจจะไม่ได้ตรวจเชื้อในขณะนั้นทันที ดังนั้น เรื่อง LQ จะต้องชัดเจนว่า เมื่อมาแล้วตรวจหาเชื้อ ระหว่างรอจะต้องไปรอที่ไหน หากเรื่อง LQ ชัดเจนก็สามารถประกาศคำสั่งได้ทันที เราจะต้องโอบอุ้มคนด้วยระบบสาธารณสุขที่ดี ไม่ใช่ว่า เขาจะต้องถูกกักตัว หรือถูกรังเกียจ แต่เขาจะต้องเข้าสู่ระบบสาธารณสุขที่มีความพร้อม ส่วนเรื่องโรงเรียนผมเห็นด้วยว่า เด็กเล็กจะต้องปิด ส่วนเด็กโตในความคิดเห็นของผม คือ หากเป็นลูกผมก็ไม่ให้ไปโรงเรียน อย่าลืมว่า การติดเชื้อสะสมของโคราชที่มาถึงจำนวน ๑,๐๐๐ ราย อยู่ในช่วงปิดเทอม ซึ่งในขณะที่ปิดเทอมอยู่มีการระบาดมากขนาดนี้ แต่ถ้าเปิดเทอมจะขนาดไหน ดังนั้น ก็น่าจะปิดเช่นเดียวกัน”

โคราชเข้มงวดมากขึ้น

ภายหลังการประชุม นายกอบชัย บุญอรณะ กล่าวสรุปว่า “ก่อนหน้านี้โคราชเปิดให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล เช่น นั่งทานอาหารภายในร้าน และให้รวมกลุ่มได้ไม่เกิน ๒๐๐ คน แต่เนื่องจากว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากขึ้น และมีผู้คนส่วนหนึ่งเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ทำให้โคราชมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน วันนี้จึงต้องมาพิจารณาใหม่ว่า กิจกรรมหรือกิจการอะไรที่ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้น และทำอย่างไรจะหยุดการระบาดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้านอาหาร โรงเรียน และกิจกรรมการรวมกลุ่ม โดยในส่วนของร้านอาหารที่ไม่ใช่สถานบริการ เราอนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้ แต่ของดการนั่งดื่มแอลกอฮอล์หรือสุราในร้าน สำหรับโรงเรียน ขอให้งดการเรียนการสอนที่โรงเรียน และเปลี่ยนมาเป็นการเรียนออนไลน์ที่บ้านแทน โดยมีระยะเวลา ๑๔ วัน จากนั้นจะนำมาประเมินมาตรการอีกครั้ง และเรื่องการรวมกลุ่มกัน หากจัดประชุมไม่เกิน ๑๐๐ คน ให้เป็นหน้าที่ของเทศบาลฯ และนายอำเภอพื้นที่นั้นๆ รับผิดชอบ หากขอจัดงานเกิน ๑๐๐ คน ก็จะให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ พิจารณาความเสี่ยง หากพบความเสี่ยงก็จะไม่อนุญาตให้จัดงาน”

นายกอบชัย กล่าวอีกว่า “สำหรับมาตรการคัดกรอง เนื่องจากโคราชเป็นเมืองหน้าด่าน คนจะเดินทางเป็นจำนวนมาก และคนโคราชส่วนหนึ่งก็ไปทำงานในกรุงเทพฯ ดังนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ จึงต้องหารือว่า มาตรการคัดกรองจะทำอย่างไรดีถึงจะสกัดคนที่เดินทางเข้าโคราช ไม่ให้เข้าในพื้นที่ชุมชน โดยกำหนดว่า หากเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง จะให้ไปคัดกรองและตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลใกล้เคียงก่อน ระหว่างรอผลก็จะให้กักตัว ซึ่งทั้ง ๓๒ อำเภอ จะมีพื้นที่ LQ รองรับ ส่วนการเปิดรับผู้ติดเชื้อจากต่างพื้นที่ เราพร้อมรับ เพราะเป็นพี่น้องคนโคราชเหมือนกัน แต่ขอให้มาโดยวิธีที่ถูกต้อง และไม่ใช่การเปิดรับทั้งหมด เป็นเฉพาะกรณีไป และกรณีด่านตรวจ ตำรวจภูธรได้ขอเพิ่มจุดตรวจ ๒ จุด ที่อำเภอวังน้ำเขียวและปากช่อง เพื่อคัดกรองคนก่อนเข้าโคราช และถ้ามีความจำเป็นก้อาจจะเพิ่มจุดตรวจมากขึ้นต่อไป ทั้งหมดนี้ คือ มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น”

โรงพยาบาลสนามพร้อม

“ในส่วนของโรงพยาบาลสนาม เดิมทีเคยมีการจัดตั้งไว้แล้ว ขณะนี้ก็เตรียมความพร้อมรอไว้ โดยให้ทีมแพทย์คอยประเมินสถานการณ์จำนวนเตียงในโคราชเรื่อยๆ หากเกินขีดจำกัดและจำเป็นต้องเปิดโรงพยาบาลสนาม ก็สามารถเปิดได้ทันที เพราะเราเตรียมตัวไว้แล้ว ทุกภาคส่วนพยายามทำงานเชิงรุก หาแนวทางแก้ไขปัญหาไว้ก่อนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการประเมินว่าจะเปิดโรงพยาบาลสนามหรือไม่นั้น จะต้องดูตัวเลขจำนวนเตียง และสถานการณ์ผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น หากพบผู้ป่วยอาการรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้เตียงภายในโรงพยาบาล และถ้าตัวเลขยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันละ ๑๐-๒๐ ราย เราก็อาจจะต้องเปิดโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง เพื่อสำรองพื้นที่โรงพยาบาลหลักไว้ให้ผู้ป่วยอาการรุนแรง”

เตรียมเน้นการท่องเที่ยว

“จากสถานการณในขณะนี้ การท่องเที่ยวก็ยังมีแผนรองรับไว้ ซึ่งการจัดงาน Thailand Biennale, Korat 2021 หรืองานแสดงศิลปะนานาชาติ ครั้งที่ ๒ ผมก็พยายามประชุมหารือกับผู้ประกอบการตลอด เพื่อกำหนดว่า จะสามารถล็อกเส้นทางการเดินทางได้หรือไม่ ที่พักจะใช้โรงแรมที่มีมาตรฐานอะไร และร้านค้า ร้านอาหารจะกำหนดมาตรการอย่างไร หรืออาจจะรับเฉพาะคนที่ผ่านการฉีดวัคซีน ๒ เข็มมาท่องเที่ยว ให้มีปลอดภัยทั้งเขาและเรา ผมคิดว่า หากเดือนนี้ควบคุมสถานการณ์ได้ เดือนหน้าก็พร้อมที่จะเน้นเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้น” นาย กอบชัย กล่าว

วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒๗ ราย แยกเป็นอำเภอเมือง ตำบลในเมือง ๑๑ ราย, ตำบลหนองกระทุ่ม ๑ ราย, ตำบลบ้านใหม่ ๑ ราย อำเภอปากช่อง ตำบลปากช่อง ๒ ราย, ตำบลโป่งตาลอง ๑ ราย, ตำบลกลางดง ๑ ราย อำเภอโนนไทย ตำบลสำโรง ๓ ราย, ตำบลกำปัง ๑ ราย อำเภอบัวใหญ่ ตำบลบัวใหญ่ ๒ ราย, ตำบลดอนตะหนิน ๑ ราย อำเภอคง ตำบลบ้านปรางค์ ๑ ราย อำเภอแก้งสนามนาง ตำบลบึงสำโรง ๑ ราย และอำเภอโชคชัย ตำบลละลมใหม่พัฒนา ๑ ราย 

พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง

ล่าสุดวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุมสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และผู้เกี่ยวข้อง 

นพ.วิญญู จันทร์เนตร ชี้แจงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ในพื้นที่ ๓๒ อำเภอ พบผู้ป่วยระลอกใหม่ ๒๖ ราย อยู่ในพื้นที่ อ.เมือง ๓ ราย อ.ปากช่อง ๑ ราย อ.ขามทะเลสอ ๑ ราย อ.เสิงสาง ๑ ราย อ.ด่านขุนทด ๓ ราย อ.สีคิ้ว ๔ ราย อ.พระทองคำ ๓ ราย อ.บัวใหญ่ ๒ ราย อ.ปักธงชัย ๔ ราย อ.บัวลาย ๑ ราย อ.ประทาย ๑ ราย อ.คง ๑ ราย และ อ.หนองบุญมาก ๑ ราย มีผู้ป่วยสะสม ๑,๒๔๙ ราย รักษาหาย ๙๖๓ ราย ยังรักษาอยู่ ๒๖๙ ราย และเสียชีวิต ๑๗ ราย จึงเหลือเพียงอำเภอเมืองยางเพียงแห่งเดียวที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ 

โดยวันนี้อำเภอพระทองคำพบผู้ป่วยครั้งแรก ๓ ราย หลังจากเป็นพื้นที่สีเขียวนานเกือบ ๓ เดือน โดยพบผู้ป่วยทั้ง ๓ ราย อยู่ในตำบลทัพรั้ง เป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ขายอาหารอยู่ในกรุงเทพมหานคร พื้นที่สีแดงเข้ม หลังประกาศคุมเข้มห้ามนั่งดื่มกินที่ร้าน ครอบครัวพ่อ-แม่-ลูกรวม ๖ ราย จึงพากันเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายนที่ผ่านมา โดยแจ้งให้ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ล่วงหน้า เมื่อมาถึงบ้านพักเจ้าหน้าที่ได้นำไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลพระทองคำทันที ผลยืนยันพบเชื้อ ๓ ราย ส่วนอีก ๓ ราย ได้ให้กักตัวที่บ้านพัก รวมทั้งดำเนินการสอบสวนโรคค้นหาผู้ที่มีประวัติสัมผัส เบื้องต้นยังไม่มีรายงานเพิ่มเติมแต่ได้เฝ้าระวังควบคุมอย่างเข้มข้น

เฝ้าระวัง ๔ คลัสเตอร์

ทั้งนี้ นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสจ.นครราชสีมา ในฐานะนักระบาดวิทยา รายงานสถานการณ์คลัสเตอร์สำคัญ ๔ คลัสเตอร์ ได้แก่ ๑.คลัสเตอร์อำเภอเสิงสาง วันนี้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ๑ ราย ติดจากเด็กชั้น ป.๑/๒ โรงเรียนภูริตา เป็นคุณปู่ที่อยู่ร่วมบ้าน อยู่ในวงจำกัด ซึ่งคลัสเตอร์นี้ระบาดไปสู่วง ๓ หรือครอบครัวของเด็กๆ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่เราคาดการณ์ไว้ ยังมีการควบคุมกลุ่มนี้ ๒.คลัสเตอร์จุดจำหน่ายน้ำแข็ง อำเภอเมืองนครราชสีมา สาเหตุเบื้องต้นมาจากจังหวัดชลบุรีแล้วเสียชีวิตที่จังหวัดนครราชสีมา เข้ามาหาแฟนรายที่ ๑๑๒๘ ซึ่งทำให้เพื่อนๆ ติดไปด้วย และรายที่ ๑๑๒๘ ขออนุญาตแจ้ง เพราะมีฝ่ายผู้บริโภคน้ำแข็ง ๑๑๒๘ ไม่ได้อยู่ในฝ่ายผลิต และในส่วนเพื่อนที่เป็น ๖ คน ตรวจพบ ๓ คน คือ รายที่ ๑๑๙๐, ๑๑๙๑ และ ๑๑๙๒ โดยก่อนหน้านี้ได้ไปงานเลี้ยงวันเกิดของผู้ป่วยรายที่ ๑๑๒๗ ซึ่งมาจากชลบุรี และวันนี้พบรายที่ ๑๒๐๖ ซึ่งเป็นภริยาของเพื่อนที่ร่วมรับประทานอาหารในวันนั้น ในส่วนของโรงงานน้ำแข็งเขาก็ปิดทำการตั้งแต่วันแรกที่เขารู้ว่า พนักงานของเขาติดเชื้อ ดังนั้น การบริโภคน้ำแข็งจึงยังไม่เป็นสิ่งที่น่ากังวล

๓.คลัสเตอร์หมู่บ้านคฤหาสน์ทอง ตั้งอยู่บริเวณตลาดเซฟวัน เริ่มจากเคสแรกที่มาจากจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็น ตม. และทำให้ติดเชื้อไปยังครูที่โรงเรียนอุบลรัตน์ฯ ซึ่งบ้านของ ตม.คนนี้ อยู่ใกล้กับบ้านของครอบครัวตำรวจ ซึ่งมีภริยาทำงานอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิค ทำให้การติดเชื้อกระจายไปสู่วิทยาลัยเทคนิคอีก ๓ คน ซึ่งบ้านหลังนี้มักจะพูดคุยกับ ตม.เป็นประจำทุกครั้งที่กลับมาจากจังหวัดสุรินทร์ และในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ ผู้ป่วยรายที่ ๑๒๑๖ มาซ่อมประตูบ้านให้บ้านของตำรวจ จึงทำให้ติดเชื้อไปด้วย จากนั้นรายที่ ๑๒๑๖ จะมีกิจกรรมรับประทานอาหารร่วมกับบ้านอีกหลัง ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อภายในบ้านหลังนั้น ๘ คน ซึ่งเป็นกระแสข่าวที่เกิดขึ้นบนโซเชียล สำหรับที่มีคนบอกว่า หมู่บ้านคฤหาสน์ทองมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๑๕ รายนั้น เป็นเพราะนับรวมทั้งหมด นอกจากนี้ คลัสเตอร์นี้ยังกระจายไปสู่บ้านญาติที่อำเภอปักธงชัย และเพื่อนตำรวจที่อำเภอขามทะเลสอ รวมมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๒๔ ราย

และ ๔.คลัสเตอร์อำเภอด่านขุนทด เริ่มต้นจากผู้ป่วยโควิดจากกรุงเทพฯ เดินทางมาบ้านที่อำเภอด่านขุนทด มาหาสามีและแม่ ซึ่งในบ้านหลังนั้นมีหลาน ลูกสะใภ้ ซึ่งแม่คือรายที่ ๑๐๙๓ เริ่มมีอาการ และทราบว่าลูกที่มาหาติดเชื้อ จึงไปตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ ปรากฏว่า พบเชื้อ และทำให้คนในบ้านติดเชื้อเพิ่ม ๔ ราย ซึ่งลูกสะไภ้ หรือรายที่ ๑๑๑๓ ทำงานอยู่ที่โรงงานอำเภอสีคิ้ว จึงทำให้เพื่อนที่ทำงานด้วยกันติดเชื้อเพิ่ม ทำให้เกิดเป็นวงที่ ๒ แต่วันนี้มีผู้ป่วยในโรงงานเพิ่มอีก ๒ ราย คือ รายที่ ๑๒๔๒ และ ๑๒๔๓ แต่ทางระบาดวิทยายังหาความเชื่อมโยงไม่ได้ เพราะไม่ได้รับประทานอาหารร่วมกัน และอยู่คนละแผนก ดังนั้น โรงพยาบาลสีคิ้วจึงตัดสินใจค้นหาเชิงรุกภายในโรงงานอย่างน้อยร้อยละ ๑๐ ของพนักงานทั้งหมด หรือจำนวนพนักงาน ๒๐๐ คน เพราะว่าความเชื่อมโยงของโรงงานนี้ยังหาไม่ได้

๓ เดือนป่วยสะสม ๑,๒๔๙ ราย

อนึ่ง การระบาดของโควิด-๑๙ ระลอก ๓ ในจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ เป็นต้นมา กระทั่งถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ป่วยสะสม ๑,๒๔๙ ราย แยกเป็นเดือนเมษายน ๕๗๐ ราย, เดือนพฤษภาคม ๓๖๙ ราย และเดือนมิถุนายน ๓๑๐ ราย โดยพบผู้ป่วยเป็นรายอำเภอ ดังนี้ เมือง ๔๘๘ ราย, ปากช่อง ๒๑๐ ราย, สีคิ้ว ๕๓ ราย, ด่านขุนทด ๖๔ ราย, สูงเนิน ๒๑ ราย, ชุมพวง ๓๒ ราย, บัวใหญ่ ๓๙ ราย, พิมาย ๑๘ ราย, โนนไทย ๑๖ ราย, ประทาย ๕๓ ราย, ปักธงชัย ๒๒ ราย, ครบุรี ๑๘ ราย, บัวลาย ๒ ราย, เสิงสาง ๓๐ ราย, โนนสูง ๔๙ ราย, คง ๑๙ ราย, โชคชัย ๓๕ ราย, ห้วยแถลง ๙ ราย, ขามทะเลสอ ๙ ราย, เทพารักษ์ ๒ ราย, หนองบุญมาก ๖ ราย, จักราช ๕ ราย, เฉลิมพระเกียรติ ๕ ราย, ลำทะเมนชัย ๑ ราย, สีดา ๔ ราย, โนนแดง ๑ ราย, บ้านเหลื่อม ๓ ราย, วังน้ำเขียว ๑๙ ราย, แก้งสนามนาง ๙ ราย, ขามสะแกแสง ๔ ราย และพระทองคำ ๓ ราย

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๕ วันพุธที่ ๓๐ มิถุนายน - วันอังคารที่ ๖ กรกฏาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


1010 1384