25thApril

25thApril

25thApril

 

July 22,2021

ตัวเลขผู้ติดเชื้อใกล้แตะ ๔ พัน ‘ผู้ว่าโคราช’ขอความร่วมมือ ฝ่าฝืนเพิ่มมาตรการเข้มข้นขึ้น

ตัวเลขผู้ติดเชื้อใกล้แตะ ๔ พันราย หลังพบคลัสเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผู้เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง ออกมาตรการคุมเข้ม ๑๔ วันหวังช่วยลดการระบาด “ผู้ว่าฯ กอบชัย” ออกหนังสือขอความร่วมมือ ช่วยลดการระบาด หากพบฝ่าฝืน พร้อมเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น 

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ระลอกที่ ๓ ในจังหวัดนครราชสีมา ยังพบการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ๓๒ อำเภอ และไม่มีท่าทีว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์

ติดเชื้อหลักร้อยทุกวัน

โดยวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๑๑๓ ราย เสียชีวิต ๑ ราย ติดเชื้อสะสม ๒,๖๑๑ ราย รักษาหาย ๑,๑๖๐ ราย รักษาอยู่ ๑,๔๒๒ ราย เสียชีวิตสะสม ๒๙ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานคลัสเตอร์ที่สำคัญว่า คลัสเตอร์ตำบลตะเคียน อำเภอด่านขุนทด เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์โรงงานสีคิ้ว ซึ่งปิดตัวตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ถึง ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ โรงงานให้พนักงานกักตัวที่บ้าน แต่พนักงานไม่ได้กักตัว และได้ออกไปพูดคุยพนักงานอีกโรงงานหนึ่ง ทำให้คลัสเตอร์นี้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งหมด ๔๘ ราย 

คลัสเตอร์พนักงานคอนโดแห่งหนึ่งในเขตตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง เริ่มจากรายที่ ๑๙๓๕ เป็นพนักงานทำงานออฟฟิศในฝ่ายนิติกรคอนโด เริ่มมีอาการไข้วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ จากนั้นไปตรวจที่โรงพยาบาลปากช่องนานา และพบว่าติดเชื้อ ส่วนรายที่ ๒๐๕๙ ทำงานในคอนโด เดินทางไปบ้านที่เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ บ่อยครั้ง และพักอาศัยอยู่ร่วมกัน ๔ คน เพื่อไปรับวัคซีนเข็มแรกในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ที่โรงพยาบาลวิมุต กทม. และวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ กลับมาทำงานที่ออฟฟิศคอนโด ร่วมกับเพื่อน ๖ คน ขณะนี้ทราบว่าพนักงานติดเชื้อแล้ว ๔ ราย และวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ รายที่ ๒๐๕๙ เป็นพนักงานมีอาการไข้เจ็บคอ และวันที่ ๕-๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ได้เดินทางกลับบ้านเขตมีนบุรี กรุงเทพฯ จากนั้น ไปตรวจหาเชื้อที่กรุงเทพฯ แต่ไม่มีที่ใดตรวจให้ และเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบว่าเพื่อนรายที่ ๑๙๓๕ ติดเชื้อ ทำให้ต้องไปตรวจโควิด-๑๙ อีกครั้ง เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบว่าติดเชื้อโควิด-๑๙ และเพื่อนรายที่ ๒๒๑๔ รายที่ ๒๐๖๐ ติดเชื้อเหมือนกัน จากนั้นรายที่ ๒๐๕๙ ซึ่งเป็นพนักงานได้โทรตามญาติร่วมบ้านที่เขตมีนบุรี ๒ คน ให้เดินทางมาตรวจที่โรงพยาบาลปากช่องนานาในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบว่า ติดเชื้อเป็นรายที่ ๒๕๖๑ และรายที่ ๒๕๖๒ ทำให้คลัสเตอร์นี้ต้องติดตาม และเฝ้าระวังต่อไป

ติดรวดเดียว ๑๓ ราย

คลัสเตอร์โรงแรมแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เป็นคลัสเตอร์ที่พบครั้งเดียว ๑๓ ราย จากการสอบสวนโรคจากของ สสจ.นครราชสีมา ได้ประกาศให้ผู้รับบริการมาใช้ตั้งแต่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ ถึง ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ มารับการตรวจโควิด-๑๙ โดยกลุ่มผู้ติดเชื้อ คือ พนักงานในห้องครัว และแม่บ้าน ส่วนพนักงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ใช้โรงแรมเป็นที่กักตัว โดยเทศบาลนครฯ ได้เข้าไปจัดเตรียมการควบคุม ขณะนี้โรงแรมกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง และเสี่ยงต่ำ ทั้งหมด ๓๒ คน พบติดเชื้อ ๑๓ ราย เทศบาลนครฯ จึงสั่งกักทุกคนภายในโรงแรม และทำความสะอาดเรียบร้อย ผู้ป่วยรายที่ ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มาฝึกงาน ๔ คน พบว่าติดเชื้อ เนื่องจากอยู่ในส่วนของห้องอาหาร นักศึกษารายนี้ได้ไปบ้านแฟนเมื่อวันที่ ๔-๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ หลังจากนั้นกลับมาทำงาน เริ่มมีอาการไข้ จึงไปตรวจหาเชื้อ พบว่าติดเชื้อโควิด-๑๙ ในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ หลังจากนั้นพนักงานทั้งโรงแรมไปตรวจหาเชื้อ ๓๒ คน พบว่าติดเชื้อ ๑๒ ราย ในวันที่ ๑๓ กรกฏาคม ๒๕๖๔ จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยรายหนึ่งมีผลทางห้องปฏิบัติการว่า มีการติดเชื้อมาก่อนในห้องครัว เป็นหัวหน้าเซฟ ผู้ป่วยรายนี้ค่อนข้างไม่ได้ไปไหน หยุดเฉพาะวันศุกร์ ที่พักอยู่ใกล้ๆ โรงแรม เนื่องจากว่าสถานที่โรงแรมมีบางจุดเป็นที่สูบบุหรี่ของพนักงานและลูกค้า เป็นจุดที่พนักงานจะต้องเดินผ่าน ขณะนี้อยู่ในช่วงขอข้อมูลลูกค้าโรงแรมว่า ช่วงนี้มีคนมาจากพื้นที่สีแดงหรือไม่ ทางโรงแรมได้ทำตามมาตรการของเทศบาลนครฯ ในช่วงนี้ได้ติดตามในส่วนของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จึงฝากให้ผู้ที่มาใช้บริการให้มาเข้ารับการตรวจโควิด-๑๙ ด้วย

คลัสเตอร์นักศึกษาฝึกงาน ตำบลพิมาย เดินทางไปฝึกงานในสถานประกอบการพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ต่อมาพบผู้ป่วยในโรงงาน ๒ ราย จึงต้องส่งตัวนักศึกษากลับภูมิลำเนา แต่โรงงานไม่ได้ตรวจคัดกรองนักศึกษาทั้งหมด โดยมีจำนวน ๒๐ คน ที่เป็นผู้เสี่ยงสูง เนื่องจากอยู่ใกล้กับผู้ป่วย ซึ่งข้อมูลนี้โรงงานไม่ได้แจ้งให้วิทยาลัยฯ ทราบ แจ้งเพียงผลตรวจนักศึกษาไม่พบเชื้อโควิด-๑๙ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นักศึกษารายแรกคือผู้ป่วยลำดับที่ ๑๙๕๖ เดินทางกลับมาในพื้นที่ และตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา พร้อมกักตัวในสถานที่กักตัวประจำอำเภอพิมาย ผลยืนยันติดเชื้อ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นักศึกษาฝึกงานที่เหลือเดินทางกลับมาจากจังหวัดปทุมธานี ด้วยรถบัสปรับอากาศ และเข้ารับการกักตัว จากการตรวจหาเชื้อพบติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบ ๑๒ ราย รวมคลัสเตอร์นักศึกษาเทคนิคพิมาย ติดเชื้อสะสม ๑๕ ราย ซึ่งมีแนวโน้มจะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกจึงปิดพื้นที่ห้ามบุคคลภายนอกเข้าออก งดใช้อาคารเรียนทั้งหมด พร้อมกับสั่งให้บุคลากรทำงานที่บ้าน (Work from home) และให้ปรับรูปแบบเรียนออนไลน์ ๑๐๐%

เสียชีวิตสะสม ๓๕ ราย

ต่อมาวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑๙๑ ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย รายที่ ๓๐ ลำดับที่ ๑๐๖๗ เพศหญิง อายุ ๗๒ ปี เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ภูมิลำเนาตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑๙๒ ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๕ ราย โดยรายที่ ๓๑ เป็นผู้ป่วยลำดับที่ ๑๘๗๘ เพศชาย อายุ ๘๓ ปี เป็นผู้สูงอายุ เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภูมิลำเนาตำบลเมืองพลับพลา อำเภอห้วยแถลง, รายที่ ๓๒ ลำดับที่ ๑๘๒๖ อายุ ๓๗ ปี เพศชาย เป็นโรคเบาหวาน ภูมิลำเนาตำบลหนองบัว อำเภอคง, รายที่ ๓๓ ลำดับที่ ๒๔๙๐ เพศชาย อายุ ๔๘ ปี ไม่มีโรคประจำตัว ภูมิลำเนาตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย, รายที่ ๓๔ ลำดับที่ ๑๒๒๑ เพศชาย อายุ ๗๑ ปี เป็นผู้สูงอายุ ไม่มีโรคประจำตัว ภูมิลำเนาตำบลสำโรง อำเภอโนนไทย เสียชีวิตในเวลาต่อมา และรายที่ ๓๕ ลำดับที่ ๑๗๕๑ เพศชาย อายุ ๗๒ ปี มีโรคประจำตัว (โรคเบาหวาน) ภูมิลำเนาตำบลชีวึก อำเภอขามสะแกแสง 

ติดเชื้อทะลุ ๓,๐๐๐ ราย

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑๔๒ ราย เสียชีวิต ๑ ราย ติดเชื้อสะสม ๓,๑๓๖ ราย รักษาหาย ๑,๓๔๐ ราย รักษาอยู่ ๑,๗๖๐ ราย เสียชีวิตสะสม ๓๖ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม 

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานคลัสเตอร์ที่สำคัญว่า คลัสเตอร์โรงแรมโคราปุระ อำเภอเมืองนครราชสีมา เริ่มจากหัวหน้าเชฟที่มีผลทางห้องปฏิบัติการว่ามีการติดเชื้อมาก่อน และมีน้องที่ไปฝึกงานของวิทยาลัยอาชีวนครราชสีมา เริ่มมีอาการ ทำให้พนักงานโรงแรมทุกคนไปตรวจ และพบติดเชื้อ ๑๓ ราย รายที่สำคัญคือรายที่ ๒๕๐๒ เดินทางไปอำเภอครบุรี เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจึงรับการตรวจเชื้อ และตรวจครั้งที่ ๒ พบว่า ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ๑ ราย รายที่ ๒๘๒๑ เป็นแฟนของพนักงาน และรายที่ ๒๔๙๔ เป็นผู้ช่วยกุ๊ก มาอยู่กับเพื่อนที่หอพัก ซอย ๓ ได้ร่วมรับประทานอาหาร ดื่มเหล้า ที่ร้านขวัญข้าว อำเภอเมืองนครราชสีมา ทำให้พนักงานในร้านติดเชื้อทั้งหมด ๕ ราย ทางด้านเทศบาลนครฯ ร่วมกับโรงพยาบาลมหาราชฯ กำลังติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในร้านอาหารแห่งนี้ และได้ตรวจหาเชื้อครบทุกคน เนื่องจากพนักงานโรงแรมโคราปุระ จะมารับประทานอาหารทุกเย็น คลัสเตอร์นี้ต้องประกาศตามหาผู้ใช้บริการในร้านอาหารขวัญข้าวเพิ่มเติม ให้ตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ทางร้านยินดีทำตามมาตรการของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาทุกอย่าง 

คลัสเตอร์งานศพ อำเภอครบุรี คลัสเตอร์นี้ติดเชื้อมานาน ทำให้เกิดการตรวจรอบที่ ๒ ในวันนี้ โดยเริ่มต้นจากวันที่ ๒๔-๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีญาติมาจากต่างจังหวัดจำนวนมาก มาร่วมงานศพที่หมู่ ๑ ตำบลแซะ อำเภอครบุรี ทำให้ยาย รายที่ ๑๘๙๙ อายุ ๘๑ ปี ติดเชื้อรายแรก เริ่มมีอาการไข้ ไอ จากนั้นวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ไปคลินิก แต่หลังจากวันที่ ๕-๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เริ่มมีอาการ เหนื่อย หอบ ไม่มีแรง จึงไปรักษาที่โรงพยาบาลครบุรี นอนห้องแยกโรค ทำ Rapid Test และทำ PCR ปรากฏว่า ติดเชื้อโควิด-๑๙ โรงพยาบาลครบุรีและอำเภอครบุรีติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด เป็นคลัสเตอร์ครอบครัวที่ไปร่วมงานศพ ติดเชื้อทั้งหมด ๘ ราย

โรงงานไม่ให้ความร่วมมือ

คลัสเตอร์พนักโรงงานผลิตอะไหล่รถ ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว เริ่มจากผู้ป่วยหญิงรายที่ ๑ เป็นพนักงานฝ่ายการตลาด เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เดินทางไปหาครอบครัวที่อำเภอพิมาย วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เริ่มมีอาการไข้ และลางานไปตรวจที่โรงพยาบาลสีคิ้ว พบว่าติดโควิด-๑๙ รายที่ ๒ ทำงานในฝ่ายบุคคลได้ลางาน เนื่องจากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ตรวจแล้วพบเชื้อ รายที่ ๓ พนักงานอยู่ในแผนก QC เป็นงานที่สำคัญเพราะต้องไปหลายที่ วันที่ ๙-๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เริ่มมีอาการปวดศีรษะ ลิ้นไม่รับรส ลางานไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลสีคิ้ว รายที่ ๔ พนักงานอยู่ในแผนก QC ที่ต้องตรวจสอบคุณภาพต้องไปหลายจุด เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ทุกคนเริ่มมีอาการลิ้นไม่รับรส และมีไข้ ผลออกมา ในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ทำให้ติดเชื้อในครอบครัวพนักงานคือพ่อ และหลาน ด้านโรงพยาบาลสีคิ้วไม่นิ่งนอนใจ ติดต่อไปทางโรงงานผลิตอะไหล่รถ ปรากฏว่าไม่ได้รับความร่วมมือ จากนั้นโรงงานได้ดำเนินการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ในการพ่นแต่ละครั้งไม่ได้สั่งพนักงานหยุดงาน แต่สั่งพนักงานให้ออกไปจากบริเวณที่มีการพ่นฆ่าเชื้อ และทำความสะอาด ซึ่งโรงงานได้คัดกรองผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเอง เมื่อคัดกรองแล้วส่งตัวมาตรวจที่โรงพยาบาลมหาราชฯ โรงพยาบาล มทส. และโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา ด้านอำเภอสีคิ้วได้ประสานไปยัง HR ของโรงงาน แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ซึ่งต้องการเข้าไปดำเนินการควบคุมมาตรการตั้งแต่รายที่ ๑ และรายที่ ๒ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้รับเรื่องจึงติดต่อไปยังโรงงาน แต่โรงงานเกิดความไม่เชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่ เนื่องจากตรวจ ๓ โรงพยาบาลนี้ โรงพยาบาลมหาราชฯ โรงพยาบาล มทส. และโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา ได้ผลตรวจเร็ว โรงงานจึงยึดตามที่โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมาแนะนำว่า ให้กักตัว ๒-๑๐ วัน ทั้งนี้โรงงานได้สืบสวนโรคเอง ส่วนนี้ทำให้การระบาดมีการกระจายในส่วนของพนักงาน ต้องให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาสำรวจ ตรวจค้นหาว่า มีการระบาดเชื่อมโยง ๒ ราย และยังไม่มีการ กระจายอีก ๒ ราย ทางอำเภอสีคิ้วยังดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากทางโรงงานไมให้ความร่วมมือ

โรงแรมพบติดเชื้อ ๗ ราย

คลัสเตอร์พนักงานโรงแรมเมอเวนพิค เขาใหญ่ เริ่มจากวันที่ ๗-๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ มีลูกค้าเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ๑๖ คน เป็นชาวไทย และชาวต่างชาติ มาทำกิจกรรมขององค์กร วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ กลุ่มลูกค้าแจ้งมาว่า ตรวจพบเชื้อโควิด-๑๙ จำนวน ๕ ราย วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ด้านพนักงานโรงแรม ไปตรวจหาเชื้อ ๓๑ คน เฉพาะพนักงานที่เกี่ยวข้องในห้องอาหาร ต่อมาวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ทราบผลพบติดเชื้อ ๔ ราย แยกเป็น รายที่ ๒๓๐๗ พ่อบ้านทำความสะอาดห้องพัก รายที่ ๒๓๒๗ แผนกช่าง รายที่ ๒๔๔๓ พนักงานห้องอาหาร และรายที่ ๒๕๖๓ พนักงานห้องอาหาร ซึ่งมีพนักงานขอกลับบ้านที่จังหวัดลำปาง ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ทราบผลพบว่า เป็นผู้ติดเชื้อ ๑ ราย จึงได้รักษาตัวที่จังหวัดลำปาง โรงแรมแห่งนี้มีทั้งหมด ๑๓๓ คน พบติดเชื้อ ๗ ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๑๒๖ ราย โรงแรมได้หยุดเพื่อทำความสะอาดในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ และวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔

ใช้พื้นที่โรงงานกักตัว

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวเสริมว่า “หากดูตามข้อกฏหมาย เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบตามมาตรา ๓๔ อยู่แล้ว โดยพนักงานควบคุมโรค ซึ่งในวันนั้นหากเขาไม่ให้ความร่วมมือ สามารถแจ้งความดำเนินคดี และเข้าไปทันที ดังนั้น วันนี้ต้องเข้าไปตรวจสอบ จะมากั้นมาสั่งไม่ให้เข้าไม่ได้ มีผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ถึงวันนี้ก็หลายวันแล้ว และกลุ่มเสี่ยงเท่าที่ตรวจสอบ ๗๐ ราย อาจจะใช้พื้นที่โรงงานเป็นสถานที่กักกันตัว และดูว่า พนักงานพักที่ไหน ถ้ามีหอพักก็สามารถใช้งานได้ และถ้ามีความจำเป็นประกาศปิดก็ปิดได้ วันนี้ขอให้พนักงานควบคุมโรคติดต่อ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอำเภอสีคิ้ว เข้าไปตรวจสอบ ถ้ายังไม่ให้เข้าอีกก็ให้ใช้กฎหมายดำเนินการ”

สูญเสียอีก ๒ ราย

ต่อมา วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑๘๐ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย เป็นรายที่ ๓๗ ของจังหวัด คือผู้ป่วยลำดับที่ ๑๐๖๙ เพศชาย อายุ ๗๗ ปี เป็นผู้สูงอายุ ภูมิลำเนาตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว มีโรคประจำตัว (โรคไตเรื้อรัง) ส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อาการไม่ดีขึ้น เสียชีวิตในเวลาต่อมา และรายที่ ๓๘ ของจังหวัด เป็นผู้ป่วยลำดับที่ ๑๖๕๐ เพศหญิง อายุ ๕๒ ปี เป็นชาวตำบลโนนเมืองพัฒนา อำเภอด่านขุนทด มีภาวะอ้วน น้ำหนัก ๑๓๐ กก. ส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตในเวลาต่อมา 

ติดเชื้อกว่า ๓,๕๐๐ ราย

ล่าสุด วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๒๗๗ ราย ติดเชื้อสะสม ๓,๕๙๓ ราย รักษาหาย ๑,๕๕๘ ราย รักษาอยู่ ๑,๙๙๗ ราย เสียชีวิตสะสม ๓๘ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมโรคการติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom ด้วย

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานคลัสเตอร์ที่สำคัญว่า คลัสเตอร์ร้านอาหาร อำเภอสูงเนิน ตรวจครั้งที่ ๒ เป็นพนักงานเสิร์ฟติดเชื้อเพิ่ม ๑ ราย และมีเพื่อนลูกชายรายที่ ๑๖๐๒ พูดคุยเล่น และเล่นฟุตบอลร่วมกัน ทำให้เพื่อนติดเชื้อเป็นรายที่ ๓๑๒๑ และรายที่ ๑๘๐๖ จากนั้นครอบครัวรายที่ ๑๘๐๙ และรายที่ ๑๘๑๐ พบผู้ติดเชื้อใหม่คือแม่ และคนในครอบครัว ทำให้คลัสเตอร์นี้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๑ ราย รวมคลัสเตอร์นี้ติดเชื้อ ๒๑ ราย

ติดเชื้อในตลาด 

คลัสเตอร์ตลาดเทศบาลเมืองปากช่อง จากการสอบสวนโรควันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ โรงพยาบาลปากช่องได้ Active Case Finding ร้านขายปลาร้า และพบผู้ติดเชื้อ ต่อมาได้นำเข้าสู่ระบบการแถลงข่าวในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ และวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ขณะนี้เทศบาลปากช่องทำความสะอาดแล้ว และวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เทศบาลเมืองปากช่องรายงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาว่า มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ๔ รายในตลาด มีแนวโน้มระบาดเพิ่ม และวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ โรงพยาบาลฯ ได้ทำ Active Case Finding จำนวน ๒๐๐ คน จำนวนคนในตลาดยังไม่ทราบแน่นอน เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ผลออกมาพบว่า ติดเชื้อ ๒๖ ราย และผู้ป่วยรายงานเข้าระบบ ๗ ราย สรุปว่าตลาดนี้พบร้านค้าต่างๆ กระจัดกระจายยังไม่ทราบผู้ติดเชื้อแน่นอน ทำให้ผู้ป่วยวงที่ ๑ ติดเชื้อ ๔๙ คน วงที่ ๒ ติดเชื้อ ๑๑ คน วงที่ ๓ ติดเชื้อ ๑ คน Active Case Finding ทั้งหมด ติดเชื้อ ๒๖ คน รวมผู้ป่วยทั้งหมด ๙๑ คน

สรุปคำสั่งจังหวัด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ลงนามในคำสั่งมาตรการควบคุมโควิด-๑๙ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ๑.ขอความร่วมมือการออกนอกเคหสถานช่วงเวลา ๒๒.๐๐ น. หากมีความจำเป็นต้องออกนอกเคหสถานต้องมีหลักฐานจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น ผู้นำชุมชน เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ถือติดมือไว้ ๒.สถานศึกษาให้ขยายการเรียนการสอนแบบ online ออกไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ๓.สถานที่ซึ่งถูกสั่งปิดยังคงติดต่อไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ๔.ร้านอาหารให้ปิดบริการ ๒๑.๐๐ น. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านโดยเด็ดขาด ๕.ซูเปอร์มาร์เก็ตให้ปิดบริการ ๒๑.๐๐ น. ๖.ร้านสะดวกซื้อที่เปิด ๒๔ ชั่วโมง ให้เปิด ๐๔.๐๐ น. ถึง ๒๑.๐๐ น. ๗.การรวมกลุ่มบุคคลที่ไม่เกิน ๒๐ คน ให้ขออนุญาตศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ หากเกินให้ขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อ ๘.ห้ามรวมกลุ่มสังสรรค์ มั่วสุม และการชุมนุมที่มีลักษณะของการแพร่โรคหรือมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ๙.สถานที่ท่องเที่ยวให้ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ/เทศบาล เพิ่มความเข้มงวด ตรวจตรา ใช้มาตรการ DMHTTA พร้อมทั้งจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้สถานที่ โดยคำสั่งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

ผู้ว่าฯ ขอความร่วมมือลดการระบาด

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนคร ราชสีมา ได้ออกหนังสือถึงพี่น้องชาวโคราช มีใจความ ดังนี้ “เรียนพี่น้องชาวนครราชสีมา เนื่องจากพบว่าเชื้อร้ายโควิด-๑๙ มีการกลายพันธุ์ ระบาดไว มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อ มีผู้ป่วยอาการหนัก และมีการสูญเสียมากขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงจังหวัดนครราชสีมา สาเหตุสำคัญคือ เรายังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่จากการฉีดวัคซีนที่มากพอ แต่เหตุส่วนหนึ่งก็มาจากพวกเราหลายคนยังมีการดูแลป้องกันตัวเองที่ไม่ดีพอ ยังประมาท มองข้ามความปลอดภัย ยังมีการเดินทาง การทำกิจกรรมเสี่ยง “เมื่อสัมผัสกัน ใกล้ชิดกัน ก็ติดเชื้อกัน” จึงส่งผลให้มีการระบาดและติดเชื้อไปยังคนรอบข้างมากขึ้นเรื่อยๆ จังหวัดโคยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัคนครราชสีมา จำเป็นต้องปรับระดับความเข้มข้นของมาตรการ อย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อ “ไม่ให้มีกิจกรรม ที่ใกล้ชิดกันมากเกินไป” แต่จะไม่รุนแรงถึงกับห้ามนั่งพูดคุย หรือมีกิจกรรมแบบไม่เกิน ๕ คน เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร และอีก ๑๒ จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยมีความมุ่งหมายเพื่อควบคุม ลดการติดเชื้อ และการระบาดของเชื้อในพื้นที่จังหวัดให้ได้โดยเร็ว ประกอบด้วย 

นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

๑) ลดการออกนอกเคหสถานหรือที่พัก ๒) ลดและจำกัดการเคลื่อนย้าย การเดินทาง ๓) ควบคุม จำกัดกิจกรรมและสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ ๔) สกัด คัดกรองกลุ่มเสี่ยงและมีมาตรการกับกลุ่มต่างๆ อย่างถูกต้องตามมาตรการสาธารณสุข ๕) การกักตัวเอง ทั้งสถานที่ที่อำเภอกำหนด (State Quarantine) และที่บ้าน (Self Quarantine) และ ๖) งดการชุมนุม มั่วสุมที่เสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อโรค ทั้งนี้ อาจจะต้องเพิ่มความเข้มข้นมากกว่านี้ หากยังมีการละเมิดและยังมีการระบาดสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดเริ่มลดลง ก็จะลดข้อห้ามต่างๆ ลงเพื่อให้พวกเราได้มีการดำเนินชีวิตตามปกติมากขึ้น ขอความร่วมมือจากทุกท่านครับ”

อนึ่ง การระบาดของโควิด-๑๙ ระลอก ๓ ในจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔) พบผู้ป่วยสะสม ๓,๕๙๓ ราย รักษาหาย ๑,๕๕๘ ราย รักษาอยู่ ๑,๙๙๗ ราย เสียชีวิตสะสม ๓๘ ราย โดยพบผู้ป่วยรายอำเภอ ดังนี้ เมือง ๘๕๐ ราย ปากช่อง ๖๑๗ ราย สีคิ้ว ๑๓๒ ราย ด่านขุนทด ๒๐๖ ราย สูงเนิน ๖๕ ราย ชุมพวง ๖๙ ราย บัวใหญ่ ๑๒๐ ราย พิมาย ๑๑๔ ราย โนนไทย ๗๑ ราย ประทาย ๑๕๓ ราย ปักธงชัย ๖๑ ราย ครบุรี ๗๓ ราย บัวลาย ๒๑ ราย เสิงสาง ๑๐๖ ราย โนนสูง ๑๔๑ ราย คง ๙๘ ราย โชคชัย ๘๓ ราย ห้วยแถลง ๔๔ ราย ขามทะเลสอ ๖๑ ราย เทพารักษ์ ๒๐ ราย เมืองยาง ๑๓ ราย หนองบุญมาก ๕๗ ราย จักราช ๓๓ ราย เฉลิมพระเกียรติ ๒๙ ราย ลำทะเมนชัย ๑๖ ราย สีดา ๓๔ ราย โนนแดง ๒๖ ราย บ้านเหลื่อม ๓๕ ราย วังน้ำเขียว ๕๘ ราย แก้งสนามนาง ๕๑ ราย ขามสะแกแสง ๕๘ ราย และพระทองคำ ๔๙ ราย ส่วนโรงพยาบาลสนามนครราชสีมา มีเตียงทั้งหมด ๒๕๒ เตียง ครองเตียง ๒๔๔ เตียง เตียงว่าง ๘ เตียง

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๖ วันพุธที่ ๒๑ - วันอังคารที่ ๒๗ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


703 1342