29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 22,2021

‘มาสด้า’ฝ่ามรสุมโควิดครึ่งปีแรก ส่งมอบรถให้ลูกค้า ๑๙,๐๐๐ คัน ครึ่งปีหลังนำทัพเก๋ง-เอสยูวีบุกตลาด

มาสด้าสรุปครึ่งแรกปี ๒๕๖๔ ส่งมอบรถยนต์รุ่นใหม่ให้ลูกค้าแล้ว กว่า ๑๙,๐๐๐ คัน พร้อมประกาศยุทธศาสตร์แผนบริหารครึ่งปีหลัง เตรียมบุกตลาดด้วยรถยนต์รุ่นใหม่ และรถอเนกประสงค์เอสยูวีเสริมทัพอีกเพียบ เดินหน้าปรับนโยบายการบริหารงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของลูกค้าและผู้จำหน่ายให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน และขยายออกไปเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องหันมาระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๔ จึงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมมียอดสะสมอยู่ที่ ๓๗๐,๐๐๐ คัน (ประมาณการ) อย่างไรก็ตามยังสามารถบวกเพิ่มขึ้นถึง ๑๔% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี ๒๕๖๓ ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าสถานการณ์ของตลาดรถยนต์จะค่อยๆ กลับมาดีขึ้น คาดว่ายอดขายรวมจะไปถึง ๘๐๐,๐๐๐ คัน ในขณะที่มาสด้าก็ตั้งเป้าหมายไว้สูงเช่นกันที่ ๕๐,๐๐๐ คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง ๓๐%

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ในขณะที่ช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๖๔ มาสด้ามียอดจำหน่ายรวมอยู่ที่ ๑๘,๙๐๘ คัน เพิ่มขึ้น ๒๓% โดยรถยนต์นั่งมียอดจำหน่ายรวมอยู่ที่ ๑๐,๘๙๕ คัน เพิ่มขึ้น ๓% แบ่งออกเป็น New Mazda2 จำนวน ๙,๖๒๒ คัน เพิ่มขึ้น ๓% All-New Mazda3 จำนวน ๑,๒๗๐ คัน เพิ่มขึ้น ๑% และ New Mazda MX-5 รถสปอร์ตเปิดประทุนมียอดขาย ๓ คัน ในขณะที่รถอเนกประสงค์ครอสโอเวอร์เอสยูวีมียอดจำหน่ายรวมที่ ๗,๓๔๗ คัน เพิ่มขึ้น ๘๓% โดย All-New Mazda CX-30 ยังคงได้รับความนิยมสูงสุด ด้วยยอดจำหน่าย ๔,๑๙๔ คัน เพิ่มขึ้นถึง ๑๒๔% ตามมาด้วย New Mazda CX-3 จำนวน ๒,๒๓๑ คัน เติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง ๒๙๙% ในขณะที่ All-New Mazda CX-8 มียอดจำหน่ายที่ ๕๓๒ คัน ลดลง ๒๖%, New Mazda CX-5 จำนวน ๓๙๐ คัน ลดลง ๕๔% ส่วนปิกอัพ All-New Mazda BT-50 มียอดจำหน่าย ๖๖๖ คัน ลดลง ๑๖%

“จากยอดจำหน่ายข้างต้น เมื่อแบ่งออกเป็นรายไตรมาสจะพบว่ายอดขายไตรมาสแรกระหว่าง มกราคม - มีนาคม ๒๕๖๔ มีจำนวน ๑๐,๘๙๐ คัน เพิ่มขึ้น ๗% ส่วนไตรมาสที่สองระหว่าง เมษายน - มิถุนายน ๒๕๖๔ มีจำนวน ๘,๐๑๘ คัน เพิ่มขึ้นถึง ๕๓% ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของตลาด นับเป็นหนึ่งในสัญญาณบวกว่าความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศยังคงมีอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องคอยติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มทิศทางและนำมาปรับกลยุทธ์เพื่อประคับประคองธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้” นายชาญชัย กล่าวเพิ่มเติม

ทางด้านนายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส กล่าวถึงกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๖๔ แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ว่า ชาวมาสด้าทุกภาคส่วนขอส่งกำลังแรงใจไปยังพี่น้องคนไทย และผู้ประกอบการทุกท่านให้ก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันอีกครั้ง สำหรับมาสด้าได้มีการปรับแผนงานเพื่อให้สอดรับกับเหตุการณ์ควบคู่ไปกับการสร้างแผนธุรกิจแบบเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อเตรียมพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังวิกฤตเริ่มคลี่คลาย มาสด้าได้ประสานความร่วมมือกับผู้จำหน่ายทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับนโยบายแบบเร่งด่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุดไปยังลูกค้า ทั้งการเอาใจใส่ดูแลลูกค้าปัจจุบันให้ดีที่สุด โดยเฉพาะมาตรการเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้า รวมถึงการมอบสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยร่วมมือกับทางบริษัทไฟแนนซ์ที่จะเข้ามาซัพพอร์ต อาทิ เงินดาวน์ต่ำ ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระให้ยาวนานที่สุด อัตราดอกเบี้ยต้องต่ำสุด ซึ่งหลายรุ่นมาสด้าจัดดอกเบี้ย ๐% รวมถึงการผ่อนชำระต่องวดให้น้อยที่สุด เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้าและสามารถนำรถไปประกอบกิจการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารงานเพื่อให้เกิดการเติบโตในช่วงวิกฤต เพราะในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ โดยมาสด้าได้เตรียมความพร้อมทางด้านกลยุทธ์การบริหารงานในช่วงครึ่งปีหลัง ๒๕๖๔ เพื่อรับมือกับสถานการณ์และวางรากฐานผลักดันให้องค์กรเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ด้วย ๖ องค์ประกอบหลัก ดังนี้

๑. ด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ เตรียมพร้อมลุยตลาดอย่างเต็มกำลังด้วยการนำเสนอรถยนต์นั่งและรถเอสยูวีรุ่นใหม่ ที่มาพร้อมเทคโนโลยีอันทันสมัย ตอบรับวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่และสร้างความแตกต่างในตลาด ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และผลักดันให้มาสด้าเดินหน้าไปสู่เป้าจำหน่ายที่วางไว้ได้ ๒. ด้านนโยบายส่งเสริมผู้จำหน่าย ปรับนโยบายการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับสถานการณ์และให้การสนับสนุนด้านการขายกับผู้จำหน่ายในแต่ละพื้นที่ โดยทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ภายใต้แนวทางการทำงานเป็นทีม One Mazda เพื่อให้ผู้จำหน่ายถ่ายทอดไปยังลูกค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด และก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน ๓. ด้านการตลาดและการสื่อสาร ดึงกลยุทธ์การตลาดแบบออนไลน์มาเป็นแกนหลักในการสื่อสารผ่าน Mazda Online Platform หรือโซเชียลมีเดีย เพิ่มการนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ผ่านสื่อดิจิทัล ส่งเสริมให้ผู้จำหน่ายทำกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น

๔. ด้านการส่งเสริมการขาย จัดแคมเปญส่งเสริมการขาย เพื่อให้ลูกค้าสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์มาสด้าได้ง่ายขึ้น รวมถึงทำงานร่วมกับสถาบันทางการเงิน ในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงจัดแคมเปญให้เหมาะสมสำหรับรถแต่ละรุ่น โดยร่วมมือกับพันธมิตรและผู้จำหน่ายจัดกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้มากที่สุด ๕. ด้านเทคโนโลยี การวางรากฐานการทำงานระยะยาวให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการบริหารงาน และติดต่อสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยเฉพาะผู้จำหน่ายต้องปรับตัวเข้ากับการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล มาสด้าต้องเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมรับมือกับเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดประเทศไทยในเร็วๆ นี้ และ ๖. ด้านบริการหลังการขาย ยกระดับและพัฒนาการบริการหลังการขายให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และต้องมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยเฉพาะแผนการขยายเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการ รวมถึงศูนย์บริการแบบ Mazda Fast Service ตรวจเช็กตามระยะแบบเร่งด่วนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รองรับปริมาณลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ลดการรอคิว และอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับลูกค้าที่มาเข้ารับบริการ

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๖ วันพุธที่ ๒๑ - วันอังคารที่ ๒๗ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


701 1354