28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

July 29,2021

นักธุรกิจโคราชวอนรัฐบาลเยียวยา เดือดร้อนจากมาตรการคุมเข้มโควิด ‘นครชัย’แบกภาระเดือนละ ๑๑ ล.

ภาคเอกชนโคราชวอนรัฐบาลเยียวยาในพื้นที่สีแดง ๕๓ จังหวัด ให้เหมือนกับพื้นที่สีแดงเข้ม ๑๓ จังหวัด เพราะมีมาตรการและผลกระทบคล้ายกัน ด้านนครชัยทัวร์-นครชัย ๒๑ เผยไม่เคยได้รับการเยียวยาตั้งแต่รอบแรก ต้องแบกภาระค่า ใช้จ่ายเดือนละ ๑๑ ล้านบาท ชี้รัฐบาลอย่ามองผลกระทบเป็นพื้นที่ เพราะทุกที่ได้รับ ผลกระทบเหมือนกัน

 

เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคา ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่ห้องประชุมอินทนากรวิวัฒน์ ชั้น ๔ อาคารหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน นครราชสีมา (กกร.นม.) ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และชมรมธนาคารจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และนายทรงกรต เพ็ชรนารถ ประธานชมรมธนาคารจังหวัดนครราชสีมา ร่วมแถลงข่าวให้รัฐบาลพิจารณาการช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ประกอบการในจังหวัดนครราชสีมา ให้ได้รับการเยียวยาเหมือนกับจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) 

นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ กล่าวว่า “จากการประชุมผ่านระบบออนไลน์ ของคณะกรรมการ กกร.จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ขอให้รัฐบาลพิจารณาการช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างในจังหวัดนครราชสีมา ให้ได้รับการเยียวยาเหมือนจังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม เนื่องจากขณะนี้จังหวัดนครราชสีมาถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดง ควบคุมสูงสุด ซึ่ง ๑ ใน ๕๓ จังหวัด มีมาตรการควบคุมแตกต่างจากพื้นที่สีแดงเข้ม ๑๓ จังหวัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชนเช่นเดียวกับพื้นที่สีแดงเข้ม และยังเป็นจังหวัดที่มีอัตราผู้ติดเชื้อสูงสุดอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งการประกาศเยียวยาจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างได้ในเบื้องต้น ทำให้ช่วยพยุงเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชนให้สามารถดำเนินต่อไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ประกอบการในจังหวัดนครราชสีมา และอีก ๕๒ จังหวัดพื้นที่สีแดง ให้ได้รับการเยียวยาเหมือนพื้นที่สีแดงเข้ม”

นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

“ทั้งนี้ คณะกรรมการ กกร.จังหวัดนครราช สีมา ได้ยื่นหนังสือถึงนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ และจะยื่นหนังสือเพื่อนำเสนอต่อนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน (กกร.) เพื่อดำเนินการขอให้รัฐบาลพิจารณาการช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ประกอบการในจังหวันครราชสีมาให้ได้รับการเยียวยาให้เหมือนกับจังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้มหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดต่อไป” นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ กล่าว

นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ กล่าวว่า “ช่วงนี้ยอดผู้ติดเชื้อมีจำนวนมาก ในส่วนของพนักงานโรงงานมีจุดทำงานประจำ พนักงานทุกคนจะอยู่ในบริเวณของตัวเอง ฉะนั้นจะรู้ว่า ใครอยู่ใกล้ชิดกัน แต่ยอดผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง และยังมีติดกันเพิ่มขึ้น ขณะนี้โรงงานทำ ๒ เรื่อง คือ เร่งตรวจหาเชื้อ โดยซื้อที่ตรวจมาตรวจ เมื่อมีคนติดเชื้อในโรงงาน ๑ คน ทำให้ที่เหลืออีก ๑๐๐-๒๐๐ คน ต้องหยุดงานไปด้วย หากโรงงานมีการตรวจบ่อยขึ้น จะสามารถแยกคนติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกันได้ ถ้าตรวจทุก ๕ วัน จะสามารถยืนยันว่าปลอดภัย หรือแม้แต่ที่อาคารหอการค้า ก่อนเข้ามามีการตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลล์แอลกอฮอล์ ก่อนเข้าห้องประชุม เพื่อให้มั่นใจว่า คนที่เข้ามาปลอดภัยไม่ติดเชื้อ แต่ยังต้องนั่งแยกกัน สวมหน้ากากอนามัย หากมีการตรวจที่มากพอ ก็ไม่ต้องล็อกดาวน์ ขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งพยายามทำ State Quarantine (SQ) หรือโรงพยาบาลสนาม ในส่วนของโรงงานก็เช่นกัน เริ่มเตรียมห้องให้พนักงานที่ติดเชื้อ ที่ไม่สามารถกลับบ้านได้ ซึ่งในส่วนนี้มีความเสี่ยง หากอยู่ในโรงงานขนาดใหญ่การดูแลไม่ยาก แต่ถ้าเป็นโรงงานขนาดเล็กจะจัดระบบอย่างไร โรงงานต้องมีที่พักให้พนักงานอย่างน้อย ๑๐% ส่วนของโรงงานที่มีคนงานออกไปแล้วแต่ยังมีออเดอร์ (คำสั่งซื้อ) ค้างอยู่ ทางโรงงานจะทำทุกวิธีทางเพื่อให้มีการผลิตต่อไปได้ ส่วนภาครัฐช่วยอะไรได้ไม่มาก โรงงานจะต้องช่วยตัวเอง ในส่วนนี้คิดว่าทุกโรงงานยังทำงานอยู่ ยังมีออเดอร์ ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาจะช่วยพยุงเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้น”

นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา

นายทรงกรต เพ็ชรนารถ กล่าวว่า “ส่วนของมาตรการทางการเงิน ได้มีมาตรการระยะสั้นที่เร่งด่วน ครอบคลุมทั้งจังหวัดนครราชสีมา และที่ไม่ได้อยู่ในเขตจังหวัดที่ประกาศควบคุม ในส่วนกลุ่มธุรกิจมีมาตรการพักชำระหนี้ เงินกู้ และดอกเบี้ย ในระยะเวลา ๒ เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคมนี้ เมื่อหมดการพักชำระหนี้แล้ว ทางสถาบันการเงินจะไม่เก็บเงินต้น และดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ จะนำไปอยู่ในส่วนท้ายสัญญา หากมีผู้ประกอบการที่อยู่นอกเขตจากที่ประกาศ ที่ได้รับผลกระทบทางตรง หรือทางอ้อม สามารถติดต่อสถาบันการเงินได้ จะมีระบบที่รวดเร็ว ในส่วนนี้คือมาตรการระยะสั้น ส่วนมาตรการระยะยาวนั้น จะให้ผู้ประกอบการติดต่อสถาบันการเงิน โดยมีการพักชำระหนี้มากกว่า ๒ เดือน หรือมีการเปลี่ยนเงื่อนไขในสัญญา เพื่อขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนให้น้อยลง ในส่วนนี้ต้องดูตามความเหมาะสมในแต่ละกรณีด้วย”

นายทรงกรต เพ็ชรนารถ ประธานชมรมธนาคารจังหวัดนครราชสีมา

มาตรการรัฐกระทบธุรกิจ

ภายหลังการแถลงข่าว นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัย ๒๑ จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการบริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ตามคำสั่งของภาครัฐแบ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้มหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ๑๓ จังหวัด กรมการขนส่งทางบกจึงสั่งงดการเดินรถแล้ว ทำให้รถโดยสารที่เข้าออก ๑๓ จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ต้องหยุดวิ่งโดยปริยาย รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา แตกต่างกับกลุ่มธุรกิจอื่นเล็กน้อย เพราะว่าธุรกิจขนส่งมีการจดทะเบียนจัดตั้ง ซึ่งไม่ถูกกำหนดให้จดทะเบียนจัดตั้งที่จังหวัดไหน ผู้ประกอบการบางรายดูแค่เส้นทาง เช่น นครชัย ๒๑ วิ่งกรุงเทพฯ-โคราช จดทะเบียนจัดตั้งที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งไม่ได้อยู่ใน ๑๓ จังหวัด แต่เส้นทางนี้ถูกกำหนดว่า ไม่ให้มีรถเข้าออก ทำให้ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ได้รับการเยียวยา เพราะไม่ได้จดทะเบียนใน ๑๓ จังหวัด ขณะเดียวกันเส้นทางอื่นๆ ที่หยุดวิ่งเกือบ ๑๐๐% เช่น โคราช-เชียงใหม่ และโคราช-เชียงราย ปัจจุบันเหลือวิ่งเที่ยวเดียว สำหรับขนส่งพัสดุหรือถ่ายเทบุคลากรเป็นหลัก ซึ่งผู้โดยสารไม่มีแล้ว

“มาตรการรัฐที่พยายามควบคุมการเดินทางหรืองดเว้นการเดินทางตามประกาศในเรื่องของความปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรถโดยสารทั่วประเทศ ซึ่งกลุ่มขนส่งสาธารณะไม่ได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่รอบแรก เมื่อไวรัสแพร่ระบาดเกิดขึ้น ธุรกิจการเดินรถได้รับผลกระทบเป็นธุรกิจแรกๆ ซึ่งทุกคนอยู่ภายใต้ใบขออนุญาตที่รัฐกำหนด ไม่ว่าจะกำหนดเรื่องนั่งได้ ๕๐% การลดจำนวนเที่ยววิ่ง หรืออื่นๆ แม้จะมีมาตรการลดเที่ยววิ่ง แต่หยุดประกอบการไม่ได้ ในความหมายกก็คือยังคงมีการประกอบการ แม้รถจะวิ่งไม่ได้ หรือวิ่งแล้วรับคนได้ ๕๐% ปกติต้องรับคน ๗๐% ธุรกิจถึงจะอยู่ได้ เพราะฉะนั้นการบังคับให้วิ่งขาดทุน ทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อนมาก บางรายไม่ต้องจ่ายค่างวดรถ แต่ยังต้องจ่ายค่าแรงและค่าจ้าง ส่วนผู้ประกอบการที่มีค่างวดรถแทบจะต้องตายสนิท เพราะไม่มีรายได้ ส่วนหนึ่งที่ภาครัฐเรียกร้องให้ช่วยเหลือคือ การขนคน การเคลื่อนย้ายบางอย่างในกรณีที่มีความจำเป็น แต่ว่ามาตรการในการช่วยเหลือขนส่งยังน้อยเกินไป”

 นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัย ๒๑ จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการบริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด

ต้องแบกภาระเอง

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า “กรณีนครชัยทัวร์หรือนครชัย ๒๑ ต้องแบกรับภาระค่าจ้างตามกฎหมายแรงงานมาตลอด โดยเฉลี่ยทั้งปีรถวิ่งได้ไม่ถึง ๒๐% ของจำนวนรถที่มี ฉะนั้นรถคันหนึ่งบริษัทจะดูแลบุคลากร ๔-๕ คน จากที่มีบุคลากร ๖๐๐ คน รถประมาณ ๑๐๐ คัน ปัจจุบันวิ่ง ๒ คัน เพื่อถ่ายเทคนถ่ายเทสิ่งของ แต่บริษัทต้องดูแลบุคลากรอีก ๔๐๐ คน ซึ่งส่วนนี้ คือ ภาระของผู้ประกอบการ โดยสรุปว่า หากรัฐบาลไม่วางมาตรการช่วยเหลือขนส่งสาธารณะ จะทำให้กลับมาฟื้นตัวยาก และยังรวมถึงขนส่งรถนำเที่ยวด้วย ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงเช่นกัน กรณีมาตรการของรัฐที่ไม่ได้สั่งปิดกิจการ แต่ไม่สนับสนุนให้คนเดินทาง น่าจะไปเข้าข่ายเป็นเหตุสุดวิสัย ทำให้ประกอบการไม่ได้ กรณีนี้น่าจะได้รับการเยียวยาในรอบที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้ จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องดิ้นรนด้วยตัวเองต่อไป”

แบกภาระเดือนละ ๑๑ ล้าน

“มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มนครชัย โดยเฉพาะค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลบุคลากรทั้งกลุ่มบริษัทนี้ ๒,๐๐๐ กว่าคน ต้องมีงบอย่างน้อย ๓๐-๔๐ ล้านบาท เป็นรายจ่ายแต่ไม่มีรายได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้เข้าระบบบริหารจัดการของบริษัท บางส่วนถึงขั้นเลิกจ้าง หากเลิกจ้างบุคลากรจะกลับไปว่างงาน ซึ่งช่วงนี้หางานไม่ได้อยู่แล้ว และเมื่อวันหนึ่งรัฐบาลอนุญาตให้กลับมาขนส่งคนผู้ประกอบการก็ต้องพร้อมวิ่งรถ และจะต้องมีบุคลากรมาทำงาน ส่วนนี้จึงทำให้บริษัทต้องรักษาบุคลากรไว้มากกว่า ๖๐% ซึ่งบุคลากรเหล่านี้เมื่อรักษาไว้เท่ากับเป็นต้นทุนที่ต้องดูแล และจ่ายรายได้ให้คนนั้นๆ โดยในส่วนของนครชัย ๒๑ กับนครชัยทัวร์ มีรายจ่ายเดือนละ ๑๑ ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่าย ๒ ทาง คือ ต้นทุนค่าจ้างและการขาดทุนต่อเที่ยว ที่ถูกกำหนดให้วิ่งน้อยลง” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ไม่เคยได้รับการเยียวยา

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อไป “แต่สุดท้ายแล้วภาครัฐไม่มีเงื่อนไขพิเศษในการช่วยเหลือกลุ่มขนส่งสาธารณะ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่ต่ำลง โดยการระบาดของเชื้อไวรัสนี้ ธุรกิจโรงแรมโดนหนักที่สุด ตั้งแต่เกิดโรคมา เพราะโรงแรมต้องอาศัยนักท่องเที่ยว รองลงมา คือ ธุรกิจขนส่งสาธารณะ เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวไม่มีคนเดินทางก็ประกอบการไม่ได้ ถัดมาเป็นร้านอาหาร และธุรกิจชนิดอื่นๆ อาจจะมีรายได้ช่วยบ้างเล็กน้อย แต่สำหรับโรงแรมกับขนส่งสาธารณะ แทบจะไม่มีรายได้ ซึ่งมีวิธีการจัดการ คือ พยายามลดต้นทุนให้ต่ำที่สุดภายใต้กฎหมายที่กำหนด ส่วนค่าจ้างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องหาแหล่งเงินกู้อย่างเดียว โดยไม่มีเงื่อนไขใดมาช่วยเหลือ”

นายชัยวัฒน์ กล่าวท้ายสุดว่า “การที่ กกร.จังหวัดออกแถลงข่าวในวันนี้ จึงเห็นด้วยเป็นอย่างมาก ซึ่งมองภาพว่า ๑๓ จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ได้รับผลกระทบจริง และรัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันจังหวัดอื่นๆ เกือบทั่วประเทศไทย ซึ่งประกอบการไม่ได้เช่นเดียวกัน แทบไม่ต่างกัน หากเทียบมาตรการในพื้นที่สีแดงเข้มกับพื้นที่สีแดงหรือสีส้ม แทบไม่ต่างกัน เมื่อภาครัฐต้องการเยียวยาหรือช่วยเหลือ การเยียวยานั้นต้องมองถึงข้อเท็จจริงที่เกิด ไม่ใช่มองถึงเนื้อความของกฎหมายหรือพื้นที่อย่างเดียว ข้อเท็จจริงปัจจุบันมองว่า ผู้ประกอบการโดนผลกระทบเหมือนกันหมด จึงน่าจะได้รับการเยียวยาเช่นกัน ดังนั้น ในฐานะผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะจึงเห็นด้วยกับการแถลงข่าวของ กกร. เพราะธุรกิจขนส่งสาธารณะไม่เคยมีการเยียวยาตั้งแต่รอบแรก” 

ทั้งนี้ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๒๘) กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ๑๓ จังหวัด ดังนี้ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๙ วันพุธที่ ๒๘ กรกฎาคม - วันอังคารที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


998 1599