8thOctober

8thOctober

8thOctober

 

July 29,2021

รถไฟส่งคนป่วยกลับบ้านเกิด ผู้ติดเชื้อร่วมขบวนเบาบาง

รถไฟขบวนพิเศษนำส่งผู้ป่วยติดเชื้อกลับสู่ภูมิลำเนา ๗ จังหวัดอีสานตอนล่างบางตา ชาวโคราชขอยกเลิก ส่วนสุรินทร์มาเพียง ๑ ราย  อุบลฯ ชุดแรก ๒๒ ราย ถึงบ้านเกิดปลอดภัย รถทหารรับส่งต่อไปยังศูนย์ดูแลชุมชน เพราะยังเป็นผู้ป่วยสีเขียว

ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมติดตามเตรียมการส่งผู้ป่วยโควิด-๑๙ กลับภูมิลำเนาในพื้นที่ ๗ จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครราชสีมา อำนาจเจริญ ยโสธร และสุรินทร์ ผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ โปรแกรม Zoom ณ กระทรวงคมนาคม โดยเริ่มให้ส่งผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป โดยจะมีผู้โดยสารจำนวนทั้งสิ้น ๑๓๗ คนนั้น

โคราชยกเลิกการเดินทาง

ต่อมาเวลา ๑๖.๑๕. น. วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ขบวนรถไฟด่วนพิเศษ ๙๗๑ รังสิต-อุบลฯ ภารกิจรับผู้ป่วยโควิด-๑๙ ส่งกลับไปรักษาในภูมิลำเนาตามเส้นทางรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ปลายทางสถานีวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้แล่นมาจอดเทียบชานชาลาที่ ๓ สถานีรถไฟนครราชสีมา เดิมมีผู้ป่วยชาว อ.เมือง อ.ด่านขุนทด และ อ.พิมาย จำนวน ๓ ราย ต้องการเดินทางกลับมารักษาอาการป่วยที่ภูมิลำเนาเดิม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมรถพยาบาลรับส่งผู้ป่วยไปรักษา ต่อมาได้แจ้งยกเลิก ขบวนรถไฟดังกล่าวได้มาจอดเป็นเวลา ๒๐ นาที เพื่อสับเปลี่ยนพนักงานขับรถไฟและช่างเครื่อง รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงดำเนินการตรวจเช็คระบบเครื่องยนต์และเติมน้ำมันเชื้อเพลิง 

ทั้งนี้ นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารกองทัพภาคที่ ๒ บุคลากรสาธารณสุขฯ และเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มาสังเกตการณ์กระทั่งขบวนรถแล่นออกจากสถานี

สุรินทร์มาเพียง ๑ ราย

จากนั้น เวลา ๑๘.๓๐ น. ขบวนรถไฟดังกล่าวมาถึงจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเตรียมความพร้อมในเรื่องของการรับ-ส่ง โดยมีรถจากโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธินมารอรับที่หน้าชานชาลา นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของสาธารณสุข ทหาร ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้ร่วมในการดำเนินการ รับและส่งป่วย ตามขั้นตอนเพื่อให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยในเบื้องต้นมีข่าวว่าชาวสุรินทร์ที่ประสงค์จะกลับมารักษาตัว ๑๖ รายนั้น พบว่า มาเพียง ๑ ราย เป็นชาวตำบลหนองบัวบาน อำเภอ รัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ โดยเจ้าหน้าที่จะนำผู้ป่วยออกจากสถานีรถไฟลำชีไปยังจุดคัดกรอง ที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์ศิลปาชีพอีสานใต้ ถนนเลี่ยงเมือง ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามศูนย์ราชการจังหวัดสุรินทร์ เพื่อทำการคัดกรองตามมาตรการที่ทาง ศบค.สุรินทร์วางไว้ ก่อนส่งต่อไปยังภูมิลำเนา

ส่วนชาวสุรินทร์ที่มีการแจ้งความประสงค์ที่จะเดินทางกลับมารักษาตัวผ่านศูนย์ประสานงานรับ-ส่ง ผู้ป่วยของอบจ.สุรินทร์ ถึงขณะนี้พบว่ามีผู้แจ้งความประสงค์มาเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางจังหวัดสุรินทร์และอบจ.สุรินทร์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมความพร้อมในการรองรับผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับมารักษาตัวที่จังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นชาวสุรินทร์อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ผู้ประสงค์ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ติดต่อเข้ามาที่ศูนย์ประสานงานรับ-ส่งผู้ป่วยโควิด ที่ต้องการเดินทางกลับมารักษาตัวที่บ้านของ อบจ.สุรินทร์ ตั้งแต่เปิดศูนย์มาเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้ประสงค์ขอเดินทางกลับบ้านวันละ ๑๐๐ กว่าคน รวมแล้วประมาณ ๑ พันกว่าคน

นพ.สินชัย ตันติรัตนานนท์ นายแพทย์ สสจ.สุรินทร์ กล่าวว่า การรับผู้ป่วยกลับบ้าน เป็นโครงการร่วมของ Surin Back Home เป็นความร่วมมือของกระทรวงคมนาคม ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย กระทรวง’มหาดไทย กลาโหม สาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย อบจ.สุรินทร์ มีการประสานร่วมมือกันเตรียมความพร้อมไว้ตลอด มีทั้งรูปแบบมาเป็นกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย กรณีที่เป็นกลุ่มใหญ่มีพื้นที่รองรับในการคัดแยก เพื่อหลีกเลี่ยงไปปะปนกับชุมชน จังหวัดสุรินทร์ใช้พื้นที่สถานีรถไฟลำชี ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ใกล้กับจังหวัด และมีพื้นที่ศูนย์ศิลปาชีพอีสานใต้เป็นพื้นที่รองรับในการตรวจคัดแยกผู้ป่วย ก่อนส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ซึ่งในความพร้อมไม่ว่าจะเป็นทางทหารซึ่งมีโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน เป็นทีมพี่เลี้ยง หรือมณฑลทหารบกที่ ๒๕ ก็เป็นกำลังสำคัญในการรับส่งผู้ป่วย และในท้องที่ทุกแห่งหากมีการประสานไปก็พร้อมที่จะจัดรถรับส่งไปยังอำเภอภูมิลำเนาตลอดเวลา

ในขณะที่ผู้ป่วยที่ลงมาจากรถไฟเป็นรายแรก มีการวัดความสามารถระดับออกซิเจน ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีมาก ก็ต้องขอบคุณทีมที่นำพามาทั้งหมดดูแลได้ดีมาก ต่อจากนี้ไปก็จะเป็นการรักษาพยาบาล ทางโรงพยาบาลสุรินทร์จะรับเข้าไปแล้วประเมินสถานการณ์ของสถานะทางปอด ถ้าไม่มีอาการมากก็จะนำส่งไปยังโรงพยาบาลสนาม หากมีอาการหนักก็จะทำการรักษาที่โรงพยาบาลสุรินทร์ต่อไป

“ในเบื้องต้นในส่วนของผู้ที่จะเดินทางมากับขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษนี้มีการประสานมาเกือบ ๒๐๐ ราย ทำให้เกิดกระแสวิตกในจังหวัดสุรินทร์  หลังจากนั้นทราบว่าในส่วนของท้องถิ่นเอง ทั้งทหารไม่ว่าจะเป็นส่วนของ มทบ.๒๕ สุรินทร์ และกองกำลังสุรนารี มีการนำส่งผู้ป่วยชาวสุรินทร์ตามโรงพยาบาลต่างๆ และก็ทยอยมาในหลายภาคส่วน รวมไปถึงที่เดินทางกลับเอง ทำให้จำนวนลดลง และหลายส่วนก็มีการรับเข้ารักษาแล้ว จึงทำให้จำนวนลดลง ถือว่าเป็นการทดสอบระบบ ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือช่วยกันในครั้งนี้ ในขณะที่สถานการณ์โควิด-๑๙ ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน กระจายไปทั้ง ๑๗ อำเภอ ลงถึงระดับตำบลแล้ว แต่ขณะนี้สุรินทร์แจ้งว่ายังเอาอยู่” นายแพทย์ สสจ.สุรินทร์ กล่าว

อุบลฯ ๒๒ ราย

ต่อมาเวลาประมาณ ๒๐.๔๕ น. รถไฟขบวนพิเศษส่งผู้ป่วยติดเชื้อชุดแรกเดินทางมาถึงสถานีปลายทางอำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยมีนายเกริกชัย ผ่องแผ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยยานพาหนะมณฑลทหารบกที่ ๒๒ ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ นำรถบรรทุกทหาร ๓ คัน จอดรับผู้ป่วยติดเชื้อกลุ่มสีเขียวที่เดินทางมากับรถไฟขบวนพิเศษจำนวน ๒๒ คน ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวอุบลราชธานี ไม่มีผู้ป่วยชาวจังหวัดยโสธรและอำนาจเจริญ ตามที่เคยลงทะเบียนไว้กับ สปสช.เดินทางมาด้วย

เมื่อขบวนรถแล่นมาถึงได้เข้าจอดในชานชาลาที่ ๑ ติดกับประตูทางออกด้านทิศตะวันตกของสถานี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้คัดแยกผู้ป่วยและสัมภาระตามภูมิลำเนาที่อยู่เป็น ๓ กลุ่ม ก่อนส่งขึ้นรถบรรทุกทหาร ซึ่งมีการจัดเตรียมอาหารมื้อเย็น และน้ำดื่มวางไว้ให้ผู้ป่วยบนรถ เพื่อส่งต่อไปยังศูนย์ดูแลชุมชนของผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาทั้ง ๒๒ คน

จากนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเทศบาลเมืองวารินชำราบ ได้นำอุปกรณ์ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในโบกี้โดยสาร และขบวนไฟนี้ จะจอดพักแยกออกจากขบวนรถไฟอื่นๆ ก่อนที่ พขร.จะตีรถเปล่ากลับเข้ากรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้น โดยไม่รับผู้โดยสารอื่นแต่อย่างใด

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๙ วันพุธที่ ๒๘ กรกฎาคม - วันอังคารที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


752 1,415