29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 03,2021

รง.ควบคุมระบาดดีขึ้น เฝ้าระวังครอบครัว-ชุมชน ปรับชีวิตอยู่กับโควิดให้ได้

โคราชพบผู้ติดเชื้อโควิดระลอก ๓ กว่า ๒ หมื่นราย เริ่มคลายล็อกมาตรการ หลังสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่การระบาดในครอบครัวยังน่าห่วง รองผู้ว่าฯ เผยรัฐบาลเปลี่ยนแนวคิด ชี้ไวรัสไม่มีวันหายไป เตรียมอยู่กับโควิดอย่างรู้เท่าทัน ด้าน สสจ.โคราช ย้ำวัคซีนที่ใช้อยู่ปลอดภัย ฉีดแล้วลดอาการป่วยรุนแรง เร่งฉีดให้ครบตามเป้า

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ระลอกที่ ๓ ในจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ ถึงปัจจุบัน ยังพบการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ๓๒ อําเภอ โดยจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ซึ่งส่วนใหญ่นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ทําหน้าที่ประธานการประชุม ณ สํานักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา และ “โคราชคนอีสาน” นําเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง

ความคิบหน้าในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๔ เพิ่ม ๔๕๐ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๓๖๔ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๕๒ ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ พร้อมด้วย พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา ร่วมประชุม

คลัสเตอร์สําคัญ

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานคลัสเตอร์ที่ยังมีการระบาดและพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง คือ คลัสเตอร์ครอบครัว อําเภอเมืองยาง มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๒ วง รวม ๖ ราย, คลัสเตอร์ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุนครราชสีมารีสอร์ท ตําบลสุรนารี อําเภอเมือง มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๒ วง รวม ๑๕ ราย, คลัสเตอร์บริษัทเน็กซ์ อินดัสเทค ตําบลสุรนารี อําเภอเมืองนครราชสีมา พนักงานบริษัทนี้ ๑๒ คน ปฏิบัติงานเมื่อวันที่ ๑๒-๑๕ สิงหาคม ที่โรงงานแปรรูปไก่ อําเภอโชคชัย ทั้ง ๒ บริษัท โดยมีหน้าที่ในการทําความสะอาดท่อเย็นหรือแอร์ โดยทั้ง ๑๒ คน ขณะนี้ตรวจพบเชื้อแล้ว ๖ คน, คลัสเตอร์กองช่าง อบจ.นครราชสีมา วันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ๔ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๑๓ ราย, คลัสเตอร์บ้านสําโรง อำเภอโนนไทย วันนี้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในวงที่ ๓ จํานวน ๕ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๒๓ ราย, คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ตําบลท่าเยี่ยม อำเภอโชคชัย ขณะนี้ แนวโน้มเริ่มดีขึ้น วันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๓๒ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๘๔๔ ราย รักษาหายแล้ว ๕๓๔ ราย แต่ที่สําคัญ คือ ขณะนี้ พนักงานที่รอผลการตรวจไม่มีแล้ว ส่วนพนักงานที่มีอาการปกติอยู่ในระบบ Bubble and Seal (BBS) แล้ว และในขณะนี้ยัง ไม่พบการติดเชื้อใน BBS ส่วนผู้สัมผัสวงที่ ๒ มีจํานวนเท่าเดิม, คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่คาร์กิล ตําบลกระโทก อําเภอโชคชัย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๕๗๑ ราย ซึ่งมาจากการตรวจ RT-PCR โดยมีโรงพยาบาลมหาราชฯ เข้าไปดําเนินการตรวจ รวมมีผู้ติดเชื้อ ๑,๖๓๓ ราย ขณะนี้รักษาหายแล้ว ๔๒๐ ราย และคลัสเตอร์ไก่ย่างห้าดาว ตำบลท่าเยี่ยม พนักงานทั้งหมด ๙๘ คน มีผู้ติดเชื้อ ๕๕ ราย รักษาหายแล้ว ๔๗ ราย เหลือรักษาเพียง ๘ ราย

โคราชยังไม่จบ

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “ขอขอบคุณโรงงานต่างๆ ที่กักตัวพนักงานให้อยู่ในสถานที่กักกัน เมื่อกักตัวไว้แล้ว ไม่ปล่อยให้พนักงานกลับบ้าน เชื้อก็มีอยู่แค่จุดเดียว ไม่ทําให้เกิดการติดเชื้อในครอบครัวหรือชุมชน แต่ถ้าปิดโรงงานแล้วไม่ให้พนักงานกักตัว ปล่อยทุกคนกลับบ้าน ก็อาจจะทําให้เกิดเรื่องใหญ่ขึ้น ดังนั้นขอให้ประชาชนเข้าใจหลักการทํางานของราชการ เพราะมีความจําเป็นที่จะต้องกักกันพนักงานไว้ แน่นอนว่า ในระหว่างการกักกันอาจจะไม่มีความพร้อมทั้งหมด เมื่อเกิดการติดเชื้อโรงงานก็ตกใจ ต้องหาสถานที่แยกพนักงานปกติออกมากักกันในสถานที่ต่างๆ เช่น โรงแรม แต่ส่วนราชการก็ไม่นิ่งนอนใจ ดังนั้น ขอให้ท้องถิ่นต่างๆ ลงไปเตรียมความพร้อมร่วมกับโรงงานในพื้นที่ตัวเอง โดยมีนายอําเภอเป็นแกนหลัก และเชิญชวนส่วนอื่นๆ มาพูดคุยทําความเข้าใจกัน สร้างความเข้าใจไม่ให้เกิดความวุ่นวาย เพื่อจะไม่ต้องตามแก้ปัญหาอย่างช่วงที่ผ่านมา และขอให้ส่วนราชการทํางานเชิงรุกมากขึ้น การตั้งรับเป็นการตามแก้ปัญหาที่ไม่จบสิ้น แต่ถ้าทํางานเชิงรุก ดักไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นจะดีกว่า ไม่ใช่รอให้วัวหายแล้วล้อมคอก ฝากทุกอําเภอให้ทํางานเชิงรุกมากขึ้น ส่วนการตั้งรับขอให้ทําอย่างเข้มแข็งต่อไป โดยเฉพาะการตั้งรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง จัดให้มีสถานที่กักตัวหรือ State Quarantine (SQ)”

“อีกสิ่งหนึ่งที่น่ากังวล คือ ตัวเลขที่เปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ แม้โคราชจะติดวันละ ๔๐๐-๕๐๐ คนต่อวัน แต่ที่กรุงเทพฯ เขาปิดแคมป์คนงาน คนเดินทางออกมาหมดแล้ว โรงงานหรือแคมป์ขนาดใหญ่ปิดหมดแล้ว แต่โรงงานในโคราชยังเปิดอยู่ มีคนทํางานหลักแสนคน แต่ที่พบพนักงานติดเชื้อขณะนี้แค่ ๒-๓ หมื่นคน ดังนั้น จึงยังน่าเป็นห่วง โอกาสที่ตัวเลขของโคราชจะเพิ่มมากขึ้นยังมีอยู่ ในกลุ่มของประชาชนอาจจะมีเพิ่มเรื่อยๆ เป็นจุดๆ ไป แต่เรื่องสําคัญ คือ โรงงงาน ทุกวันนี้มีคลัสเตอร์โรงงานใหม่เพิ่มขึ้นมาวันละแห่งสองแห่ง โคราชยังไม่จบแม้ภาพรวมของประเทศจะดีขึ้น จึงขอฝากมาตรการในการคุมเข้มโรงงาน ขอให้ทํางานเชิงรุกอย่างจริงจัง ประเด็นโรงงานที่ผ่านมานํามาเป็นบนเรียนได้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะได้เข้าถึงและแก้ไขอย่างรวดเร็ว” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

อบจ.เร่งสกัดโควิด

นายวุฒิชัย วงค์ปัญโญ ปลัด อบจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “ตามที่มีคลัสเตอร์สํานักการช่าง อบจ.นครราชสีมา ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ ๑๑ ราย และมีกลุ่มเสี่ยงสูง ๒๔ คน กลุ่มเสี่ยงต่ำ ๒๐ คน ซึ่งกักตัวที่สํานักการช่าง แต่เนื่องจากเตียงไม่พอจึงขอใช้อาคารของวิทยาลัยธุรกิจและการท่องเที่ยว จัดตั้งเป็น SQ โดยทีม สสจ.นครราชสีมา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เรียบร้อย

นายเอกรัฐ ณรงค์สระน้อย นักวิชาการสาธารณสุขชํานาญการ สสจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “จากการจัดทีมลงพื้นที่เพื่อดําเนินการตอบโต้เหตุการณ์ที่สํานักการช่าง อบจ. พบการระบาดในลักษณะคลัสเตอร์ มีผู้สัมผัสเสี่ยงจํานวนมาก จึงต้องมีสถานที่นําผู้สัมผัสเสี่ยงออกจากครอบครัว ประกอบกับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำบางรายจะต้องทํางานต่อ จึงต้องจัดหาสถานที่กักกันใกล้กับสํานักการช่าง โดยได้ความอนุเคราะห์จากผู้อํานวยการวิทยาลัยธุรกิจและการท่องเที่ยว โดย สสจ.มีข้อเสนอแนะไม่ให้ใช้ห้องที่มีพรม เหลือพื้นที่ใช้งานเพียง ๒๘ ห้อง ซึ่งการตรวจครั้งนี้มี ๒ ทีม คือ ทีมระบาดวิทยา จะดูเรื่องความปลอดภัยหรือกลุ่มเสี่ยง และทีมสิ่งแวดล้อมของ สสจ. ดูความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม ผลการประเมินสรุปว่า ให้ดําเนินการได้”

นายวุฒิชัย วงศ์ปัญโญ ปลัด อบจ.นครราชสีมา กล่าวอีกว่า “กรณีการดูแลบ้านพักคนชรา ซึ่งอยู่ในการดูแลของ อบจ. จํานวน ๒ แห่ง คือ ที่วัดม่วงและถนนโพธิ์กลาง จัดให้มีมาตรการตามที่ ศบค.กําหนดมา ทั้งคัดกรองกลุ่มเสี่ยง แต่ขณะนี้ยังไม่พบกลุ่มเสี่ยง และให้ความรู้แก่ผู้พักทุกวัน มีการรายงานสถานการณ์ตลอด ส่วนการฉีดวัคซีนก็ได้รับการจัดสรรให้แล้ว”

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “กรณีการติดเชื้อในบ้านพักคนชรา เมื่อติดเชื้อขึ้นได้ก็จะเป็นกันหมด ซึ่ง อบจ.ดูแลอยู่ ๒ แห่ง ผมทราบว่า บ้านพักทั้ง ๒ แห่ง ไม่มีการให้เยี่ยมและไม่ให้คนออกมา แต่กรณีผู้ดูแลที่ต้องไปเช้าเย็นกลับ เข้าออกเป็นประจํา จุดนี้ คือ ปัญหา จึงต้องการให้ อบจ.เข้มงวดกับคนที่เข้าออก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่

พบผู้ติดเชื้อน้อยลง

วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เพิ่ม ๓๕๕ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๒๘๑ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๗๔ ราย สรุปมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๙,๒๕๔ ราย รักษาหาย ๑๓,๖๙๗ ราย ยังรักษาอยู่ ๕,๔๒๙ ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๓๑ ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ ๑๓๐ เพศหญิง อายุ ๕๐ ปี อ.สีตา มีประวัติกลับจากพื้นที่เสี่ยง มีโรคเบาหวาน เสียชีวิตที่ รพ.มหาราชฯ เมื่อวันที่ ๒๘ ส.ศ.๒๕๖๔ เวลา ๐๕.๐๐ น. และผู้เสียชีวิตรายที่ ๑๓๑ เพศชาย อายุ ๔๗ ปี อ.บ้านเหลื่อม มีประวัติกลับจากพื้นที่เสี่ยง เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๖ ส.ค.๒๕๖๔ เวลา ๑๖.๓๐ น. ที่ รพ.มหาราชฯ

วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เพิ่ม ๒๓๗ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๑๘๒ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๕๕ ราย สรุปมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๙,๔๙๑ ราย รักษาหาย ๑๓,๙๘๑ ราย ยังรักษาอยู่ ๕,๓๗๗ ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๓๓ ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ ๑๓๒ เพศหญิง อายุ ๔๓ ปี ต.โคกกระเบื้อง อ.บ้านเหลื่อม น้ำหนัก ๖๒ กก. ส่วนสูง ๑๕๒ ซม. มีประวัติป่วยมาจากกรุงเทพฯ กลับมารักษา เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๒๐.๔๐ น. ที่ รพ.มหาราชฯ และผู้เสียชีวิตรายที่ ๑๓๓ เพศชาย อายุ ๔๗ ปี อ.หนองบุญมาก ส่วนสูง ๑๗๐ ซม. น้ำหนัก ๗๔ กก. มีประวัติป่วยมาจากกรุงเทพฯ กลับมารักษา เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๒.๒๐ น.ที่ รพ.มหาราชฯ

ยังพบคลัสเตอร์ใหม่

ต่อมาวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เพิ่ม ๑๗๐ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๑๒๑ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๔๙ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ พร้อมด้วย นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา ร่วมประชุม

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานคลัสเตอร์ใหม่ คือ คลัสเตอร์ชุมชนทุ่งสว่าง เขตเทศบาลนครฯ เกิดขึ้นจากผู้ติดเชื้อรายหนึ่งนำหลานไปช่วยขนปุ๋ยที่อําเภอเฉลิมพระเกียรติ ต่อมาผู้ป่วยมีอาการไข้ จึงเดินทางไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ปรากฏว่า ติดเชื้อ จากนั้นจึงให้หลานไปตรวจและผลออกมาติดเชื้อ ซึ่งหลานพักอาศัยอยู่ที่ชุมชนทุ่งสว่าง จึงทําให้คนในครอบครัว คนในชุมชนทุ่งสว่าง และชุมชนท้าวสุระ ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๓๒ ราย, คลัสเตอร์ตําบลสีสุก อําเภอจักราช เนื่องจากมีข่าวลือว่า พนักงานธนาคารไทยเครดิต แผนกสินเชื่อ สาขาข้างเดอะมอลล์ ติดเชื้อโควิด จึงทําให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ครอบครัวและกลุ่มเพื่อน รวมมีผู้ติดเชื้อ ๖ ราย และคลัสเตอร์โรงงานอาหารแปรรูปสามแยกปักธงชัย อําเภอเมือง พนักงาน ๗๐ คน ได้ทําการตรวจ Antigen Test Kit พบผลบวก ๑๔ คน ขณะนี้ส่งตรวจ RT-PCR หากสอบสวนโรคและมีผลยืนยัน จึงจะเรียกว่าเป็นคลัสเตอร์และเปิดเผยชื่อโรงงาน

สําหรับคลัสเตอร์เก่าที่ยังมีการระบาดต่อเนื่อง ได้แก่ คลัสเตอร์ชุมชนเสริมสุขพัฒนา อําเภอสูงเนิน ขณะนี้อยู่ในการควบคุมจึงไม่มีการแพร่ระบาดเพิ่มเติม รวมมีผู้ติดเชื้อ ๓๗ ราย, คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปหมู (เบทาโก) อําเภอปักธงชัย ผลจากการตรวจหาเชื้อเพิ่มเติมในกลุ่มผู้กักตัว พบติดเชื้อเพิ่ม ๑๓ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๖๒ ราย, คลัสเดอร์โรงงานแปรรูปไก่ ตำบลท่าเยี่ยม พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๓๔ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๙๒๑ ราย รักษาหาย ๗๘๑ ราย ซึ่งสถานการณ์ของโรงงานตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรก เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม โรงงานก็ค้นหาเชิงรุกทันที พนักงานที่ติดเชื้อจึงถูกนําเข้าระบบรักษาอย่างรวดเร็ว พร้อมกับแยกพนักงานปกติเข้าสู่ระบบ BBS ไม่พบผู้ติดเชื้อใน BBS และไม่กระทบต่อชุมชน และคลัสเตอร์โรงงานแปรูปไก่คาร์กิล ตําบลกระโทก พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๓๒ ราย เนื่องจากผลตรวจ RT-PCR เพิ่งออก รวมมีผู้ติดเชื้อ ๑,๓๘๔ ราย รักษาหาย ๕๓๗ ราย ซึ่งตัวเลขวันนี้เป็นตัวเลขจากข้อมูลจริง หลังจากที่ สสจ.และ สคร.๙ ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ จึงอาจจะไม่ตรงกับทุกวันที่ผ่านมา

โรงงานแปรรูปไก่คลี่คลาย

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ กล่าวอีกว่า “คลัสเตอร์โรงงานแปรูปไก่คาร์กิล ตําบลกระโทก เริ่มต้นเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม จากพนักงานที่อาศัยอยู่ในอําเภอครบุรี ไปตกปลากับกลุ่มเพื่อน และนําเชื้อมาแพร่ระบาดในโรงงาน หลังจากนั้นโรงงานก็พบการติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ โรงงานจึงนําพนักงานเข้า BBS และมีการระบาดรุนแรงหลังวันที่ ๑๖ สิงหาคม จึงมีการประชุมกำกับติดตามมาโดยตลอด และมีปัญหาในการสื่อสาร จากนั้น สสจ.และ สคร.๙ จึงลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานและให้คําแนะนํา หลังวันที่ ๒๙ สิงหาคม ผู้ติดเชื้อจึงเริ่มลดลง กระทั่งควบคุมสถานการณ์ได้ และเมื่อพนักงานปอดเชื้อทั้งหมดแล้ว โรงงานจะกลับมาเดินสายผลิตอีกครั้ง ในส่วนของสิ่งแวดล้อมก็ได้ทําความสะอาดเรียบร้อยแล้ว”

ต้องอยู่กับโควิดให้ได้

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวเสริมว่า “เมื่อได้พูดคุยและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ข้อมูลข้อเท็จจริงก็ดีขึ้น ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ พยายามป้องกันทุกอย่าง และโรงงานก็ให้ความร่วมมือ จุดใดที่ไม่ปลอดภัยก็ปิดไว้ก่อน สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ที่สําคัญ คือ ความร่วมมือกันและกัน เพื่อประสานข้อมูลและการทํางานกันอย่างรวดเร็ว เมื่อสถานการณ์ของโรงงานเริ่มดีขึ้น ประชาชนหรือชุมชนต่างๆ ก็ห้ามอ่อนแอหรือการ์ดตก ยังต้องยกการ์ดไว้เสมอ สําหรับสถานการณ์ของโคราช ในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา ศบค.ชุดใหญ่ ให้ทุกจังหวัดเข้าร่วมประชุม ซึ่งส่วนกลางจะประเมินการฉีดวัคซีน โดยเน้นกลุ่ม ๖๐๘ หรือผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป และกลุ่ม ๗ โรคเสี่ยง เนื่องจากกลุ่มนี้เมื่อได้รับเชื้อแล้ว มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มทั่วไป จึงจําเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อน ส่วนกลุ่มทั่วไปรับรองว่า ได้รับทุกคน แต่อาจจะต้องรอและได้ช้าลง ส่วนคนที่อาการหนักหรือเสี่ยงติดเชื้อจะได้รับก่อน

“นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีท่าทีเปลี่ยนไป โดยมีวิธีคิดว่า ทุกคนรอบตัวเรามีโอกาสแพร่เชื้อ ดังนั้น คนที่มาคุยกับเราอาจจะมีเชื้อ และเราก็อาจจะมีเชื้อ จึงต้องป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล จะทําอะไรให้ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างเสมอ รัฐบาลไทยและทั่วโลกตระหนักแล้วว่า โควิด-๑๙ จะไม่หมดไป แต่ทําอย่างไรจะอยู่กับมันให้ได้ มาตรการต่างๆ ซึ่งจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น เมื่อตัวเลขเริ่มลดลงและคนเริ่มยอมรับความจริงว่า จะอยู่กับโควิด-๑๔ อย่างไร จะเห็นว่า มาตรการฉบับล่าสุดมีความผ่อนคลาย แม้ตัวเลขยังมากอยู่ ซึ่งหลายประเทศก็ใช้วิธีคิดแบบนี้ เช่น สิงคโปร์ เขาไม่นับตัวเลขแล้ว แต่เขาอยู่กับโควิด เพราะหลายประเทศฉีดวัคซีนครบ ๒ เข็มแล้ว ซึ่งจะช่วยป้องกันอาการหนัก เขาจึงอยู่กันโรคได้”

โคราชเร่งฉีดวัคซีน

นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ กล่าวถึงการวัคซีนว่า “ขณะนี้แนวโน้มการกระจายวัคซีนเริ่มดีขึ้น และเมื่อได้รับการจัดสรรมาแล้วจะกําหนดว่า กลุ่มใดควรได้รับกี่โดส ซึ่งในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา โคราชสามารถฉีดวัคซีนได้วันละ ๓๐,๐๐๐ เข็ม หากได้รับการจัดสรรเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่า โคราชจะสามารถฉีดได้อย่างทั่วถึง ซึ่งใน รพ.สต. และอําเภอต่างๆ เริ่มมีการกระจายจุดฉีดแล้ว โดยสถานการณ์การฉีดวัคซีนขณะนี้ จากเป้าหมาย ๒,๑๑๒,๓๘๑ คน ฉีดเข็มที่ ๑ ไปแล้ว ๖๓๘,๖๓๒ คน ฉีดเข็มที่ ๒ ไปแล้ว ๒๓๗,๘๔๗ คน รวมใช้วัคซีนไปแล้ว ๘๗๖,๔๗๙ โดส ผมยืนยันว่า วัคซีนที่ใช้ปัจจุบัน มีอัตราการป่วยหรืออาการหนักรุนแรงจากวัคซีน มีประมาณ ๗ คน ใน ๑ ล้านคน เมื่อมีข่าวก็จะนําเสนอเฉพาะคนที่มีอาการ แต่คนที่ปลอดภัยอีกมหาศาลไม่ถูกนําเสนอ ถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อโควิดได้ แต่อาการจะไม่รุนแรงมาก จึงขอเชิญชวนกลุ่ม ๖๐๘ มาฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ”

คลายล็อกมาตรการ

สําหรับการปรับมาตรการต่างๆ ลงนั้น นายจักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ นิติกรชํานาญการพิเศษ สสจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากข้อกําหนดออกตามมาตรา ๙ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ฉบับที่ ๓๒ โดยเนื้อหาของข้อกําหนดประกอบด้วย ๑.พื้นที่สถานการณ์จําแนกตามจังหวัดยังคงเหมือนเดิม ซึ่งจังหวัดนครราชสีมายังคงเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ๒.ข้อห้ามสําหรับการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามรวมกลุ่มเกิด ๒๕ คน หากจะจัดกิจกรรมเกินกว่านี้ จะต้องขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อในพื้นที่ ๓.มีการพูดถึงมาตรการในอนาคต โดยให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมแผนมาตรการ การจัดสรรวัคซีน เครื่องมือแพทย์ โรงพยาบาลสนาม และสถานพยาบาล พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติการป้องกันตนเอง ๔.พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จะยังคงมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา ๒๑.๐๐-๐๔.๐๐ น.

๕.การบูรณาการมาตรการสําหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ (๑) โรงเรียนทุกประเภทอนุญาตให้ใช้สถานที่หรืออาคาร ในการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม โดยจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาความจําเป็นและการดําเนินการตามมาตรการ (๒) ร้านอาหาร สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกิน ๒๐.๐๐ น. และห้ามจําหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากเป็นร้านอาหารที่มีเครื่องปรับอากาศ จะนั่งได้ไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของจํานวนที่นั่ง ส่วนร้านทั่วไป จะนั่งได้ไม่เกินร้อยละ ๗๕ ของจํานวนที่นั่ง (๓) สถานบริการเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม เปิดบริการได้ (๔) สถานบริการเพื่อสุขภาพหรือนวดแผนไทย ให้เปิดบริการได้เฉพาะการนวดเท้า (๕) ตลาดนัดเปิดได้ไม่เกิน ๒๐.๐๐ น เฉพาะการจําหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค (๖) ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์การค้า ให้เปิดตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ น. โดยยังปิดโรงภาพยนตร์ สวนสนุก สวนน้ำ สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกําลังกาย ฟิตเนส ตู้เกม เครื่องเล่น สถาบันกวดวิชา ร้านเกม และสถานที่จัดเลี้ยงหรือประชุม (๗) สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระว่ายน้ำกลางแจ้ง เปิดบริการได้ไม่เกิน ๒๐.๐๐ น. และจัดแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม ๖.การเดินทางข้ามจังหวัดจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สามารถทําได้ แต่ขอให้เดินทางเฉพาะผู้ที่มีความจําเป็นเท่านั้น และ ๗.การขนส่งสาธารณะ จํากัดจํานวนผู้โดยสารไม่เกินร้อยละ ๗๕ ของความจุผู้โดยสารรถทุกประเภท

วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ มีผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เพิ่ม ๒๐๗ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๑๓๖ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๗๑ ราย สรุปมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๙,๘๖๘ ราย รักษาหาย ๑๔,๘๒๖ ราย ยังรักษาอยู่ ๔,๙๐๗ ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๓๕ ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ ๑๓๔ เพศหญิง อายุ ๘๓ ปี ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง น้ำหนัก ๕๐ กก. ส่วนสูง ๑๕๕ ซม. มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโควิด-๑๙ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๒.๐๐ น. ที่ รพ.มหาราชฯ และผู้เสียชีวิตรายที่ ๑๓๕ เพศชาย อายุ ๘๙ ปี ต.หนองไผ่ล้อม อ.เมือง ภูมิลําเนา ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-๑๙ (ลูกชายและคนในครอบครัว) รักษาที่ รพ.ค่ายสุรนารี เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๕๔ น. ที่ รพ.ค่ายสุรนารี

โรงงานติดเชื้อน้อยลง

ล่าสุด วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เพิ่ม ๒๐๗ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๑๓๖ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๗๑ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ พร้อมด้วย นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และ นพ.สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานว่า ในส่วนของคลัสเตอร์ในโรงงานควบคุมได้ดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดในครอบครัวและชุมชน โดยในวันนี้มีคลัสเตอร์หนองแวง อําเภอเทพารักษ์ มีผู้ป่วยเดินทางไปขายของที่ตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดปทุมธานี กลับมาโคราชก็กักตัวที่กระท่อม จากนั้นเดินทางไปฉีดวัคซีนที่ โรงพยาบาลเทพารักษ์ และรู้สึกไม่สบายและเจ็บคอ จากนั้นกลับไปตักตัวภายในบ้าน ซึ่งในครอบครัวอยู่กันทั้งหมด ๖ คน ซึ่ง ผลตรวจหาเชื้อปรากฏว่า ติตทั้งครอบครัว และระบาดไปยังเพื่อนกับพ่อตาด้วย ทําให้คลัสเตอร์นี้มีผู้ติดเชื้อ ๘ ราย, คลัสเตอร์ครอบครัวจําหน่ายโรตี ตําบลตลาดไทร อําเภอชุมพวง ผู้ป่วยรายแรกประสบอุบัติเหตุ จึงเดินทางมาที่โรงพยาบาลมหาราชฯ แต่พบว่า มีอาการไอและมีเสมหะ แพทย์จึงตรวจ RT-PCR ทันที และพบว่า ติดเชื้อโควิด-๑๙ ทําให้คนในครอบครัวอีก ๔ คนติดเชื้อด้วย แต่ที่น่ากังวล คือ ลูกชาย อายุ ๑๖ ปี มีอาชีพขายโรตีตามชุมชนต่างๆ จึงทําให้มีผู้สัมผัสใน ๓ ตำบล รวม ๑๖๐ ราย และจะทําการตรวจ ATK และค้นหาเชิงรุกต่อไป โดยขณะนี้พบผู้ติดเชื้อรวม ๕ ราย

คลัสเตอร์โรงงานหมูยอปึงหงี่เชียง ผู้ป่วย ๒ รายแรก เป็นพนักงานของโรงงาน พบว่าในชุมชน (บ้านคนชุม) มีการติดเชื้อ พนักงานจึงหยุดงานและกักตัว แต่จากนั้นก็กลับมาทํางาน โดยให้นั่งทํางานแยกกับคนอื่นๆ ผลตรวจ ATK รอบ ๒ ปรากฏว่า ติดเชื้อ เมื่อโรงงานทราบผล จึงตรวจค้นเชิงรุกทันที พนักงานทั้งหมด ๗๕ คน พบผลบวก ๑๔ คน ส่วนคนที่ยังไม่ติดเชื้อก็นําไปกักตัวที่โรงแรมของโรงงาน พร้อมกับปิดทําการตั้งแต่วันที่ ๒๙ สิงหาคม ซึ่งโรงงานดูแลพนักงานเป็นอย่างดี จากนั้นโรงพยาบาลมหาราฯ แจ้งผลตรวจ RT-PCR พบติดเชื้อ ๑๓ ราย และมี ๑ รายให้ไปตรวจใหม่ เนื่องจากผลไม่ชัดเจน ซึ่ง สสจ.ต้องขอบคุณโรงงานที่ดูแลพนักงานเป็นอย่างดี ทั้งการอยู่การกิน ซื้อเสื้อผ้าให้ใส่ และยังปฏิบัติตามคำแนะนําทุกอย่างด้วยดี ส่วนแผนกอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงงาน ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม, คลัสเตอร์ชุมชนทุ่งสว่าง และชุมชนท้าวสุระ วันนี้พบผู้ติด เชื้อเพิ่ม ๒ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๓๔ ราย, คลัสเตอร์อําเภอด่านขุนทด วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่ ๕ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๑๙ ราย, คลัสเตอร์พนักงานโรงงานปริ้นเตอร์ (แคนนอน) อําเภอสูงเนิน วันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๗ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๑๙ ราย, คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ตำบลท่าเยี่ยม พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๗ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๙๒๘ ราย รักษาหาย ๘๕๙ ราย และคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่คาร์กิล ตําบลกระโทก วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มที่ถูกเฝ้าระวัง ๒๒ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๑,๓๙๓ ราย รักษาหาย ๑๗๗ ราย

กักตัวต้องครบ ๑๔ วัน

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “จากคลัสเตอร์หนองแวง จะเห็นว่า มีการกักตัว แต่ไม่เต็มที่ เพราะไปกักตัวที่เถียงนา แต่สุดท้ายก็กลับเข้ามาอยู่ที่บ้าน ทําให้ติดเชื้อทั้งครอบครัว ขอฝากทุกอําเภอว่า ต้องจริงจัง กักตัว ๑๔ วันต้องครบ ๑๔ วัน หากจะกักตัวอย่ากักที่บ้าน เพราะจะทําให้เกิดปัญหาและทําให้มีการแพร่ระบาดเชื้อ นอกจากนี้คลัสเตอร์ปึงหงี่เชียง พนักงาน ๒ รายแรกกักตัวจริง แต่กักตัวไม่ครบ ๑๔ วันก็มาทํางาน ถ้าอยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสียงสูงต้องกักตัวให้ครบ ๑๔ วัน และรอผลตรวจ ATK ครบ ๓ ครั้ง ดังนั้นเรื่องนี้จึงสําคัญ หากทุกคนกักตัวครบ ๑๔ วัน ก็จะทําให้ไม่มีปัญหา ส่วนหมู่บ้านที่มีการติดเชื้อมีการสั่งปิดหรือไม่ และชุมชนในเขตเทศบาลนครฯ มีมาตรการอย่างไร”

เทศบาลฯ ดูแลอย่างดี

เจ้าหน้าที่จากเทศบาลนครฯ รายงานว่า “หลังจากที่เทศบาลนครฯ ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อ ๓ ราย จึงลงพื้นที่ชุมชนทุ่งสว่าง และซอยท้าวสุระ ซึ่งในชุมชนมีทั้งหมด ๓๗ หลังคาเรือน พบผู้ติดเชื้อ ๒๐ หลังคาเรือน ประมาณ ๔๖ คน โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้กักตัวบ้านละคน ส่วนที่เหลือนําไปกักตัวที่โรงแรมฟอร์จูน จากผลการตรวจ ATK จํานวน ๓๔๖ คน พบผลบวก ๒ คน แต่ ๒ คนนี้อยู่ในชุมชนศาลาลอย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชนทุ่งสว่าง ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงยังพบการติดเชื้อเรื่อยๆ แต่ยังอยู่ในการควบคุม เพราะชุมชนค่อนข้างแออัด เช่น บ้านหลังหนึ่งอยู่กัน ๕-๖ คน แต่มีห้องน้ำและห้องนอนเพียงห้องเดียว ในส่วนของการดําเนินการปิดพื้นที่ เทศบาลฯ ได้นําเจ้าหน้าที่ รปภ.เฝ้าไม่ให้คนเข้าออกในชุมชน ทั้งหน้าและท้ายซอย แต่มีกลุ่มเสี่ยงต่ำประมาณ ๑๐ คน ที่สามารถเข้าออกพื้นที่ได้ โดยมีการดูแลประชาชนที่กักตัวในชุมชนด้วยการมอบถุงยังชีพ และนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ได้ลงพื้นที่มอบอาหารกล่องให้ด้วยตนเอง ซึ่งเทศบาลฯ ดูแลประชาชนเป็นอย่างดี” มาตรการในอนาคต

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “วันนี้เป็นวันแรกของการผ่อนคลายมาตรการ ศบค.ได้กําหนดให้มีมาตรการเตรียมความพร้อมสําหรับบังคับใช้ในอนาคต โดยจะต้องเตรียมความพร้อมให้อยู่กับโควิดอย่างรู้เท่าทัน ภาครัฐจะเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล วัคซีน และชุดตรวจหาเชื้อ โดยขณะนี้จะเน้นฉีดวัคซีนในกลุ่ม ๖๐๘ เพราะกลุ่มนี้เมื่อมีการติดเชื้อจะป่วยหนัก และมีโอกาสเสียชีวิตมากถึงร้อยละ ๙๐ โดยเฉพาะคนที่อายุ ๖๐ ปีขึ้นไป มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ ๖๖ ศบค.จึงให้ทุกจังหวัดเร่งฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มนี้ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มนี้ร้อยละ ๕๐ ดังนั้นเรื่องนี้ภาครัฐจะต้องเร่ง ดําเนินการ ส่วนประชาชนทั่วไปจะยังได้รับวัคซีนเช่นกัน แต่ช่วงนี้จะเน้นกลุ่ม ๖๐๘ ก่อน ในส่วนของภาคเอกชน ที่จะเปิดดําเนินกิจกรรมหรือกิจการต่างๆ เดี๋ยวจะมีมาตรการออกมาเรื่อยๆ ซึ่งในเรื่องมาตรการนั้น เดือนกันยายนจะเป็นช่วงเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ พนักงาน และลูกค้า ขอให้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ประกอบการและลูกค้า ในส่วนของภาคประชาชน จะต้องป้องกันตัวอย่างเข้มงวด ซึ่งผู้ประกอบการไม่ใช่ว่าจะกําหนดให้เฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนครบ ๒ เข็มเข้าใช้บริการ เรื่องนี้อาจจะเป็นการบังคับใช้ในอนาคต แต่ขณะนี้ยังทําไม่ได้ เพราะคนที่ฉีดครบ ๒ เข็มยังมีน้อย ทั้งประเทศมีเพียง ๓-๕ ล้านคน หากจะให้เฉพาะกลุ่มนี้เข้าใช้บริการ ร้านค้าต่างๆ คงจะไม่มีคนเข้า”

“จากยอดผู้ติดเชื้อที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่มีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ยังถือว่าตัวเลขสูงอยู่ จึงทําให้ร้านค้าหลายแห่งยังไม่กล้าเปิดให้บริการ เพราะถ้ามีคนเข้าไปแล้วติดเชื้อ ร้านก็จะถูกสั่งปิดอีกครั้ง ซึ่งบางร้านมีการสต็อกของจํานวนมาก บางร้านซื้อไว้ล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ หากถูกสั่งปิดก็จะเกิดผลกระทบ ดังนั้น ขอฝากถึงประชาชนเรื่องการอยู่กับโควิด-๑๙ อย่างรู้เท่าทัน กระทรวงสาธารณสุขกําลังจะออกมาตรการต่างๆ ส่วนเรื่องชุดตรวจ ATK ขณะนี้ยังมีน้อย ภาครัฐและเอกชนกําลังพยายามนำเข้ามาเพิ่มเติมเรื่อยๆ แต่เมื่อนํามาแล้วราคาก็ยังสูงอยู่ การใช้จ่ายอะไรจึงขอให้มีความระมัดระวัง การจะไปซื้ออะไรเหมือนเดิมคงไม่ได้ มาตรการอยู่กับโควิดยังเป็นแค่ช่วงเตรียมความพร้อม แต่มาตรการทางสาธารณสุขยังคงใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการจํากัดจํานวนผู้นั่งในร้านอาหาร การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และการล้างมือ เรา คยทําก็ขอให้ทําต่ออย่างเคร่งครัต” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เพิ่ม ๑๓๓ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๘๘ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๔๕ ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๓ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๔๐ ราย รักษาหาย ๑๕,๔๒๑ ราย ยังรักษาอยู่ ๔,๖๒๐ ราย สรุปมีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๐,๑๘๑ ราย แยกตามรายอำเภอ ดังนี้ อำเภอเมือง ๑,๔๘๔ ราย ปากช่อง ๓,๓๓๘ ราย พิมาย ๖๐๖ ราย บัวใหญ่ ๖๕๗ ราย ด่านขุนทด ๙๗๑ ราย โชคชัย ๑,๘๓๘ ราย ครบุรี ๘๔๖ ราย ชุมพวง ๓๔๖ ราย สูงเนิน ๗๕๑ ราย สีคิ้ว ๘๔๑ ราย ปักธงชัย ๗๓๕ ราย ประทาย ๗๐๒ ราย จักราช ๔๘๓ ราย โนนไทย ๔๔๙ ราย โนนสูง ๗๓๘ ราย โนนแดง ๒๘๒ ราย เสิงสาง ๖๖๙ ราย คง ๖๐๖ ราย ขามสะแกแสง ๒๘๖ ราย ขามทะเลสอ ๑๖๓ ราย แก้งสนามนาง ๔๑๗ ราย ห้วยแถลง ๖๑๔ ราย หนองบุญมาก ๔๗๗ ราย วังน้ำเขียว ๓๒๗ ราย บ้านเหลื่อม ๒๔๒ ราย พระทองคำ ๒๙๕ ราย ลำทะเมนชัย ๒๑๗ ราย เฉลิมพระเกียรติ ๑๑๓ ราย เมืองยาง ๑๔๑ ราย สีดา ๒๐๕ ราย บัวลาย ๑๗๒ ราย และเทพารักษ์ ๑๗๐ ราย

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๔ วันพุธที่ ๑ - วันอังคารที่ ๗ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


991 1596