28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

September 24,2021

อสังหาอีสานชะลอตัวหนัก หากวัคซีนทั่วถึงจะดีขึ้น ปี ๖๕ มีสัญญาณฟื้นตัวชัด

สำรวจสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยภายใต้สถานการณ์โควิด–๑๙ ของภาคอีสาน ชะลอตัวลง คาดเริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๕ โดยเป็นผลมาจากกา รคาดการณ์ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทยสามารถกระจายวัคซีนได้ทั่วถึง ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นในระดับที่สูงกว่าปี ๒๕๖๔ และคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี ๒๕๖๕ จะขยายตัวประมาณร้อยละ ๔.๐ ด้าน “กรีนเมโทร” ลุย “บ้านล้านหลัง” อุดรธานี ขอนแก่น และโคราช


เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๔ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหา ริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยผลสำรวจภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๕ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี และมหาสารคาม โดยเป็นการจัดเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นกับการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๔ ด้วยการสำรวจภาคสนาม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังคงประสบกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอก ๓ และ ๔ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๔ มีโครงการที่อยู่อาศัยใหม่เข้าสู่ตลาดน้อย มีเพียง ๑,๕๘๓ หน่วย (Unit) หรือลดลงร้อยละ -๒๔.๔ และมีมูลค่ารวม ๔,๘๖๑ ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ -๒๐.๖ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อุปทานที่อยู่อาศัยทั้งหมดที่มีการขายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนรวม ๑๓,๗๐๑ หน่วย หรือลดลงร้อยละ -๑๑.๑ และมีมูลค่ารวม  ๔๗,๐๐๐  ล้านบาท หรือ ลดลงร้อยละ -๑๒.๙ โดยมีหน่วยขายได้ใหม่ลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยมีจำนวนหน่วยประมาณ ๒,๑๔๑ หน่วย หรือ ลดลงร้อยละ -๒๔.๙ และมีมูลค่า ๖,๔๗๔ ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ -๓๐.๓  ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขายอยู่ในตลาดประมาณ ๑๑,๕๖๐ หน่วย และมีมูลค่ารวมประมาณ ๔๐,๕๒๖ ล้านบาท ซึ่งลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยจำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -๘.๐ และมูลค่าลดลงร้อยละ -๙.๓ ตามลำดับ  ในจำนวนดังกล่าวเป็นการลดลงของหน่วยอาคารชุดเหลือขายร้อยละ -๑๖.๒ ขณะที่หน่วยบ้านจัดสรรเหลือขายลดลงร้อยละ -๕.๘ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการปรับตัวโดยลดจำนวนของการพัฒนาโครงการอาคารชุดเปิดตัวใหม่ลง แต่ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจไปพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรเข้ามาสู่ตลาดมากเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาลงรายละเอียด พบการชะลอตัวของการเปิดขายใหม่ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม นครราชสีมา อุบลราชธานี และจังหวัดขอนแก่น โดยมีจำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -๖๑.๑ ร้อยละ -๔๖.๔ ร้อยละ -๔๔.๒ และร้อยละ -๒๘.๙ ตามลำดับ ส่วนในจังหวัดอุดรธานี มีหน่วยเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้น ร้อยละ ๒๑๘.๒ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรทั้งหมด    

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ประมาณการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะเข้าสู่ตลาดในปี ๒๕๖๔ จำนวนประมาณ ๓,๕๙๗ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๑๐,๘๔๗ ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรรประมาณ ๓,๓๑๗ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๑๐,๓๕๔ ล้านบาท โครงการอาคารชุดประมาณ ๒๘๐ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ  ๔๙๓ ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๔ อัตราการขยายตัวของหน่วยโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๕๔.๒ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๔๓.๙ เชื่อมั่นว่าสถานการณ์ของหน่วยเปิดขายใหม่ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งแรกของปี ๒๕๖๔

สำหรับแนวโน้มปี ๒๕๖๕ ศูนย์ข้อมูลฯ คาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะเข้าสู่ตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนประมาณ ๔,๐๒๒ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๑๑,๘๔๗ ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรรประมาณ ๓,๒๐๕ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๑๐,๒๒๘ ล้านบาท และโครงการอาคารชุดประมาณ ๘๑๗ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๑,๖๑๙ ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงครึ่งแรกปี ๒๕๖๕ อัตราการขยายตัวของหน่วยโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกของปี ๒๕๖๔ ถึงร้อยละ ๒๒.๐ และคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๓.๘ ในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๖๕ ในขณะที่มูลค่าในครึ่งแรกของปี ๒๕๖๕ จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๑๙.๗ และเริ่มชะลอการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๕

ในส่วนของหน่วยขายได้ใหม่ ศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ว่า ในปี ๒๕๖๔ ตลาดที่อยู่อาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีหน่วยขายได้ใหม่จำนวนประมาณ ๔,๓๐๘ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๑๓,๓๐๕ ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรรประมาณ ๓,๓๐๘ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๑๐,๙๖๑ ล้านบาท โครงการอาคารชุดประมาณ ๑,๐๐๐ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๒,๓๔๔ ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๔ จะมีหน่วยขายได้ใหม่มากกว่าครึ่งปีแรก หรือมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๙๐.๙ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๙๐.๖ และในปี ๒๕๖๕ คาดการณ์ว่าจะมีหน่วยขายได้ใหม่จำนวนประมาณ ๔,๒๔๓ หน่วย มูลค่ารวม ๑๓,๕๑๑ ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรรประมาณ ๓,๒๒๗ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๑๐,๙๗๗ ล้านบาท และโครงการอาคารชุดประมาณ ๑,๐๑๖ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๒,๕๓๔ ล้านบาท

โดยคาดว่าในช่วงครึ่งแรกปี ๒๕๖๕ ตลาดที่อยู่อาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมียอดขายลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี ๒๕๖๔ ร้อยละ -๒.๙ และคาดว่าจะลดลงอีกร้อยละ -๐.๑ ในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๖๕ เนื่องจากในปี ๒๕๖๔ คาดว่าสถานการณ์ยอดขายจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก จึงทำให้ในปี ๒๕๖๕ อาจจะมียอดขายชะลอตัวลงมาเล็กน้อย  ในขณะที่มูลค่าในครึ่งแรกของปี ๒๕๖๕ จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๒.๒ และขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๑.๐ ในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๕ โดยเป็นผลมาจากการคาดการณ์ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทยสามารถกระจายวัคซีนได้ทั่วถึง ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นในระดับที่สูงกว่าปี ๒๕๖๔ และคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี ๒๕๖๕ จะขยายตัวประมาณร้อยละ ๔.๐

ทั้งนี้ หากพิจารณาในส่วนของหน่วยเหลือขาย ศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ว่า ในครึ่งหลังปี ๒๕๖๔ จะมีหน่วยเหลือขายในตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนประมาณ ๑๒,๔๘๗ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๔๓,๐๘๕ ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรรประมาณ ๑๐,๐๐๓ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๓๖,๘๕๙ ล้านบาท โครงการอาคารชุดประมาณ ๒,๔๘๔ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๖,๒๒๖ ล้านบาท และในปี ๒๕๖๕ คาดการณ์ว่าจะมีหน่วยเหลือขายในตลาดจำนวนประมาณ ๑๒,๖๑๙ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๔๓,๐๘๐ ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรรประมาณ ๙,๙๕๐ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๓๖,๓๖๖ ล้านบาท และโครงการอาคารชุดประมาณ ๒,๖๖๙ หน่วย มูลค่ารวมประมาณ ๖,๗๑๔ ล้านบาท โดยอัตราดูดซับจะเริ่มทรงตัวตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๖๔ เป็นต้นไป เนื่องจากผู้ประกอบการจะเริ่มเติมหน่วยเปิดขายใหม่เข้ามาสู่ตลาดเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดีศูนย์ข้อมูลคาดว่าจะเห็นสัญญาณที่ฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๖๕ เป็นต้นไป

อุบลส่วนใหญ่คนในพื้นที่ซื้อ

จากนั้นเป็นการเสวนา “การคาดการณ์แนวโน้มการฟื้นตัวของกำลังซื้อคนไทย และชาวต่างชาติหลังโควิด-๑๙” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นางเมตตา เมืองเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านสาริน จำกัด จ.อุบลราชธานี นายวิชัย ประเสริฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท กรีน เมโทร จำกัด และนายนราทร ธานินพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาราแลนด์ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา ซึ่ง ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

นางเมตตา เมืองเจริญ กล่าวว่า จังหวัดอุบลฯ มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ ๕ ของประเทศ ปัจจุบันนี้มีประชากร  ๑.๘ ล้านคน ถือว่าเป็นอันดับ ๓ ของประเทศ เป็นศูนย์กลางของอีสานใต้ เป็นเมืองติดชายแดน คือ สปป.ลาว ความโดดเด่นของอุบลฯ คือ เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา มีโรงเรียนประถมฯ โรงเรียนมัธยมฯ ที่มีชื่อเสียง ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเติบโตมา ๓๐ กว่าปี  ปัจจุบัน ม.อุบลฯ ก็สามารถผลิตแพทย์ออกสู่ตลาดได้แล้ว นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาล มีโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่มีชื่อเสียงมาก สามารถทำหัตถการหรือการรักษาที่มีความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลเอกชนอีก ๒-๓ แห่งที่มีชื่อเสียงที่รับดูแลผู้ป่วยทั้งในเขตจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งเพื่อนบ้านด้วย นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางการเดินทาง เพราะมีสนามบินนานาชาติอุบลฯ ให้บริการประชาชนใน ๓-๔ จังหวัดที่อยู่ติดกับอุบลฯ หากพูดถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อุบลฯ เป็นเมืองใหญ่แต่ว่าส่วนใหญ่จะไม่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมอยู่แค่ ๑๗% ภาคเกษตร ๒๐% ภาคสินค้าและบริการ ๖๓% ภาพรวมของตลาดส่วนใหญ่จะเป็นการบริโภคของคนในจังหวัดอุบลฯ หรือใกล้เคียง การย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในอุบลฯ จะมีน้อยมาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมแปรรูป ใช้แรงงานในพื้นที่
 
“สำหรับสถานการณ์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดอุบลฯ อย่างแรกต้องวิเคราะห์ตัวผู้ซื้อหลักของจังหวัดอุบลฯ ก่อน ทำไมอุบลฯ ถึงอยู่จังหวัดที่ ๔ มาโดยตลอด ทำไมถึงไม่สามารถขยับลำดับขึ้น จากกลุ่มตัวอย่างเป็นลูกค้าที่ซื้อบ้านราคาประมาณ ๒ ล้านต้นๆ ถึง ๓ ล้านกว่าบาท ไม่เกินราคา ๔ ล้าน เป็นบ้านแฝดและบ้านเดี่ยว เป็นกลุ่มข้าราชการอยู่ ๓๖% รองลงมาเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ๓๔% และเจ้าของกิจการ ๑๖% อาชีพพิเศษ ๔% แสดงว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ป็นเงินเดือนประจำ เป็นลูกค้าที่อาศัยอยู่ในอำเภอต่างๆ ๔๕% ส่วนอำเภอเมือง และอำเภอวารินชำราบซึ่งเป็นอำเภอที่ติดกันแทบจะเป็นอำเภอเดียวกัน ๑๕% นอกจากนี้ยังมีผู้ที่อยู่ใน ๓ จังหวัดที่อยู่ติดอุบลฯ ได้แก่ อำนาจเจริญ ๙% ศรีสะเกษ ๗% ยโสธร ๔% และยังมีจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานอีก ๘% รวมทั้งกรุงเทพฯ ๖% จังหวัดอื่นๆ ในประเทศ ๖% ถ้าจะมาวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าหลักจะพบว่า ๘๐% ของกลุ่มลูกค้าคือพนักงานราชการ พนักงานเอกชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนใหญ่ ๖๐% อาศัยอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนอีก ๒๐% อยู่ติดกับอุบลฯ คือ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ” นางเมตตา กล่าว

กรีนเมโทร’ลุยบ้านล้านหลัง

ทางด้านนายวิชัย ประเสริฐสิทธิ์ กรีนเมโทร กล่าวว่า “เรามีความตั้งใจตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ว่าจะขยายให้ได้ ๖,๐๐๐ ยูนิตภายในปี ๒๕๖๔ แต่มาติดสถานการณ์โควิด ทำให้การขยายโครงการบ้านล้านหลังของกรีนเมโทรทำได้ไม่มากนัก ได้ประมาณเกือบ ๒,๐๐๐ ยูนิต อยู่ในแผนก็จะมีอุดรธานี ทำเพิ่มประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ยูนิต ขอนแก่นประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ ยูนิต ส่วนที่โคราชไม่น่าจะเกินต้นปีหน้าน่าจะประมาณสัก ๖๐๐ ยูนิต บ้านล้านหลังเป็นบ้านที่ดีของผู้อยู่อาศัย รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ ผ่อนระยะยาว จะเป็นสมบัติของคนไทย ผมและบริษัทกรีนเมโทรมีความตั้งใจจริงๆ ที่จะต้องการให้คนไทยมีบ้าน ไม่อยากให้ต้องไปเร่ร่อนอยู่ต่อไป แต่แนวโน้มของการจะทำที่อยู่อาศัยต่อไปค่อนข้างลำบาก เพราะมูลค่าที่ดินแพงขึ้น รวมทั้งการก่อสร้างที่ไม่ได้คุณภาพหรือมีปัญหาในการก่อสร้าง กระทั่งทำให้บริษัทกรีนเมโทรอาจจะต้องทำบริษัทก่อสร้างมารองรับงานที่เกิดขึ้นให้ได้ปีละ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ยูนิต เป็นแนวโน้มที่เราต้องทำในเร็วๆ นี้ บ้านล้านหลังเราต้องการสร้างคุณภาพให้ดีที่สุดให้กับผู้อยู่อาศัย ราคาขายยังอยู่ในราคาเดิมคือไม่เกิน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท จะได้เฟอร์นิเจอร์ครบ ผมอยากเชิญชวนผู้ประกอบการทุกจังหวัด ถ้าใครมีความต้องการจะร่วมงานกับบริษัทกรีนเมโทร ก็สามารถติดต่อมาได้ ถนนในโครงการต้องไม่น้อยกว่า ๑๒ เมตร (ถนนหลัก) ถนนในซอยต้องไม่น้อยกว่า ๙ เมตร ทุกอย่างครบครัน”

บ้านล้านหลัง’ตอบโจทย์

“สำหรับปัญหาของบ้านล้านหลังที่เกิดขึ้นหลังจากโครงการแรก ๑๗๐ ยูนิตที่อุดรธานี ปรากฏว่า ต้องมีการรีไฟแนนซ์ถึง ๓ รอบ ส่วนที่ขอนแก่นเปิดเฟสแรก ๑๐๘ หลัง เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ตอนนี้มียอดจองทั้ง ๑๐๘ หลัง ทำสัญญาแล้ว ๘๖ หลัง ยังไม่ทำสัญญา ๘ หลัง ลูกค้าอยู่ระหว่างเตรียมเอกสาร ๑๑ ยูนิต แล้วก็ตรวจเครดิตบูโรผ่านแล้ว ๘๐ ยูนิต ยังว่าง ๒๒ ยูนิต ในช่วงโควิดผมถือว่าบ้านล้านหลังตอบโจทย์ ลูกค้าต้องการค่อนข้างมาก เพราะขายไปแล้วเป็น ๑๐๐ ยูนิต จริงๆ เรายังไม่ได้เปิดตัวขายที่ขอนแก่นแต่เป็นการขายออนไลน์เท่านั้น ผมว่าแนวโน้มน่าจะเป็นไปในแนวทางที่ดี แล้วก็สิ่งที่ผมยังมองอยู่คือต้องการให้เกิดขึ้นที่อุบลฯ และโคราชด้วย” นายวิชัย    แห่งกรีนเมโทร กล่าว

โคราชลดค่าใช้จ่าย

นายนราทร ธานินพิทักษ์ กล่าวถึงสถานการณ์ที่อยู่อาศัยในจังหวัดนครราชสีมาว่า “เบื้องต้นเราก็จะเห็นว่าอสังหาโคราชได้รับผลกระทบจากโควิด เมื่อช่วงปี ๒๕๖๓ ยังพอไปได้ ก็ต้องเริ่มมีการปรับตัวกันบ้างแล้ว ที่โคราชมีบ้านแฝดสองชั้น ราคาประมาณ ๓ ล้านกลางๆ เริ่มมียอดผลิตมากขึ้น เพราะเริ่มเห็นว่าขนาดบ้าน ๕๐ ตารางวาแล้วเป็น ๒ ชั้นส่วนใหญ่จะขยับไปเป็น ๔-๕ ล้านแล้ว ส่วนช่วงโควิดเราต้องปรับตัวอย่างไร เบื้องต้นสมาชิกในสมาคมหรือตัวผมเองก็เริ่มกลับมาดูโครงการเราเองว่า สามารถลดเรื่องอะไรลงมาได้บ้าง จะเห็นได้ว่าเริ่มมีการปรับตัวกันมากขึ้นจากเมื่อก่อนจะมีการซื้อรถกอล์ฟประจำโครงการไว้แต่เดี๋ยวนี้เราอาจจะเช่าเอา เบื้องต้นก็จะเห็นสมาชิกในสมาคมปรับตัวเพื่อที่จะลดในด้านของค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้ง การหมุนเวียนแม่บ้านหรือคนสวนในการดูแลแทนการจ้างประจำแต่ละไซต์ เพื่อให้ใช้ที่ที่มีอยู่ให้เกิดผลประโยชน์มากขึ้น โคราชจะมีคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมที่มีมาต่อเดือนต่อครั้งบ่อย เมื่อปีก่อนจะเน้นเรื่องของฟรีของแถมแต่มาปีนี้เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว หลายๆ เจ้า มีการใช้สื่อในการขายเพิ่มมากขึ้น ก็จะมีตัวอย่างของสื่อตัวไหนที่คนให้ความสนใจก็จะมีการเก็บสถิติไว้ แล้วก็จะมีการปรับตัวจากการที่ walk in เข้ามาดูไซต์ไม่ได้ ก็จะมีการไลฟ์ หรือวิดีโอคอลล์มากขึ้น มีการใช้ zoom ในการคุยกับลูกค้าแทน ส่วนอีกสองเรื่องก็จะเป็นเรื่องบ้านล้านหลัง ซึ่งที่โคราชก็จะได้อานิสงส์น้อย ด้วยซัพพลายที่จะทำบ้านหลังละสองล้านค่อนข้างเป็นไปได้ยาก อาจจะต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ไกล มากๆ”  

-------------------------------------
ในวิชาเศรษฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) เป็นการหดตัวของวัฏจักรธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้เกิดการชะลอโดยรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจมหภาคอย่างผลิตภัณฑ์ในประเทศเบื้องต้น (GDP) รายจ่ายการลงทุน กําลังผลิตของภาคอุตสาหกรรม รายได้ครัวเรือน กำไรธุรกิจและเงินเฟ้อลดลง ส่วนการล้มละลายและอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ในสหราชอาณาจักร นิยามว่าเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นลบสองไตรมาสติดต่อกัน

โดยทั่วไปภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดเมื่อมีรายจ่ายลดลงอย่างกว้างขวาง (การเปลี่ยนแปลงอุปทานเป็นลบ) ซึ่งอาจเกิดจากหลายเหตุการณ์อย่างวิกฤตการเงิน การเปลี่ยนแปลงการค้าภายนอก และการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์เป็นลบ หรือการแตกของภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ รัฐบาลปกติสนองต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยด้วยการใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบขยายตัว เช่น การพิ่มอุปสงค์เงิน (นโยบายการเงิน) การเพิ่มรายจ่ายภาครัฐและการลดการเก็บภาษี (นโยบายการคลัง)

ส่วน ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงจากช่วงก่อนหน้าแต่ยังเป็นบวก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี ๒๕๖๐ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ (GDP) ๕% ต่อมาในปี ๒๕๖๑ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ (GDP) เป็น ๔% ลักษณะนี้ถือว่าเป็นเศรษฐกิจชะลอตัว


นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๗ วันพุธที่ ๒๒ - วันอังคารที่ ๒๘ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔

 


980 1590