28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

October 09,2021

เปิดศูนย์จำหน่ายข้าวเม่า ๑๐๐ ปี เพิ่มช่องทางสร้างรายได้สมาชิก

กฟภ. ร่วมกับสถาบันวิจัยฯ เปิดศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของดีตำบลหนองโสนข้าวเม่านางรอง ๑๐๐ ปี หวังเพิ่มช่องทางการขายสร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้ผลิต หลังประสบปัญหาโควิดระบาดยอดขายลดฮวบเกือบ ๖๐% พร้อมชมหมู่บ้านผลิตข้าวเม่าครบวงจร

 

เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ นางสาวเพชรรัตน์ ภูมาศ นายอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยนายกานต์ระพี ธงชัยไตรวัฒน์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอนางรอง รศ.มาลิณี จุโทปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ดร.เชาวลิต สิมสวย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ และนายเกรียงศักดิ์ แผ้วพลสง นายก อบต.หนองโสน ร่วมเปิดศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของดีตำบลหนองโสนข้าวเม่านางรอง ๑๐๐ ปี บริเวณริมถนนสายบุรีรัมย์-นางรอง ตรงข้ามปั๊ม PT บ้านระนามพลวง ต.หนองโสน อ.นางรอง เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าแปรรูปของกลุ่มผู้ผลิตในชุมชน หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดระบาดทำให้ยอดจำหน่ายลดลงกว่าร้อยละ ๕๐ ซึ่งหลังจากเปิดศูนย์จำหน่ายฯ ดังกล่าวแล้ว นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สัญจรผ่านไปมาเส้นทางดังกล่าวก็จะแวะซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าได้สะดวกมากขึ้น ก็จะส่งผลให้มียอดขายที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน 
สำหรับข้าวเม่าที่กลุ่มผู้ผลิตจะนำมาจำหน่ายที่ศูนย์แห่งนี้ ก็จะมีทั้งข้าวเม่าโบราณ ข้าวเม่าเบญจรงค์ที่ทำจากวัตถุดิบสีธรรมชาติ ข้าวเม่ากระยาสารท ข้าวเม่าซีเรียลรสกาแฟ รสโอวัลติน, ข้าวเม่าหมี่สมุนไพร, ข้าวเม่าคั่ว, ข้าวเม่าโปร ราคาเริ่มจาก ๓๕ บาท ๓ ถุงร้อย แต่หากเป็นถุงครึ่งกิโลกรัมก็จะขายในราคาถุงละ ๕๐ บาท ทั้งนี้บางรายยังได้ให้ลูกหลานช่วยโพสต์ผ่านขายออนไลน์ด้วย ปัจจุบันชุมชนนี้มีผู้ผลิตข้าวเม่าจำนวน ๓๖ ราย มีกลุ่มแปรรูป ๓ กลุ่ม จาก ๓ ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านโคกว่าน, บ้านบุคราม ตำบลหนองโสน และชุมชนบ้านบุตาเวสน์ ตำบลหนองกง อำเภอนางรอง  

นายเกรียงศักดิ์ แผ้วพลสง นายก อบต.หนองโสน กล่าวว่า การเปิดศูนย์แห่งนี้เพื่อเป็นการจุดศูนย์รวมจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของดีในชุมชน โดยเฉพาะข้าวเม่าซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ทำจำหน่ายสืบทอดต่อกันมากว่า ๑๐๐ ปี ซึ่งที่ผ่านมาก็จะขายอยู่ในหมู่บ้านทำให้ผู้ซื้อเข้าถึงค่อนข้างยากหลังจากเปิดศูนย์รวมจำหน่ายของดีของตำบลหนองโสนซึ่งตั้งอยู่ติดถนนสี่เลนแห่งนี้แล้ว เชื่อว่าจะมีประชาชน นักท่องเที่ยวที่ขับรถผ่านไปมาแวะซื้อเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้กลุ่มผู้ผลิตทั้ง ๓ หมู่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันหลังจากที่ประสบปัญหาโควิดระบาดยอดขายลดลงมากกว่า ๕๐% ทั้งนี้หากนักท่องเที่ยวอยากจะไปชมวิถีชีวิตหรือกระบวนการผลิตแปรรูปข้าวเม่าแบบครบวงจรปิด ก็สามารถเดินทางเข้าไปชมได้ซึ่งห่างจากจุดจำหน่ายเพียง ๕ กิโลเมตรเท่านั้น ก็อยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวได้มาอุดหนุนผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าของดีของอำเภอนางรองด้วย 

ด้าน รศ.มาลิณี จุโทปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏบรีรัมย์ เปิดสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีโครงการ  หลากหลายที่ลงไปร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน สำหรับโครงการสนับสนุนส่งเสริมผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ก็ร่วมกับหลายหน่วยงานเข้าไปให้การสนับสนุนส่งเสริมด้านองค์ความรู้ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน รวมไปถึงยกระดับการสร้างตลาดการขายแบบสมัยใหม่ให้ทันต่อยุคสมัย เพื่อให้กลุ่มผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและยั่งยืนต่อไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๙๘ วันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


702 1340