28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

October 25,2021

สายการบินโคราช เกิดได้และยั่งยืน จากมุมมองของ “อามมี่” ณัฐวรรธน์ ไชยสระแก้ว

“โคราช” หรือ “นครราชสีมา” เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่า มี “สนามบิน” หรือ “ท่าอากาศยานนครราชสีมา” ตั้งอยู่ที่ป่าหนองเต็ง ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ คนจึงชอบเรียกขานกันว่า “สนามบินหนองเต็ง” เกิดขึ้นในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อประมาณปี ๒๕๓๗ และเมื่อก่อสร้างเสร็จจึงเปิดใช้ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องของสายการบินที่มาเปิดบริการ แม้ช่วงแรก “การบินไทย” จะมาเปิดบินเส้นทาง ดอนเมือง-โคราช แต่ก็อยู่ได้แค่ประมาณ ๒ ปีเท่านั้นเอง จากนั้นก็มีสายการบินต่างๆ ทั้ง แอร์อันดามัน, แอร์เอเชีย,  แอร์ฟีนิคซ์, แฮปปี้ แอร์,  Thai Regional Airlines, กานต์แอร์ ต่อด้วยล่าสุดคือ นิวเจนแอร์เวย์ส ล้วนแต่ต้องม้วนเสื่อกลับ และล่าสุด “นกแอร์” กางแผนจะเปิดเส้นทางบินโคราชในปี ๒๕๖๕ ...จะเกิดขึ้นจริงและยั่งยืนหรือไม่ลองมาฟังแนวคิดของเด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งติดตามเรื่องราวของสายการบินมาตลอด

  • ‘อามมี่’ ผู้ฝันอยากเป็นสจ๊วต

เกริ่นเรื่องสายการบินมาซะยาว เพียงเพื่อจะพาไปรู้จักเด็กหนุ่มที่สนใจเรื่องสายการบิน และเปิดแฟนเพจเฟซบุ๊กขึ้นมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเคลื่อนไหวในวงการบิน ชื่อเพจ “ที่นี่ ท่าอากาศยานนครราชสีมา Nakhon Ratchasima Airport VTUQ” แม้จะยังมีผู้ติดตามไม่มาก แต่ก็นับเป็นความตั้งใจที่เกิดขึ้นจากเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่เคยฝันจะเป็นสจ๊วต (Steward : พนักงานบริการบนเครื่องบิน) คือ “ณัฐวรรธน์ ไชยสระแก้ว” หรือ “น้องอามมี่” อายุ ๑๘ ปี บิดาเป็นชาวโคราชโดยกำเนิด ส่วนอามมี่เรียนจบมัธยมปลายจากโรงเรียนมารีย์วิทยา ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเซนต์หลุยห์ ซึ่งจะมาเฉลยในช่วงท้ายว่า จากที่ชื่นชอบเรื่องสายการบินมาตลอด และตอนเด็กฝันจะเป็นสจ๊วต เหตุใดจึงเปลี่ยนมาเลือกเรียนพยาบาล

“ผมเกิดที่กรุงเทพฯ แต่ครอบครัวเป็นคนโคราช เมื่อขึ้นม.๑ จึงย้ายมาเรียนที่นี่ คุณพ่อทำงานเป็นเซลล์ขายยา คอยหาลูกค้าให้บริษัททางการแพทย์ ส่วนคุณแม่ทำงานบริษัทเอกชน”

“อามมี่” บอกเล่าด้วยน้ำเสียงสดใสต่อไปว่า “เมื่อก่อนผมอยากเป็นสจ๊วต ผมชอบสายการบินมาก เมื่อได้มาอยู่โคราชก็ทราบว่า โคราชจะมีสายการบินมาลง จึงอยากมาช่วยผลักดันอีกแรง โดยการเปิดเพจขึ้นมา ส่วนตัวผมเป็นติ่งสายการบินนกแอร์ และชอบวงการการบินตั้งแต่เด็ก รู้ไปหมด นกแอร์ทำอะไรยังไง บินไปไหน เครื่องบินชื่ออะไร รุ่นไหนรู้หมด ผมชอบตั้งแต่อายุประมาณ ๖ ขวบ เพราะตอนนั้นคุณพ่อพาผมไปส่งคุณแม่ขึ้นเครื่องบินที่ดอนเมือง ได้เห็นแอร์และสจ๊วตลากกระเป๋า หล่อๆ เท่ๆ สวยๆ จึงถามคุณพ่อว่า คนนั้นเขาทำงานอะไร ทำไมสวยและหล่อเท่จังเลยพ่อบอกว่านั่นคือสจ๊วต จึงอยากเป็นตั้งแต่เด็กๆ” 

บทบาทแอดมินเพจสายการบิน

ส่วนประสบการณ์ด้านการใช้บริการของสายการบินที่มาเปิดที่โคราชนั้น อามมี่บอกว่า “ผมไม่เคยขึ้นสายการบินที่โคราช แต่เคยขึ้นจากกรุงเทพฯ ไปอุบลฯ พอจะลองขึ้นที่โคราชก็ปิดบริการไปแล้ว ช่วงที่สายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส มาเปิดที่โคราช ผมก็ช่วยประชาสัมพันธ์ทางเพจบ่อยๆ ทั้งในเรื่องของโปรโมชั่นต่างๆ ก็พยายามช่วยสนับสนุนเต็มที่ บางครั้งก็มีคนติดต่อเข้ามาถามว่า เปิดรับจองตั๋วด้วยมั้ย ก็บอกให้ติดต่อจองกับสายการบินโดยตรง เพราะเราเป็นแค่สื่อกลางเท่านั้น” 

“อามมี่” เคยมีความตั้งใจจะผลักดันให้เกิดสายการบินในโคราชอย่างจริงจังและยั่งยืน ถึงขั้นมีความคิดจะทำหนังสือถึงผู้บริหารระดับต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา 

“ผมเคยคิดจะทำหนังสือถึงผู้ใหญ่ครับ ในฐานะที่เราเป็นแอดมินเพจสายการบิน แต่ขณะนั้นเรียนอยู่แค่ ม.๔ อาจจะยังเด็กเกินไป อาจจะโดนตำหนิได้ จึงคิดว่ารอให้โตก่อน รอให้มีประสบการณ์ความรู้ ถ้ามีเวลาก็จะลองทำหนังสือ ซึ่งตอนเรียน ม.๕-๖ ผมได้ติดต่อสายการบินไทยเวียดเจ็ต เขาก็สนใจที่จะมาบินโคราช และเขาขอหนังสือที่เป็นรายงานเรื่องศักยภาพด้านต่างๆ ของโคราช เขาอยากดูลูกค้า ผู้โดยสาร จำนวนชาวต่างชาติที่มาโคราช ซึ่งต้องไปเชื่อมโยงกับทางจังหวัด ขณะนั้นผมเรียนแค่ ม.๕-๖ ยังทำอะไรไม่เป็นเลย จึงต้องพักไว้ก่อน”

  • นกแอร์สายการบินที่ชอบ

แน่นอนเมื่ออยากเป็นสจ๊วตก็ย่อมมีสายการบินที่ชื่นชอบ “อามมี่” บอกว่า “ผมชอบนกแอร์ เพราะว่าเป็นสายการบินแรกที่ผมขึ้นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งผมเดินทางไปหายาย ขณะนั้นนกแอร์ยังใช้เครื่อง B737-400 เป็นนกสงขลาสีม่วงๆ ผมขึ้นครั้งแรกก็ประทับใจ แอร์ยิ้มแย้มแจ่มใส บริการดี ที่นั่งดีและกว้าง ขนมก็อร่อย ก็เลยชอบ ส่วนใหญ่ขึ้นนกแอร์ แต่บางทีนกแอร์เต็มก็จะเลือกแอร์เอเชีย”

ล่าสุดช่วงต้นเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ มีข่าวว่า “นกแอร์” เตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ โดยบรรจุเส้นทางโคราชไว้ด้วยในปี ๒๕๖๕ “อามมี่” บอกว่า “ข่าวที่ว่านกแอร์สนใจมาบินที่โคราช เพราะนกแอร์มีเครื่องบินลำเล็ก เช่น Q400 จำนวน ๘๐ ที่นั่ง ผมจึงมองว่า อาจจะตอบโจทย์ผู้โดยสารก็ได้ ต้นทุนอาจจะลดลงด้วย ต้องรอดูว่าจะรอดหรือไม่รอด แต่ผมคิดว่า รอด เพราะใช้เครื่องบินลำเล็ก”

  • คาดหวังกับนกแอร์ ๘๐%

“อามมี่” บอกอย่างมั่นใจว่า “ผมคาดหวังกับนกแอร์ประมาณ ๘๐% เพราะทราบมาว่า เขาปลดประจำการเครื่อง Q400 ไปหนึ่งลำ จากที่ผมดูข่าวมาเห็นว่าผู้บริหารจะเพิ่มเครื่องบินอีก ๖-๘ ลำภายในปีนี้ แต่เครื่องที่จะเพิ่มมาเป็นลำใหญ่ จึงเป็นปัญหาว่า เมื่อเขาเพิ่มมาจะคุ้มกับต้นทุนหรือไม่ อาจจะทำให้เสี่ยงต่อการปิดเส้นทางต่างๆ ได้ง่ายมาก ถ้ามาบินแล้วต้นทุนไม่ไหวอาจจะอยู่ได้แค่ ๓-๔ เดือนเท่านั้น”

ในความคิดของเด็กหนุ่มวัย ๑๘ ปีอย่างอามมี่ เขามองว่า เส้นทางการบินที่จะตอบโจทย์คนโคราชมากที่สุด มีอยู่ ๔ เส้นทางบิน คือ ๑.เส้นทางโคราช-เชียงใหม่ เพราะช่วงที่นิวเจนเข้ามา เขาบอกว่า ประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้ มีผู้โดยสารมากกว่า ๑๐๐ คน ๒.เส้นทางโคราช-นครศรีธรรมราช เพราะนครศรีฯ มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว มีทะเลขนอม มีหาดทรายสวย และช่วงโควิดก็เนื้อหอมมีคนแห่ไปหาไอ้ไข่ด้วย ๓.เส้นทางโคราช-หัวหิน หากมีนกแอร์ มาเปิด ผมว่า น่าจะประสบความสำเร็จ เพราะคนจะต้องไปเที่ยว หัวหินเป็นเมืองรองที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะทะเล และ ๔.เส้นทางโคราช-กระบี่ กระบี่มีทะเลสวย มีภูเขา สถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมาก

  • เส้นทางโคราช-กรุงเทพฯ เกิดได้

“สำหรับเส้นทางบินโคราช-กรุงเทพฯ ผมว่าทำได้ แต่จะต้องกำหนดตารางบินในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และจันทร์ อาจจะไม่ต้องบินทุกวัน บางคนวันหยุดอาจจะอยากลองเดินทางด้วยเครื่องบิน และในช่วงเทศกาลก็อาจจะทำได้ เพราะถ้าจะกลับภาคอีสานต้องผ่านโคราช ซึ่งรถจะติดมาก หากใครเบื่อรถติดก็มาขึ้นเครื่องบิน เพื่อลดเวลาการเดินทาง” อามมี่ เสนอแนวความคิด ซึ่งดูแล้วก็น่าจะจริง เพราะที่ผ่านมาหลายคนเรียกร้องสายการบินต่างๆ ให้กำหนดตารางการบินในช่วงสุดสัปดาห์ และช่วงเทศกาล

  • สนามบินไกลไม่ใช่ปัญหา

ที่ผ่านมาการเปิดบริการของสายการบินต่างๆ ที่มาโคราชไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งบอกว่า สนามบินอยู่ไกลจากตัวเมืองกว่า ๓๐ กิโลเมตร แต่ในมุมมองของ “อามมี่”  กลับบอกว่า “หลายคนอาจจะมองว่าสายการบินที่มาโคราชไม่ประสบความสำเร็จเพราะสนามบินอยู่ไกล แต่ผมว่า บุรีรัมย์ไกลกว่าเราก็ยังอยู่ได้ ภูเก็ตนี่อย่างไกลเลย กระบี่ก็ไกลเช่นกัน ดังนั้นเรื่องระยะทางตัดออกได้ เพราะบางสายการบินมีบริการฟลายแอนด์ไรด์ (Fly ‘n’ Ride : บริการต่อรถไปยังจุดหมายปลายทาง) แต่ถ้าถามว่า ทำไมถึงไม่ประสบความสำเร็จ ทำไมเครื่องบินทุกลำที่มา ทุกสายการบินที่มา ต้องยกเลิกไป เพราะว่า ผู้โดยสารไม่เพียงพอ หรือสายการบินนั้นๆ มีแต่เครื่องบินลำใหญ่ และสายการบินอาจจะจัดตารางบินไม่ตอบสนองต่อความต้องการคนโคราช เช่น สายการบินนิวเจนแอร์เวย์ส ผมจำได้  ว่า นิวเจนบินไปภูเก็ตวันอังคาร ไม่มีไฟลต์กลับ ถ้าจะกลับก็ต้องรอกลับวันพฤหัสฯ ดังนั้น ความต้องการเขาจึงไม่ใช่แล้ว ตัวเลือกนี้จึงถูกตัดไป และอีกอย่างขณะนั้นสายการบินนิวเจน โดยปกติเป็นสายการแบบเช่าเหมาลำ (Chartered Flight) ไม่เคยบินแบบโดเมสติก (Domestic : เส้นทางบินภายในประเทศ) นอกจากนี้ นิวเจนไม่ใช่สายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost) แต่เป็นแบบฟูลเซอร์วิส (Full Service) บัตรโดยสารจึงค่อนข้างราคาสูง ในขณะที่นกแอร์ก็ไม่ใช่ Low Cost แต่เป็น Premium Low Cost (สายการบินต้นทุนต่ำระดับพรีเมียม) ราคาอาจจะสูงกว่าแอร์เอเชียนิดนึง แต่นกแอร์จะเป็น Premium Low Cost ที่ผู้โดยสารสามารถเลือกได้ เช่น เลือก ‘นกแม็กซ์’ (Nok MAX เป็นประเภทบัตรโดยสารราคาสูงสุด) หากต้องการประหยัดอาจจะบิน ‘นกไลต์’ (Nok Lite) เป็นต้น

  • ขอให้องค์กรต่างๆ สนับสนุนสายการบิน

หากมีสายการบินมาเปิดเส้นทางบินที่โคราช “อามมี่” บอกว่า อยากให้ช่วยผลักดันให้อยู่รอด เช่นเมื่อช่วงที่นิวเจนมาบิน เขาก็ช่วยเหลือตัวเองอย่างมาก ทั้งเรื่องการโปรโมตต่างๆ จึงอยากจะให้หอการค้าฯ และองค์กรต่างๆ ช่วยด้วย ทำอย่างไรเขาจึงจะอยู่ได้ หากบางคนบอกว่าสนามบินอยู่ไกล ไม่สะดวกเรื่องการเดินทางไปขึ้นเครื่อง ผู้ใหญ่ก็อาจจะช่วยติดต่อบริษัทรถทัวร์ เพื่อจะขอรถมารับ เที่ยวบินละ ๒ คัน ส่วนที่ผ่านมาสายการบินมีการปรับตารางการบินก็เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง แต่หากต้องการให้ตอบสนองการเดินทางของผู้โดยสารด้วย ก็ควรมาหาทางออกด้วยการคุยกัน น่าจะไปรอด

  • ร่วมด้วยช่วยกันผลักดัน

“อามมี่” ยังมีรุ่นน้องที่ชื่นชอบในเรื่องสายการบินด้วยอีกคน คือ “ออสติน” สรวิศ วรรณศักดิ์สกุล (Sorawit Wannasaksakun) อายุ ๑๘ ปี ออสตินเป็นเด็กตราด แต่เมื่อมีข้อมูลด้านการบินก็จะช่วยกันนำเสนอตลอด ซึ่งถ้าตามไปดูในเฟซบุ๊กก็จะรู้ว่า ออสตินเป็นเด็กที่มีฝันไม่แพ้ “อามมี่” โดยขณะนี้ “ออสติน” เรียนอยู่ม.๖ แต่บินบ่อยมาก บินตั้งแต่ ๗ ขวบ ถึงตอนนี้ก็ยังไม่หยุดบิน และเตรียมที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยสาขาจัดการ ธุรกิจการบิน (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน)ซึ่ง “ออสติน” บอกว่า “ผมเตรียมเเพลนไว้ว่าจะเรียนจัดการธุรกิจการบิน ในสิ่งที่ผมรัก ผมต้องการมีความรู้ในการบริหาร เพราะความใฝ่ฝันสูงสุดของผมคือ CEO AusTin Airways ถึงเเม้ว่ามันอาจจะเพ้อไปหน่อยนะครับ เเต่ผมก็จะลองทำ ทำให้มันสำเร็จอย่างน้อยก็ไม่เสียใจ ที่เราทำเต็มที่ ต่อมาผมก็จะไปเรียนโรงเรียนการบินครับ เพื่อทำตามความฝันของผมให้ได้”

ส่วน “อามมี่” นั้นอย่างที่บอกในเบื้องต้นว่า เขามีความฝันตั้งแต่เด็กว่าจะเป็นสจ๊วต แต่ทำไมปัจจุบันจึงกลายมาเป็นนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเซนต์หลุยห์ “ตอนเรียน ม.๖ ผมตั้งใจจะเข้าคณะธุรกิจการบิน ม.กรุงเทพ แต่เมื่อโควิดระบาด ก็เห็นว่า แต่ละสายการบิน เช่น การบินไทย ไทยไลออนแอร์ ซึ่งรุ่นพี่ผมบอกว่า บริษัทปลดพนักงานเพื่อความอยู่รอด จึงมองว่า สจ๊วตอาจจะไม่มั่นคงสำหรับเรา แต่ผมมีความคิดว่าสจ๊วตกับพยาบาลเป็นอาชีพคล้ายๆ กัน เช่น สจ๊วตเมื่ออยู่บนเครื่องเราก็ต้องดูแลผู้โดยสารเป็นหลัก ถ้าผู้โดยสารแตกตื่นจะทำอย่างไร ซึ่งเรียนพยาบาลก็จะมีความรู้ด้านนี้เช่นกัน ถ้าผมจบพยาบาลไปแล้วการบินยังไม่รุ่ง คงต้องตัดใจจากการเป็นสจ๊วต และหันมาช่วยคนไข้ ช่วยประชาชนดีกว่า” 

ปัจจุบันเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-๑๙ ทำให้เด็กพยาบาลชั้นปีที่ ๑ อย่าง “อามมี่” ไม่ได้ไปเรียนที่วิทยาลัยฯ ต้องเรียนออนไลน์อยู่โคราช และในวันเสาร์-อาทิตย์ยังเป็นจิตอาสาที่จุดบริจาคโลหิตที่เดอะมอลล์โคราชด้วย 

 

Wiwien : สัมภาษณ์/เรียบเรียง

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๐ วันพุธที่ ๒๐ เดือนตุลาคม - วันอังคารที่ ๒ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


1037 1646