29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

October 25,2021

‘นายกรัฐมนตรี’เยือนอุบลฯ ชม‘โคกอีโด่ยวัลเลย์’ ดูพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ‘เขื่อนสิรินธร’ ผลักดัน “Nature Walkway” แหล่งท่องเที่ยวใหม่

 

เยือนโคกอีโด่ยวัลเล่ย์

เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๔ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ตรวจเยี่ยมแหล่งเรียนรู้พลังงานทดแทน “โคกอีโด่ยวัลเล่ย์” โรงเรียนศรีแสงธรรม และศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ โคก หนอง นา ณ วัดป่าศรีแสงธรรม ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยนายกรัฐมนตรีกราบนมัสการพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม พร้อมรับทราบรายงานการดำเนินงานแหล่งเรียนรู้พลังงานทดแทน “โคกอีโด่ยวัลเล่ย์” โรงเรียนศรีแสงธรรม และศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ โคก หนอง นา ณ วัดป่าศรีแสงธรรม จากพระปัญญาวชิรโมลี โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นการนำความรู้ทางวิชาการมาบวกกับหลักธรรมเข้ามาใช้ในการดำเนินโครงการฯ เกิดผลเป็นรูปธรรม ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง รวมทั้งได้มีนำระบบ Internet of Things เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการดำเนินโครงการทั้งระบบ เพิ่มความรวดเร็วและประหยัดต้นทุนด้วย โดยได้น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ และพระปฐมบรมราชโองการรัชกาลที่ ๑๐ สืบสาน รักษา และต่อยอด ศาสตร์พระราชา และโครงการตามพระราชดำริของรัชกาลที่ ๙ มาดำเนินโครงการฯ เกิดเป็นโครงการพัฒนาแบบร่วมมือกัน “บวร” คือบ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นการสร้างพลังจากท้องถิ่นที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งจากพื้นที่ รวมทั้งโครงการ “โคก หนอง นา” นโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งมุ่งเน้นทำน้อยให้ได้มาก พร้อมทั้งขอให้มีการขยายการดำเนินการเรื่องพลังงานทดแทนให้มากยิ่งขึ้นตามศักยภาพที่มีอยู่ ควบคู่กับการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้มีการวางแผนเรื่องการบริหารจัดการขยะให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพื้นที่

 

 

 

ชื่นชมผลงานเป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณนักเรียนและทุกคนที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นว่า การเดินทางมาวันนี้ได้รับทราบผลการดำเนินงานจากพระปัญญาวชิรโมลีแล้ว ก็รู้สึกชื่นใจ และดีใจที่การดำเนินการมีความก้าวหน้าเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ประชาชนได้ประโยชน์ สิ่งที่รัฐบาลได้วางแผนดำเนินการในวันนี้ เป็นการวางรากฐานและส่งผลสำหรับเด็กและเยาวชนได้ใช้ประโยชน์ในอนาคต พร้อมแนะนำเด็กนักเรียนเยาวชน ให้เรียนและศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น สาขาวิทยาศาสตร์ วิจัยและพัฒนา ฯลฯ และสอดคล้องกับเทคโนโลยี ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งให้ศึกษาเรียนรู้ยุทธศาสตร์ทั้ง ๖ ด้าน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้าตามนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและงบประมาณที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ แบ่งเป็นช่วงละ ๕ ปี โดยในช่วง ๕ ปีแรกภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี รัฐบาลดำเนินการจนเกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น เรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ และการบริหารจัดการแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งระบบ เป็นต้น ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไว้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่กำหนดร่วมกัน ทั้งเรื่องความมั่นคง รักษาสิ่งแวดล้อม ขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ การเตรียมการปฏิรูประบบราชการ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเด็กและเยาวชนในวันนี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต 

 

 

พลังงานแสงอาทิตย์

จากนั้นได้เยี่ยมชมระบบสมาร์ทกริดศรีแสงธรรม ERC Sandbox การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และการจัดการศึกษาแบบไตรสิกขา บูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานและการเกษตรของโรงเรียนศรีแสงธรรม ก่อนเดินทางไปยังวัดป่าศรีแสงธรรม เพื่อพบปะเครือข่ายโคก หนอง นา ของวัดป่าศรีแสงธรรม และจิตอาสาพัฒนาชุมชน ร่วมกิจกรรมปลูกป่าเพอร์มาคัลเจอร์ (ทําหลุมปลูกป่า ห่มดิน ให้ปุ๋ยแห้ง ปุ๋ยน้ำ) และเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ “คนติดดิน การสร้างบ้านดินด้วยเทคนิคเอิร์ธแบก” และฐานการเรียนรู้ “คนมีไฟ ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ควบคุมระบบการเปิด-ปิด ด้วยระบบ IOT เพื่อรดน้ำต้นไม้เป็นสมาร์ทฟาร์มในโคก หนอง นา” รวมทั้งนายกรัฐมนตรียังร่วมปล่อยแหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสด ก่อนเดินทางโดยรถรางไปยังโครงการพระราชทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ และช่วยเหลือชุมชน ในยุคโควิด-๑๙

 

เยือนเขื่อนสิรินธร

ต่อมา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ ไปเยี่ยมชมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี (hydro- floating Solar Hybrid) หรือโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด โดยมี นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะผู้บริหาร กฟผ. ให้การต้อนรับ พร้อมรายงานถึงความคืบหน้าโครงการฯ ว่า โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ๘๔๒ ล้านบาท พื้นที่โครงการทั้งหมด ๗๖๐ ไร่และพื้นที่ในการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน ๔๕๐ ไร่ ทั้งหมดอยู่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร ซึ่งจะลดต้นทุนได้อย่างมาก และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชน ในด้านการจัดหาที่ดินแต่อย่างใด ซึ่งโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ นี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดถึงวันละ ๔๕ เมกะวัตต์ โดยจะนำโซลาร์เซลล์ มาใช้ผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และนำพลังน้ำมาผลิตไฟฟ้าเสริมในช่วงที่ความเข้มแสงไม่เพียงพอ หรือช่วงกลางคืน ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนที่ปกติแล้วจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศอีกทั้งการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำในเขื่อนยังช่วยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ถึงประมาณ ๔๗,๐๐๐ ตัน/ปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่า ๓๗,๖๐๐ ไร่ 

 

ใหญ่ที่สุดในโลก
 

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรของ กฟผ. กำลังผลิต ๔๕ เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่าง “พลังงานแสงอาทิตย์” และ “พลังน้ำ” ซึ่งช่วยลดโลกร้อน และมีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำ จึงควรดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนต่างๆ ให้เร็วขึ้น

จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมเส้นทางเดินชมธรรมชาติ หรือ Nature Walkway โดยมีมัคคุเทศก์น้อยเป็นผู้นำชม ซึ่งเส้นทางเดินชมธรรมชาติแห่งนี้สามารถชมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกในมุมสูงอย่างใกล้ชิด และเตรียมผลักดันให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีกับชาว จ.อุบลราชธานี ที่จะมีสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่และช่วยสร้างสีสันด้านการท่องเที่ยวได้อีกด้วย 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๐ วันพุธที่ ๒๐ เดือนตุลาคม - วันอังคารที่ ๒ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


982 1599