16thApril

16thApril

16thApril

 

November 19,2021

ขอนแก่นแถลงความร่วมมือจีน ลุย LRT นำร่องสายสีแดง ย้ำ‘หาทุนเอง สร้างกันเอง’

แถลงข่าวความร่วมมือรถไฟฟ้า LRT ระหว่าง KKTS กับกลุ่มกิจการร่วมค้าขอนแก่น CKKM และ CRRC จากประเทศจีน นำร่องเส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) “ธีระศักดิ์” ย้ำ ทำโครงการเพื่อเมืองเราเอง หาทุนเอง สร้างกันเอง เพื่อให้ลูกหลานคนขอนแก่นและคนอีสานมีงานดีๆ ทำ มีรายได้สูง

 

เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องออคิด บอลรูม ๑ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ร่วมแถลงข่าวและกล่าวถึงความเป็นมา การลงนามบันทึกข้อตกลง งานโครงการก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ซึ่งผู้ร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย นายสิทธิกุล ภูคำวงศ์ รองนายก อบจ.ขอนแก่น, นายพิสุทธิ์ อนุตรอังกูร นายกเทศมนตรีตำบลท่าพระ, เทศบาลเมืองศิลา, นางสาวรัมภามาศ ฑีฆธนานนท์ ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีตำบลเมืองเก่า, นายทวี แสนอาจ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสำราญ, นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ ผู้แทนบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS), JV CKKM, Mr.Liu Tong ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดระหว่างประเทศ บริษัท CRRC, Mr.Wang Chi ผู้ช่วยฝ่ายการตลาด บริษัท CRRC, Mr.Kai Tai Francis Wu ที่ปรึกษาบริษัท CRRC และนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษา KKTS

โดยในงานนี้ มีผู้เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก อาทิ นางศิริพร จังตระกุล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น, Mr.Sven Gaber กรรมการบริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน), คณะผู้บริหารจาก ๕ เทศบาล, คณะผู้บริหาร KKTS คณะผู้บริหารกลุ่มกิจการร่วมค้า CKKM, CRRC Consortium Executive Representator, ผู้นำ ๘ องค์กรเศรษฐกิจขอนแก่น, พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีมหาวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ และผู้บริหารจาก CEA เป็นต้น

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวในนาม ๕ เทศบาลในจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการ ว่า ทุกภาคส่วนของชาวขอนแก่นไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ ภาคเอกชน ประชาสังคม NGO ผู้นำชุมชน ร่วมมือกันเพื่อทำโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางเบา (LRT) เส้นทางสายเหนือ-ใต้ (สำราญ–ท่าพระ) แต่เป้าหมาย “ไม่ใช่ทำรถไฟฟ้าเพื่อให้ได้รถไฟฟ้า” เมื่อ ณ เวลาหนึ่ง ความชัดเจนจะเห็นเป็นภาพจิ๊กซอว์ต่อครบ การทำรถไฟฟ้ารางเบากลายเป็นเป้าหมายหลัก กลายเป็น “รางเปลี่ยนเมือง” ซึ่งมีวิธีคิดที่แตกต่าง คือ เมืองขอนแก่นทำโครงการเพื่อเมืองเราเอง โดยการหาทุนเอง สร้างกันเอง สาระสำคัญ นั่นคือ เราต้องการหาทุนเอง ผลิตเอง เพื่อให้ลูกหลานคนขอนแก่นคนอีสานมีงานดีๆ ทำ มีรายได้สูงๆ วิธีการคือ จัดทำหลักสูตรรองรับ ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่น ร่วมกับ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับระบบราง 

สำหรับ โครงการก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) มีความยาว ๒๖ กิโลเมตร มีสถานีจำนวน ๒๐ สถานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเดินทางในชีวิตประจำวันมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ให้พี่น้องประชาชนมีทางเลือกในการเดินทาง และยังทำให้การพัฒนาเมืองโดยมีระบบขนส่งมวลชนเป็นตัวนำ สำหรับการลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว นับได้ว่าเป็นความคืบหน้าในการทำงานที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งนับตั้งแต่บริษัท KKTS ได้คัดเลือกให้กลุ่มกิจการร่วมค้า CKKM เป็นคู่เจรจางาน จัดหาและติดตั้งอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้ารางเบา ถึงแม้ว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ จะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาที่ผ่านมาแต่ด้วยความตั้งใจอย่างจริงจังของทั้งสองฝ่าย สามารถบรรลุในหลักการของร่างสัญญาก่อสร้างแล้ว อย่างไรก็ตามก่อนที่จะลงนามในสัญญาก่อสร้าง ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลและเกิดขึ้นให้เรียบร้อยก่อนภายในเวลาที่กำหนดจึงเป็นที่มาของการลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โดยบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท CRRC Nanjing Puzhen Co.,Ltd. เป็นบริษัทผู้ประสานงานหลักด้านการเงิน ซึ่งจะประสานงานร่วมมือกันในการเจรจาและทำความตกลงกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อจัดหาเงินกู้ระยะยาวให้กับบริษัท KKTS ซึ่งบริษัท KKTS จะทำหน้าที่ประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการมอบพื้นที่ พื้นที่ศูนย์วิจัยข้าว พื้นที่กลางและริมถนนมิตรภาพ หลังจากลงนามใน MOA รวมทั้งการออกใบอนุญาต และอำนวยความสะดวกในการก่อสร้างต่อไป

“จังหวัดขอนแก่น เมืองแห่งศูนย์กลางการบริหารและบริการภาครัฐของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ศูนย์กลางการค้าการลงทุนและบริการ ศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ศูนย์กลางทางการแพทย์ และสาธารณสุข ศูนย์กลางการประชุมและท่องเที่ยว ศูนย์กลางอุตสาหกรรมสีเขียว ศูนย์กลางการศึกษา อีกทั้งจังหวัดขอนแก่นอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจ ASEAN-NSEC-EWEC และมีที่ตั้งสถานกงสุลใหญ่ประเทศจีน-เวียดนาม-ลาวอีกด้วย จากยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐ ที่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการและการท่องเที่ยว อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพในด้านโครงข่ายคมนาคม พื้นที่และเมือง รวมถึงเทคโนโลยีและโครงสร้างฟื้นฐานทางเศรษฐกิจ จังหวัดขอนแก่นได้รับการประกาศให้เป็นเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาเมืองขอนแก่น โดยการใช้โอกาสนี้ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับชาวขอนแก่นและภาคอีสานอย่างกว้างขวางในอนาคต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงนามในบันทึกข้อตกลงขั้นตอน การดำเนินงานก่อนการลงนามในสัญญาก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ระหว่าง บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ชิสเต็ม จำกัด และ CKKM-CRRC Consortium จะเป็นจังหวะก้าวสำคัญของความสำเร็จของโครงการ และความสัมพันธ์อันดียิ่งในความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีนในโครงการอื่นๆ ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น” นายกเทศมนตรีนครฯ กล่าวย้ำ

สำหรับโครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ ๑) ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชลระบบราง สายเหนือ-ใต้ ต้นแบบเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น เส้นทางนำร่อง สายสีแดง สำราญ-ท่าพระ ๒๐ สถานี มีบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) เป็นเจ้าของโครงการ ประกอบด้วย ๕  เทศบาล ได้แก่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลสำราญ และเทศบาลตำบลท่าพระ ซึ่งเป็นวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแล ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการ โดยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับ CKKM-CRRC CONSORTIUM โดย CKKM-CRRC CONSORTIUM ประกอบด้วย บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน), ขอนแก่น ช.ทวี (1993), KTech Building Contractors Co., Ltd, Mobility as a Service Co.,Ltd  กับ CRRC Nanjing Puzhen Co.,Ltd และ Singapore CRRC Puzhen Railway Vehicles Service Pte. Ltd. 

โครงการนี้จะมีบริษัทต่างๆ นำโดย บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท CRRC Nanjing Puzhen Co.,Ltd. เป็นบริษัทผู้ประสานงานหลักด้านการเงิน ซึ่งจะประสานงานร่วมมือกันในการเจรจาและทำความตกลงกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อจัดหาเงินกู้ระยะยาวให้กับบริษัท KKTS โดยบริษัท KKTS จะทำหน้าที่ประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการมอบพื้นที่ พื้นที่ศูนย์วิจัยข้าว พื้นที่กลางและริมถนนมิตรภาพ ภายใน ๑ ปีหลังจากลงนามใน MOA รวมทั้งการออกใบอนุญาต และอำนวยความสะดวกในการก่อสร้าง

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๓ วันพุธที่ ๑๗ - วันอังคารที่ ๒๓ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


1014 1380