28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

December 01,2021

มทร.อีสาน ผลิตนวัตกรรมที่นอนเฝ้าระวังแผลกดทับยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มนครชัยบุรินทร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) โดย สถาบันนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและหุ่นยนต์ประยุกต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สร้างสรรค์นวัตกรรมเครื่องมือเฝ้าระวังการเกิดแผลกดทับ ส่งมอบให้กับสาธารณสุขพื้นที่อีสานใต้ กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) จำนวน 40 ชุด เพื่อนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่มีอาการบาดเจ็บต้องรักษาต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทุกช่วงวัยให้ดียิ่งขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน เปิดเผยว่า สถาบันนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและหุ่นยนต์ประยุกต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยการกำกับดูแลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรินทร์ อ่อนน้อม ผู้อำนวยการสถาบัน ได้จัดสร้างเครื่องมือเฝ้าระวังการเกิดแผลกดทับ จำนวน 40 ชุด เพื่อนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หรือมีอาการบาดเจ็บต้องรักษาอยู่เป็นเวลานาน ภายใต้โครงการ “ยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัยนครชัยบุรินทร์” กิจกรรมหลัก “การดูแลผู้ป่วยแผลกดทับด้วยนวัตกรรมเครื่องเฝ้าระวังการเกิดแผลกดทับ” โดยได้ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ประกอบด้วย กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่ 1 นครชัยบุรินทร์ สถาบันนวัตกรรมการแพทย์ บูรณาการและเวชศาสตร์ฟื้นฟู สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (Nectec) และมูลนิธิสยามกัมมาจล

รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรินทร์ อ่อนน้อม ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและหุ่นยนต์ประยุกต์ กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงช่วงของอายุคนจากวัยทำงานเข้าสู่ผู้สูงวัยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ.2559 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 นครชัยบุรินทร์  พบสัดสวนประชากรชนบท (นอกเขตเขตเทศบาล) มีจํานวนมากกวาประชากรเมือง (ในเขตเทศบาล) ถึงร้อยละ 81.92 ซึ่งพบอีกว่าประชาชนในชนบทมีความยากจน และขาดการดูแลรักษาสุขภาพรวมถึงการมีปริมาณผู้สูงอายุที่ขาดการดูแลรักษาสุขภาพเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ พิการ เบาหวานทำให้เกิดผู้ป่วยนอนติดเตียงสูงต่อปีและส่งผลให้เกิดแผลกดทับเรื้อรังตามมาได้ ซึ่งจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อทางด้านจิตใจของผู้ป่วยด้วย ทั้งนี้จึงทำให้เกิดแนวคิดในการจัดทำเครื่องมือเฝ้าระวังการเกิดแผลกดทับขึ้น โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสารมาเป็นแกนหลักในการผลิตชุดเครื่องมือนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรินทร์ อ่อนน้อม ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและหุ่นยนต์ประยุกต์

ภายใต้การออกแบบที่ทำให้สามารถใช้งานได้นานและพกพาเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวกนั้น ใช้แผ่นยางที่ติดตั้งเซนเซอร์ที่สามารถตรวจจับแรงกดทับของผู้ป่วย รองรับการใช้งานสำหรับผู้ที่มีสะโพกตั้งแต่ 28 นิ้ว ไปจนถึง 48 นิ้ว พร้อมแจ้งเตือนการจัดท่านอนให้กับผู้ดูแลผ่านแอปพลิเคชัน BED LESION เพื่อให้ผู้ดูแลได้รับทราบ โดยสามารถตั้งค่าได้ 3 ท่า คือ ท่านอนหงาย ท่านอนตะแคงซ้าย และ ท่านอนตะแคงขวา พร้อมทำการตั้งค่าเวลาในแต่ละท่าตามความเหมาะสม เพื่อให้ผู้ดูแลสามารถเข้ามาปรับเปลี่ยนท่านอนให้ผู้ป่วยได้ตามเวลา ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดแผลกดทับได้เป็นอย่างดี

สำหรับส่วนของการใช้งานนั้นเพียงต่อสายอะแดปเตอร์เครื่องแสดงผลเข้าเต้ารับไฟบ้าน จากนั้นนำแผ่นตัวตรวจจับแรงกดไปวางบนเตียงบริเวณระดับสะโพกของผู้ป่วยและให้ผู้ป่วยนอนลงบนแผ่นเซนเซอร์ และทำการตั้งค่าท่านอนและเวลาผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งมีการแสดงตำแหน่งที่แผ่นตัวตรวจจับได้รับแรงกด พร้อมมีการแสดงผลผ่านคลาวน์ย้อนหลังได้ถึง 7 วันและสรุปผลแรงกดเป็นกราฟในแต่ละจุดของแต่ละวัน เพื่อการบริหารจัดท่านอน ให้เหมาะสมอีกด้วย โดยจากการทดลองชุดเครื่องมือเฝ้าระวังการเกิดแผลกดทับในโรงพยาบาลส่งเสริมตำบลในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ พบว่า จำนวนการเกิดแผลกดทับของผู้ป่วยครองเตียงสูงหรือติดเตียงลดลงร้อยละ 10 ของฐานผู้ป่วยเดิม ระบบดูแลผู้ป่วยมีมาตรฐานมากขึ้น รวมถึงตัวนวัตกรรมดังกล่าวสามารถสร้างอาชีพและเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบให้กับชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากฐานรายได้เดิม

ทั้งนี้ จากการสร้างสรรค์นวัตกรรมชุดเครื่องมือเฝ้าระวังการเกิดแผลกดทับในครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สอดรับกับการเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ตามประกาศของการทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุในปี 2568 นี้อย่างสมบูรณ์ครับ รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต กล่าวทิ้งท้าย


700 1358