29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

December 18,2021

ขอใช้เงินสะสมแก้น้ำประปาโคราช นายกฯลั่นต้องเปลี่ยนท่อทั้งเมือง ให้สวนนงนุชปรับโฉมคูเมือง

เทศบาลนครฯ เปิดประชุมสภาขอใช้เงินสะสม สร้างระบบผลิตน้ำประปาขั้นสูง และแก้ปัญหาขยะล้นบ่อฝังกลบ ส.ท.ห่วงปัญหา ท่อประปาเก่า ‘นายกประเสริฐ’ แจงมีแผนเปลี่ยนท่อส่งน้ำดิบใหม่ งบ ๑,๐๔๖ ล้านบาท ตั้งเป้าสมัยนี้พยายามเปลี่ยนท่อประปาทั้งหมด พร้อมให้ ‘สวนนงนุช พัทยา’ ปรับภูมิทัศน์คูเมือง หวังเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่

เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่ห้องประชุมกาญจนาภิเษก เทศบาลนครนครราชสีมา มีการประชุมสภาเทศบาลนครนครราชสีมา สมัยสามัญ สมัยที่ ๔ ประจำปี ๒๕๖๔ ครั้งที่ ๑ โดยมีนายอุทัย มิ่งขวัญ ทำหน้าที่ประธานสภาเทศบาลฯ และฝ่ายบริหารนำโดยนายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครฯ และรองนายกเทศมนตรีทั้ง ๔ คน ได้แก่ นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ, นายสหพล กาญจนเวนิช, นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน และนายนัฏฐชัยฐ์ ธนกนกนนทณ์ พร้อมด้วยสมาชิกสภาเทศบาลนครฯ (ส.ท.) ทั้ง ๔ เขต เข้าร่วมประชุม โดยมีวาระการประชุมทั้งหมด ๘ เรื่อง

ระเบียบวาระที่ ๑ เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ มีทั้งหมด ๘ เรื่อง ได้แก่ ๑.การประกาศใช้แผนพัฒนาเทศบาลนครนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๕ เปลี่ยนแปลงครั้งที่ ๔ ๒.รายงานผลการประเมินผลแผนพัฒนาเทศบาลนครนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๕ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ๓.การประกาศใช้แผนดำเนินงานเทศบาลนครนครราชสีมา ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ เพิ่มเติมครั้งที่ ๔ ๔.การประกาศใช้แผนการดำเนินงานเทศบาลนครนครราชสีมา ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ๕.ประชาสัมพันธ์การแก้ไขแผนพัฒนาเทศบาลนครนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๕ ครั้งที่ ๑๘ ๖.การประกาศใช้แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๖๖-๒๕๗๐ เทศบาลนครนครราชสีมา ๗.ประชาสัมพันธ์การแก้ไขแผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๖๖-๒๕๗๐ เทศบาลนครนครราชสีมา ครั้งที่ ๑ และ ๘.แจ้งเพื่อทราบกรณีขึ้นทะเบียนทรัพย์สินจากสภาท้องถิ่น ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องรับรองรายงานการประชุมสภาเทศบาลนครนครราชสีมา สมัยสามัญ สมัยที่ ๓ ประจำปี ๒๕๖๔ ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๔ ระเบียบวาระที่ ๓ ญัตติขออนุมัติโอนเงินงบประมาณรายจ่ายไปตั้งเป็นรายการใหม่ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ (เครื่องชุมสายโทรศัพท์หรือเครื่องสำรองไฟฟ้า งบประมาณ ๕๔๐,๘๐๐ บาท นำเสนอญัตติโดยนายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ ซึ่งที่ประชุมมีมติอนุมัติตามที่เสนอ

แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ

ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่อง ญัตติขออนุมัติใช้จ่ายเงินสะสม เพื่อสมทบการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาขั้นสูง ด้วยระบบอัลตร้าฟิวเตชั่น ขนาดกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน นำเสนอญัตติว่า “ด้วยสำนักการประปา เทศบาลนครนครราชสีมา ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะ สำหรับการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อที่จะดำเนินโครงการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาขั้นสูง ด้วยระบบอัลตร้าฟิวเตชั่น ขนาดกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง งบประมาณ ๒๒ ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปาให้สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และสามารถรองรับความต้องการใช้น้ำที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพียง ๑๖,๒๘๕,๖๐๐ บาท จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณางบประมาณเพิ่มสมทบเพิ่มเติมอีก ๕,๗๑๔,๔๐๐ บาท เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินงานได้สำเร็จ แต่สถานการณ์โควิด-๑๙ ในปัจจุบัน กระทบต่อสถานะการเงินของสำนักการประปาฯ เงินรายได้ลดลง ส่งผลให้สำนักการประปาฯ มีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะบริหารจัดการ ดังนั้น จึงขออนุมัติใช้จ่ายเงินสะสมของเทศบาลฯ จำนวน ๕,๗๑๔,๔๐๐ บาท ซึ่งยอดเงินสะสมของเทศบาลฯ ณ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ หักรายจ่ายตามระเบียบแล้ว จะมีเงินสะสมเพียงพอที่จะใช้จ่ายได้ ๒๒๖,๙๓๓,๓๘๗.๖๘ บาท”

นายเกริกฤทธิ์ โชติธาพิพัฒน์ ส.ท.เขต ๓ อภิปรายว่า “วัตถุประสงค์ของญัตตินี้เพื่อพัฒนาและเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปาให้สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำประปา คือ ๑.น้ำดิบเพียงพอหรือไม่ ๒.การใช้น้ำของประชาชนในเขตเทศบาล นครฯ ๓.แนวทางการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนสามารถใช้น้ำได้อย่างเต็มที่ ต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ปัญหาขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่การผลิตน้ำประปา แต่เกิดจากใช้งานท่อประปาเป็นระยะเวลายาวนาน ผมจึงขอเสนอว่า นอกจากจะผลิตน้ำประปาได้ไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง จะสามารถแก้ไขปัญหาท่อแตกได้หรือไม่”

นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน ชี้แจงว่า สำหรับการปรับปรุงซ่อมแซมท่อประปาที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ฝ่ายบริหารทราบเรื่องนี้ดี และได้บรรจุการแก้ไขไว้ในแผนพัฒนาอยู่แล้ว การที่มีท่อแตกก็ทราบถึงปัญหานี้ดี แต่สิ่งที่ขาดไปต่อความจำเป็นช่วงนี้ คือ เรื่องระบบการผลิต ประชาชนยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำ หากกำลังการผลิตลดลง การใช้น้ำก็จะไม่เพียงพอ

นายทวีศักดิ์ พันธ์วิเศษศักดิ์ ปลัดเทศบาล นครฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “งบประมาณใช้การดำเนินการจะมาจากส่วนกลาง โดยการของบประมาณจะต้องไปแข่งขันกับท้องถิ่นทุกแห่ง หากมีท้องถิ่นใดของบประมาณด้วยเหตุผลและความจำเป็น สำนักงบประมาณ ซึ่งมี ส.ส.และ ส.ว.เป็นคณะทำงานก็จะพิจารณ จัดสรรงบประมาณให้เทศบาลนครฯ ขอไป ๒๒ ล้านบาท แต่อย่างที่ทราบ งบประมาณพัฒนาท้องถิ่นมีประมาณ ๕ พันล้านบาท จะต้องกระจายงบประมาณไปให้ทุกท้องถิ่น แต่เทศบาลนครฯ ถูกลดเหลือ ๑๖ ล้านบาท เมื่อปีที่แล้วจำได้หรือไม่ เทศบาลฯ ผลิตน้ำประปาไม่ทัน เพราะมีสาหร่าย มีตะกอน ทำให้เกิดน้ำเสีย ซึ่งวันนี้เทศบาลฯ ต้องการระบบดังกล่าวเข้ามา เพื่อให้สามารถกรองน้ำที่เสียไปแล้วได้ และระบบนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้คลอรีนไดด้วย นอกจากนี้ระบบนี้ยังช่วยทำให้น้ำที่ถูกกรองออกไปเป็นน้ำเสีย สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งระบบนี้จะทำที่โรงกรองน้ำมะขามเฒ่า ในส่วนของอัตราการผลิตที่มะขามเฒ่า เดิมทีผลิตได้ประมาณวันละ ๖๒,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร หากนำระบบผลิตน้ำดังกล่าวเข้ามาจะสามารถผลิตเพิ่มได้อีกประมาณ ๖๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร รวมแล้วได้วันละ ๑๒๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร น้ำประปาที่จะใช้อุปโภคบริโภคก็จะเพียงพอ”

โคราชน้ำต้องเพียงพอ

นายประเสริฐ บุญชัยสุข ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เดิมทีมีแห่งเดียว คือ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ได้รับอนุญาตจากกรมชลประทาน ให้ใช้ได้ ๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จึงประสบภาวะวิกฤตมากในเรื่องขาดแคลนน้ำ ดังนั้นในสมัย รศ.เชิดชัย โชครัตนชัย เป็นนายกเทศมนตรีฯ จึงพยายามหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพราะรู้ว่าในอนาคตโคราชจะเติบโตมากขึ้น จึงของบประมาณจากส่วนกลางมาได้กว่า ๓ พันล้านบาท กลายเป็นท้องถิ่นเดียวที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด เพื่อนำงบประมาณมาทำระบบส่งน้ำและสร้างโรงกรองน้ำให้กับคนโคราชแห่งที่ ๒ ดังนั้น อนาคตเมืองโคราชใน ๒๐-๓๐ ปีข้างหน้าน้ำจะไม่หมด แต่ปัญหาขณะนี้ คือ ระบบส่งน้ำดิบจากลำตะคอง ใช้งานท่อเก่าอายุกว่า ๔๐ ปี ท่อมีสภาพชำรุด ผุพัง แตกแล้วแตกอีก ประกอบกับระบบท่อส่งน้ำย่อยก็แตก จึงสูญเสียน้ำจำนวนมาก ดังนั้น เรื่องแหล่งน้ำดิบไม่น่าเป็นห่วง แต่ห่วงเรื่องประสิทธิภาพในการส่งน้ำ และการผลิตน้ำประปา เดิมทีเวลามีท่อแตกเราจะไม่ทราบ จนกว่าน้ำจะผุดขึ้นมา จึงกลายเป็นปัญหาที่ต้องวางโครงสร้างพื้นฐานประปาใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เราได้ของบประมาณไปที่ส่วนกลางจำนวน ๑,๐๔๖ ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนท่อเก่าออกตั้งแต่ตำบลมะเกลือใหม่ถึงโรงกรองน้ำมะขามเฒ่า ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามผล เพื่อจะได้รับการอนุมัติงบประมาณจากสำนักงบประมาณ นอกจากนี้จะต้องวางระบบใหม่ ให้มีระบบสแกนท่อ เมื่อเกิดน้ำซึม น้ำผุด และท่อแตก ก็จะทราบได้ทันที หากไม่เปลี่ยนระบบใหม่ ปัญหาเหล่านี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน แต่เทศบาลฯ จะต้องมั่นคงเรื่องน้ำประปาให้กับเมืองขนาดใหญ่ เมืองที่กำลังจะกลายเป็นมหานคร ดังนั้น จะต้องมีระบบน้ำประปาที่มั่นคงใสสะอาด วันนี้บางท้องถิ่นน้ำประปาดื่มได้ แต่โคราชขอแค่อย่าสูญเสียน้ำและขอให้มีน้ำสะอาดตามมาตรฐานก็เพียงพอแล้ว” ในระเบียบวาระนี้ ที่ประชุมมีมติอนุมัติตามที่เสนอ

แก้ปัญหาขยะล้นเมือง

ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่อง ญัตติขออนุมัติใช้จ่ายเงินสะสม เพื่อจ้างเหมาบริการขนย้ายขยะมูลฝอยในบ่อฝังกลบชั่วคราวไปกำจัดยังสถานที่อื่น นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน อ่านญัตติว่า ตามที่เทศบาลนครฯ ได้รับความอนุเคราะห์ใช้พื้นที่ในครอบครองของกองทัพบก เพื่อจัดทำบ่อฝังกลบขยะมูลฝอยชั่วคราว เนื้อที่ ๕๐ ไร่ และกำหนดให้เทศบาลนครฯ เริ่มใช้พื้นที่ตั้งแต่ลงนามในบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๗ แต่จากการคาดการณ์จะสามารถใช้งานบ่อฝังกลบได้อีกไม่เกิน ๑ เดือน จึงจำเป็นต้องจ้างเหมาบริการขนย้ายขยะมูลฝอยในบ่อฝังกลบประมาณ ๔๖,๘๐๐ ตัน ไปกำจัดยังสถานที่อื่น ใช้ระยะเวลาในการขนย้ายประมาณ ๑๒๐ วัน ค่าขนย้ายประมาณ ๒๘๔.๗๕ บาท/ตัน หากไม่ดำเนินการจะไม่สามารถรองรับปริมาณขยะได้ในระยะยาวและอาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นำขยะมูลฝอยมากำจัด ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณ ๑๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท

นายมติ อังศุพันธุ์ ส.ท.เขต ๒ อภิปรายว่า “มีเรื่องสงสัย ๒ ประเด็น คือ ประเด็นที่ ๑ การใช้จ่ายเงินสะสม เพราะโครงการนี้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาอยู่แล้ว ประเด็นที่ ๒ ได้มีการแยกขยะที่สามารถนำไปขายได้ไว้หรือไม่ และจะนำรายได้จากส่วนนี้มาทดแทนงบประมาณกว่า ๑๓ ล้านได้หรือไม่”

นายเกริกฤทธิ์ โชติธาพิพัฒน์ ส.ท.เขต ๓ อภิปรายว่า “จากแผนพัฒนาปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ มีการตั้งงบประมาณที่อยู่ในแผน แสดงว่าที่ผ่านมามีการจ้างเหมาในลักษณะนี้ตลอด และผมเชื่อว่า  น่าจะมีการจ้างต่อไปอีก แต่ขอสอบถามว่า กรณีการจ้างเหมาเกิดจากรายจ่ายของเทศบาลฯ ส่วนรายรับจากท้องถิ่นใกล้เคียงที่นำขยะมาทิ้ง มีเพียงพอกับที่จะจ่ายไป ๑๓ ล้านบาทนี้หรือไม่ และเงินจำนวน ๑๓ ล้านบาทนี้ทำไมต้องขอนำเงินสะสมมาจ่าย”

นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน ชี้แจงว่า “บ่อฝังกลบขยะสามารถรองรับได้ประมาณ ๒.๔ แสนตัน ปัจจุบันมีขยะอยู่ในบ่อประมาณ ๒ แสนตัน คำถามที่ว่า ขยะเหล่านี้มาจากไหน และจะสามารถคิดเงินกับท้องถิ่นที่นำขยะมาทิ้งได้หรือไม่ ซึ่งสำหรับเทศบาลนครฯ มีขยะประมาณ ๘ หมื่นตันต่อปี แต่ยังมีเทศบาลตำบลหนองบัวศาลา เทศบาลตำบลหัวทะเล และเทศบาลตำบลโพธิ์กลาง นำขยะมาทิ้งด้วย แต่เราเก็บเงินจากเขาไม่ได้ เพราะเป็นเทศบาลฯ ข้างเคียงและพื้นที่บ่อขยะเป็นของกองทัพบก แต่ส่วนที่คิดค่าบริการได้จาก อปท. ๓๐ แห่ง มีขยะประมาณ ๖ หมื่นตันต่อปี กลุ่มนี้เก็บเงินได้ ๓๐๐ บาทต่อตัน เมื่อคำนวณรายรับกับรายจ่าย จะเหลือส่วนต่างประมาณ ๙.๘ แสนบาท ขอชี้แจงในภาพรวมประมาณนี้”

นายประเสริฐ บุญชัยสุข ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “วันนี้มีขยะ ๕๐๐ ตันต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพื้นที่ที่เราจะไปสร้างโรงกำจัดขยะไม่ง่าย เพราะขยะไปที่ใดก็ถูกต่อต้าน วันนี้มีโรงไฟฟ้ากำจัดขยะหลายแห่งจะเกิดขึ้นในโคราช แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ยังอยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ บางแห่งถูกต่อต้าน แต่เราโชคดีที่ได้พื้นที่ทหาร ซึ่งในสมัยนายสุรวุฒิ เชิดชัย เป็นนายกเทศมนตรี เคยศึกษาโครงการกำจัดขยะระยะที่ ๒ มีการดำเนินงานต่างๆ เสร็จสิ้น ได้ผู้ที่จะมาดำเนินการแล้ว แต่ก็มีข้อพิพาทเกิดขึ้น ทำให้ต้องหยุดโครงการไว้ แต่ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้น กระบวนการกำจัดขยะของเทศบาลฯ จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถลดภาระงบประมาณได้จำนวนมาก วันนี้จึงให้รองชาตรีไปศึกษาการบริหารจัดการขยะที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด รายรับที่ได้จากท้องถิ่นอื่นๆ เท่าไหร่ จะต้องจ่ายค่าขนส่งออกไปเท่าไหร่ หากทำให้ขาดทุนน้อยที่สุดได้ยิ่งดี แต่ด้วยจำนวนขยะที่มีมาก เทศบาลนครฯ จึงต้องมาเพิ่มค่าขนส่งในส่วนของเทศบาลนครฯ รายรับจากท้องถิ่นอื่นๆ ที่นำมาทิ้งประมาณ ๒๐ ล้านบาท สำหรับโครงการโรงกำจัดขยะ จะเสร็จช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการของศาล แต่ระหว่างนี้ก็ต้องเข้าไปดูแล เข้าไปจัดการพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อประชาชน”

นายเกริกฤทธิ์ โชติธาพิพัฒน์ ส.ท.เขต ๓ อภิปรายอีกว่า “พวกผมเข้ามาปฏิญาณตนรับหน้าที่ประมาณ ๗ เดือนแล้ว ยอมรับว่ามีความใหม่ แต่ความใหม่ของพวกเราได้ไปศึกษา ได้ไปสอบถาม และค้นคว้าข้อมูลมาเพื่อสอบถามในที่ประชุมแห่งนี้ว่า รายได้จากการจัดเก็บขยะมูลฝอยของเทศบาลนครฯ เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปหรือไม่ และในเมื่อขยะในเขตเทศบาลนครฯ เต็มแล้ว ยังจะรับจากเทศบาลอื่นหรือไม่ นอกจากนี้ ระหว่างท้องถิ่นทำเองกับเอกชนทำเอง ทำไมเอกชนทำแล้วจึงเกิดกำไร แต่ท้องถิ่นทำแล้วขาดทุน”

เทศบาลนครฯ ยินดีช่วย

นายประเสริฐ บุญชัยสุข ชี้แจงว่า “จากคำถามว่า ปริมาณขยะทำไมต้องไปรับจากท้องถิ่นข้างๆ เพราะเรามีสัญญาที่ทำร่วมกันไว้ และที่สำคัญ เขาก็ไม่มีสถานที่ทิ้งขยะ เรียกว่า ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เขามาขอทิ้งกับเรา แต่ก็จ่ายค่าตอบแทนค่าทิ้งให้ เทศบาลนครฯ คงไม่ได้กำไรจากส่วนนี้ ขอให้เข้าใจว่า ท้องถิ่นรอบๆ ไม่มีสถานที่ทิ้งขยะจริงๆ ขยะทำให้เกิดมลพิษ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ เทศบาลนครฯ ไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน อะไรที่ช่วยได้ก็ช่วยเขาไป ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย ก็ตามที่บอกไปว่า ขยะส่วนใหญ่เป็นของเทศบาลนครฯ ส่วนที่บอกว่า เอกชนทำแล้วมีกำไร ต้องเข้าใจว่า ภาครัฐมีระบบที่ไม่เหมือนเอกชน แต่ถ้ามีเอกชนต้องการเข้ามาช่วยจัดการ ทำให้เกิดประสิทธิภาพ และมีความสะดวกสบาย ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะตัดสินใจ แต่ทีหลังพูดเบาๆ ก็ได้นะครับ”  ในระเบียบวาระนี้ ที่ประชุมมีมติอนุมัติตามที่เสนอ

ระเบียบวาระที่ ๖ นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน เสนอญัตติเรื่องอนุมัติจ่ายเงินสะสม กรณีถอนคืนเงินรายรับค่าธรรมเนียมติดตั้งมาตรวัดน้ำและเงินอุทิศ งบประมาณ ๖,๓๙๗.๗๐ บาท ซึ่งที่ประชุมมีมติอนุมัติตามที่เสนอ ระเบียบวาระที่ ๗ นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ เสนอญัตติขออนุมัติถอนเงินค่าปรับผิดสัญญา ปีงบประมาณ ๒๕๖๔ งบประมาณ ๑๓๓,๑๘๒ บาท ซึ่งที่ประชุมมีมติอนุมัติตามที่เสนอ และระเบียบวาระที่ ๘ นายสหพล กาญจนเวนิช เสนอญัตติขอให้เสนอชื่อผู้แทนเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกนายกัมปนาท บุตรโต รองปลัดเทศบาลฯ

เตรียมเปลี่ยนท่อส่งน้ำดิบ

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม นายประเสริฐ บุญชัยสุข เปิดเผยถึง “โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองมะขามเฒ่า จากแหล่งน้ำลำตะคองมายังโรงกรองน้ำมะขามเฒ่า งบประมาณ ๑,๐๔๖ ล้านบาท” กับ “โคราชคนอีสาน” ว่า เป็นโครงการที่คิดมาตั้งแต่สมัยนายสุรวุฒิ เชิดชัย เป็นนายกเทศมนตรีฯ โดยเทศบาลฯ จะเปลี่ยนท่อส่งน้ำดิบใหม่ เฉพาะท่อที่ส่งน้ำจากลำตะคอง เริ่มที่บริเวณตำบลมะเกลือใหม่มาโรงกรองมะขามเฒ่า ขนาดรอบวงประมาณ ๑,๒๐๐ มิลลิเมตร ระยะทางประมาณ ๔๐ กิโลเมตร เป็นท่อตรงมาตามลำตะคอง ซึ่งโครงการผ่านการศึกษาด้านผลกระทบแล้ว สาเหตุที่ทำใหม่เพราะว่า ของเก่าอยู่ตามแนวถนนมิตรภาพ เมื่อรถวิ่งผ่านไปมาท่อเก่าก็กระทบและแตก แต่ท่อใหม่จะคงทนถาวร ทำให้ระบบส่งน้ำดิบมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ เทศบาลฯ เสียงบประมาณซ่อมแซมท่อประมาณ ๑๐ ล้านบาท สูญเสียน้ำไปประมาณร้อยละ ๕๐ การแก้ไขต้องทำโดยด่วน จึงต้องหางบประมาณมาเร่งเปลี่ยนท่อประปา ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ทำเฉพาะเปลี่ยนท่ออย่างเดียว และงบประมาณจำนวนมาก การอนุมัติจึงต้องผ่าน ครม. ขณะนี้ยื่นเรื่องไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว หลังจากนี้ก็จะส่งต่อไปยังสำนักงบประมาณ โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ติดตามโดยตลอด เพราะเมืองโคราชมีความจำเป็นต้องใช้น้ำมากขึ้นในอนาคต”

ปรับปรุงระบบประปา

“ส่วนท่อประปาในเขตเทศบาลนครฯ ก็จะเริ่มทยอยเปลี่ยนใหม่ เพราะส่วนใหญ่เป็นท่อเก่า ล่าสุดก็เปลี่ยนไปแล้วบางเขต เทศบาลฯ จะพยายามเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เมื่อเปลี่ยนเสร็จก็จะบันทึกแผนผังให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาไม่มีข้อมูล ดังนั้น จึงต้องออกแบบใหม่ทั้งระบบ ส่วนนี้จะใช้งบประมาณคนละส่วนกับโครงการที่กล่าวไป ผมว่า ถ้าจะเปลี่ยนระบบประปาในเมืองใหม่ทั้งหมด น่าจะใช้งบประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านบาท ถ้าทำสำเร็จการสูญเสียน้ำประปาก็จะลดลงมาก น้ำจะไหลแรง เพราะสามารถเพิ่มแรงดันได้ ซึ่งปัจจุบันทำไม่ได้ หากเพิ่มแรงดันมากท่อก็จะแตก เมื่อแตกก็ไม่รู้ว่าแตกจุดไหน จนกว่าน้ำจะผุดขึ้นมาบนถนน นอกจากนี้ก็จะพัฒนาระบบกรองน้ำใหม่ ให้สามารถกรองน้ำเร็วขึ้น สะอาดมากขึ้น ทั้งหมดนี้ตั้งใจทำให้เสร็จในยุคผมให้ได้ เพราะอนาคตอันใกล้โคราชจะเติบโต ผู้คนจะเข้ามาในเมืองมากขึ้น หากไม่เตรียมการไว้ก็จะกลายเป็นปัญหาในอนาคต”

โครงการที่อยากให้เกิดขึ้น

“โครงการปรับปรุงคูเมือง ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะให้เกิดขึ้นในสมัยเรา เพราะมีการศึกษาออกแบบไว้แล้วส่วนหนึ่ง วันก่อนจึงมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำแบบมาดูว่า จะสามารถปรับจุดใดได้บ้าง เพื่อจะให้แบบสมบูรณ์มากขึ้น ทันสมัย ควบคู่กับการอนุรักษ์โบราณสถานไปด้วย ในการประชุมจึงได้เชิญนายกัมพล ตันสัจจา เจ้าของสวนนงนุชพัทยา ซึ่งมีประสบการณ์จัดสวนระดับโลก พาเขาเดินชมว่า จุดใดจะปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง สามารถทำเป็นคูน้ำที่เดินได้ ออกกำลังกายได้หรือไม่ ให้กลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่ที่สวยงาม คนโคราชจะได้อยากออกมาท่องเที่ยว มาออกกำลังกาย และมาเดินเล่น คล้ายในต่างประเทศ โดยพื้นที่ที่เล็งไว้เป็นโมเดล คือ ที่บริเวณเรือนจำกลางนครราชสีมา แต่จุดที่ต้องการให้ทำก่อนภายในปีหน้า คือ บริเวณสระแก้ว แถวโรงเรียนวัดสระแก้ว ทำเป็นสวนสาธารณะให้สวยงาม โดยทีมงานนายกัมพล ตันสัจจา จะช่วยออกแบบ” นายประเสริฐ กล่าว


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๗ วันพุธที่ ๑๕ - วันอังคารที่ ๒๑ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


975 1625