2ndMay

2ndMay

2ndMay

 

July 26,2023

ซินโครตรอนวิเคราะห์ความเค็ม รอบเหมืองโปแตชด่านขุนทด หลังชาวบ้านได้รับผลกระทบ

 

 

หลังกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดออกมาคัดค้านการก่อสร้างเหมืองแร่โปแตชของไทยคาลิ และล่าสุด  “ผู้ว่าฯสยาม” ลงพื้นที่ตรวจผลกระทบเหมือง ขอบบ่อเต็มไปด้วยเกลือ พร้อมให้ทำข้อมูลสรุป ด้านซินโครตรอนลงพื้นที่ช่วยวิเคราะห์แหล่งความเค็ม พบปริมาณเกลือโซเดียมคลอไรด์สูงมาก และปนเปื้อนโพแทสเซียมคลอไรด์ที่ผิดปกติ


ตามที่เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ปลัดจังหวัดนครราชสีมา อุตสาหกรรมจังหวัดฯ เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอด่านขุนทด เดินทางมายังวัดสระขี้ตุ่น ต.หนองบัวตะเกียด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดกว่า ๒๐๐ คน ในกรณีปัญหาผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตช บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ตามที่ได้ตกลงไว้กับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ ซึ่งเดินขบวนไปที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา

โดยในเวลาประมาณ ๐๙.๑๕ น. ตัวแทนชาวบ้านได้นำเสนอถึงเหตุผลและข้อห่วงกังวลในด้านต่างๆ ดังนี้ ผลกระทบทางน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลหนองไทร ที่แพร่กระจายลงสู่คลองลำมะหลอด ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นน้ำของแม่น้ำลำเชียงไกร และหากมีการขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ที่ดอนหนองโพซึ่งเป็นพื้นที่สูงที่สุดในชุมชน หากเกิดผลกระทบทางน้ำ น้ำเค็มย่อมไหลไปได้ทุกทิศทาง และเส้นทางหลักก็คือการไหลลงพื้นที่ฝายสระขี้ตุ่น

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากปัญหาดินเค็ม ที่เริ่มแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้น พื้นที่ลุ่มของหมู่บ้านหนองไทรแทบทั้งหมดได้รับผลกระทบจากดินเค็ม ซึ่งชาวบ้านสระขี้ตุ่นและสระสมบูรณ์นั้นมีอาชีพหลักในการทำเกษตรกรรม หากมีปัญหาดินเค็มเกิดขึ้นในพื้นที่ ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างมาก ส่วนผล กระทบจากการขุดเจาะสำรวจแร่ โดยทางตัวแทนได้มีการยกตัวอย่างให้เห็นว่าเมื่อ ๑๐ ปีก่อน มีการเข้ามาขอขุดเจาะสำรวจแร่ แต่ผลปรากฏว่าพื้นที่ที่ทำการขุดเจาะปรากฏความเค็มเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถทำกินได้อีก เมื่อบริษัทจะดำเนินการขุดเจาะในพื้นที่บ้านสระขี้ตุ่นและสระสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงไม่ยินยอมเพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบ เพราะจุดเจาะอยู่ใกล้น้ำและตลอดการได้รับผลกระทบก็ไม่มีใครรับผิดชอบ รวมทั้ง ผลกระทบจากการไม่ดำเนินการตามมาตรการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการปกปิดข้อมูล ไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการให้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนคือการปล่อยให้น้ำไหลออกมานอกพื้นที่ ปล่อยปละละเลยต่อมาตรการ EIA หรือการสร้างโรงต้มเกลือที่เพิ่มภาระในการแบกรับผลกระทบของชาวบ้านในพื้นที่

ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ประกอบกับผลกระทบที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนที่หมู่บ้านหนองไทร ต.หนองไทร ทำให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยืนยันไม่เห็นด้วยให้บริษัทดำเนินการทำเหมืองต่อ นอกจากนี้ทางกลุ่มฯ ยังได้ดำเนินการยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ ต.หนองบัวตะเกียด ต.หนองไทร ต.โนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนทด จากกรณีสนับสนุนให้มีการล่ารายชื่อสนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตช

ทางด้านนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ขอบคุณชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ที่ตื่นตัวในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรับว่าจะนำประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ชาวบ้านได้นำเสนอหรือตั้งคำถามไปดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องการปิดเหมืองนั้น ด้านผู้ว่าฯ ยังคงยืนยันว่าไม่มีอำนาจในการกระทำการ แต่จะทำความเห็นตามข้อเท็จจริงส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน

หลังจากการพูดคุย ก่อนลงพื้นที่ทางกลุ่มฯ เน้นย้ำว่า ไม่ต้องการโครงการเหมืองแร่โปแตชอีกต่อไป หากผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ทำความเห็นเรียบร้อยแล้วทางกลุ่มฯ จะไปร่วมรับฟังการสรุปความเห็นดังกล่าวที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ส่วนประเด็นเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้นำชุมชนนั้น ทางชาวบ้านขอให้ดำเนินการโดยเร็ว และจะส่งหลักฐานเพิ่มเติมให้หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว
จากนั้นเวลา ๑๐.๓๐ น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้นำพาหน่วยงานราชการลงพื้นที่ใน ๔ จุดสำคัญ คือ ๑.จุดพิพาทกรณีเทแท่นขุดเจาะของบ้านสระขี้ตุ่น ที่ชาวบ้านมีการปรับสภาพพื้นที่คืนสภาพเดิมแล้ว ๒.จุดดอนหนองโพ ซึ่งปรากฏว่ามีการเจาะสำรวจไปแล้ว ๒ จุด พร้อมทั้งปรากฏคราบเกลือเป็นบริเวณกว้างรอบแท่นขุดเจาะ ๓.จุดบ่อน้ำนอกโครงการโรงต้มเกลือ ที่ปรากฏเป็นสระน้ำขนาดใหญ่จำนวน ๒ สระ ลักษณะน้ำเป็นสีเขียวมรกต ขอบบ่อด้านในปรากฏคราบเกลือขาวชัดเจน อีกทั้งยังพบว่ามีการซึมของเกลือออกมานอกบ่ออีกด้วย และ ๔.บ่อน้ำสาธารณะหนองมะค่าในที่อยู่ติดที่นาของชาวบ้าน ที่ปรากฏเป็นภาพต้นไม้ยืนต้นตายและคราบเกลือปรากฏชัดเจน

ภายหลังการลงพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้มีการชี้แจงย้ำอีกครั้งว่าหลังจากลงพื้นที่ ๗-๑๐ วัน จะรีบทำสรุปข้อมูล ทั้งข้อมูลที่ตัวแทนชาวบ้านชี้แจงในช่วงเช้า ข้อมูลผลกระทบ รวมถึงข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และหากยังมีพื้นที่อื่นๆที่อยากให้ลงตรวจสอบให้ทางชาวบ้านแจ้งต่อนายอำเภอด่านขุนทดได้โดยตรง ส่วนการสรุปข้อมูลนั้น หากไม่กระทบสิทธิผู้อื่น ก็สามารถเปิดเผยให้ชาวบ้านทราบได้ ส่วนการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางผู้ว่าฯ ก็จะติดตามให้ โดยหลังจากพบชาวบ้าน ทางผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเข้าไปในบริษัทฯ พิพาท เพื่อรับฟังความเห็นของอีกฝั่งหนึ่งเช่นกัน

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด มีความเห็นว่า การลงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าหน่วยงานราชการของจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะระดับท้องถิ่น อย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะเลิกพฤติกรรมนิ่งนอนใจต่อปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เลิกพฤติกรรมการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต และใส่ใจต่อกระบวนการตรวจสอบการทำเหมืองแร่โปแตชให้มากขึ้น

ล่าสุดสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้เข้าช่วยสนับสนุนสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ ๑๑ (นครราชสีมา) ที่ลงพื้นที่สำรวจและเก็บตัวอย่าง แล้วได้ส่งตัวอย่างดินและน้ำทั้งบนผิวดินและใต้ดินมาวิเคราะห์ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ๓๕ ตัวอย่าง โดยสถาบันฯ ได้วิเคราะห์ด้วยเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ (XRF) และใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดขึ้น

นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ กล่าวว่า “จากการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สรุปได้ว่าบริเวณดังกล่าวมีการปนเปื้อนโซเดียมคลอไรด์สูงมาก และมีการปนเปื้อนโพแทสเซียมคลอไรด์อยู่ในระดับที่สูงผิดปกติจากแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปด้วย สอดคล้องกับผลตรวจที่ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ ได้ทำไปก่อนหน้านี้ ขั้นตอนต่อไปทางสำนักงานฯ จะนำส่งผลวิเคราะห์นี้ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด นครราชสีมา เพื่อให้คณะทำงานอีกคณะซึ่งเป็นคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) นำไปประเมินความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรม และการใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน เพื่อให้มีการเยียวยาต่อไป” นายธนัญชัย วรรณสุข กล่าว

ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันฯ ได้ดูองค์ประกอบธาตุในตัวอย่างน้ำและตัวอย่างดิน ขั้นแรกเราใช้เครื่องมือในห้องปฏิบัติการสแกนพบว่าในตัวอย่างน้ำส่วนใหญ่มีโซเดียม โพแทสเซียม และคลอรีนในปริมาณมาก จากนั้นตรวจด้วยแสงซินโครตรอนหาโลหะหนักหรือธาตุอื่นพบว่ามีอยู่ปริมาณน้อยๆ แต่ไม่พบในปริมาณที่ผิดปกติ โดยหลักๆ เจอโซเดียมคลอไรด์และโพแทสเซียมคลอไรด์ และได้ใช้ซินโครตรอนอีกเทคนิคดูรูปร่างของผลึกเพื่อยืนยันการพบโซเดียมคลอไรด์และโพแทสเซียมคลอไรด์”

ด้าน รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “หน่วยงานของภาครัฐได้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง กรณีของซินโครตรอนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนข้อมูล แต่อย่างไรก็ตามในการพิจารณาหรือแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องยอมรับในข้อมูลที่เป็นจริง และนำไปพิจารณาในทุกภาคส่วน เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ข้อมูลที่เราได้ศึกษาและนำไปมอบให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการต่อไป และคิดว่าสามารถนำไปสู่ข้อสรุปร่วมกันและนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไปได้ ทั้งนี้ อยากจะเห็นข้อมูลที่ถูกต้องถูกนำไปใช้เพื่อการแก้ไขปัญหา หรือช่วยให้การพัฒนาของภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ ไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน เพื่อให้การพัฒนาร่วมกันต่างๆ เป็นไปได้อย่างยั่งยืน”

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๕๕ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม - วันที่ ๑๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖


1488 1,703