3rdMay

3rdMay

3rdMay

 

August 28,2023

‘มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง’วุ่น เลือกตั้ง‘ประธาน’ยังไม่จบ ค้าน‘ป๋าซิม’ไม่ถูกต้องตาม กม.


 

องค์กรการกุศลใหญ่สุดของโคราชสุดวุ่น  “หลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง” หลังเลือกตั้งแต่คะแนน เสมอกัน แต่หาข้อยุติไม่ได้ เกิดความขัดแย้งหวิดมีการวางมวยระหว่าง ๒ อดีตประธานสภาเทศบาลฯ ฝ่ายสนับสนุนดัน “ป๋าซิม” ขึ้นนั่งประธานใหม่ แต่ฟากรักษาการประธานค้าน เหตุไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ ด้าน “ผู้ว่าฯ สยาม” ขอให้อดทน

 

จากกรณีมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (หลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) องค์กรการกุศลไม่แสวงหากำไร องค์กรใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ถนนโยธา เทศบาลนครนครราชสีมา บริหารโดย ๖ สมาคม (๖ ซก) รวม ๗๒ คน ได้แก่ ๑.สมาคมจีนเตี้ยอันในประเทศไทยสาขานครราชสีมา ๒.สมาคมเตี่ยเอี้ยแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ๓.สมาคมโผวเล้ง นครราชสีมา ๔.สมาคมเหยี่ยวเพ้ง ๕.สมาคมจีนเก๊กเอี๊ยแห่งประเทศไทยสาขานครราชสีมา และ ๖.สมาคมเท่งไฮ้แห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ซึ่งมีนายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ โดยหมดวาระเมื่อปลายปี ๒๕๖๕ และมีการเลือกตั้งคณะกรรมการสมัยที่ ๔๑ ในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๖ มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธาน ๒ คน ได้แก่ นายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ (สมาคมเหยี่ยวเพ้ง) กับนายทรงศักดิ์ (ซิม) อุไรธรากุล (สมาคมโผวเล้ง) รองประธานฯ แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการลงคะแนนลับ ทั้งสองคนกลับได้คะแนนเท่ากันคือ ๒๑ คะแนน แต่หาข้อยุติไม่ได้ว่าใครจะนั่งเก้าอี้ประธานฯ ส่งผลให้นายอภิภวัสต้องนั่งรักษาการประธานมูลนิธิฯ เรื่อยมา

 

ฝ่าย‘ซิม’ขอเลือกตั้ง ๒ กรกฎา
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ ที่มูลนิธิฯ นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล พร้อมด้วยนายรังสรรค์ อินทรชาธร และคณะ ร่วมแถลงข่าวกรณีการดำรงตำแหน่งประธานและคณะกรรมการสมัยที่ ๔๐ ครบวาระนานกว่าครึ่งปี แต่ไม่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ

นายรังสรรค์ อินทรชาธร รองประธานมูลนิธิฯ เปิดเผยว่า วาระการบริหารของคณะกรรมการสมัยที่ ๔๐ ครบวาระเมื่อปลายปี ๒๕๖๕ ต่อมาวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๖ ได้จัดการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการชุดที่ ๔๑ ปีบริหาร ๒๕๖๖-๒๕๖๗ มีผู้สมัครคือนายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ ประธานสมัยที่ ๔๐ และนายทรงศักดิ์ รองประธานฯ โดยใช้วิธีลงคะแนนลับ ผลปรากฏว่าได้ ๒๑ คะแนนเท่ากัน แต่ไม่ใช้วิธีจับสลากตามแบบสากล เพื่อหาผู้ชนะ ทำให้การเลือกตั้งไม่ได้ข้อยุติ ประธานจัดการเลือกตั้งเสนอให้นายอภิภวัสดำรงตำแหน่งประธานสมัยที่ ๔๑ ต่ออีกวาระ และให้นายทรงศักดิ์รอคิวเป็นประธานสมัยที่ ๔๒ ต่อมา ๓ สมาคมที่ร่วมบริหารองค์กร ประกอบด้วย สมาคมโผวเล้ง สมาคมเตี่ยเอี้ย และสมาคมเตี่ยอัน ได้ยื่นหนังสือถึงนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา เพื่อขอให้นายทะเบียนฯ มีคำสั่งให้เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ และคัดค้านการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

“ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๖ ได้รับหนังสือจากทางจังหวัดเสนอให้จัดการเลือกตั้งตามระเบียบ โดยนายอภิภวัส รักษาการประธานมูลนิธิตามข้อบังคับ (ตราสาร) มูลนิธิฯ ต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่านายทะเบียนจะแจ้งการจดทะเบียนกรรมการมูลนิธิที่ตั้งใหม่ จึงเสนอแนวทางที่เป็นธรรม กรณีการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ สมัยที่ ๔๐ ประจำเดือนมิถุนายน กำหนดวันที่ ๓๐ มิถุนายนนี้ เสนอให้จัดการเลือกตั้งประธานในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เพื่อไม่ให้เกิดการประวิงเวลา ทำให้เสียโอกาสและไม่สามารถพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไปได้” นายรังสรรค์ อินทรชาธร กล่าว

‘ซิม’ขอเข้ามาจัดระเบียบ
นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล กล่าวว่า ตนขอให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งใหม่ด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ มิใช่กำหนดจะให้ใครขึ้นดำรงตำแหน่งแบบไม่ชี้ขาด หากผลเลือกตั้งเท่ากันอีก ต้องใช้วิธีจับสลากวัดดวงตามหลักสากล ปัจจุบันประชาชนมาทำบุญค่อนข้างน้อย เนื่องจากขาดศรัทธา ตนตั้งใจเข้ามาจัดระเบียบให้ดีขึ้นและให้มูลนิธิเจริญรุ่งเรืองกว่านี้ รวมทั้งสร้างความรักความสามัคคีในองค์กร

ขอเวลาแก้ไขตราสาร
ในขณะที่ นายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ รักษาการประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ เปิดเผยว่า ได้สอบถามปัญหาข้อสงสัยกับนายทะเบียนฯ แล้ว ระบุว่าตนมีสถานะรักษาการตำแหน่งประธานจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ โดยมีแนวโน้มว่าคะแนนเลือกตั้งจะเหมือนเดิมอีก เนื่องจากต่างฝ่ายมีคณะกรรมการมีสิทธิลงคะแนนเท่ากัน จึงขอเวลาแก้ไขตราสารระเบียบข้อบังคับปฏิบัติใช้กันมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิในปี พ.ศ.๒๕๐๐ เพื่อให้ทันสมัย ทั้งการเลือกตั้งและรวบรวมทรัพย์สินและครุภัณฑ์ทั้งหมด เช่น อสังหาริมทรัพย์เป็นที่ดินกว่า ๔๐๐ ไร่ สิ่งปลูกสร้าง รถยนต์ เครื่องใช้สำนักงาน และอื่นๆ ดังนั้น การเร่งรัดให้เลือกตั้งในวันที่ ๒ กรกฎาคมนี้ ถือเป็นการกระทำไม่ถูกต้อง ควรมีวิธีการและขั้นตอนที่โปร่งใส ยึดหลักตามกฎระเบียบ ผู้ปฏิบัติหน้าที่บริหารต้องมีจิตสำนึก ไม่แสวงหาผลประโยชน์ทับซ้อน สามารถนำองค์กรเดินหน้าต่อไปให้สมกับการเป็นองค์กรการกุศลเก่าแก่ที่สุดในโคราช

“ทั้งนี้ ตลอดเวลา ๒ ปี ที่ตนบริหารมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ องค์กรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งเงินบริจาคได้บันทึกข้อมูลลงในระบบอิเล็กทรอนิกส์ และมีที่มาที่ไปชัดเจน โปร่งใสทุกกระบวนการ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีมาก่อน” นายอภิภวัส กล่าว

หวิดเกิดการวางมวย
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ไม่ได้มีการจัดการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ แต่อย่างใด ในขณะที่มีรายงานข่าวว่า ความขัดแย้งเรื่องเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งหวิดมีการทำร้ายร่างกายกันเกิดขึ้นภายในมูลนิธิฯ โดยอดีตผู้สมัครส.ส.คนหนึ่งซึ่งเคยนั่งเก้าอี้ประธานสภาในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเงื้อกำปั้นจะชกหนึ่งในคณะกรรมการ ซึ่งเป็นทายาทของอดีตประธานมูลนิธิฯ และเคยดำรงตำแหน่งประธานสภา อปท.เดียวกัน ทำให้มีการไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ รวมทั้งมีกระแสข่าวว่า มีการนำคลิปความขัดแย้งนี้ไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ด้วย

ฝ่าย ‘ซิม’ ออกหนังสือเชิญประชุมเลือกตั้ง
ต่อมามีหนังสือที่ มต.๘๙๕/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ลงนามโดยนายศิวัช เตียเจริญวรรธน์ ระบุตำแหน่งเลขาฯคณะกรรมการยกร่างข้อบังคับการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ และรักษาการเลขานุการประธานมูลนิธิฯ ส่งหนังสือเชิญเรื่อง การประชุมเลือกตั้งประธานมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (มูลนิธิหลักเซี่ยงตึ๊ง) สมัยที่ ๔๑ ระบุว่า “ตามที่มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) สมัยที่ ๔๐ ปีบริหาร ๒๕๖๔-๒๕๖๕ (รักษาการ) ได้หมดวาระการดํารงตําแหน่งประธานมูลนิธิฯ และคณะกรรมการมูลนิธิ ลงเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ นั้น ในการนี้ได้มีการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ และคณะกรรมการไปแล้วจํานวน ๒ ครั้ง แต่การเลือกตั้งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามข้อบังคับของตราสารมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) ต่อมามูลนิธิฯ จึงได้มีการจัดประชุมเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ มีมติให้มีการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ ให้แล้วเสร็จภายใน ๔๕ วัน และมีมติให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจจํานวน ๑๒ คน เป็นผู้ยกร่างข้อบังคับระเบียบ และกําหนด  กฎเกณฑ์ในการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ เพื่อดํารงตําแหน่งประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ ปีบริหาร ๒๕๖๖-๒๕๖๗ และให้มีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งอีกจํานวน ๕ ท่าน เพื่อดําเนินการเลือกตั้งประธานมูลนิธิให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ต่อไป จึงขอเรียนเชิญท่านคณะกรรมการมูลนิธิสมัยที่ ๔๑ เข้าร่วมเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) ตําบลในเมือง อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา”

รก.ประธานฯ ชี้หนังสือไม่ถูกต้อง
จากนั้นมีหนังสือที่ ม.ต. ๘๙๙/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ ส่งถึงคณะกรรมการมูลนิธิสมัยที่ ๔๐ และคณะกรรมการทั้ง ๖ สมาคมที่มีรายชื่อส่งเข้าเป็นกรรมการสมัยที่ ๔๑ เรื่อง “การออกหนังสือการประชุมเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน” ลงนามโดยนายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ รักษาการประธานมูลนิธิฯ ข้อความในหนังสือระบุว่า

“ตามที่นายทะเบียนจังหวัดนครราชสีมา ได้มีหนังสือตอบข้อหารือว่า “คณะกรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตําแหน่งดังกล่าวซึ่งปฏิบัติหน้าที่กรรมการมูลนิธิ (คณะกรรมการมูลนิธิสมัยที่ ๔๐) จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิชุดใหม่ตามข้อบังคับที่กําหนดไว้โดยเร็วนั้น กระผมในฐานะรักษาการประธานมูลนิธิฯ ได้จัดให้มีการประชุมในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งเฉพาะกิจในการเลือกตั้งประธาน สมัยที่ ๔๑ โดยมีตัวแทนจาก ๖ สมาคมในตราสารมูลนิธิ สมาคมละ ๑ ท่าน จํานวน ๖ ท่าน และผู้อาวุโสซึ่งเคยเป็นอดีตประธาน หรือรองประธานของมูลนิธิฯ มาก่อน สมาคมละ ๑ ท่าน รวมเป็น ๑๒ ท่าน และมีผู้ทรงคุณวุฒิ อีก ๑ ท่านเป็นประธานคณะอนุกรรมการร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง รวมทั้งหมด ๑๓ ท่าน ทําการร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง คณะกรรมการสมัยที่ ๔๑ ให้ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๔๕ วัน”

ประชุมไม่ถูกต้อง
หนังสือที่ลงนามโดยนายอภิภวัสระบุอีกว่า “ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้มีการแต่งตั้งมาโดยไม่ชอบตามมติของคณะกรรมการสมัยที่ ๔๐ และมิได้แต่งตั้งประธานอนุกรรมการอีก ๑ ท่าน มาเป็นประธานคณะอนุกรรมการ และดําเนินการจัดประชุม ซึ่งในการกระทําที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการประชุมที่ไม่ถูกต้อง โดยการดําเนินการที่ถูกต้องต้องจัดประชุมคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว จะต้องทําการร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งเฉพาะกิจในการเลือกตั้งคณะกรรมการ สมัยที่ ๔๑ และแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นมา ๑ คณะ ทําหน้าที่เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง สมัยที่ ๔๑ (คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องยินยอมและพร้อมเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง) เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจะต้องเป็นผู้ดําเนินการ”

“เมื่อดําเนินการร่างระเบียบเรียบร้อยแล้ว รวมถึงสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ให้แจ้งและส่งเรื่องร่างระเบียบ และสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งสองดังที่ได้กล่าวมาให้คณะกรรมการสมัยที่ ๔๐ รับทราบเพื่อมีมติออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง และแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งดําเนินการเรียกประชุมคณะกรรมการสมัยที่ ๔๑ โดยดําเนินการตามระเบียบที่ได้รับรองจากมติที่ประชุมคณะกรรมการสมัยที่ ๔๐ (อํานาจหน้าที่ในการออกระเบียบหรือข้อบังคับ เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการสมัยที่ ๔๐ มิใช่ของคณะอนุกรรมการ)”

กระทำโดยไม่มีอำนาจ
หนังสือระบุอีกว่า “เมื่อยังมิได้ดําเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว การที่นายศิวัช เตียเจริญวรรธน์ เลขาคณะอนุกรรมการยกร่างข้อบังคับการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ และรักษาการเลขานุการประธานมูลนิธิฯ ออกหนังสือเชิญว่าที่กรรมการสมัยที่ ๔๑ มาประชุม เลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ จึงไม่ถูกต้องและกระทําการโดยไม่มีอํานาจแต่อย่างใด ซึ่งการกําหนดวันเลือกตั้งเป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ส่วนร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งเฉพาะกิจในการเลือกตั้งคณะกรรมการสมัยที่ ๔๑ ก็ยังไม่เห็นแต่อย่างใด เห็นเพียงเอกสาร ๗ ข้อที่อ้างว่าสรุปมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการยกร่าง ๑๒ คน ที่ได้เผยแพร่นั้นก็มิใช่ร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งเฉพาะกิจในการเลือกตั้งประธานสมัยที่ ๔๑ เป็นเพียงการสรุปและไม่มีลายเซ็นรับรองของคณะอนุกรรมการพร้อมทั้งประธานอนุกรรมการยกร่างแต่อย่างใด”

“ฉะนั้นการออกหนังสือเชิญคณะกรรมการสมัยที่ ๔๑ มาเลือกตั้งนั้นจะต้องดําเนินการตามขั้นตอนตามที่กล่าวมานี้ ทั้งหมดให้ถูกต้อง โดยเฉพาะหนังสือต่างๆ ที่นายศิวัช เตียเจริญวรรธน์ ดําเนินการและออกหนังสือไปนั้น กระทําการโดยไม่มีอํานาจและถูกต้อง”

(กลาง) นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล

ประชุมเลือก ‘ซิม’ นั่งประธาน
กระทั่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ที่มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน(หลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) ถนนโยธา มีการประชุมเพื่อเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ โดยมี พ.ต.อ.ประสิทธิ์ เปรมกมล ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา เป็นประธาน กกต. ร่วมกับนายสุเทพ ณัฐกานต์กนก โดยมีนายรังสรรค์ อินทรชาธร ทำหน้าที่เลขาฯ ทั้งนี้ มีผู้ร่วมสังเกตการณ์ อาทิ นายรัฐประทีป กีรติอุไร, นายอังคาร เมธาบุตร, นายยงยุทธ ปริญญวัฒน์ และนายโสภณ ศุภสีห์ เป็นต้น รวมทั้งนายอุทัย มิ่งขวัญ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ยโสธร เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย และอดีตประธานสภาเทศบาลนครนครราชสีมา ด้วย

นายสุเทพ ณัฐกานต์กนก ในฐานะ กกต.ประกาศว่า การประชุมวันนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประธานฯ มาครบองค์ประชุม จึงขอให้มีการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ ให้เสร็จสมบูรณ์ตามมติที่ประชุมสมัยที่ ๔๐ ปีบริหาร ๒๕๖๔-๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ ตามตราสารของมูลนิธิฯ และกฎหมายต่อไป  

นายสุเทพ ชี้แจงระเบียบการเลือกตั้งว่า ข้อบังคับการเลือกตั้ง คณะกรรมการเลือกตั้ง ๕ คน มาครบแล้ว ๓ คนมีคนนอก ๑ คนคือ ผู้กำกับฯ สำหรับการเลือกตั้ง กรณีมีคู่แข่งขัน และมีคะแนนเสียงเท่ากันให้มีการจับฉลากในทางลับ แล้วนำคะแนนนั้นมาประกาศให้ที่ประชุมรับทราบ, กรรมการ ๔๒ คนที่มีสิทธิลงคะแนน สมาคมใดสมาคมหนึ่งจะเปลี่ยนคณะกรรมการไม่ได้ ยกเว้นจะมีการยินยอมจากบุคคลที่จะถูกเปลี่ยน และไม่มีการมอบอำนาจ ซึ่งการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ กำหนดเป็นวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ ตามมติเสียงส่วนใหญ่เมื่อวันที่ ๒๒ ซึ่งไม่มีผู้ใดทักท้วง

ประกาศคนไม่มาถือว่าขาดประชุม
จากนั้น นายรังสรรค์ อินทรชาธร แจ้งต่อที่ประชุมว่า มูลนิธิฯ มีกรรมการจาก ๖ สมาคมๆ ละ ๗ คน รวม ๔๒ คน แต่ในวันนี้มีผู้มาร่วมประชุม ๒๒ คน โดยอ่านรายชื่อผู้เข้าร่วม ได้แก่ สมาคมโผวเล้ง นครราชสีมา ๗ คน, สมาคมจีนเตี้ยอันในประเทศไทยสาขานครราชสีมา ๗ คน, สมาคมเตี่ยเอี้ยแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ๗ คน และสมาคมเท่งไฮ้แห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ๑ คน ส่วนสมาคมเก๊กเอี๊ย, สมาคมเหยี่ยวเพ้ง และสมาคมเท่งไฮ้ ขาด ๖ คน ไม่มาลงชื่อในวันนี้ถือว่าขาดการประชุม จึงมีผู้มาประชุมในวันนี้ ๒๒ คนเท่านั้น ดังนั้น คณะกรรมการสมัยที่ ๔๑ มาประชุมในวันนี้ มี ๒๒ คน

นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล

‘ซิม’ ชนะแบบไร้คู่แข่ง
ต่อมาเปิดโอกาสให้แต่ละสมาคมเสนอชื่อผู้ที่จะเข้ามารับเลือกตั้งเป็นประธานมูลนิธิฯ โดยนายอนันตศักดิ์ ตั้งสิทธิประเสริฐ เสนอนายประยูร พิทักษ์วาณิชย์ แต่นายประยูรสละสิทธิ์ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ จากนั้นนายชัยชนะ ประพฤทธิพงษ์ เสนอชื่อนายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล มีผู้ยกมือรับรอง และไม่มีการเสนอรายชื่ออื่นเพิ่มเติม จึงเท่ากับมีผู้สมัครเพียงคนเดียว โดยนายทรงศักดิ์ตอบรับ และสมาชิกยกมือรับรอง
ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการการเลือกตั้ง นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล แถลงต่อสื่อมวลชนว่า “ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสมาชิกมูลนิธิฯ สมัย ๔๑ ที่พร้อมใจมาเลือกตั้ง ผมเองมีความรู้สึกว่า อยากเข้ามาบริหารในครั้งนี้เพื่อแก้ไข ปรับปรุง ในสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊งไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน มูลนิธิเป็นของประชาชน จะต้องทำให้ทั้ง ๖ ซกมีความสามัคคีกัน จึงจะเข้ามาปรับปรุงแก้ไขให้มีความรักใคร่สามัคคีกัน”

นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล หรือ “ซิม” เป็นนักธุรกิจใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมักจะแทนตัวเองว่า “ป๋า” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทแผ่นดินทองและในเครือ ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในชื่อ “แผ่นดินทอง” และเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ในเครือ “ปฐพีทอง”

๖ ซกบริหารหลักเสียงฯ
สำหรับรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ ปีบริหาร ๒๕๖๖-๒๕๖๗ ประกอบด้วย ๖ สมาคมๆ ละ ๗ คน ดังนี้ ๑.สมาคมจีนเตี้ยอันในประเทศไทยสาขานครราชสีมา ได้แก่ ๑) นายมงคล สธนเสาวภาคย์ ๒.นายยรรยง มานะเสถียร ๓) นายวิชัย ศิริจรูญวงศ์ ๔) นาย กรวิวัฒน์ ตันอมรศุภวัฒน์ ๕) นายอนันตศักดิ์ตั้งสิทธิประเสริฐ ๖) นายประทักษ์ ติรกาญจน์ ๗) นายสุรพงษ์ พัวอมรพงศ์ ๒.สมาคมเตี่ยเอี้ยแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ได้แก่ ๑) นายประยูร พิทักษ์วาณิชย์ ๒) นายภูเบศ โชติถาวรศักดิ์ ๓) นายศิวัช เตียเจริฐวรรธน์ ๔) นพ.ไชยรัตน์ บุญทวียุวัฒน์ ๕) นายอรรณพ สัณธนะ ๖) นายสมศักดิ์ จรัสจินดารัตน์ ๗) นายสมศักดิ์ เจตน์วิทยาชาญ ๓.สมาคมโผวเล้ง นครราชสีมา ได้แก่ ๑) นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล ๒) นายลอฮ้ง แซ่กัว ๓) นายสุวิช วงศ์เบญจรัตน์ ๔) นายชัยชนะ ประพฤทธิพงษ์ ๕) นายสัญชัย ธีรการุณย์วงศ์ ๖) นายกฤชรัช จูเจิดจรัส ๗) นายเฉลิมชัย วิชิตธนาคม

๔.สมาคมเหยี่ยวเพ้ง ได้แก่ ๑) นายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ ๒) นายประวิทย์ บูรณะบัญญัติ ๓) นายธนาวัฒน์ วงศ์ธนากิจเจริญ ๔) นายธนาคม วิมลวัตรเวที ๕) นายเชวงศักดิ์ หลวงเมือง ๖) นายวิชาญ ศรีนวกุล ๗) นายไพบูลย์ พฤกษ์พนาเวศ ๕.สมาคมจีนเก๊กเอี๊ยแห่งประเทศไทยสาขานครราชสีมา ได้แก่ ๑) นายกิตติศาสตร์ ลิ้มประยูรสวัสดิ์ ๒) นายศรรบ หล่อธราประเสริฐ ๓) นายซำ สันติเศรษฐสิน ๔) นายณรงค์ศักดิ์ วงศ์จร ๕) นายไพฑูรย์ ชาญปรีชารัตน์ ๗) นายธนพงษ์ สุทธิกุลเวทย์ และ ๖.สมาคมเท่งไฮ้แห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ได้แก่ ๑) นายธงชัย ทองแสงสุข ๒) นายสมศักดิ์ ชื้อรัตนากร ๓) นายวัลลภ นิ่มเจริญนิยม ๔) นายพงษ์พิพัฒน์ จินดาประเสริฐ ๕) นายยุทธชัย ชื้อรัตนากร ๖) นายจีรวัฒน์ ศิริวิกุล ๗) นายสหพล กาญจนเวนิช

การเลือกตั้งไม่ถูกต้อง
ต่อมาทางด้านนายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ รักษาการประธานมูลนิธิฯ มีหนังสือที่ ม.ต. ๘๙๙/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ ส่งถึงคณะกรรมการมูลนิธิสมัยที่ ๔๐ และคณะกรรมการทั้ง ๖ สมาคมที่มีรายชื่อส่งเข้าเป็นกรรมการสมัยที่ ๔๑ เรื่อง “การออกหนังสือการประชุมเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน”

โดยระบุว่า “การดําเนินการที่ถูกต้องต้องจัดประชุม “คณะอนุกรรมการร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งเฉพาะกิจในการเลือกตั้งประธาน สมัยที่ ๔๑” ซึ่งจะต้องทําการร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งเฉพาะกิจในการเลือกตั้งคณะกรรมการ สมัยที่ ๔๑ และแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นมา ๑ คณะ ทําหน้าที่เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง สมัยที่ ๔๑ (คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องยินยอมและพร้อมเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง) เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจะต้องเป็นผู้ดําเนินการ)”

ยื่นหนังสือค้าน‘ป๋าซิม’ นั่งประธาน
ต่อมาเมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น. วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ รักษาการประธานมูลนิธิฯ พร้อมคณะกรรมการ ๓ สมาคม (๓ ซก) ได้แก่ สมาคมเหยี่ยวเพ้งนครราชสีมา, สมาคมจีนเก๊กเอี๊ยแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา และสมาคมเท่งไฮ้แห่งประเทศไทย อาทิ นายวิชาญ ศรีนวกุล, นายสหพล กาญจนเวนิช และนายธนาคม วิมลวัตรเวที เป็นต้น พร้อมด้วยนายนพโรจน์ เลิศสุรีภัสร์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เดินทางมาพบนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา เพื่อปรึกษาหารือ พร้อมยื่นหนังสือคัดค้านการคัดเลือกประธานมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ (ตราสาร) และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยในหนังสือที่นำมายื่นคัดค้านฯ ต่อนายทะเบียนมูลนิธิฯ มีรายละเอียดดังนี้ “ตามที่มูลนิธิฯ ได้รับแจ้งจากทางนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา ให้คณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ ตามเอกสาร ม.น.๔ (ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔) ทําหน้าที่ คณะกรรมการมูลนิธิฯ จนกว่าจะได้จดทะเบียนคณะกรรมการมูลนิธิชุดใหม่ (สมัยที่ ๔๑) ถูกต้อง และให้คณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ ดําเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิฯ ชุดใหม่ตามข้อบังคับโดยเร็ว คณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ ได้ดําเนินการประชุมคณะกรรมการ และมีมติให้ดําเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อทําการเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ ให้ถูกต้องตามข้อบังคับและระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่า คณะอนุกรรมการยกร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งดังกล่าวมิได้ดําเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ให้เสร็จสิ้นตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ ซึ่งทางคณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ ได้มีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา ทราบแล้วตามหนังสือที่อ้างถึงลําดับที่ ๑ ดังนั้นการที่นายศิวัช เตียเจริญวรรธน์ เลขาคณะกรรมการยกร่างข้อบังคับการเลือกตั้งประธานมูลนิธิและรักษาการเลขานุการประธานมูลนิธิฯ ออกหนังสือเชิญว่าที่คณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ มาประชุมเพื่อเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ จึงไม่ถูกต้องตามขั้นตอนตามมติที่ประชุม และไม่ชอบด้วยข้อบังคับของมูลนิธิฯ

(กลาง) นายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ รักษาการประธานมูลนิธิฯ

ไม่ถูกต้องตามตราสาร
หนังสือดังกล่าวระบุอีกว่า “อนึ่ง ปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า นายประยูร พิทักษ์วาณิชย์ รองประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ ยังได้มีหนังสือตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลําดับที่ ๑ ถึงนายอนันต์ บูรณะบัญญัติ (อดีตประธานมูลนิธิ) และบุคคลอื่นอีกหลายคนให้มาเป็นกรรมการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ และยังได้มีหนังสือรายงานผลการเลือกตั้งถึงนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา ตามสําเนาหนังสือที่อ้างถึงลําดับที่ ๓ ซึ่งเป็นการกระทําที่ไม่ถูกต้อง และไม่มีอํานาจ เพราะเนื่องจากประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ (นาย อภิภวัส ตั้งนันทนาการ) ยังดํารงตําแหน่งรักษาการประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ ยังมิได้ลาออก ตาย หรือขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับ ประธานและกรรมการยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ประธานและคณะกรรมการสมัยที่ ๔๐ ตามข้อบังคับจนกว่าจะได้จดทะเบียนแต่งตั้งคณะกรรมการสมัยที่ ๔๑ (ชุดใหม่) ประกอบกับ ประธานมูลนิธิฯ มิได้แต่งตั้งหรือมอบหมายให้นายประยูร พิทักษ์วาณิชย์ รักษาการรองประธานมูลนิธิฯ ทําหน้าที่ในตําแหน่งรักษาการประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ การออกหนังสือดังกล่าวของนายประยูร พิทักษ์วาณิชย์หนังสือฉบับดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องและชอบด้วยตามข้อบังคับ (ตราสาร)”

“เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าการแจ้งให้ว่าที่คณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ มาทําการเลือกตั้งประธานมูลนิธิสมัยที่ ๔๑ ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ นั้นไม่ถูกต้องตามขั้นตอนตามมติที่ประชุมและไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ (ตราสาร) ของมูลนิธิฯ แล้ว ปรากฏว่ามีว่าที่คณะกรรมการของมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ มาประชุมเพียง ๒๒ คน ไม่ตรงตามข้อบังคับ เพราะการคัดเลือกกรรมการมูลนิธิฯ นั้น ข้อบังคับ (ตราสาร) ข้อ ๖ ได้กําหนดไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการ มูลนิธิฯ มีอย่างน้อย ๔๒ คน ซึ่งจะต้องมาจาก ๖ สมาคมการกุศลของจังหวัดนครราชสีมาคัดเลือก กรรมการบริหารของแต่ละสมาคม สมาคมละ ๗ คน เข้ามาเป็นกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งปรากฏว่า มีหนึ่งสมาคมนําผู้ที่มิใช่กรรมการของสมาคม เข้ามาประชุมเพื่อคัดเลือกประธาน และคณะกรรมการมูลนิธิฯ ทั้งนี้ได้ลงคะแนนคัดเลือกด้วยการประชุมดังกล่าวมิได้มีกรรมการจาก ๖ สมาคมมาร่วมประชุมครบทั้ง ๖ สมาคม นอกจากนี้ในวันดังกล่าวยังทําการคัดเลือกประธานมูลนิธิฯ เพียงตําแหน่งเดียว ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกคือ นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล ผลการดําเนินการเลือกตั้งดังกล่าวในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ จึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับ เพราะการดําเนินการดังกล่าวไม่ครบถ้วนและไม่เป็นไปตามข้อบังคับข้อ ๖ (ตราสาร) ที่ให้กรรมการทั้ง ๔๒ คนทําการคัดเลือกประธานและกรรมการตามข้อบังคับให้ครบถ้วน ดังนั้น ถือว่าเป็นการคัดเลือกประธานกรรมการมูลนิธิสมัยที่ ๔๑ ที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับและข้อกฎหมาย

ค้านเลือก ‘ซิม’ นั่งประธาน
“ทางคณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ ที่ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับจึงขอคัดค้านการคัดเลือกประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ ต่อนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมาว่า ไม่ชอบด้วยข้อบังคับ (ตราสาร) ของมูลนิธิฯ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอสงวนสิทธิ์ในการฟ้องร้องดําเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการดําเนินการจัดการประชุมคัดเลือกประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ และมาดําเนินยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการมูลนิธิฯ ชุดใหม่สมัยที่ ๔๑ ต่อนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา”

‘สยาม’ให้ยึดกฎระเบียบ
ด้านนายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครราชสีมา ในฐานะนายทะเบียนมูลนิธิฯ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ได้ให้แนวทางกับคณะผู้บริหารและคณะกรรมการให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ยึดกฎระเบียบตราสารของมูลนิธิ ที่ผ่านมายังไม่สามารถหาข้อสรุปการเลือกตำแหน่งประธานสมัยที่ ๔๑ จนเวลาล่วงเลยกว่า ๘ เดือน ก็ไม่สามารถบริหารงานได้เต็มประสิทธิภาพ ขอให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้ง ๖ สมาคมในคณะบริหารมูลนิธิหันหน้าคุยกันบนพื้นฐานความสามัคคีปรองดอง ใช้ความอดทนจนกว่าจะได้วิธีการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ต้องการความชัดเจนและถูกต้อง
ภายหลังการเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ เปิดเผยว่า ชาวหลักเสียงเซี่ยงตึ๊งโคราชต้องการความชัดเจน ความถูกต้องและชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่องค์กรต่อไปว่าจะเป็นเช่นไร ซึ่งไม่เคยมีปัญหาเช่นนี้มาก่อน ที่ผ่านมามูลนิธิฯ มีที่มาที่ไป ปฏิบัติตามประเพณียึดหลักอาวุโส แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการตัดสินใจของกลุ่มบุคคลไม่กี่คน ออกหนังสือเรียกประชุมโดยพลการ จึงมีปัญหาความวุ่นวาย ที่สำคัญไม่ได้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ ให้สรรหาบุคคลภายนอกเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน ๕ คน เพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม แต่ในวันนั้นกลับมีบุคคลภายนอกเพียง ๑ คนเท่านั้น (พ.ต.อ.ประสิทธิ์ เปรมกมล) และคณะกรรมการทั้งหมด ๔๒ คน ก็มาเพียงส่วนหนึ่ง แล้วเลือกตั้งกันเอง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนายทะเบียนจังหวัดนครราชสีมาว่าจะมีความเห็นเช่นไร

ยังไม่พบยื่นจดทะเบียน กก.ชุดใหม่
ล่าสุดมีหนังสือที่ นม ๐๐๑๘.๑/๑๗๐๘๓ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ ลงนามโดยนายสามารถ สุวรรณมณี ปลัดจังหวัดนครราชสีมา ส่งถึงนายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ รักษาการมูลนิธิฯ ระบุว่า “ตามที่ ท่านได้ยื่นหนังสือคัดค้าการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ (ชุดใหม่) เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ เนื่องจากเห็นว่าการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ (ตราสาร) ของมูลนิธิ และไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น นายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมาได้ตรวจสอบแล้วไม่พบว่า มีการยื่นคำร้องขออนุญาตจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการของมูลนิธิฯ ชุดใหม่ต่อนายทะเบียนฯ แต่อย่างใด และเพื่อให้การพิจารณาจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการของมูลนิธิชุดใหม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนมูลนิธิ การดำเนินกิจการและการทะเบียนมูลนิธิ พ.ศ.๒๕๔๕ และข้อบังคับ (ตราสาร) ของมูลนิธิ จึงแจ้งให้นายอำเภอเมืองนครราชสีมาในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับทราบและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว”

‘ซิม’ยังไม่เคลื่อนไหว
ในขณะที่ฟากนายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล ยังไม่ออกมาเคลื่อนไหวแต่อย่างใด แต่มีกระแสข่าวว่าเตรียมที่จะดำเนินในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน เพราะถือว่าผ่านความเห็นชอบในที่ประชุมให้ได้รับตำแหน่งประธานมูลนิธิฯ จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ แล้ว

กก.ลาออก
นอกจากนี้ นายธนาคม (แอ้ม) วิมลวัตรเวที กรรมการมูลนิธิฯ และอดีตประธานสภาเทศบาลนครนครราชสีมา ได้ทำหนังสือลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ ถึงรักษาการประธานมูลนิธิฯ เพื่อขอลาออกจากการเป็นคณะกรรมการสมัยที่ ๔๑ โดยระบุว่า “เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมเหยี่ยวเพ้งแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นตัวแทนเข้าเป็นคณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนจังหวัด จึงรีบแจ้งขอลาออกจากกรรมการสมัยที่ ๔๑ ด้วยสภาพและเหตุผลส่วนตัวที่ไม่พร้อม ทั้งเรื่องทางครอบครัว และการไม่มีเวลาที่จะไปทำงานให้กับมูลนิธิฯ”

โดยนายธนาคมได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ครอบครัวเราก็ขอจะยังร่วมทำบุญร่วมงานบุญ ช่วยเหลือบริจาคทุกกิจกรรมให้มูลนิธิฯ เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนผู้ยากไร้ในจังหวัดนครราชสีมาต่อไป”

ก่อตั้งปี ๒๕๐๐
อนึ่ง ในข้อมูลระบุว่า การก่อตั้งมูลนิธินี้เกิดจากคณะกรรมการ ๙ คน ได้แก่ นายก่ำเท้ง แซ่อั้ง, นายจือเจ็ง แซ่แต้, นายสมาน เฮงศรี, นายถาวร สมบูรณ์วงศ์, นายรังษี อัครปรีดี, นายเลี้ยง แซ่ตั้ง, นายไทค้า แซ่อื้อ, นายรักษ์ ศิริรัฐ และนายเกียรติก้อง กาญจนวัฒนา โดยมีการประชุมหารือตกลงกันก่อตั้งมูลนิธิขึ้นในจังหวัดนครราชสีมาเป็นแห่งแรก และจดทะเบียนมูลนิธิถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๐๐ โดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิการกุศลแห่งจังหวัดนครราชสีมา” และเปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (หลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง)” ในช่วงที่เข้าเป็นมูลนิธิในเครือสมาคมพุทธมามกสงเคราะห์การกุศลแห่งประเทศไทย (เม่งเลี้ยง) และดำเนินการมาถึงปัจจุบันเป็นสมัยที่ ๔๐ และที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้คือการเลือกตั้งคณะกรรมการสมัยที่ ๔๑

ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอข่าวต่อไป


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๕๖ วันที่ ๑๕ สิงหาคม - วันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖

 


1058 1,472