2ndMay

2ndMay

2ndMay

 

August 28,2023

‘อดทน อดออม เพื่อไม่ให้อดสู’ นิพนธ์ ทองชั้น จาก ‘เรือจ้าง’ สู่ (ปั๊ม)น้ำมันพระเจ้า

 

ธุรกิจ “เรือจ้าง” เริ่มต้นจากร้านขายเครื่องเขียน รับถ่ายเอกสาร และรับเข้าเล่ม ตั้งอยู่ตรงข้ามวิทยาลัยครูนครราชสีมา หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาในปัจจุบัน เป็นร้านดังและร้านแรกๆ ที่เปิดบริการถ่ายเอกสารในราคาแผ่นละ ๕๐ สตางค์ และรับเย็บเล่มรายงาน งานวิจัย และวิทยานิพนธ์มาอย่างยาวนาน พร้อมกับจำหน่ายเครื่องเขียนต่างๆ ด้วย ซึ่งต่อมาแตกไลน์มาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิตล่าสุดคือสถานีบริการแก๊ส LPG และสถานีบริการน้ำมันหลายสาขา

แน่นอนว่า บนเส้นทางแห่งความสำเร็จนี้ เกิดจากความมุมานะอดทนของ “นิพนธ์ ทองชั้น” ซึ่งได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตกับ “โคราชคนอีสาน”

 

“นิพนธ์” เป็นลูกคนที่ ๙ ใน ๑๐ คนของพ่อแม่ เป็นคนนครนายกโดยกำเนิด และเมื่อเรียนจบชั้น ป.๔ ก็ย้ายมาอยู่กับพี่ชายที่โคราชซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่วิทยาลัยครูนครราชสีมา เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดสระแก้วจนจบป.๗ แล้วต่อมัธยมศึกษาที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย (รุ่น ๑๙)

เขาบอกเล่าเชิงตั้งคำถามว่า บ้านถูกไฟไหม้ ๒ ครั้งคิดว่าชีวิตจะร่ำรวยได้มั้ย?

เมื่อเขามาอยู่โคราชได้ ๑ ปี แม่ก็ย้ายมาตาม เปิดขายขนมหวานหรือรวมมิตรและของจุกจิกสำหรับนักเรียนในบ้านพักอาจารย์

 

• อดทน อดกลั้น อดออม ไม่อดสู

“ตอนที่แม่ย้ายมาขายของที่โคราช ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดสระแก้ว ช่วยแม่ขายรวมมิตร ล้างถ้วย คั้นกะทิ ทุบน้ำแข็ง เป็นเด็กที่เห็นพ่อแม่ลำบากแล้วพยายามจะ แอ่นอกเข้าไปรับแทน ด้วยความที่แม่อายุมากแล้ว เพราะผมเป็นลูกคนที่ ๙ ไม่อยากให้แม่ลำบาก ก็ช่วยครอบครัวมาตลอด กระทั่งเรียนจบมัธยมจากราชสีมาฯ ก็มาเรียนต่อที่วิทยาลัยครูฯ จบอนุปริญญา เอกสังคมศึกษา แล้วก็ไปเรียนต่อปริญญาตรีที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ตอนนั้นพ่อก็มาเปิดร้านสิริสาส์นแล้ว วิ่งช่วยงานพ่อแม่ขายของอย่างเดียว พออายุประมาณ ๑๗ ปี มีความรู้สึกว่า ต้องพาครอบครัวให้หลุดพ้นจากความยากจน จึงมีมานะ เงินทุกบาทต้องประหยัด งานทุกอย่างก็สู้ ใช้ทฤษฎีอดทน อดออม เพื่อจะได้ไม่อดสู คิดแค่นี้ “อดทน อดกลั้น อดออม ชีวิตจะไม่อดสู”...”

 

• ลาออกจากอาชีพเรือจ้าง

นิพนธ์ที่วันนี้อยู่ในวัย ๖๘ ปีเล่าอีกว่า หลังจากเรียนจบเพื่อนก็มาชวนไปสอบบรรจุครู ที่โรงเรียนประทาย แต่สอนได้เพียงปีเดียวก็ลาออกเพราะว่ามีภาระ ที่บ้านเปิดตำนานเย็บเล่ม ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี เย็บเล่มให้นักศึกษา ซึ่งทำตั้งแต่ผมเรียน ปก.ศ.ปี ๒ แล้ว คือร้านสิริสาส์น ซึ่งร้านผมเป็นร้านแรกที่ตั้งสิริสาส์น แล้วน้องสาวมาเปิดสิริสาส์น ๒

 

 

• เปิดตำนานเรือจ้าง

เมื่อพ่อเสียชีวิต ร้านแม่ยังไม่ปิด นิพนธ์ก็แต่งงานแล้วออกมาประกอบธุรกิจของตัวเอง คือ “เรือจ้าง” เป็นการเปิดตำนานถ่ายเอกสารแผ่นละ ๕๐ สตางค์เจ้าแรกของโคราช ซึ่งเรือจ้างเปิดตอนที่เขาอายุ ๒๗-๒๘ ปี เขายอมรับว่า เป็นคนโชคดีที่ตั้งตัวได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๓๐ ปี

ในการทำธุรกิจนี้ “นิพนธ์” บอกว่า คนอื่นทำงานก้าวหนึ่งได้บาทหนึ่ง แต่เราทำงาน ๒๐ ก้าวเพื่อจะได้ ๑ บาท คือยอมเหนื่อยยอมทำงานหนัก อาศัยว่าขายเยอะ เป็นร้านดัง จังหวัดข้างเคียงก็มาอุดหนุน ทั้งสระบุรี และบุรีรัมย์ เพราะสมัยก่อนไม่มีใครทำ ชีวิตต้องเหนื่อย ตื่นมาแต่เช้า นอนอีกทีก็ตีสองตีสาม ทำงานสองคนกับภริยาที่ลาออกจากการเป็นครูโรงเรียนอนุบาลฯ โดยผมลาออกก่อน พอมาเปิดร้านเรือจ้างก็ให้ภริยาลาออก ตอนนั้นมีลูกคนโตแล้ว ความเป็นเรือจ้างที่เปิดบริการเมื่อประมาณปี ๒๕๒๗ เป็นธุรกิจที่ต้องวิ่งให้ไกลเพื่อให้ได้เงินเท่ากับคนอื่น

 

• เจ้าของตำนานร้านเย็บเล่ม

“เด็กคนนี้ที่เปิดตำนานการเย็บเล่มตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี ทำคนเดียวมาก่อน แต่เดี๋ยวนี้มีร้านแบบนี้เต็มไปหมด แต่เรือจ้างก็ไม่เอาเปรียบลูกค้า ถ่ายเอกสารก็แผ่นละ ๕๐ สตางค์ เย็บเล่มก็ไม่แพง”

นิพนธ์บอกว่า ตอนหลังมีสิริสาส์น ๒ มาเปิดตรงข้ามเทคโนฯ โชคดีที่มีคนมาช่วย ไม่เช่นนั้นก็จะทำงานไม่ไหว ตื่นเช้ามาเดินแทบไม่ได้ กินยาแอสไพรินกับน้ำอุ่นแก้วใหญ่ๆ พอเหงื่อซึมก็ทำงานจนถึงตีสองตีสาม ชีวิตเป็นเช่นนี้อยู่หลายสิบปี

“ตอนหลังเริ่มมีลูกน้อง และมีร้านอื่นมาช่วยแชร์ตลาดไป เราก็เริ่มมาซื้อที่ทำบ้านจัดสรร ทำทีเดียวเลิกเลย (หัวเราะ) แต่ก็ยังทำธุรกิจเย็บเล่มอยู่ ทิ้งไม่ได้” 

 

• กิจการปั๊มแก๊ส-น้ำมัน

นิพนธ์บอกว่า แรกเริ่มไม่ได้ทำปั๊มน้ำมัน มาเริ่มต้นช่วงใครเป็นรัฐบาลก็จำไม่ได้ ว่าน้ำมันแพงมาก ลิตรละ ๕๐ บาท ในขณะที่แก๊สลิตรละ ๖.๗๕ บาท ต่างกันเกือบสิบเท่าตัว จึงเปิดปั๊มแก๊ส ส่วนที่ดินที่ว่างก็ให้ร้านสเต็กเช่า

“เหตุที่เลือกธุรกิจนี้ก็ดูโอกาสด้วย น้ำมันลิตรละ ๕๐ บาท คนไปติดแก๊สเติมลิตรละ ๖.๗๕ บาท และเห็นว่าช่วงเทศกาลที่บริเวณปั๊มแก๊สตรงข้ามวิทยาลัยเทคนิคฯ รถเข้าคิวรอเติมแก๊สจนถึงโรงพยาบาลกรุงเทพฯ จึงเปิดปั๊มแก๊สขึ้นบ้าง เพื่อเป็นทางเลือก เพราะตรงนั้นก็ไม่สะดวก มาเจอของเราก็ทำให้เกิดการหมุนเวียนการเข้ารับบริการและจัดพนักงานไว้บริการให้เพียงพอ จึงช่วยลดการแออัดของรถได้มาก”

• คนไทยถูกเอาเปรียบ

“ทุกวันนี้ รถใช้แก๊สหายไปเยอะ เพราะคุณประยุทธ์ พอเข้ามาก็ปล่อยแก๊สลอยตัว บรรดาปั๊มแก๊สก็เจ๊ง น้ำมันราคาลดลง รัฐบาลไปอ้างอิงราคาแก๊สที่ซาอุฯ ไม่อ้างอิงสิงคโปร์ ส่วนน้ำมันปาล์มอยู่ภาคใต้ก็ไปอ้างอิงราคาของอินโดนีเซีย น้ำมันอยู่ในอ่าวไทย อยู่ในลานกระบือก็มีเยอะแยะ เราเจ็บกับการเอารัดเอาเปรียบในด้านพลังงานมามาก น้ำมันที่มาเลย์ลิตรละ ๑๖ บาท แต่ของไทย ๔๐-๕๐ บาท ก็อ้างว่าให้คนมาเลย์ ทั้งที่ไทยกับมาเลย์แหล่งเดียวกัน ใจดำกับคนไทยมาก การที่ราคาพลังงานขึ้นทุกสัปดาห์ก็ถือว่าปล้นคนไทยทั่วประเทศ เงินก็ไปตกอยู่กับกลุ่มทุนพลังงาน”

ปัจจุบันในเครือของ “เรือจ้าง” มีสถานีบริการแก๊ส LPG และน้ำมันเชื้อเพลิง ที่โคราช ๓ แห่ง คือบริเวณริมถนนมิตรภาพแถวตาลคู่เป็นปั๊มแก๊สและน้ำมันดีเซล ส่วนที่ถนนสุรนารายณ์เป็นปั๊มแก๊ส และปั๊มน้ำมันภายใต้แบรนด์ Shell และอีกแห่งที่ “นิพนธ์” ไปลงทุนไว้ที่จังหวัดชลบุรี

“จากปั๊มแก๊สมาสู่ปั๊มน้ำมัน ระยะเวลาห่างกันเป็นสิบๆ ปี ปั๊ม Shell เพิ่งสร้างได้ ๒ ปีกว่า ตอนนั้นแก๊สขายดีมากและยุ่งมาก ต่อมาก็ขึ้นราคาแก๊ส ขึ้นเอาๆ ทำเหมือนปล้นคนไทย ทุกคนถูกปล้นโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ” นิพนธ์กล่าว

 

• น้ำมันพระเจ้า

ปั๊มน้ำมันของ “นิพนธ์” จะมีป้ายติดไว้ว่า “เรือจ้าง น้ำมันพระเจ้า” แม้กระทั่งรถที่ขนส่งพลังงานก็มีสติกเกอร์ติดไว้กับตัวรถเด่นชัดเช่นกัน สร้างความสงสัยให้ผู้พบเห็นและผู้ที่แวะเวียนไปเติมน้ำมัน

“เป็นน้ำมันที่มีคุณภาพดี มีขายเฉพาะเรือจ้าง ถ้าไม่เติมก็จะไม่รู้ว่าดีอย่างไร คนที่เติมก็ยอมรับว่าน้ำมันพระเจ้าจริงๆ ยอดขายดีตลอด” เขาไขข้อข้องใจ

ส่วนสาเหตุที่มาเปิดปั๊มน้ำมันภายใต้แบรนด์ Shell จากเดิมที่มีแค่ปั๊มแก๊ส ส่วนหนึ่งทางเชลล์ก็มาชักชวนและตนก็ปล่อยให้คนอื่นเช่าที่ดินเพราะทำธุรกิจร้านอาหารกึ่งบาร์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ และทำให้เด็กเยาวชนติดกับความสนุกสนานในสิ่งที่ไม่เป็นเรื่อง ตอนรื้อก็เห็นหลายอย่างที่ไม่ดี เราไม่อยากเป็นสะพานนำความเสื่อมเสียมาสู่สังคม และเป็นจังหวะที่ Shell มานำเสนอข้อมูลการตั้งปั๊มพอดี

เมื่อถามถึงแนวโน้มราคาน้ำมันว่าจะราคาถูกลงกว่านี้ไหม เจ้าของปั๊มน้ำมันพระเจ้าบอกว่า “ไม่มีหรอก มีแต่จะขึ้น แต่ที่แพงเพราะโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ หรือกองทุนน้ำมัน”

• ป้ายใหญ่กระตุกใจนักการเมือง

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ริมถนนมิตรภาพ ขาเข้าเมืองโคราช ที่จะเห็นป้ายใหญ่โต ตั้งอยู่ตรงข้ามปั๊มของเขาแถวตาลคู่ที่มีข้อความว่า “พลังงานไทยต้องเป็นของคนไทย ถ้าพวกมึงไม่โกงถนนจะทำด้วยทองให้ดู เรือจ้าง น้ำมันพระเจ้า ขอสนับสนุนคนที่ต่อสู้เรื่องนี้ด้วยความจริงใจ”

นิพนธ์บอกว่า “การทำป้ายนั้นขึ้นมา ก็ไม่คิดว่า จะทำให้คนมาเติมน้ำมันกับปั๊มเราเยอะ ยอดทั้งปั๊มแก๊สและดีเซลที่บริเวณตาลคู่ยอดขายดีดขึ้นเลย ทั้งที่คำว่า “เรือจ้าง” เล็กนิดเดียว แต่ตอนทำไม่คิดหรอกว่าจะมีผลตอบรับแบบนี้ เพียงแต่คิดว่า เมื่อไปเทียบกับมาเลเซีย และซาอุฯ ซึ่งเขามีน้ำมันของเขา ไทยก็มีของตัวเอง ถ้าราคาแพงกว่ากันพอสมควรก็จะไม่ว่าอะไร แต่นี่ไหนจะเก็บเข้ากองทุน ไหนจะค่าภาษีสรรพสามิต ไหนจะ Vat เรียกว่าเกือบทุกอย่าง และก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส. ใครไปใครมาก็กระตุกเลย เพราะคำนี้เป็นคำของปราชญ์ของแผ่นดิน นายกรัฐมนตรีที่มี ๑๘ เสียงครั้งแรกของโลก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ว่า “ถ้านักการเมืองไทยหยุดโกงเพียงสองปีถนนประเทศไทยจะปูด้วยทองคำก็ยังได้” เพียงแต่ของผมนำมาแต่งให้แรงหน่อย (หัวเราะ) แต่เราก็ไม่ได้รู้หรอกว่า ใครโกงหรือไม่โกง แต่คิดว่าน้ำมันราคาแพงเกินไป”

“เรื่องน้ำมันแพงคนไทยได้รับการปฏิบัติโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ เพราะเท่าเทียมกันหมด แจกความแพงให้ทุกคน พอน้ำมันขึ้นราคา ทุกอย่างก็ขึ้นตาม ทั้งค่าขนส่ง ค่าโดยสาร ค่าใช้ชีวิตส่วนตัว แก๊สในครัวเรือนยิ่งหนักเข้าไปอีก”

 

• ความสำเร็จไม่วัดที่เงิน

เมื่อถามว่า ทุกวันนี้ประสบความสำเร็จในธุรกิจหรือยัง? “นิพนธ์” บอกว่า ความสำเร็จเราไม่เคยวัดด้วยเงิน จะวัดจากความพึงพอใจของลูกค้า เช่นการเปิดตำนานถ่ายเอกสาร ๕๐ สตางค์ ลูกค้าก็แฮปปี้ทั้งจังหวัด ขายแก๊สลูกค้าก็เหมือนลอยน้ำเกาะขอนไม้มา เราทำธุรกิจแบบใจเขาใจเรา เราชอบของถูกของดี เราก็จัดให้ลูกค้าด้วย กำไรหรือไม่ไม่สำคัญ สำคัญที่เป็นคนหน้าใหญ่ (หัวเราะ) เมื่อเขาชอบก็จะมาเป็นลูกค้าประจำของเรา และชีวิตเราไม่เคยฟุ่มเฟือย

 

 

• แค่นี้ก็เกินฝันแล้ว

ปัจจุบัน “นิพนธ์” มีลูกมาช่วยดูแลบริหารงานมากขึ้น เขามีลูก ๓ คน คนโตแต่งงานไปอยู่กรุงเทพฯ ส่วนอีก ๒ คนมาช่วยดูแลธุรกิจ ตอนนี้ก็สบายขึ้น แต่ยังต้องทำงานอยู่บ้าง ถ้าไม่ทำจะให้นอนมัดมือมัดเท้าไว้ก็เครียดตาย ทำเท่าที่ทำได้ ทำพอสนุก และไม่ทำธุรกิจใดเพิ่มแล้ว เพราะถือคติว่า อุปสรรคมีไว้ท้อ ปัญหามีไว้หนี คือไม่สู้ไม่ชนกับใครทั้งนั้น ไม่รู้จะทำไปทำไม เพราะการค้าขายของเราก็ไม่ได้เอาเปรียบสังคม ไม่คิดจะเอารัดเอาเปรียบใคร สิ่งใดที่ไปโลภเอาของคนอื่นมาตายไปก็เอาไปด้วยไม่ได้ จึงคิดว่ามีเท่าไหร่ก็เท่านั้นก็พอ

เขาย้ำว่า “ความสุขย่อมดีกว่าเงินทอง” และเมื่อธุรกิจดำเนินมาถึงปัจจุบัน “แค่นี้ก็เกินฝันแล้ว” ส่วนลูกๆ เขาก็ให้ข้อคิดว่า “ทำให้ลูกค้าพอใจ เงินไม่สำคัญเท่าหน้า ถ้าลูกค้ามาชมว่าน้ำมันดี บริการดี เราก็มีความสุข”

และสิ่งที่น่าภูมิใจอีกอย่างหนึ่งของเจ้าของปั๊มน้ำมันคือ “ลูก” เขาบอกว่า “ลูกจะดี อยู่ที่เรา สอนลูกอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำให้เขาดูด้วย เขาไม่เคยเห็นเรากินเหล้า ไม่เคยเห็นเราเมา เขาก็ไม่กิน ก็รู้สึกว่าลูกใช้ได้ ไม่สำมะเลเทเมา”

 

ท้ายสุด “นิพนธ์ ทองชั้น” บอกผ่าน “โคราชคนอีสาน” ว่า “ในฐานะสื่อมวลชน ช่วยปรามๆ นักการเมืองบ้าง ให้อยู่ในคุณธรรม คนเราต้องมีศีล เพราะว่าทรัพย์สินเมื่อตายแล้วก็ยังไม่เคยเห็นมีใครเอาไปด้วยได้เลย พอจิตเป็นกุศลทุกอย่างก็น่าจะดี”

• ทีมข่าวโคราชคนอีสาน

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๕๖ วันที่ ๑๕ สิงหาคม - วันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖

 

 

 


1122 1,467