2ndMay

2ndMay

2ndMay

 

September 28,2023

“หอศิลป์โคราช”

อาคารเก่าบริเวณสี่แยกวัดม่วง กลางเมืองโคราช หลังจากปล่อยให้เอกชนเช่ากระทั่งหมดสัญญา อาคารหลังนี้ “เทศบาลนครนครราชสีมา” ก็เข้าไปดำเนินการปรับปรุงส่วนหนึ่งกลายเป็น “สถานธนานุบาล” หรือ “โรงรับจำนำ” ของเทศบาลนครฯ และพื้นที่ชั้นล่างสุด เป็น “หอศิลป์โคราช” ซึ่งได้ฤกษ์ดีในวันนี้ (๑๕ กันยายน ๒๕๖๖) เวลาเย็นย่ำก็ได้ประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดย “ประเสริฐ บุญชัยสุข” นายกเทศมนตรีฯ บอกว่า เลือกวันนี้เพราะเป็น “วันศิลป์ พีระศรี” โดยมี “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมด้วย “ศุภภิมิตร เปาริก” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ท่ามกลางผู้มาร่วมจำนวนมาก อาทิ เทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีหมาดๆ, นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติพัฒนากล้า, วัชรพล โตมรศักดิ์ อดีตส.ส.โคราช, รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, กำปั่น บ้านแท่น และวีระยุทธ เพชรประไพ ครูศิลปะผู้สร้างสรรค์ผลงานมากมายและถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า รวมทั้ง ธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาที่เดินชมผลงานแทบทุกชิ้นด้วยความสนใจ 

 


 

งานเริ่มขึ้น เมื่อ ศ.สามารถ จับโจร แห่งทัศนศิลป์ราชภัฏโคราช บอกเล่าถึงที่มาของ “หอศิลป์โคราช” ว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ มาถึงปี ๒๕๖๖ ฝันมาตลอด ๒๐ ปีว่าเมื่อไหร่จะมีหอศิลปวัฒนธรรมที่เป็นหน้าตาของเมืองโคราช เคยไปฝรั่งเศส เขาปรับสถานีรถไฟริมแม่น้ำเชทำหอศิลปะเพื่อแสดงผลงานของศิลปินฝรั่งเศส และช่วงที่นายสุรวุฒิ เชิดชัย เป็นนายกเทศมนตรี จึงได้ร่วมกับอาจารย์ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ และอาจารย์ศราวุธ ดวงจำปา จัดงานโครงการสร้างสรรค์งานศิลป์ถิ่นย่าโม ประจำปี ๒๕๔๖ มีศิลปินมาจากทั่วสารทิศ ๖๔ คน นำความประทับใจในเมืองโคราชมาสร้างสรรค์บนเฟรม และมีหลายคนถามว่า เมื่อไหร่จะจัดงานขึ้นอีก จนมาบังเกิดเมื่อท่านประเสริฐ บุญชัยสุข เป็นนายกเทศมนตรี และบอกว่าเรามีของดีที่เป็นผลงานของ ๖๔ ศิลปิน จึงเกิดโครงการที่จะจัดแสดงขึ้นโดยให้ผมมาร่วมเป็นที่ปรึกษา ซึ่งมีการประเมินผลงานที่นำมาจัดแสดงในวันนี้ก็ประมาณ ๕๐ กว่าล้านบาท 

 

ศ.สามารถ จับโจร แห่งทัศนศิลป์ราชภัฏโคราช

“อยากให้ชาวโคราชตระหนักว่า เรามีหอศิลปวัฒนธรรมอุบัติขึ้นแล้ว ณ ที่แห่งนี้ และหอศิลปะที่มีชีวิตจะบังเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งบอกนายกฯ ประเสริฐว่า อยากให้เป็นนิทรรศการกึ่งถาวร เพราะว่าผลงานของ ๖๔ ศิลปิน ๖๔ ชิ้นนี้ผนวกกับที่งอกเงยออกมาเป็น ๗๐ กว่าชิ้นจะมีมูลค่าต่อไป เป็นสมบัติของชาวโคราช เป็นนิทรรศการถาวร ส่วนหอศิลปวัฒนธรรม ก็ยังอยากให้มีหอศิลป์ใหญ่ๆ เช่นที่กาฬสินธุ์เขาใช้ศาลากลางหลังเก่า รีโนเวทเป็นหอศิลปะยิ่งใหญ่และสวยงาม โคราชเป็นประตูสู่อีสาน ถ้ามีหอศิลปวัฒนธรรมก็จะเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตา” ศ.ดร.สามารถ กล่าว

ในขณะที่ “ประเสริฐ บุญชัยสุข” นายกเทศมนตรี กล่าวว่า โครงการจัดแสดงงานศิลปะเมืองโคราชและเปิดหอศิลป์โคราชในครั้งนี้ เทศบาลนครนครราชสีมา ได้เล็งเห็นความสําคัญโครงการสร้างสรรค์งานศิลป์ถิ่นย่าโม เมื่อปี ๒๕๔๖ โดยครั้งนั้นได้เชิญศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยม ศิลปินอิสระ ศิลปินส่วนภูมิภาค และศิลปินท้องถิ่น มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานผ่านมุมมองของแต่ละท่าน ตามแนวคิดที่ว่า “เมืองโคราชในความรู้สึกนึกคิดของท่านคืออะไร” และ “ถ้ามีคนเอ่ยถึงโคราชจะนึกถึงสิ่งใด” เพื่อรวบรวมและจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปิน มีจํานวน ๗๒ ภาพ และในปีนี้ ๒๕๖๖ ได้จัดตั้งหอศิลป์โคราชขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้เข้าชม ที่ถือฤกษ์ยามเย็นในวันนี้ เพราะวันนี้เป็นวันศิลป์ พีระศรี พระบิดาแห่งศิลปะของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ปั้นและหล่ออนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารีที่เด่นเป็นสง่าที่ถนนราชดำเนิน อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว”

ประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีฯ

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ กล่าวเปิดงานว่า นับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของวงการศิลปะ เพราะรอมานานสิบปีกว่าจะมีหอศิลป์เพื่อรวบรวมผลงานศิลปะ ซึ่งวันนี้ก็เกิดขึ้นแล้ว อยากให้พี่น้องประชาชนได้ภาคภูมิใจ และในโคราชมีศิลปินแห่งชาติที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น อาจารย์ทวี รัชนีกร, ศราวุธ ดวงจำปา หรือจะเป็นเปี๊ยก โปสเตอร์ รวมทั้งที่ล่วงลับไปแล้วอย่างท่านสุเทพ วงศ์กำแหง สำหรับผลงานที่นำมาจัดแสดงก็คือตัวตนของเมืองโคราชผ่านความคิดคำนึงของศิลปิน รวมทั้งตราสัญลักษณ์ของหอศิลป์โคราชก็มาจากภาพวาดเก่าแก่ที่เขาจันทร์งาม อำเภอสีคิ้ว แสดงถึงว่าศิลปะมีมาแล้วนับพันปี อยู่ที่เขาจันทร์งาม และผลงานศิลปะอันยิ่งใหญ่ที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรีสร้างไว้อย่างคุณย่าโม อนาคตผลงานต่างๆ ต้องการรวบรวมโคราชไว้ที่หอศิลป์แห่งนี้ อวดของดีโคราชแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนมาชม และใช้ศิลปะและใช้ความงดงามของเมืองโคราชเป็นพื้นฐานถึงความเติบโตของเมืองต่อไป 

 

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี

สำหรับผลงานที่จัดแสดงในหอศิลป์โคราช มีทั้งศิลปินแห่งชาติ อาทิ สวัสดิ์ ตันติสุข, ทวี รัชนีกร, อินสนธิ์ วงศ์สาม, เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ, ศ.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, ศ.เดชา วราชุน, ศ.อิทธิพล ตั้งโฉลก, สมศักดิ์ เชาวน์ธาดา, ศ.วิโชค มุกดามณี, ศราวุธ ดวงจำปา, ศ.ปริญญา ตันติสุข, อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ, ศ.ประหยัด พงษ์คำ นอกจากนี้ ยังมีศิลปินอื่นๆ ด้วย เช่น ไพโรจน์ สโมสร, ประยุทธ ฟักผล, รศ.รุ่ง ธีระพิจิตร, สนาม จันทร์เกาะ, ศ.กัญญา เจริญศุภกุล, สันทนา ปลื้มชูศักดิ์, สุขสันต์ เหมือนนิรุทธิ์, สมวงศ์ ทัพพรัตน์, สรรณรงค์ สิงหเสนี, โชคชัย ตักโพธิ์, ศ.พงษ์เดช ไชยคุตร, สมภพ บุตราช, อาคม ด้วงชาวนา, รังสิต มามาตร์, ประทีป คชบัว, พีระ ศรีอันยู้, สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ, อรัญ หงษ์โต, ศ.สุธี คุณาวิชยานนท์, สันติ ทองสุข, ผศ.วุฒิกร คงคา, ศ.สามารถ จับโจร, ผศ.ไพโรจน์ วังบอน, รศ.ธณฤษภ์ ทิพย์วารี, สุวัฒน์ ชะตางาม, อลิตา จั่นฝังเพ็ชร, ผ่อง เซ่งกิ่ง, ผศ.นาวิน เบียดกลาง และ ศักดิ์ชัย อุทธิโท

 

ส่วนตราสัญลักษณ์ “หอศิลป์โคราช” มีการจัดประกวดมาก่อนนี้แล้ว ซึ่งผู้ชนะคือ “กิตติศักดิ์ ต่อเชื้อ” และมีการปรับแต่งเพิ่มเติมโดย “ศ.สามารถ จับโจร” แห่งราชภัฏโคราช และ “อ.สุวพัชร โสวภาค” แห่ง มทร.อีสาน 

บัดนี้ “หอศิลป์โคราช” บังเกิดขึ้นแล้ว และเปิดให้ชมฟรี ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. แม้ตัวอาคารจะได้รับการปรับปรุงสวยงามโอ่อ่า ขณะที่ภายในห้องจัดแสดงอาจไม่ได้อลังการอย่างที่หลายคนคาดหวัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องการให้มีความยั่งยืนและมีคุณค่าคู่เมืองโคราชต่อไปตราบนานเท่านาน

• ทีมข่าวโคราชคนอีสาน

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๕๗ วันที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม - วันที่ ๑๔ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖

 


 

 


293 1,515