3rdMay

3rdMay

3rdMay

 

October 29,2023

สกายวอล์ค ๒ จุด ๓๐๐ ล. ‘เขายายเที่ยง-เขาเขื่อนลั่น’ อบจ.โคราชหนุนงบ ‘อีไอเอ’

 

ขยับเรื่อยๆ โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสร้างสกายวอล์คและพระชัยเมืองบริเวณ ๒ เขา “เขายายเที่ยง” และ “เขาเขื่อนลั่น” รัฐมนตรีปุ๋งสั่งลุย พร้อมผลักดันงบประมาณ ๓๐๐ ล้าน สร้างแลนด์มาร์ก สร้างเศรษฐกิจใหม่โคราช โยธาฯ เผย  ออกแบบอิงธรรมชาติให้มากที่สุด

ตามที่จังหวัดนครราชสีมาในสมัยที่นายวิเชียร จันทรโณทัย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดฯ มีแนวคิดจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ บริเวณเขายายเที่ยงและเขาเขื่อนลั่น อำเภอสีคิ้ว ในรูปแบบสกายวอล์ค ๒ จุดและสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมาด้วย ซึ่งต่อมาในที่ประชุมมีการนำเสนอต่อนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และนางสาวสุดาวรรณ (ปุ๋ง) หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการนำโดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กับภาคเอกชน เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๖ ซึ่งสนับสนุนให้มีการดำเนินการโครงการนี้

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ต่อมาเมื่อเวลา ๑๕.๓๐ น. วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๖ ที่จุดชมวิวอ่างพักน้ำตอนบนเขายายเที่ยง ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ลงพื้นที่ตรวจพื้นที่งานจ้างออกแบบ งานก่อสร้างค่าใช้จ่ายในการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ “โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศพื้นที่เขายายเที่ยง” โดยมีนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายอนุชา เจริญพันธ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ร่วมต้อนรับและนำเสนอข้อมูล

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท.

นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ ชี้แจงว่า ที่ตั้งโครงการอยู่บริเวณผาสันเขายายเที่ยง ความสูงจากระดับน้ำทะเล ๖๕๐ เมตร มีทิวทัศน์อ่างเก็บน้ำละตะคองด้านล่างและเห็นเขาอีโต้ของเขาขนานจิตรที่มีความต่อเนื่องทางธรณีวิทยามาก่อนที่จะมีลำตะคองไหลผ่าน บริเวณใกล้เคียงภูมิภาพเขาเควสตา เขาหินปูน กังหันลมใหญ่ที่สุดในประเทศไทยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแผ่งประเทศไทย (กฟผ.) ทางต่างระดับมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา ทางรถไฟความเร็วสูง และทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) จุดเด่นคือก่อสร้างสกายวอล์ค เป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ความคืบหน้าอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม ใช้งบ ๓๐๐ ล้านบาท

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เปิดเผยว่า จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองที่ ๔ ของโลก ที่มี ๓ มรดกโลกอยู่ในเมืองเดียวกัน คือ “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” มรดกโลกทางธรรมชาติ “สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช” พื้นที่สงวนชีวมณฑล และ “อุทยานธรณีโคราช” ซึ่งมีความหลากหลายด้านภูมิประเทศและระบบนิเวศทางธรรมชาติและธรณีวิทยา นอกจากนี้ โคราชยังเต็มไปด้วยเรื่องราวและคุณค่าทางธรรมชาติและโบราณสถานที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ทั้ง ๓๙ แหล่ง เมื่อนำมาประชาสัมพันธ์ผ่านการท่องเที่ยวจะเป็นการเพิ่มความรู้และความเพลิดเพลินให้กับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ สกายวอล์คเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาที่สอดรับกับการพัฒนาเมืองอีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่งดงามอีกแห่งของเมืองไทย ที่ทำให้เรื่องราวทางธรณีวิทยา สามารถสัมผัสได้ง่ายขึ้นผ่านการท่องเที่ยว บนจุดชมวิวสามารถมองเห็นความหลากหลายของธรรมชาติในความงดงามของภูมิประเทศ เป็นมองเห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและคมนาคมของเมืองไทยผ่านมอเตอร์เวย์และรถไฟความเร็วสูงเมื่อเชื่อมจุดชมวิวต่างๆ ด้วยกระเช้าลอยฟ้า ตั้งแต่โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาหรือโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ อ่างลำตะคอง เขายายเที่ยง-เขาพริกฯ เท่ากับว่าเราสามารถรวมเอาความงดงามและคุณค่าในภูมิประเทศมาผนวกร่วมเข้ากับการท่องเที่ยวได้อย่างลงตัว เพียงแต่การออกแบบและก่อสร้างต้องวางอยู่บนรากฐานของการไม่กระทบสภาพความเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ ของผืนป่าลำตะคอง ต้องมีกิจกรรมและจุดรองรับต่างๆ ในการเชื่อมโยงสองฝั่งลำตะคอง เข้าด้วยกันของกระเช้าไฟฟ้า ฉะนั้นการผลักดันให้เกิดสกายวอล์คต้องผ่านการคิดและการคำนึงถึงการไม่ไปกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ต่อไปโคราชและเมืองไทยจะมีแลนด์มาร์กทางการท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่เต็มไปด้วยความสวยงามและมีคุณค่าที่ใครต่อใครควรเดินทางมาเที่ยวชมและศึกษาเรียนรู้

นายอนุชา เจริญพันธ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ “โคราชคนอีสาน” สอบถามรายละเอียดโครงการนี้จากนายอนุชา เจริญพันธ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเปิดเผยว่า เป็นแนวความคิดของนายวิเชียร จันทรโณทัย ที่ได้มาจากการฟังเสียงประชาชน จากนายอำเภอ และชาวบ้านในบริเวณนั้น ที่ต้องการพัฒนาโคราชให้มีสถานที่พักผ่อน โดยเฉพาะการเดินทางไกลจากกรุงเทพฯ มายังภาคอีสาน ถ้ามีจุดพักรถสำหรับผู้สัญจร ทั้งในช่วงเทศกาล หรือเดินทางไปทำธุระไกลๆ ซึ่งจากกรุงเทพฯ มาโคราชระยะทางกว่า ๒๐๐ กม. น่าจะมีจุดพักรถ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ จะช่วยลดอุบัติเหตุได้ด้วย แม้กระทั่งการเดินทางจากภาคอีสานไปยังกรุงเทพฯ พอมาถึงนครราชสีมา รถก็ติดกว่าจะไปถึงสระบุรี ควรจะมีจุดพัก

“เรามีเขายายเที่ยง มีโรงไฟฟ้าสูบกลับ มีทิวทัศน์สวยงามมาก ถ้าพัฒนาบริเวณเขายายเที่ยงให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเพิ่มขึ้น การเดินทางก็ไม่ไกลมากจากถนนมิตรภาพ บนนั้นมีอ่างพักน้ำของ กฟผ. และมีสกายวอล์คบริเวณผายายเที่ยง จะเป็นจุดเด่นมาก ถ้าทำเป็นสกายวอล์คจะเห็นทิวทัศน์ ๓๖๐ องศาฯ ซึ่งเดิมบริเวณนั้นมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติอยู่แล้ว คิดว่าสองจุดนี้น่าจะพัฒนาควบคู่กันไป ส่วนในด้านลำตะคองนั้น บริเวณเขาเขื่อนลั่นที่จะสร้างพระชัยเมือง จากการศึกษาพื้นที่แล้ว บริเวณที่อยู่ด้านลำตะคองเป็นที่ดินซึ่งกรมราชทัณฑ์ขออนุญาตใช้พื้นที่ และบอกว่าจะแบ่งพื้นที่บางส่วนคืนให้จังหวัดพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และมีอีกส่วนหนึ่งที่จังหวัดคิดว่าควรจะทำเป็นสกายวอล์คยื่นเข้าไปในลำตะคอง ซึ่งกรมชลประทานยินดีสนับสนุน” นายอนุชา กล่าว

โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดฯ เปิดเผยอีกว่า หากเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ฝั่งซ้ายมือบริเวณเขาเขื่อนลั่นก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว แต่ด้านขวามือ บริเวณผายายเที่ยงที่เป็นเขตป่าไม้ชั้น ๑ เดิม กฟผ.ขอเช่าจากกรมป่าไม้ไว้ ซึ่ง กฟผ.บอกว่าหากมีความจำเป็นที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็ยินดีจะคืนพื้นที่เท่าที่จำเป็นคือประมาณ ๑๒๓ ไร่คืนให้กับป่าไม้ แต่ทั้งนี้ทางจังหวัดต้องไปขออนุญาตจากป่าไม้เพื่อใช้พื้นที่ ภายใต้กติกาเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การขอใช้ใหม่นี้ต้องจัดทำ EIA ใหม่ด้วย ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย ๒ ปี และต้องมีงบประมาณในการจัดทำ ใช้เวลาตั้งงบประมาณ ๑ ปี รวม ๓ ปี แต่ในกรณีนี้นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ บอกว่า ประสานกับ อบจ.นครราชสีมาแล้ว โดย อบจ.พร้อมจะสนับสนุนงบประมาณในการทำ EIA ประมาณ ๓-๕ ล้านบาท จึงสามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องใช้เวลาถึง ๓ ปี ระหว่างที่ทำ EIA ก็ทำเรื่องขอใช้พื้นที่ไปพร้อมกันด้วย เมื่อ EIA ผ่านก็สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้เลย โดยรัฐมนตรีท่องเที่ยวฯ พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณ

“สำหรับงบประมาณแยกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งบริเวณเขายายเที่ยง และอีกส่วนหนึ่งบริเวณเขาเขื่อนลั่นลำตะะคอง ซึ่งในส่วนเขาเขื่อนลั่นใช้งบประมาณขั้นต่ำ ๑๐๐ ล้านบาท เพราะพื้นที่เล็กกว่า มีส่วนประกอบหลักคือการก่อสร้างพระชัยเมือง และมีสกายวอล์คยื่นไปบริเวณลำตะคอง โดยจะมีการพัฒนาสถานที่จอดรถ แต่ในวันที่รัฐมนตรีท่องเที่ยวฯ ลงพื้นที่มานั้น ท่านต้องการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณมากขึ้น แต่ก็ต้องทำข้อตกลงกับกรมราชทัณฑ์ว่าจะแบ่งพื้นที่ให้ได้มากน้อยเพียงใด หากกรมราชทัณฑ์แบ่งพื้นที่ให้มาก รัฐมนตรีก็บอกว่าจะหางบประมาณมาพัฒนาให้มากขึ้นตามไปด้วย ให้ยิ่งใหญ่สมกับเป็นจุดพักจริงๆ ผลที่จะได้ตามมาคือ ประชาชนในพื้นที่จะมีรายได้จากการค้าขาย ทั้งข้าวปลาอาหาร โดยเฉพาะปลาในเขื่อนลำตะคองที่จะนำมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว ซึ่งบริเวณนี้จะไม่มีปัญหาในการดำเนินการ”

นายอนุชา กล่าวอีกว่า “แต่ในส่วนของเขายายเที่ยงจะมีปัญหาเรื่องที่ดิน เป็นเขตป่าไม้ชั้น ๑ โดยรัฐมนตรีท่องเที่ยวฯ ให้เร่งดำเนินการ ให้จังหวัดเร่งเขียนโครงการเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนให้เร็วที่สุด หากติดขัดตรงส่วนใดให้แจ้งให้ทราบจะได้ดำเนินการติดตามให้ เพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นเร็วที่สุด ถ้าเป็นไปได้จะผลักดันให้สำเร็จในปีงบประมาณปี ๒๕๖๗”

“สำหรับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดฯ มีหน้าที่ในการออกแบบ ซึ่งกรมฯ พร้อมจะสนับสนุนงบระมาณในการออกแบบ ในส่วนการก่อสร้างถ้ามีความชัดเจนในเรื่องพื้นที่เมื่อไหร่กรมฯ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อท่านรัฐมนตรีบอกว่ามีอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถผลักดันงบประมาณได้ก็พร้อมที่จะเพิ่มหรือช่วย ขอเพียงให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะหากเป็นงบของกรมโยธาฯ อาจจะช้า”

นายอนุชา กล่าวว่า ถ้าเราพัฒนาโครงการนี้สำเร็จแล้ว หากเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ก็เห็นว่าซ้ายมือมีพระชัยเมืองและสกายวอล์คบริเวณเขาเขื่อนลั่น ส่วนขากลับจากโคราชไปกรุงเทพฯ ก็จะเห็นว่าซ้ายมือเป็นเขายายเที่ยง ที่มีความสวยงาม ซึ่งคนโคราชบางคนยังไม่รู้เลยว่าบนเขายายเที่ยงมีแหล่งท่องเที่ยว มีอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ถ้ามีการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้คนโคราชก็จะรู้มากขึ้น คนที่เดินทางผ่านไปมาก็จะมีจุดแวะพัก เป็นการช่วยสร้างเศรษฐกิจระดับอำเภอ ชุมชน และระดับจังหวัด ในอนาคตก็อาจจะเป็นเศรษฐกิจระดับประเทศด้วย นอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสของท้องถิ่น และเป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมาให้คนรู้จักมากขึ้นด้วย

สำหรับรูปแบบสกายวอล์คมีการออกแบบไว้แล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ ในการทำแบบแปลนจะต้องมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย ซึ่งมีการออกแบบไว้แล้ว ๒-๓ รูปแบบเพียงแต่ต้องนำเสนอที่ประชุมก่อน ซึ่งในส่วนของบริเวณผายายเที่ยง พื้นที่ด้านล่างจะไม่มีการตัดต้นไม้ จะอิงกับธรรมชาติให้มากที่สุด โดยงบประมาณทั้งหมดประมาณ ๓๐๐ ล้านบาท ประกอบด้วยการก่อสร้างลานจอดรถ, ศูนย์บริการท่องเที่ยว มีทั้งร้านอาหาร ห้องน้ำ เป็นต้น และสกายวอล์ค

อนึ่ง แนวทางในการพัฒนาพื้นที่นั้น เพื่อพัฒนาส่งเสริมให้เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศและธรรมชาติ พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของเมือง, พัฒนาส่งเสริมให้เป็นแหล่งเชื่อมโยงต่อการท่องเที่ยวกับพื้นที่กิจกรรมหลักบริเวณอ่างเก็บน้ำลำตะคอง สร้างทางเลือกการท่องเที่ยวที่หลากหลายบริเวณเขายายเที่ยง และพัฒนาและส่งเสริมพื้นที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ทั้งการเรียนรู้ทางธรรมชาติตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติและแหล่งเรียนรู้ทางด้านจีโอพาร์คตามแนวเส้นทางการท่องเที่ยวจีโอรูต (Geo Route) ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนเส้นทางการท่องเที่ยวจีโอพาร์ค บริเวณเขายายเที่ยงด้วย

นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๗๕๘ ประจำวันที่ วันที่ ๑๕ ตุลาคม - วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖


257 1,460