3rdMay

3rdMay

3rdMay

 

April 05,2024

REIC รายงานภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัย ๕ จังหวัดภาคอีสานเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว คาดการณ์หน่วยขายได้ใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๔.๑

 

เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลาประมาณ ๑๓.๓๐ น. ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) จัดสัมมนา “สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี ๒๕๖๗” โดย ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ฯ เป็นผู้รายงานสถานการณ์ฯ นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาเรื่อง “ฝ่าโจทย์ท้าทาย ตลาดที่อยู่อาศัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี ๒๕๖๗” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายวุฒิชัย ฉัตรชัยพลรัตน์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ขอนแก่น, นายณัฐพงษ์ ประสารศิวมัย นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา และนายจตุรงค์ ธนะปุระ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี ซึ่งเป็นการสัมมนาออนไลน์ผ่าน Facebook Live

ทั้งนี้ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รายงานสถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังอยู่ระหว่างขายในช่วงครึ่งหลังปี  ๒๕๖๖ ของจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๕ จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และมหาสารคาม พบว่า จำนวนหน่วยเหลือขายในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๖ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๑ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๕ ขณะที่อัตราดูดซับของภาพรวมตลาดอยู่ที่ร้อยละ ๒.๗ ต่ำลงเล็กน้อยจากปี ๒๕๖๕ REIC คาดการณ์ ปี ๒๕๖๗ จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน ๔,๘๖๐ หน่วย มูลค่า ๒๐,๔๐๒ ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ ๕,๐๙๔ หน่วย มูลค่า ๑๙,๒๖๒ ล้านบาท มีหน่วยเหลือขาย ๑๑,๔๑๙ หน่วย มูลค่า ๔๑,๙๓๒ ล้านบาท โดยภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่สำรวจเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัว โดยคาดการณ์หน่วยขายได้ใหม่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๔.๑ อัตราดูดซับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะในกลุ่มโครงการอาคารชุด

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ เปิดเผยว่า การสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๕ จังหวัด ครึ่งหลังปี ๒๕๖๖ พบว่า จำนวนอุปทานพร้อมขายจำนวนประมาณ ๑๓,๘๖๖ หน่วย มูลค่า ๕๑,๗๑๔ ล้านบาท ในจำนวน ดังกล่าวแบ่งเป็นโครงการอาคารชุด ๒,๗๘๒ หน่วย มูลค่า ๘,๘๕๖ ล้านบาท เป็นโครงการบ้านจัดสรร ๑๑,๐๘๔ หน่วย มูลค่า ๔๒,๘๕๘ ล้านบาท มีโครงการใหม่เข้าสู่ตลาด ๑,๗๙๔ หน่วย มูลค่า ๙,๘๕๘ ล้านบาท มีโครงการขายได้ใหม่จำนวน ๒,๒๑๓ หน่วย มูลค่า ๘,๑๐๔ ล้านบาท ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขาย ๑๑,๖๕๓ หน่วย มูลค่า ๔๓,๖๑๑ ล้านบาท 

 

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ฯ

 “เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตลาดที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขายของ ๕ จังหวัดนี้ พบว่า จังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น เป็นจังหวัดที่มีขนาดตลาดเป็นลำดับ ๑ และ ๒ ในทุกด้าน ดังจะเห็นได้จากจำนวนและสัดส่วนที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่มีการเสนอขายถึง ๖,๑๕๗ หน่วย (ร้อยละ ๔๔.๔) มูลค่า ๒๖,๓๔๐ ล้านบาท (ร้อยละ ๕๐.๙) และ ๔,๖๙๔ หน่วย (ร้อยละ ๓๓.๙) มูลค่า ๑๔,๘๗๒ ล้านบาท (ร้อยละ ๒๘.๘) ของหน่วยที่เสนอขายทั้งหมด ตามลำดับ แต่จังหวัดขอนแก่นมีการเปิดตัวโครงการใหม่มากที่สุด โดยเป็นบ้านจัดสรรและอาคารชุดรวม ๗๓๖ หน่วย (ร้อยละ ๔๑.๐) มูลค่า ๒,๑๙๕ ล้านบาท (ร้อยละ ๒๒.๓) ทั้งนี้เป็นหน่วยบ้านจัดสรร ๑๙๓ หน่วย (ร้อยละ ๑๗.๗) มูลค่า ๑,๑๕๔ ล้านบาท (ร้อยละ ๒๔.๐) และอาคารชุด ๕๔๓ หน่วย (ร้อยละ ๗๗.๒) มูลค่า ๑,๐๔๐ ล้านบาท (ร้อยละ ๒๐.๖) โดยคิดเป็นร้อยละของจำนวนหน่วยและมูลค่าแยกตามประเภทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่จังหวัดขอนแก่นมีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่สูงสุด ๙๕๙ หน่วย (ร้อยละ ๔๓.๓) มูลค่า ๒,๔๖๙ ล้านบาท (ร้อยละ ๓๐.๕) โดยมีอัตราการดูดซับที่ร้อยละ ๓.๔ ต่อเดือน รองลงมาเป็นจังหวัดนครราชสีมา ๘๔๑ หน่วย (ร้อยละ ๓๘.๐) มูลค่า ๔,๑๖๓ ล้านบาท (ร้อยละ ๕๑.๔) โดยมีอัตราการดูดซับที่ร้อยละ ๒.๓ ต่อเดือน ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีมีอัตราดูดซับบ้านจัดสรรสูงสุด ร้อยละ ๒.๖ และขอนแก่นมีอัตราดูดซับอาคารชุดสูงสุดร้อยละ ๕.๑”  

อุปทานโดยรวม ในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๖ ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั้งหมด จำนวน ๑๓,๘๖๖ หน่วย มูลค่า ๕๑,๗๑๔ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ร้อยละ ๕.๑ และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๔.๕  ตามลำดับ โดยเป็นโครงการใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวนเพียง ๑,๗๙๔ หน่วย ลดลงร้อยละ -๒๔.๗ แต่มีมูลค่า ๙,๘๕๘ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๔.๕ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่ที่อยู่อาศัยเหลือขาย ณ ครึ่งหลังปี  ๒๕๖๖ จำนวน ๑๑,๖๕๓ หน่วย มูลค่า ๔๓,๖๑๑ ล้านบาท จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๑ และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๘.๔ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

โดย ๕ ทำเล ที่มีจำนวนหน่วยเหลือขายมากที่สุดใน ๕ จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ อันดับ ๑ ทำเลจอหอ จำนวน ๑,๔๐๖ หน่วย มูลค่า ๔,๔๙๐ ล้านบาท อันดับ ๒ ทำเลในเมืองนครราชสีมา จำนวน ๑,๐๓๔ หน่วย มูลค่า ๔,๔๕๑ ล้านบาท  อันดับ ๓ ทำเล ม.ขอนแก่น จำนวน ๑,๐๒๓ หน่วย มูลค่า ๑,๙๓๔ ล้านบาท อันดับ ๔  ทำเลบ้านใหม่-โคกกรวด จำนวน ๙๘๐ หน่วย มูลค่า ๒,๘๘๘ ล้านบาท  อันดับ ๕ ทำเลบ้านเป็ด จำนวน ๘๓๕ หน่วย มูลค่า ๔,๐๙๗ ล้านบาท โดยระดับราคาที่มีหน่วยเหลือขายมากที่สุดคือ ๒.๐๑-๓.๐๐ ล้านบาท มีจำนวนถึง ๓,๕๙๑ หน่วย มูลค่า ๙,๔๑๓ ล้านบาท 

อุปสงค์โดยรวม  พบว่าในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๖ มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ ๒,๒๑๓ หน่วย มูลค่า ๘,๑๐๔ ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร ๑,๕๕๓ หน่วย มูลค่า ๕,๙๑๗ ล้านบาท และอาคารชุดเพียง ๖๖๐ หน่วย มูลค่า ๒,๑๘๗ ล้านบาท ซึ่งทำเลที่มีหน่วยขายได้สูงสุด ๕ อันดับแรกคือ อันดับ ๑ ม.ขอนแก่น จำนวน ๕๒๕ หน่วย มูลค่า ๘๖๐.๓ ล้านบาท อันดับ ๒ จอหอ จำนวน ๒๐๘ หน่วย มูลค่า ๗๐๖ ล้านบาท อันดับ ๓ หัวทะเล จำนวน ๑๖๐ หน่วย มูลค่า ๔๒๑.๕ ล้านบาท อันดับ ๔ บ้านเป็ด จำนวน ๑๔๐ หน่วย มูลค่า ๖๔๓.๔ ล้านบาท และอันดับ ๕ นิคมลำตะคอง จำนวน ๑๓๖ หน่วย มูลค่า ๗๘๑.๔ ล้านบาท 

• ภาพรวมจังหวัดนครราชสีมา
สำหรับครึ่งหลังปี ๒๕๖๖ ในพื้นที่สำรวจจังหวัดนครราชสีมา มีที่อยู่อาศัยเสนอขายรวมทั้งสิ้น ๖,๑๕๗ หน่วย มูลค่า ๒๖,๓๔๐ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓.๕ และ ร้อยละ ๑๔.๖ ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร ๕,๒๕๐ หน่วย มูลค่า ๒๐,๖๗๐ ล้านบาท โครงการอาคารชุด ๙๐๗ หน่วย มูลค่า ๕,๖๗๐ ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๖ มีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน ๗๒๒ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๔.๑ มูลค่า ๖,๗๐๙ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐๙.๔ ส่วนจำนวนหน่วยขายได้ใหม่มีจำนวน ๘๔๑ หน่วย ลดลงร้อยละ -๑๑.๒ มูลค่า ๔,๑๖๓ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๖ และจำนวนหน่วยเหลือขาย ๕,๓๑๖ หน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๓ มูลค่า ๒๒,๑๗๗ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๗.๗ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๕ (YoY)  REIC คาดการณ์ ปี ๒๕๖๗ จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน ๑,๘๑๔ หน่วย มูลค่า ๑๐,๕๒๗ ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ ๒,๑๕๑ หน่วย มูลค่า ๙,๙๒๒ ล้านบาท  มีหน่วยเหลือขาย ๔,๙๗๙ หน่วย มูลค่า ๒๐,๔๙๕ ล้านบาท


• ภาพรวมจังหวัดขอนแก่น
สำหรับครึ่งหลังปี ๒๕๖๖ ในพื้นที่สำรวจจังหวัดขอนแก่น มีที่อยู่อาศัยเสนอขายรวมทั้งสิ้น ๔,๖๙๔ หน่วย มูลค่า ๑๔,๘๗๒ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๗ และ ร้อยละ ๒๐.๗ ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร ๒,๙๒๐ หน่วย มูลค่า ๑๑,๘๔๐ ล้านบาท โครงการอาคารชุด ๑,๗๗๔ หน่วย มูลค่า ๓,๐๓๒ ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งหลังปี  ๒๕๖๖ มีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน ๗๓๖ หน่วย ลดลงร้อยละ -๓๗.๘ มูลค่า ๒,๑๙๕ ล้านบาทลดลงร้อยละ -๒๓.๓ ส่วนจำนวนหน่วยขายได้ใหม่มีจำนวน ๙๕๙ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐.๑ มูลค่า ๒,๔๖๙ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๐.๑ และจำนวนหน่วยเหลือขาย ๓,๗๓๕ หน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๗ มูลค่า ๑๒,๔๐๓ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๕.๙ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๕ (YoY)  REIC คาดการณ์ ปี ๒๕๖๗ จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน ๒,๑๓๙ หน่วย มูลค่า ๖,๖๘๑ ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ ๑,๘๖๒ หน่วย มูลค่า ๕,๕๖๙ ล้านบาท  มีหน่วยเหลือขาย ๔,๐๑๑ หน่วย มูลค่า ๑๒,๙๕๘ ล้านบาท

• ภาพรวมจังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับครึ่งหลังปี ๒๕๖๖ ในพื้นที่สำรวจจังหวัดอุบลราชธานี มีที่อยู่อาศัยเสนอขายรวมทั้งสิ้น ๑,๓๐๘ หน่วย มูลค่า ๔,๐๗๓ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๘ และ ร้อยละ ๓.๗ ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร ๑,๒๒๔ หน่วย มูลค่า ๓,๙๓๘ ล้านบาท โครงการอาคารชุด ๘๔ หน่วย มูลค่า ๑๓๕ ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๖ มีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน ๑๔๒ หน่วย ลดลงร้อยละ -๔๑.๘ มูลค่า ๔๘๖ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๑๕.๑ ส่วนจำนวนหน่วยขายได้ใหม่มีจำนวน ๒๐๑ หน่วย ลดลงร้อยละ -๑๑.๕ มูลค่า ๖๘๔ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๒ และจำนวนหน่วยเหลือขาย ๑,๑๐๗ หน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๙ มูลค่า ๓,๓๙๐ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๕ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๕ (YoY)  REIC คาดการณ์ ปี ๒๕๖๗ จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน ๔๓๙ หน่วย มูลค่า ๑,๓๖๓ ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ ๕๔๕ หน่วย มูลค่า ๑,๘๖๖ ล้านบาท  มีหน่วยเหลือขาย ๑,๐๐๐ หน่วย มูลค่า ๓,๐๙๗ ล้านบาท

• ภาพรวมจังหวัดอุดรธานี 
สำหรับครึ่งหลังปี ๒๕๖๖ ในพื้นที่สำรวจจังหวัดอุดรธานี มีที่อยู่อาศัยเสนอขายรวม ทั้งสิ้น ๑,๑๒๘ หน่วย มูลค่า ๔,๖๗๒ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๑.๔ และ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๑ ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร ๑,๑๒๒ หน่วย มูลค่า ๔,๖๖๒ ล้านบาท โครงการอาคารชุด ๖ หน่วย มูลค่า ๑๐.๑ ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๖ มีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน ๓๓ หน่วย ลดลงร้อยละ -๙๑.๐ มูลค่า ๙๖ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๙๕.๑ ส่วนจำนวนหน่วยขายได้ใหม่มีจำนวน ๑๔๗ หน่วย ลดลงร้อยละ -๒๙.๐ มูลค่า ๕๙๐ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๒๘.๘ และจำนวนหน่วยเหลือขาย ๙๘๑ หน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๗ มูลค่า ๔,๐๘๓ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๖ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๕ (YoY)  REIC คาดการณ์ ปี ๒๕๖๗ จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน ๒๕๐ หน่วย มูลค่า ๑,๒๔๔ ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ ๓๑๓ หน่วย มูลค่า ๑,๒๑๑ ล้านบาท  มีหน่วยเหลือขาย ๙๑๘ หน่วย มูลค่า ๓,๘๒๒ ล้านบาท

• ภาพรวมจังหวัดมหาสารคาม
สำหรับครึ่งหลังปี ๒๕๖๖ ในพื้นที่สำรวจจังหวัดมหาสารคาม มีที่อยู่อาศัยเสนอขายรวมทั้งสิ้น ๕๗๙ หน่วย มูลค่า ๑,๗๕๗ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๘.๕ และ ร้อยละ ๓๓.๑ ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร ๕๖๘ หน่วย มูลค่า ๑,๗๔๙ ล้านบาท โครงการอาคารชุด ๑๑ หน่วย มูลค่า ๘.๖ ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๖ มีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน ๑๖๑ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑,๙๒๑.๕ มูลค่า ๓๗๒ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒,๓๕๑.๗ ส่วนจำนวนหน่วยขายได้ใหม่มีจำนวน ๖๕ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๓ มูลค่า ๑๙๙ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๓.๖ และจำนวนหน่วยเหลือขาย ๕๑๔ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๕.๘ มูลค่า ๑,๕๕๙ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๙.๙ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๕ (YoY)  REIC คาดการณ์ ปี ๒๕๖๗ จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน ๒๑๙ หน่วย มูลค่า ๕๘๖ ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ ๒๒๒ หน่วย มูลค่า ๖๙๔ ล้านบาท  มีหน่วยเหลือขาย ๕๑๒ หน่วย มูลค่า ๑,๕๖๐ ล้านบาท

• ‘โคราช’ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
“ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ๕ จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา มีแนวโน้มว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ อัตราดูซับน่าจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้หน่วยเหลือขายลดลง ขณะที่จังหวัดขอนแก่นการขายน่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของคอนโดมิเนียม แต่อัตราดูดซับอาจจะลดต่ำลงเล็กน้อย เนื่องจากมีการเปิดตัวโครงการใหม่เข้ามาสู่ระบบมาก จังหวัดอุดรธานี ภาพรวมอาจจะไม่ต่างจากปี ๒๕๖๖ แต่อัตราดูดซับน่าจะต่ำลดเล็กน้อย และตลาดรวมยังคงอยู่ในสภาวะทรงตัว แต่หน่วยเหลือขาย อาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากอัตราดูดซับลดต่ำลง จังหวัดอุบลราชธานี ภาพรวมตลาดน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปี ๒๕๖๖ โดยสรุปแล้วตลาดในภาพรวมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือยอดขายจะยังคงอยู่ในระดับทรงตัว อาจมีเพียงจังหวัดขอนแก่นเท่านั้นที่มีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่ ความต้องการซื้ออาคารชุดจึงมีความหลากหลายในด้านความต้องการซื้อมากกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยเป็นการซื้อเพื่อการพักอาศัยและเพื่อการลงทุน” ดร.วิชัย กล่าวในท้ายสุด 


15 4,494