3rdMay

3rdMay

3rdMay

 

April 05,2024

กองทัพภาค ๒ เล็งปรับภูมิทัศน์‘สนามม้า’ เป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.๑๐

 

แม่ทัพภาคที่ ๒ เรียกประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน พร้อมให้ มทร.อีสาน ออกแบบปรับภูมิทัศน์ “สนามกีฬาทหาร” หรือสนามม้าโคราช เป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๑๐ หลังจากเจอพิษโควิดยังไม่มีการเปิดสนามแข่งม้า ด้านเจ้าของคอกม้าวอนเห็นใจ 

เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๗ กรณีแฟนเพจเฟซบุ๊ก “กองทัพภาคที่ ๒” โพสต์ข้อความและรูปภาพ ระบุว่า “พัฒนาสนามม้าโคราช เป็น สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.๑๐” พร้อมรายละเอียดดังนี้ พลโทอดุลย์ บุญธรรมเจริญ แม่ทัพภาคที่ ๒ เป็นประธานการประชุมหารือ บูรณาการ แนวทางการพัฒนาสนามกีฬาทหาร(สนามม้าโคราช) ให้เป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๑๐ ในโอกาสครบรอบ ๗๒ พรรษา ที่ห้องประชุม(๑) กองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นการหาแนวทางการพัฒนาร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์และออกแบบสนามม้าให้เป็นสวนสาธารณะ แต่ยังคงความเป็นสนามม้าอยู่ดังเดิมในการฝึกซ้อม เพื่อให้เป็นที่พักผ่อนและออกกำลังกายของประชาชนทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมาได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งร่วมกันแสดงความคิดเห็นแนวทางความน่าจะเป็นร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาสนามกีฬาทหารจังหวัดนครราชสีมา (สนามม้าโคราช) มีการจัดแข่งขันในทุกสัปดาห์หลังจากวิกฤตการณ์โควิด ๑๙ ก็ไม่ได้มีการจัดแข่งแต่อย่างใด 

 

“กองทัพภาคที่ ๒ เล็งเห็นถึงความสำคัญ และประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้จัดให้มีการประชุมขึ้น ในการนี้ ได้รับการออกแบบโดย คณาจารย์ จาก มทร.อีสาน และทั้งได้รับความร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการแสดงความคิดเห็นในการประชุมหารือในครั้งนี้ และจะนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” 

 

ในกรณีนี้ นายสุนทร แพงไพรี นายกสมาคมเจ้าของคอกม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ม้าแข่งโคราชถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ท้องถิ่น สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องหลายหมื่นคน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเฉพาะจ็อกกี้หรือผู้ขี่ม้า เทรนเนอร์หรือผู้ฝึกซ้อมม้าแข่ง และผู้เลี้ยงม้าต้องตกงาน ขาดรายได้เลี้ยงชีพ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก สถานบันเทิงและรถโดยสารฯ แม้สนามม้าราชกรีฑาสโมสร กรุงเทพมหานคร จัดม้าแข่งเดือนละ ๒ ครั้ง ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ภาพรวมอุตสาหกรรมม้าแข่งในประเทศได้รับผลกระทบเป็นห่วงโซ่ มูลค่าความเสียหายหลาย ๑๐๐ ล้านบาท

 

“ผลกระทบจากวิกฤตซ้อนการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงทั้งคนและม้า โดยมีโควิด-๑๙ และโรคกาฬโรคม้าแอฟริกา ทำให้ม้าแข่งป่วยตายกว่า ๖๐๐ ตัว สนามม้าโคราชจัดแข่งม้านัดสุดท้ายวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ กว่า ๔ ปี พวกเราต้องช่วยเหลือกันเองตามมีตามเกิด และอาชีพม้าแข่งเป็นอาชีพเดียวที่รัฐไม่เคยช่วยเหลือเยียวยา ทั้งนี้ การประชุมและลงมติกันโดยไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือได้รับผลกระทบโดยตรง ข้อมูลที่ได้รับอาจไม่ครอบคลุมรอบด้าน ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้เคลื่อนไหวรวมตัวยื่นหนังสือขอความเมตตาจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงขอให้แม่ทัพภาคที่ ๒ ให้ความเห็นใจผู้ประกอบอาชีพม้าแข่ง และอย่าโยนบาปเป็นการพนัน แต่กีฬามวย ชนไก่ ชนวัว ฯ สามารถจัดแข่งได้ตามปกติ” นายสุนทร กล่าว

 

สำหรับประวัติสนามกีฬาทหารฯ หรือสนามแข่งขันม้า จังหวัดนครราชสีมา อ้างอิงจากหนังสือ “โฉมหน้าสนามม้าโคราช” (ไม่ระบุปีที่พิมพ์) สนามแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อพ.ศ.๒๔๘๕ ที่บริเวณหลังโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย (เก่า) ม้าที่ใช้แข่งขันได้มาจากม้าของหน่วยทหาร ป.พัน ๗ ซึ่งเป็นม้าใช้ลากเทียมปืนใหญ่ และม้าของเอกชน การแข่งขันม้าดำเนินไปได้เพียง ๒ เดือน ก็เลิกล้ม ต่อมาทางราชการ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนได้ร่วมประชุมเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๘ ณ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เกี่ยวกับกาารส่งเสริมบำรุงพันธุ์ม้าให้แพร่หลายมากขึ้น จึงมีมติให้สร้างสนามแข่งขันม้าขึ้นที่บริเวณสนามบินพาณิชย์ (หนองไผ่ล้อม) ทำการแข่งขันทุกวันเสาร์โดยอัศวราชสีมาสโมสร 

ปีพ.ศ.๒๔๙๐ กองทัพบกมีนโยบายส่งเสริมบำรุงพันธุ์ม้า สำหรับใช้เป็นพาหนะยามสงคราม จึงอนุมัติให้มณฑลทหารบกที่ ๓ สร้างสนามแข่งขันม้าขึ้นบริเวณสนามบินของ บน.๓ (เดิม) คือ สนามกีฬาทหารฯ ในปัจจุบัน ทำการแข่งขันในวันอาทิตย์ โดยองค์การทหาร

เนื่องด้วย บน.๓ มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงสนามบินพาณิชย์ (หนองไผ่ล้อม) เพื่อเป็นสนามฝึกบินของศิษย์การบิน โรงเรียนการบินทหารอากาศ สนามแข่งขันม้าซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมา จัดสร้างไว้ที่สนามบินพาณิชย์ (หนองไผ่ล้อม) จึงจำเป็นต้องย้ายมาร่วมจัดแข่งขันกับทางหน่วยทหารที่สนามกีฬาทหารฯ ตั้งแต่ปี ๒๔๙๐ เป็นต้นมา

 

การจัดแข่งขันม้าที่สนามกีฬาทหาร ได้ดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และก้าวหน้าขึ้นตามลำดับเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งจากจังหวัดใกล้เคียงและจากกรุงเทพมหานคร เพื่อสนองตอบความต้องการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้สนใจ สนามกีฬาทหารจึงได้ปรับปรุงอาคาร สถานที่ อัฒจันทร์ ตลอดจนนำเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ เข้ามาใช้ในการปฏิบัติงาน ยังความพึงพอใจแก่ประชาชนผู้สนใจยิ่งขึ้น 

ในขณะที่ประวัติสนามองค์การทหารนั้นถูกบันทึกไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ยุติลงเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ กองทัพบกได้มีนโยบายให้ส่งเสริมการบำรุงพันธุ์ม้า สำหรับไว้เป็นพาหนะยามสงคราม จึงอนุมัติให้มณฑบทหารบกที่ ๓ จัดตั้งสนามแข่งม้าในปี ๒๔๙๐ ที่บริเวณสนามบินของ บน.๓ (เดิม) คือสนามกีฬาทหารในปัจจุบันซึ่งใกล้กับหน่วยทหาร เพื่อสะดวกในการระดมสรรพกำลัง

 

พ.ศ.๒๔๙๒ ได้มีการจัดการแข่งขันม้านัดพิเศษชิงชนะเลิศภาคตะวันออกเฉียงเหนือถ้วยทองกองทัพบกเป็นครั้งแรก ได้รับความนิยมจากประชาชนจำนวนมาก จึงมีการแข่งม้านัดพิเศษติดต่อกันมาทุกปีต่อเนื่องมา และในปีพ.ศ.๒๕๑๒ มีการจัดแข่งม้านัดพิเศษเพิ่มขึ้นอีกเพื่อเป็นเกียรติแก่พลเอกกฤษณ์ สีวะรา มรสมัยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก เรียกว่า “การแข่งม้าชิงถ้วยพลเอกกฤษณ์ สีวะรา” และจัดติดต่อกันมา

 

ส่วน “สมาคมอัศวราชสีมาสโมสร” จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๘๙ มีนายอุดม บุญประกอบ ข้าหลวงประจำจังหวัดนครราชสีมา เป็นนายกสมาคมคนแรก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่หอประชุมติณสูลานนท์จังหวัดนครราชสีมา จัดตั้งขึ้นเพื่อ ๑.ส่งเสริมให้ประชาชนนิยมเลี้ยงม้า ๒.ส่งเสริมบำรุงพันธุ์ม้า ๓.ส่งเสริมการกีฬาแข่งม้า หรือสัตว์พาหนะ ๔.ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการกีฬา การศึกษาศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันเป็นสาธารณประโยชน์

 

สำหรับสมาคมเจ้าของม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมา เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๘ โดยกลุ่มเจ้าของคอกม้าแข่งในจังหวัดนครราชสีมา มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑.ช่วยเหลือ คุ้มครอง ส่งเสริมสมาชิกให้ได้รับผลดีในการประกอบอาชีพตามระเบียบแบบแผน และมารยาทที่มีมารฐานอันดีงาม ๒.ส่งเสริมสามัคคีธรรม และจริยธรรมอันดีงามของสมาชิก ๓.ส่งเสริม ศึกษา ค้นคว้า และเผยแพร่ บำรุงพันธุ์ม้าตามหลักวิชาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ๔.ส่งเสริมการกุศล และสาธารณประโยชน์ ๕.ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาส่งเสริมพันธุ์ม้า ดำรงไว้ซึ่งอุดมคติ เป็นที่เชื่อถือของประชาชน ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยมีนายกสมาคมฯ ได้แก่ นายประยงค์ ชาตะวราหะ (พ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๒๐), นายประยงค์ ภิญโญ (พ.ศ.๒๕๒๑-๒๕๒๔), นายบุญถึง ผลพานิชย์ (พ.ศ.๒๕๒๕-๒๕๒๘) และนายฉนาก โกมารกุล ณ นคร เป็นต้น

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๖๓ วันที่ ๑๕ เดือนมีนาคม - วันที่ ๑๔ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๖๗


37 5,234