April 23,2015
ปรับตัวเข้ากับฤดูร้อนอย่างไรให้ปลอดภัย
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตอากาศร้อน เมื่อถึงฤดูร้อนอากาศก็ย่อมร้อนเป็นธรรมดา ไม่ใช่ภัยแล้งอะไร ปกติร่างกายคนเราก็ปรับตัวตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของธรรมชาติ เราเองก็ควรดูแลตัวเองด้วย ในกรณีที่เกิดความร้อนจัดขึ้น ระบบการทำงานของร่างกายรับไม่ไหวทำให้เกิดการเจ็บป่วยไม่สบายได้ นพ.กฤษดา ศิรามพุช ให้ความรู้เรื่อง ความร้อนทำพิษ (Heat emergency) ว่า พึงระวังคนสองกลุ่ม คือ “เด็กเล็ก” และ “ผู้สูงวัย” ให้ดี เพราะคนสองกลุ่มนี้มีกลไกการควบคุมความร้อนที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง เหมือนคนหนุ่มสาว ทำให้เกิดอาการ “ไวต่อร้อน” จนเจ็บป่วยได้ง่าย เริ่มจาก “ร้อนทำพิษ” (Heat exhaustion) ก่อน หรือกลายเป็น “ร้อนจนช็อก” หรือ “ฮีตสโตรก” (Heatstroke) ถึงแก่ชีวิตได้
สัญญาณเตือนภัยจากความร้อน ท่านสามารถสังเกตเองได้ง่ายๆ ดังต่อไปนี้ ปวดหัว คลื่นไส้ ปัสสาวะน้อย ความดันผิดปกติ หน้ามืด หมดสติและชัก หลักการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากความร้อนอันตรายมีหลายแนวทาง นพ.กฤษดา รามพุช ฝากให้พิจารณา ๑๐ ประการดังนี้
๑.ระวังการนอนในรถ การเปิดแอร์นอนหลับในรถ มีก๊าซอันตราย “คาร์บอนมอนอกไซด์” แทรกเข้ามาในห้องโดยสารอาจทำให้เสียชีวิตได้ มีตัวอย่างเป็นข่าวมาแล้ว
๒.อย่าหลงลืมทิ้งเด็กหรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถ ที่ปิดประตูหน้าต่างกลางแดดจัด จะกลายเป็นเตาอบคร่าชีวิตได้แม้ในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง
๓.ควรดื่มน้ำก่อนเข้าห้องอบไอน้ำหรือซาวน่า โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวและดื่มน้ำน้อย เพื่อป้องกันการเกิดอาการวูบ
๔.ควรลดการกินอาหารจำพวกของมันของทอดในฤดูร้อน เพราะจะทำให้เกิดการร้อนใน
๕.กินส้มตำช่วยดับร้อนได้ เพราะในพริกมี “พฤกษเคมี” หลายชนิดที่ช่วยดับพิษร้อนได้ โดยเฉพาะพริกขี้หนูมีส่วนช่วยกระตุ้น “เอนโดฟิน” ที่เป็นสารสุขจากสมองออกมาให้สบายตัวและหัวใจ คนที่ปวดฟันเอนโดฟินก็ช่วยท่านได้ นอกจากนั้นในพริกกับมะละกอยังมีกลุ่มวิตามินเออื่นๆ ที่ช่วยปกป้องจอตาและผิวเราจากแสงแดดร้อนแรงได้ด้วย
๖.วัดความดัน ท่านที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง รวมถึงท่านที่มีอาการมึนเวียนศีรษะบ่อยครั้ง การวัดความดันอย่างสม่ำเสมอช่วงฤดูร้อนและขณะมีอาการมึนศีรษะจะช่วยท่านได้มาก เพราะอากาศร้อนหัวใจต้องทำงานหนักขึ้นจากการสูบฉีดโลหิต บางครั้งทำให้ความดันเปลี่ยนแปลงได้เร็วผิดปกติ การนั่งพักแล้ววัดความดันตอนช่วงเช้าจะช่วยให้ท่านรู้ความดันของตัวเองได้ ถ้าสูงไปจะได้พักไว้ก่อน ไม่ต้องรีบออกแดด
๗.เลี่ยงแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมาหรือสุราทำร้ายคนถึงตายได้ในฤดูร้อน เพราะแอลกอ ฮอล์ในเมรัยทำให้เราปัสสาวะบ่อย เป็นการเสียน้ำในปริมาณที่มากกว่าปกติ ซ้ำอากาศที่ร้อนก็ยังพาให้เส้นเลือดขยายตัว ในขณะที่หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ผลลัพธ์จึงเท่ากับการแกล้งหัวใจให้เหนื่อยขึ้น เมื่อทั้งเสียน้ำและร้อนจัดจนเส้นเลือดขยายจะทำให้เรา “วูบ” ได้ง่าย นอก จากนั้นฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ผนวกกับการขาดน้ำยิ่งทำให้ พิษของสุราเข้มข้นข้นในเลือดของเรา ในที่สุดร่างกายที่ร้อนจัดทั้งภายในและภายนอกจะไม่อาจทนทานได้
๘.เปิดแอร์นอนตอนร้อนจัด ให้ระวังการที่เราอยู่ในที่ร้อนแล้วมากระทบอากาศเย็นจัดทันทีอาจส่งผลให้เรา “ป่วย” ได้
๙.ใส่เสื้อผ้าคับติ้ว การสวมใส่เสื้อผ้าที่คับแนบเนื้ออากาศระบายไม่สะดวก เท่ากับทำตัวเองให้เป็นเตาอบเคลื่อนที่ หรือการแต่งตัวที่ไม่เหมาะกับสภาพอากาศก็ไม่ดี เช่น ใส่แจ๊กเก็ตหนาในฤดูร้อน ก็เท่ากับแบกตู้ซาวน่าติดตัวไป การใส่ชุดที่อับและอบจะทำให้สุขภาพของท่าน “อ่วม” ได้ โดยเฉพาะผิวหนังที่อับเหงื่อทั้งในร่มผ้าและจุดซ่อนเร้น สาวๆ อาจมีตกขาวจากเชื้อรากลุ่มยีสต์ที่พบได้บ่อยในความอับชื้น ส่วนหนุ่มๆอาจจะได้เชื้อราที่พาให้ผิวด่างเป็นดวงๆ จากเหงื่อและไขมันที่สะสมกันไว้
๑๐.คอยดูแลลูกหลานว่ายน้ำ การลงอาบน้ำและว่ายน้ำช่วยคลายร้อนได้ แต่ต้องคอยดูแลระมัดระวังเด็กๆ ลูกหลาน อย่าให้เกิดอันตรายจากการจมน้ำ ตามที่เป็นข่าวมาทุกปี (คู่สร้างคู่สม ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๘๙๔ ศุกร์ที่ ๒๗ มี.ค. ๒๕๕๘)
กรณีโรคจากอากาศร้อน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเตือนภัยว่า ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ประเทศไทยมีอากาศร้อนจัด เสี่ยงต่อการเป็น “โรคลมแดด” หรือ “โรคฮีตสโตรก” กลุ่มเสี่ยงคือ คนที่ออกกำลังกาย หรือทำงานในอากาศร้อนจัด ระบบการระบายอากาศไม่ดี ใส่เสื้อผ้าหนาหรือไม่ระบายเหงื่อ ดื่มน้ำน้อย หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคฮีตสโตรก เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ไม่สามารถปรับอุณหภูมิได้ทัน ทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า ๔๐ องศาเซลเซียส รวมถึงการขาดน้ำและเกลือแร่ร่วมด้วยเป็นเวลานาน สัญญาณสำคัญ คือ ไม่มีเหงื่อ ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ต่างจากการเพลียแดดทั่วไปที่จะพบมีเหงื่อออกด้วย
ผู้ที่เป็นฮีตสโตรก จะกระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย เมื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด หายใจเร็ว และอาจรุนแรงถึงขั้นเพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ตับและไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้ช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้
“ควรหลีกเลี่ยงการทำงาน หรือการออกกำลังกายกลางแดดเป็นเวลานาน หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ ๑ ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำหรือแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ ๖–๘ แก้ว ควรออกกำลังกายในที่ร่ม เช่น โรงยิม หรือเลือกออกกำลังกายในตอนเช้าและช่วงเย็น นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ควรสวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี รวมถึงการใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF15 ขึ้นไปทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน (SPF: Sun Protecting Factor คือ ค่าป้องกันแสงแดด ซึ่งผิวของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน) และควรทาซ้ำบ่อยๆถ้าต้องถูกแดดนานๆ สำหรับเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคอ้วน ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ สำหรับประชาชนทั่วไปหากพบผู้ที่มีอาการตัวร้อนจัด แต่ไม่มีเหงื่อออกมาก หน้าซีด ตะคริว อ่อนเพลีย มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลม สามารถดูแลเบื้องต้นด้วยการนำเข้าที่ร่ม ให้นอนราบและยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ และใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน จากนั้นรีบนำส่งแพทย์” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว (มติชนรายวัน ๗ เมษายน ๒๕๕๘ หน้า ๖)
บุญเลิศ สดสุชาติ
สภาฮักแพงเบิ่งแงงคนมหาสารคาม
809 1,496