26thApril

26thApril

26thApril

 

July 12,2015

จับตาแผนสร้าง‘สะดุด’ ‘เซ็นทรัลโคราช’๙,๓๐๐ ล. เตรียมแถลงตุลาคมนี้

    ชะลอสร้างศูนย์การค้าใหญ่ ‘เซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา’ ๙,๓๐๐ ล้านบาท บนทำเลริมถนนมิตรภาพ ล่าสุดมีคำยืนยันผู้บริหารเตรียมแถลงข่าวเดือนตุลาคมปีนี้ นักธุรกิจในพื้นที่มั่นใจเดินหน้าต่อไป ขณะนี้ปรับแบบโครงสร้างใหม่แล้วเสร็จ รอประมูลสรรหาผู้รับเหมา คาดเสร็จทันกำหนดปลายปี ๒๕๕๙

  

พื้นที่ก่อสร้าง “เซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา”

    ตามที่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN โดยนายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ประกาศแผนการลงทุนศูนย์การค้าแห่งใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน คือ โครงการก่อสร้าง “เซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา” เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ในงานแถลงข่าว “CPN: Towards Infinite Success Together” การสร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่แห่งวงการรีเทลกับ CPN พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ณ โรงแรม Centara Grand at CentralWorld กรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า ซีพีเอ็นวางเป้าหมายเป็นไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์แห่งแรกของภาคอีสาน ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า ๙,๓๐๐ ล้านบาท บนพื้นที่ ๒๕๐,๐๐๐ ตารางเมตร และโครงการนี้จะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของภาคอีสาน ด้วยศักยภาพของจังหวัด จำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ และ GPP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด) รวมสูงที่สุดในภูมิภาคนี้ ซึ่งจาก Presentation ที่นำเสนอเป็นการก่อสร้างในทำเลใหม่ ริมถนนมิตรภาพมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองนครราชสีมา ตรงข้ามศูนย์จัดการธนบัตรนครราชสีมา ธนาคารแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล บนเนื้อที่ ๖๐ ไร่ กำหนดเปิดบริการไตรมาส ๔ ปี ๒๕๕๙ และจะมีธุรกิจโรงแรมหรูเกิดขึ้นในอนาคตด้วย จำนวนประมาณ ๓๕๐ ห้อง 


ทำเลใหม่ปักธงศูนย์การค้า
    ทั้งนี้ สืบเนื่องจากภายหลัง CPN ผู้พัฒนาศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศไทย เปลี่ยนแผนการสร้าง “เซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา” ในทำเลถนนเลี่ยงเมือง (By Pass) สายนครราชสีมา ช่วง กม.ที่ ๓ ใกล้จุดลงมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ซึ่งซื้อที่ดินจำนวนกว่า ๕๒ ไร่ จากนายบุญชัย พรมนะกิจ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.บุญชัยราชสีมา นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างถนนทางหลวง ในราคาราว ๕๐๐-๖๐๐ กว่าล้านบาท ในเวลาไล่เลี่ยกันก็ได้กว้านซื้อที่ดินในทำเลถนนมิตรภาพ ตรงข้ามศูนย์จัดการธนบัตรนครราชสีมา ธนาคารแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล อำเภอเมืองนครราชสีมา เริ่มจากเจรจาซื้อที่ดินแปลงแรกจำนวน ๕ ไร่ ของร้านนิวเซียงกง มอเตอร์ ซึ่งประกอบกิจการจำหน่ายอะไหล่รถยนต์มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ และธุรกิจในเครือ คือ เอ็น. เอส. เค. อินเตอร์ โปรดักส์ ซึ่งดำเนินกิจการประกอบตัวถังรถ และอู่เอ็นจีวี พร้อมกับกว้านซื้อที่ดินอีก ๒ แปลง คือ ที่ดินของนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.สมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันหลบหนีหมายจับตามคำพิพากษาจำคุกในคดีโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จำนวน ๕๓ ไร่ ติดกับธัญญะปุระ บูติค โฮเต็ล และที่ดินซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ จำนวน ๘ ห้อง โดยทั้งสามแปลงรวมเนื้อที่ประมาณ ๖๐ กว่าไร่ และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับเซ็นทรัลแล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗     
    ต่อมากลุ่ม CPN ในนามบริษัท โคราช แลนด์ โอนเนอร์ จำกัด ที่มีนายคุณายุธ เดชอุดม หรือยุธ ลูกชายของนางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา และเป็นหลานชายตระกูลจิราธิวัฒน์ ยื่นขอแบบก่อสร้าง Shopping Mall (ศูนย์การค้า) ต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเกาะ และเทศบาลนครนครราชสีมา พร้อมทั้งก่อสร้างสะพานข้ามคลองชลประทานด้านหลังโรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช รวมพื้นที่ใช้สอย ๓๕๘,๙๑๕ ตารางเมตร ซึ่งได้รับอนุญาตแบบก่อสร้างทั้งหมดแล้ว โดยเซ็นทรัลเริ่มปรับพื้นที่และล้อมรั้วไว้เตรียมพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๘ ทำให้ขณะนั้นถูกจับตามองอย่างมากว่าเริ่มมีความคืบหน้าการลงทุนก่อสร้างสาขานครราชสีมา

 


ใบอนุญาตก่อสร้าง ๖๙๕ วัน
    พร้อมกันนี้ ได้ติดป้ายข้อความระบุว่า โครงการเซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา งานก่อสร้างตึก ๕ ชั้น และชั้นใต้ดิน ๑ ชั้น, มีที่จอดรถสูง ๙ ชั้น และชั้นใต้ดิน ๒ ชั้น เพื่อใช้เป็นพาณิชยกรรม, ห้างสรรพสินค้า, สำนักงาน, โรงมหรสพ, ภัตตาคาร, ตลาด, ห้องประชุม และสถานศึกษา เจ้าของโครงการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ใบอนุญาตก่อสร้าง เลขที่ ๖๒๒/๒๕๕๗ โดยมีบริษัท เอ็ม เอ เอ อาร์ จำกัด เป็นผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม, บริษัท ว. และสหายดีซายน์ จำกัด เป็นผู้ออกแบบงานโครงสร้าง และผู้ออกแบบงานระบบ, บริษัท ซิสตร้า เอ็ม วี เอ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ออกแบบงานวิศวกรรมจราจร, บริษัท ทรัสตี้ โปรเจค แมเนจเมนด์ จำกัด ผู้บริหารงานก่อสร้าง และยังมี หจก.สยามธนาลัย เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง site clearing พร้อมทั้งกำหนดวันเริ่มทำงาน วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๘ และกำหนดวันแล้วเสร็จ ในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ รวมระยะเวลาก่อสร้าง ๖๙๕ วัน 


ชะลอสร้างปรับแบบ-ปัญหาดิน
    ล่าสุดมีรายงานว่า ขณะนี้ CPN ชะลอโครงการก่อสร้างศูนย์การค้า “เซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา” โดยปรับแบบก่อสร้างใหม่ เพื่อความต้องการของคนในท้องถิ่น และไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ให้ชาวโคราช อีกทั้งอยู่ระหว่างรอประมูลว่าจ้างบริษัทก่อสร้าง แต่บางกระแสข่าวก็ระบุว่า พบปัญหาและอุปสรรคจากสภาพพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งบริเวณทำเลที่ตั้งมีลักษณะเป็นแอ่ง ทั้งยังใกล้กับคลองชลประทานด้วย จึงต้องรอระยะเวลาก่อนจะพิจารณาขึ้นโครงสร้างฐานรากและเดินหน้าก่อสร้างได้ หรืออาจย้ายกลับไปสร้างในทำเลเดิม ริมถนนเลี่ยงเมือง (By Pass) สายนครราชสีมา ช่วงกม.ที่ ๓ ใกล้จุดลงมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่มุ่งหน้าไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งติดปั๊มน้ำมัน ปตท. และเป็นที่ดินผืนใหญ่กว่า ๕๒ ไร่ โดยเซ็นทรัลเจรจาซื้อจากนายบุญชัย พรมนะกิจ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.บุญชัยราชสีมา นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างถนนทางหลวง และมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับซีพีเอ็นตั้งแต่ช่วงไตรมาสสามของปี ๒๕๕๖ เรียบร้อยแล้ว แต่ภายหลังเทศบาลตำบลปรุใหญ่ได้อนุมัติแบบก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๖ ซีพีเอ็นก็ไม่ขยับการก่อสร้างแต่อย่างใด ตามที่นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ และบริหารโครงการก่อสร้าง ของซีพีเอ็น ได้แถลงข่าวประกาศการลงทุนก่อสร้างเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ด้วยงบลงทุนกว่า ๗,๐๐๐ ล้านบาท โดยมีกำหนดจะก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ และเปิดให้บริการภายในปี ๒๕๕๙ กระทั่งมีกระแสข่าวการย้ายทำเลใหม่ดังกล่าว        
ตุลาคมปีนี้พร้อมเปิดแถลงข่าว
    ต่อเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ‘โคราชคนอีสาน’ สอบถามถึงความคืบหน้าการก่อสร้าง “เซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา” โดยนายทัตเทพ หัสขันธิ์เปี่ยมสุข หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์ กล่าวกับ ‘โคราชคนอีสาน’ เพียงว่า “ไม่มีอำนาจที่จะให้ข่าวหรือรายละเอียดแต่อย่างใด ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดโครงการ โดยภายในเดือนตุลาคมปีนี้ผู้บริหารของ CPN เตรียมจะเปิดแถลงข่าวโครงการลงทุนก่อสร้าง “เซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา” อย่างเป็นทางการ ที่กรุงเทพมหานคร ส่วนความคืบหน้าแผนการลงทุนโครงการใหม่ ในวันที่ ๒๘ สิงหาคมนี้ มีกำหนดเปิด “เซ็นทรัลเวสท์เกต” บริเวณแยกบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เป็นต้นแบบซูเปอร์รีจินัล มอลล์ มูลค่าการลงทุนกว่า ๑๔,๐๐๐ ล้านบาท บนพื้นที่กว่า ๕๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร จากนั้นปลายปี ๒๕๕๘ จะเปิดบริการ “เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสท์ วิลล์” ริมถนนประดิษฐ์มนูธรรม กรุงเทพฯ เป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ครบวงจรแบบเอ้าท์ดอร์แห่งแรกของไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า ๖,๐๐๐ ล้านบาท บนพื้นที่ ๑๕๐,๐๐๐ ตารางเมตร” 


นักธุรกิจในพื้นที่มั่นใจสร้างแน่
    แหล่งข่าวนักธุรกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา (ขอสงวนนาม) เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า ภายหลังกว้านซื้อที่ดินสามแปลงในทำเลใหม่ เยื้องมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล รวมเนื้อที่ประมาณ ๖๐ กว่าไร่ ก็มีความชัดเจนเมื่อปลายปี ๒๕๕๗ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN แถลงแผนการลงทุนโครงการก่อสร้างเซ็นทรัล พลาซา สาขานครราชสีมา จากที่รอคอยกันมานาน จากนั้นเซ็นทรัลก็ว่าจ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการปรับพื้นที่บริเวณดังกล่าวเพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง แต่เกือบ ๒ เดือนมาแล้วที่ทางเซ็นทรัลชะลอการก่อสร้าง เนื่องจากต้องปรับแบบก่อสร้างใหม่ ภายหลังมีผู้ต่อต้านเรื่องการดึงน้ำประปาจากท่อน้ำประปาปกติของเทศบาลนครนครราชสีมามาใช้ภายในโครงการ ทำให้ต้องก่อสร้างท่อน้ำประปาขึ้นมาใหม่ และที่ผ่านมาวิศวกรก็ได้ทดสอบการตอกเสาเข็มประมาณ ๘-๙ ต้น ปรากฏว่า สภาพดินค่อนข้างแข็ง จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเป็นบ่อน้ำเก่า ขณะนี้ทุกอย่างไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และยังไม่มีรายงานการลดขนาดเซ็นทรัล พลาซา สาขานครราชสีมา ล่าสุดทราบว่าดำเนินการปรับแก้ไขแบบโครงสร้างบางส่วนใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอขั้นตอนการประมูลสรรหาบริษัทก่อสร้าง ส่วนจะก่อสร้างโรงแรมด้วยหรือไม่นั้น คาดว่าจะเป็นแผนการลงทุนส่วนต่อขยายในอนาคต เพราะดูจากเอกสารที่ยื่นขอแบบก่อสร้างต่อเทศบาลนครนครราชสีมาไม่มีโรงแรมรวมอยู่ด้วย    
    “อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การก่อสร้าง “เซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา” ถือว่าล่าช้า แต่ด้วยวิธีการทำงานของกลุ่ม CPN ซึ่งเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ และมีผลงานลงทุนโครงการก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ผ่านมา คาดว่าภายใน ๑ ปีครึ่ง เซ็นทรัล พลาซา สาขานครราชสีมา จะแล้วเสร็จตามกำหนดราวปลายปี ๒๕๕๙ ค่อนข้างแน่นอน ซึ่งช่วงนี้ทางทีมงานของเซ็นทรัล ภายใต้การกำกับดูแลของนายกอบชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร เริ่มลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในลักษณะ CSR และการสื่อสารองค์กรด้านต่างๆ เพื่อเตรียมตัวมาเปิดบริการที่จังหวัดนครราชสีมา และการก่อสร้างก็มั่นใจว่ายังคงเป็นทำเลใหม่ คือ ริมถนนมิตรภาพ มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองนครราชสีมา เยื้องมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล” นักธุรกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมารายเดิม กล่าวอย่างมั่นใจ

  
ทน.-อบต.ยันแบบก่อสร้างเดิม
    ทั้งนี้ ข่าวการปรับแบบโครงสร้างบางส่วนใหม่ ของโครงการลงทุนก่อสร้าง “เซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา” จากการสอบถามไปยังนายวรเศรษฐ์ พฤติศาสตร์ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมอาคารและผังเมือง สำนักการช่าง เทศบาลนครนครราชสีมา และกองช่าง องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเกาะ ต่างก็ยืนยันว่าแบบก่อสร้าง “เซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา” ยังไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีการดัดแปลงอาคารหรือขอปรับแบบก่อสร้างใหม่ ขณะนี้ยังเป็นไปตามแบบก่อสร้างเดิมที่ได้รับอนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งสองแห่ง   
    หากมีความคืบหน้า ‘โคราชคนอีสาน’ จะนำมาเสนอต่อไป 

นสพ. โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๐๒ วันเสาร์ที่ ๑๑- วันพุธที่ ๑๕ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘

 


803 1371