24thApril

24thApril

24thApril

 

August 17,2016

บางกอกแอร์เวย์ส’ผิดหวัง ทุนนอร์เวย์รอกรมป่าไม้ ผุดศูนย์ซ่อมอากาศยาน

          ทอ.ไม่อนุญาต “บางกอก แอร์เวย์ส” ใช้กองบิน ๑ แนะกลับไปใช้ท่าอากาศยานฯ ปธ.หอ’โคราชเผยกำลังเร่งทาบทาม ย้ำราคาต้องไม่แพง ส่วนกระแสข่าวกลุ่มทุนนอร์เวย์ เตรียมเปิด “ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน” ปลายปีนี้ พร้อมจ้างงาน ๓,๐๐๐ คน ยืนยันไม่จริง ยังมีอีกหลายขั้นตอน ที่ต้องประสานกรมป่าไม้ก่อนมาถึงกรมท่าอากาศยาน

          ตามที่ผู้แทนสายการบิน “บางกอก แอร์เวย์ส (Bangkok Airways)” ซึ่งเป็นสายการบินเชิงพาณิชย์ ดำเนินงานโดยบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าพบนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ ณ ห้องปฏิบัติราชการ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อหารือเรื่องที่จะเปิดเส้นทางการบิน โดยขอให้ทางจังหวัดดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้สนามบินกองบิน ๑ เป็นสนามบินที่ทำการบินขึ้น-ลง ให้บริการผู้โดยสารในเส้นทางดังกล่าว ซึ่งผู้ว่าฯ และหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา พร้อมให้การสนับสนุน เพื่อกระตุ้นสภาวะเศรษฐกิจภายในจังหวัด และเป็นการส่งเสริม การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยทางกองทัพอากาศได้ขอให้จังหวัดทำหนังสือขอใช้สนามบินกองบิน ๑ เพื่อพิจารณาว่าจะเปิดการบินพาณิชย์ได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน สายการบินบางกอก แอร์เวย์ส  ก็จะทำการศึกษาความเป็นไปได้เชิงธุรกิจ โดยจัดทำแบบสอบถาม เพื่อให้ทางจังหวัดบริการด้านข้อมูล และดำเนินการแจกแบบสอบถามดังกล่าว ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าวในฉบับที่ ๒๓๗๐ วันที่ ๒๖-๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ ไปแล้วนั้น

          ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๙ มีรายงานว่า นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับภาคเอกชน อาทิ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ทำหนังสือส่งถึงกองทัพอากาศ เพื่อพิจารณาขอใช้กองบิน ๑ ทำการบินพาณิชย์นั้น จากการประชุมพิจารณาของผู้บริหารกองทัพอากาศระบุว่า ไม่อนุญาตให้สายการบิน “บางกอก แอร์เวย์ส” ใช้กองบิน ๑ ทำการบินพาณิชย์รับ-ส่งผู้โดยสาร ในเส้นทางดังกล่าวตามที่ได้ร้องขอ โดยแนะนำให้ทางจังหวัดใช้สนามบินพาณิชย์ที่มีอยู่ คือ ท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้ทางจังหวัดและภาคเอกชนในพื้นที่อยู่ระหว่างเจรจากับ “บางกอก แอร์เวย์ส” ถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้ท่าอากาศยานนครราชสีมา เปิดให้บริการบินพาณิชย์ในเส้นทาง “นครราชสีมา-กรุงเทพฯ” รวมทั้งเส้นทางบินระหว่างภูมิภาค อาทิ นครราชสีมา-เชียงใหม่, นครราชสีมา-หาดใหญ่ (จ.สงขลา) และนครราชสีมา-ภูเก็ต เป็นต้น

‘ท่าอากาศยานนม.’ พร้อม
 
          ล่าสุดเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ นายประวัติ ดวงกันยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์กับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ทางท่าอากาศยานนครราชสีมายังไม่ได้รับประสานงานจากจังหวัด เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อทราบมาว่า ทางกองทัพอากาศ (ทอ.) ไม่อนุญาต ขณะนี้ยังไม่มีประชุมหรือปรึกษาหารือ จึงยังไม่ทราบความเคลื่อนไหวว่าทางจังหวัดจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะตั้งแต่สายการบิน “กานต์ แอร์” หยุดทำการบิน ทางจังหวัดก็มีความประสงค์ที่จะใช้สนามบินของกองบิน ๑ ตนจึงรอนโยบายจากจังหวัด แต่จริงๆ แล้วสนามบินหนองเต็งพร้อมที่จะให้บริการ โดยมีการเตรียมอุปกรณ์/เครื่องมือให้เป็นปัจจุบัน พร้อมให้บริการ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทุกวันนี้เปิดบริการตามปกติ เพราะสนามบินหนองเต็งได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ของจังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันสามารถรองรับอากาศยานพาณิชย์ได้ขนาดไม่เกิน B 737 หรือ A 320 มีอุปกรณ์/เครื่องมือในการเดินอากาศยาน และสิ่งอำนวยความสะดวกผู้โดยสารหรือผู้มาใช้บริการครบครัน เป็นไปตามมาตรฐานสากล (ICAO) ทั้งยังเป็นสนามบินที่สามารถให้บริการเที่ยวบินได้ทั้งเส้นทางการบินภายในประเทศและต่างประเทศ (สนามบินศุลกากร ตามประกาศกระทรวงการคลัง) และมีความพร้อมที่จะรองรับอากาศยานและผู้โดยสารได้ตลอดเวลา ซึ่งยังมีพื้นที่อีกจำนวนมากเหลือเพียงพอที่จะรองรับการพัฒนาความเจริญเติบโตของจังหวัดนครราชสีมาในอนาคต”

‘ศูนย์ซ่อมอากาศยาน’ รอรัฐ

          สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้ง “ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน” ภายในท่าอากาศยานนครราชสีมา ภายหลังจากเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๘ นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (ขณะนั้น) ได้ลงนามอนุญาตให้บริษัท สแกนดิเนเวียนแอร์คราฟ เมนเทนแนนซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มทุนจากประเทศนอร์เวย์ ใช้ประโยชน์พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง-จักราช ขนาดพื้นที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่ ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของท่าอากาศยานนครราชสีมา เพื่อจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน รองรับกลุ่มลูกค้าครอบคลุมในพื้นที่เอเชียแปซิฟิก โดยเป็นการอนุญาตให้เช่าพื้นที่ผูกพันเป็นระยะเวลา ๒๕ ปี และเตรียมจะเปิดศูนย์ผลิตบุคลากรด้านการบินอีกด้วยนั้น โดยล่าสุดมีกระแสข่าวว่า บริษัท ดังกล่าวเตรียมวางศิลาฤกษ์ในปลายปีนี้ เพื่อเปิดนิคมอุตสาหกรรมการบินแห่งแรกของไทย ที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา เป็นเฟสแรก ๓๐๐ ไร่ พร้อมการจ้างงาน ๓,๐๐๐ อัตรา คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๒ นั้น

          ต่อเรื่องนี้นายประวัติ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา เปิดเผยว่า “ตั้งแต่บริษัท สแกนดิเนเวียนแอร์คราฟ เมนเทนแนนซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ยื่นเรื่องขอเช่าพื้นที่ภายในท่าอากาศยานนครราชสีมา เพื่อลงทุนจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน กระบวนการขณะนี้ยังอยู่ในระดับจังหวัด หลังจากสมัยผู้ว่าฯ ธงชัย ลืออดุลย์ ได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เป็นระยะเวลา ๒๕ ปีแล้ว แต่ยังมีรายละเอียดในการขอเปิดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอีกหลายขั้นตอน ตนทราบว่าขณะนี้ทางบริษัทฯ อยู่ระหว่างประสานงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งกรมป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๘ (นครราชสีมา), องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา เพื่อปรับพื้นที่เตรียมก่อสร้าง จากนั้นบริษัทฯ จะแจ้งกลับมาที่กรมท่าอากาศยานเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนข่าวที่ปรากฏว่า บริษัทฯ เตรียมวางศิลาฤกษ์ในปลายปีนี้ และเตรียมการจ้างงานกว่า ๓,๐๐๐ คนนั้น ตนยังไม่มีข้อมูล และได้ประสานกับทางบริษัทฯ แล้วยืนยันว่าไม่ได้ให้ข้อมูล ทางกรมท่าอากาศยานก็สอบถามตนว่าข่าวออกไปได้อย่างไร จึงขอชี้แจงว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะขั้นตอนขณะนี้ยังไม่มาถึงท่าอากาศยานนครราชสีมา”

เร่งทาบทามบิน’โคราช

          ด้านนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ผลักดันให้สายการบินพาณิชย์มาเปิดบริการในจังหวัดนครราชสีมานั้น เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า หลังจากองค์กรเอกชนในจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา และชมรมธนาคารจังหวัดนครราชสีมา มีหนังสือถึงกองทัพอากาศ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาอนุญาตให้สายการบินบางกอก แอร์เวย์ส ใช้กองบิน ๑ ทำการบินพาณิชย์ ในเส้นทาง “นครราชสีมา-กรุงเทพฯ” นั้น ปรากฏว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา โดยระบุว่า ทางกองทัพอากาศโทรศัพท์มาแจ้งว่าให้ไปใช้ท่าอากาศยานนครราชสีมาที่มีอยู่เดิม แต่ขณะนี้ยังไม่มีแจ้งมาถึง ๔ องค์กรเอกชนเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด ขณะนี้ท่าทีของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ก็มีความสนใจที่จะมาเปิดเส้นทางการบินที่โคราช เพราะสำรวจปริมาณความต้องการของผู้โดยสารในพื้นที่แล้ว เฉลี่ย ๒ เที่ยวบินต่อวัน และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้แทนของสายการบินดังกล่าวโดยเฉพาะทีมการตลาด ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับหอการค้าจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด แต่เนื่องจากเมื่อทราบข่าวว่า แนวทางของกองทัพอากาศไม่อนุญาตให้ใช้กองบิน ๑ ขณะนี้จึงกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้บริการที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา ซึ่งเร็วๆ นี้ จะมีการนัดพบผู้บริหารสถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการให้รอบด้าน รวมไปถึงกลุ่มผู้ที่จะมาลงทุนในเดอะมอลล์ นครราชสีมา, เทอร์มินอล ๒๑ โคราช และเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมาอีกด้วย”

ย้ำค่าโดยสารต้องไม่แพง

          “แต่ทั้งนี้ บางกอก แอร์เวย์ส ไม่ใช่สายการบินโลว์คอส เพราะฉะนั้นระดับราคาค่าตั๋วโดยสารอาจจะสูงกว่า ทางองค์กรเอกชนในพื้นที่มองถึงโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ จึงเสนอให้ทางสายการบินดังกล่าวทบทวน และพิจารณาถึงปริมาณความต้องการและราคาค่าโดยสารที่เหมาะสม ซึ่งด้านศักยภาพทางบางกอก แอร์เวยส์ มีเครื่องบินทั้งลำเล็กและลำใหญ่ หากจะเปิดเส้นทางบิน “นครราชสีมา-กรุงเทพฯ” วันธรรมดาจะใช้เครื่องบินขนาด ๗๐ ที่นั่ง ส่วนถ้ามีปริมาณผู้โดยสารจำนวนมาก ก็พร้อมนำเครื่องบินลำใหญ่ ขนาด ๑๐๐ กว่าที่นั่งมาให้บริการได้ ซึ่งในช่วงแรกอยากเสนอให้เปิดเส้นทางบิน “นครราชสีมา-กรุงเทพฯ (ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ)” ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่น เช่น นครราชสีมา-เชียงใหม่ หรือนครราชสีมา-ภูเก็ต เป็นต้น ข้อสำคัญคือราคาต้องไม่แพง” นายหัสดิน กล่าวในท้ายสุด

หลายสายการบินเข้า-ออก

          อนึ่ง ท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งเดียวของจังหวัดนครราชสีมา ก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๓๗ สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บนพื้นที่ ๔,๖๒๕ ไร่ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยงบประมาณก่อสร้าง ๔๗๖.๙๕ ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อใช้แทนท่าอากาศยานกองบิน ๑ นครราชสีมา ซึ่งเป็นสนามบินทหารของกองทัพอากาศ โดยสนามบินหนองเต็งมีทางวิ่ง (Runway) ขนาดกว้าง ๔๕ เมตร ยาว ๒,๑๐๐ เมตร รองรับเครื่องบินขนาดโบอิ้ง ๗๓๗ ขนาด ๑๕๐ ที่นั่ง มีที่พักผู้โดยสารรองรับ ๒ ห้องๆ ละ ๑๕๐ คน และยังมีศักยภาพสามารถรองรับเครื่องบินระหว่างประเทศได้ โดยมีระบบศุลกากรที่ไม่ต้องผ่านท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ
โดยเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ เปิดทำการบินเป็นครั้งแรก ในเส้นทางนครราชสีมา-กรุงเทพฯ มีสายการบินพาณิชย์ คือ การบินไทย, แอร์อันดามัน, สหกลแอร์ และแอร์เอเชีย ผลัดเปลี่ยนมาเปิดให้บริการ แต่ด้วยระยะทางของสนามบินแห่งนี้ซึ่งห่างจากอำเภอเมืองนครราชสีมา ๒๖ กิโลเมตร ประกอบกับเส้นทางการคมนาคมทางบก ระหว่างนครราชสีมาไปถึงกรุงเทพฯ มีความสะดวกและรวดเร็ว จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของผู้มาใช้บริการ สายการบินดังกล่าวจึงไม่คุ้มทุนในการเปิดให้บริการต้องยกเลิกการบินไปโดยปริยาย กลายเป็นสนามบินที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ

          ก่อนหน้านี้ “แอร์ฟีนิคซ์” วางแผนเปิดบริการการบิน ในเส้นทางระหว่าง นครราชสีมา-กรุงเทพฯ, นครราชสีมา-เชียงใหม่ และนครราชสีมา-เชียงราย ช่วงเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๕๑ แต่หลังจากเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์เส้นทางนครราชสีมา-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๑ ต่อมาผู้บริหารของสายการบินนี้จึงแถลงข่าว โดยระบุว่าไม่สามารถเปิดเส้นทางการบินตามที่วางแผนไว้ได้ เนื่องจากขณะนั้นน้ำมันปรับขึ้นราคาสูงมาก จึงทนแบกรับภาวะขาดทุนไม่ไหว ต่อมาบริษัท แฮปปี้ แอร์ ทราเวิล เลอร์ส จำกัด หรือสายการบินแฮปปี้แอร์ ซึ่งเป็นสายการบินระดับพรีเมี่ยม ที่เกิดจากการลงทุนของนักลงทุนในจังหวัดภูเก็ต มาดำเนินการเปิดบริการสายการบินพาณิชย์ขนส่งผู้โดยสาร ในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-เชียงใหม่ดังกล่าว โดยเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ ก่อนที่จะชะลอการปรับปรุงเส้นทางและปิดให้บริการ จากนั้นสายการบิน “ไทย รีเจียนัล แอร์ไลน์ส” เข้ามาเปิดบริการแทนที่ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๔ แต่เนื่องจากท่าอากาศยานแห่งนี้อยู่ห่างตัวเมืองมาก กอปรกับปัญหาด้านการคมนาคมเข้าสู่สนามบิน ทำให้ความนิยมในการใช้บริการลดลง สายการบินต้องยกเลิกทำการบินไปในที่สุด

          กระทั่งเมื่อปี ๒๕๕๘ สายการบินกานต์ แอร์ เปิดเส้นทางการบินเชื่อมภูมิภาค “นครราชสีมา-เชียงใหม่” เริ่มทำการบินวันที่ ๒  กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ และต่อมาต้องยกเลิกการทำการบิน เนื่องจากมีปัญหาด้านใบอนุญาตทำการบิน จากนั้นมาก็มีกลุ่มทุนใหม่ คือ Pattaya Aviation Group (พัทยา เอวิเอชั่น กรุ๊ป) นำโดยนายทศพร อสุนีย์ หรือ Tony A. ประธานกรรมการ ซึ่งเป็น กลุ่มผู้บริหารใหม่ของบริษัท เลกาซี แอร์ จำกัด เตรียมแผนการที่จะเปิดสายการบินใหม่ ใช้ชื่อว่า “ราชสีมา แอร์เวย์ (Ratchasima Airways)” โดยมีความประสงค์จะลงทุนและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมกับลงทุนในอุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจรภายในท่าอากาศยานนครราชสีมา บนเนื้อที่ประมาณ ๗๐๐ ไร่ อาทิ โรงเรียนฝึกการบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน เป็นต้น แต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้า ก่อนที่จะมีข่าวล่าสุดว่า สายการบินรายใหม่ “บางกอก แอร์เวย์ส (Bangkok Airways)” ของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีความสนใจจะมาเปิดเส้นทางการบินในจังหวัดนครราชสีมา

แนวคิด ‘ชาติชาย’ ฮับการบิน

          อย่างไรก็ตาม สำหรับการผลักดันจัดตั้ง “ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน” ที่จังหวัดนครราชสีมานั้น มีแนวคิดตั้งแต่สมัย “ชาติชาย ชุณหะวัณ” มียศเป็นพลตรี (พล.ต.) เมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๑๙ หลังจากลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.นครราชสีมา และได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องกันมาอีกรวม ๕ สมัย โดยเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีอีกหลายสมัย ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมองว่าจังหวัดนครราชสีมามีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลาง (Hub) อุตสาหกรรมการบิน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการก่อสร้างท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง มีเพียงท่าอากาศยานของกองบิน ๑ เท่านั้น

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๓๗๙ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ - วันจันทร์ที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙


710 1344