25thApril

25thApril

25thApril

 

August 17,2016

บีโอไออนุมัติลงทุนอีก ๙๗๔ ล้าน อุบลเกษตรพลังงาน’ลุยผลิตไอน้ำ ธปท.ชี้เศรษฐกิจอีสานยังขยายตัว

          บีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุนอีก ๙๗๔ ล้านบาท ‘อุบลเกษตรพลังงาน’ ลุยกิจการผลิตไอน้ำ ๗๗๒ ล้านบาท ในขณะที่ ธปท.อีสาน มั่นใจเศรษฐกิจไตรมาส ๓ ขยายตัวต่อเนื่อง หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนของเอกชนเริ่มเข้าสู่ช่วงการเบิก-จ่าย

          เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ นายวีรพงษ์ ศิริวัน ผู้อำนวยการ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (บีโอไอ นครราชสีมา) เปิดเผยภาวะการส่งเสริมการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจำนวน ๙ โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ ๙๗๔ ล้านบาท การจ้างงาน ๑๖๓ คน เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนโครงการ รวมทั้งมูลค่าเงินลงทุนและการจ้างงาน มีสัดส่วนการลงทุนลดลง

          สำหรับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ จำนวน ๙ โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตไอน้ำ, กิจการผลิตสารให้ความหวาน ได้แก่ Sorbitol Syrup & Maltitol Syrup, กิจการผลิตยางแผ่นรมควัน, กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะ, กิจการผลิตชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และกิจการผลิต High Value-Added Software โดยแยกเป็นดังนี้ ๑.กิจการผลิตไอน้ำ (Steam) ในนาม บริษัท อุบลเกษตรพลังงาน จำกัด เงินลงทุน ๗๗๒ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดอุบลราชธานี ๒.กิจการผลิตสารให้ความหวาน ได้แก่ Sorbitol Syrup & Maltitol Syrup ในนาม บริษัท สยามซอร์บิทอล จำกัด เงินลงทุน ๒๔ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา ๓.กิจการผลิตยางแผ่นรมควัน (Ribbed Smoked Rubber Sheet) ในนาม บริษัท ย่งล้งรับเบอร์ จำกัด เงินลงทุน ๗๐ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดสุรินทร์ ๔.กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะ (Metal Parts) ในนาม บริษัท เนเด็ค (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน ๕๙ ล้านบาท หุ้นเกาหลีทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา ๕.กิจการผลิตชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Parts for Electronic Product) ในนาม บริษัท เมลเทค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน ๒๐ ล้านบาท หุ้นต่างประเทศทั้งสิ้น(ญี่ปุ่น-เกาหลี) ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา และ ๖. กิจการผลิตไอน้ำ (Steam) ในนาม บริษัท เอ็นเนอร์จี พลัส จำกัด เงินลงทุน ๑๐ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา

          นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๓ (บีโอไอ ขอนแก่น) อีก ๓ โครงการ ได้แก่ ๑. กิจการผลิต High Value-Added Software ในนามนายเผด็จ จินดา เงินลงทุน ๑ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดขอนแก่น ๒.กิจการผลิตผลิตไอน้ำ (Steam) ในนาม บริษัท เอ็นเนอร์จี พลัส จำกัด เงินลงทุน ๑๐ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดร้อยเอ็ด และ ๓. กิจการผลิตผลิตไอน้ำ (Steam) ในนาม บริษัท เค.เอส. ไบโอ-พลัส จำกัด เงินลงทุน ๘ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดกาฬสินธุ์

          ผู้อำนวยการ บีโอไอ นครราชสีมา กล่าวอีกว่า ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ นครราชสีมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนดจัดงานสัมมนาเรื่อง “บีโอไอ กับการให้บริการแบบ Online” ในส่วนภูมิภาค ณ จังหวัดนครราชสีมา วันพุธที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๙ ณ โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส โคราช เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การให้บริการ e-service แบบ Online ในระบบงานต่างๆ ของสำนักงานให้ผู้ประกอบการได้รับทราบและใช้งานต่อไป โดยผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (นครราชสีมา) โทรศัพท์ ๐๔๔-๓๘๔๒๐๐

          ทางด้านนายชาญชัย บุรถาวร ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ภาพรวมทางเศรษฐกิจของภาคอีสานในไตรมาสที่ ๒ ของปี มีอัตราการของการขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่มีการขยายตัวในกลุ่มของรายจ่ายภาคการลงทุนและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในท้องถิ่น ด้านสินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังคงชะลอตัวทั้งภาครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยที่อัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกหลังจากที่ติดลบต่อเนื่องมาจากไตรมาสแรก ทั้งนี้จากข้อมูลด้านการใช้จ่ายของภาครัฐในไตรมาสที่ ๒ ของปี อยู่ที่ ๗๙,๑๙๑.๖ ล้านบาท ตามการใช้จ่ายของงบลงทุนที่ขยายตัวในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมชลประทานและกรมทางหลวงชนบท ขณะที่การเบิกจ่ายตามโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐหมู่บ้านละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ที่เริ่มมีการเบิกจ่ายมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจำนวน ๖,๖๓๐ ล้านบาท รวมทั้งมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลตำบลละ ๕ ล้านบาท ที่มีการเบิกจ่ายในไตรมาสนี้อีกรวม ๖,๐๓๐ ล้านบาท ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในภาพรวม

          “สำหรับอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ ๐.๖๗ โดยกลับมาเป็นบวกหลังจากที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในไตรมาสที่สองต่อเนื่องถึงไตรมาสที่สามของปีของภาคอีสานอย่างมาก ขณะที่ บีโอไอ ได้อนุมัติงบประมาณในการาส่งเสริมการลงทุนไตรมาสที่สอง สูงถึง ๒๐,๑๔๕ ล้านบาท สูงที่สุดคือโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไอน้ำ ที่จังหวัดนครราชสีมา รวม ๒ โครงการ มูลค่า ๑๑,๔๙๐ ล้านบาท รองลงมาคือที่ จังหวัดบุรีรัมย์ มูลค่า ๙,๑๐๐ ล้านบาท ในโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำมันยางดำและสารเคมีสำหรับการนผลิตเยื่อกระดาษ และโครงการการผลิตยางเครฟ ที่จังหวัดอุบลราชธานี มุกดาหาร นครพนม ศรีสะเกษ สกลนคร บึงกาฬ และอุดรธานี มูลค่า ๕,๘๐๕ ล้านบาท สุดท้ายคือโครงการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มูลค่า ๑,๗๘๐ ล้านบาท” ผู้อำนวยการ ธปท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าว

          นายชาญชัย กล่าวท้ายสุดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอีสานในช่วงไตรมาสที่ ๓ ของปีนี้จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องเนื่องจากเข้าสู่ช่วงการเบิกจ่ายของรัฐแม้จะเข้าสู่ช่วงของปลายปีงบประมาณของทางราชการก็ตาม ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายในภาพรวม โดยเฉพาะกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่ส่งผลต่อการลงทุนของกลุ่มภาคธุรกิจเอกชนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และที่สำคัญสถานการณ์ภัยแล้งที่คลี่คลายลงส่งผลต่อการเข้าสู่ช่วงฤดูผลิตประจำปีที่จะมีการกระตุ้นการใช้จ่ายภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงต้องดูถึงปัจจัยเสี่ยงทั้งในเรื่องของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะจีนและหลายประเทศในเอเชียที่มีอัตราการชะลอตัวลงในกำลังซื้อและความผันผวนทางเศรษฐกิจ อีกทั้งหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ระดับสูง ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมาอีกด้วย

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๓๗๙ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ - วันจันทร์ที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙


688 1343