25thApril

25thApril

25thApril

 

September 17,2016

ชาวนาชนะผู้ว่าฯ ศาลห้ามทำเกลือ หายนะยาวนาน ๑๕ ปี


ชาวตำบลพังทียมและทนายความชูมือดีใจ หลังศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
ห้ามอนุญาตให้นายทุนทำโรงกลือ

          ศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ว่าฯ จอมว๊าก กำหนดบ้านโพนไพล ต.พังเทียม เป็นท้องที่อนุญาตตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์ และสูบน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ๒๒ ชาวนาฟ้องประกอบอาชีพติดขัด สภาทนายความฯ ระบุคดีสิ้นสุด ชาวนาชนะในการต่อสู้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมา ๑๕ ปี

          วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องพิจารณาคดี ศาลปกครองนครราชสีมา ถนนมิตรภาพ-เลี่ยงเมือง ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายพงษ์ศักดิ์ กัมพูสิริ ตุลาการศาลปกครองนครราชสีมา ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ. ๒๑๙/๒๕๕๓ และคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๑๑๘๘/๒๕๕๙ ระหว่างนายถาวร เพชรขุนทด ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกรวม ๒๒ คน ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีภูมิลำเนาและพักอาศัยอยู่บ้านทองหลางพัฒนา หมู่ที่ ๑๙ ตำบลพังเทียม อำเภอพระทองคำ (อำเภอโนนไทยเดิม) จังหวัดนครราชสีมา ได้ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกรวม ๗ ราย ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรมควบคุมมลพิษ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, นายสุนทร ริ้วเหลือง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา(ขณะนั้น), นายประวุฒิ ตั้งจรูญชัย อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาข(ณะนั้น) และองค์การบริหารส่วนตำบลพังเทียม กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

          ผู้ฟ้องคดีนำโดยนายถาวร เพชรขุนทด รองประธานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำนาเกลือจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายวิโรจน์ ช่างสาร ซึ่งเป็นคณะทำงานคดีนาเกลือของสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายพีรพล หล้าวงษา ทนายความ จากสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตนเองภายในห้องพิจารณาคดี โดยมีนายอ่อน ป้อมสันเทียะ ประธานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำนาเกลือจังหวัดนครราชสีมา และผู้ได้รับผลกระทบจากการทำนาเกลือในพื้นที่อำเภอขามทะเลสอ มาให้กำลังใจด้วย ขณะที่หน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกฟ้องในคดี มีเพียงนายอรรถสิทธิ์ อึ้งเหมอนันต์ หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑, นายจิรวัฒน์ บุปผาพรหม นิติกรชำนาญการ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และนายสุติศักดิ์ แก้วหอด นิติกรชำนาญการ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มาฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ และที่ ๖ ได้รับหมายโดยชอบแล้วไม่มาศาล และไม่ได้มอบให้ผู้ใดมาศาล

ต่อสู้อนุญาตตั้งโรงเกลือ

          คดีนี้สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้ง ๒๒ คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยอาศัยน้ำที่กักเก็บไว้ในสระ บ่อ ห้วย หนอง คลอง บึง เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเพาะปลูก เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.๒๕๓๔ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีนโยบายเรื่องการผลิตเกลือสินเธาว์และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าดำเนินการผลิตเกลือสินเธาว์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครม.จึงมีมติเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๓๔ เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่และกำหนดมาตรการควบคุมการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดิน ดังนี้

          ๑) พื้นที่ที่จะอนุญาตจะต้องเคยมีการผลิตเกลืออยู่เดิม หรือมีความเหมาะสมในด้านแหล่งน้ำใต้ดิน แหล่งน้ำผิวดิน และไม่เป็นแหล่งเกษตรกรรม ทั้งนี้ โดยมีหลักการห้ามทำเหมืองเกลือในเขตพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ที่เหมาะสมแก่การเกษตร และพื้นที่แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตร กำหนดให้การผลิตเกลือสินเธาว์เป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ใช้เทคโนโลยีอันไม่เกิดผลเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม และห้ามประกอบกิจการผลิตเกลือสินเธาว์ด้วยวิธีการอื่นใดที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์

          ๒) ต้องได้รับความเห็นชอบจากจังหวัดให้เป็นพื้นที่ทำเกลือโดยวิธีสูบน้ำเกลือใต้ดินได้ หากมีการคัดค้านหรือร้องเรียนเกิดขึ้นในพื้นที่ใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องชะลอการพิจารณาอนุญาตจนกว่าทางจังหวัดจะสามารถหาข้อยุติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของราษฎรในท้องถิ่นได้ หรือมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยละเอียดแล้ว

          ๓) การดำเนินการทำเกลือและสูบน้ำเกลือจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรการควบคุมที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบประกอบการอนุญาตด้วย

          ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ กำหนดให้ท้องที่บ้านโพนไพล ตำบลพังเทียม อำเภอโนนไทย (อำเภอพระทองคำปัจจุบัน) จังหวัดนครราชสีมา เป็นท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๒๒ ราย เห็นว่า ประกาศกระทรวงดังกล่าวออกโดยฝ่าฝืนมติ ครม.เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๓๔ ที่ให้ความเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่และกำหนดมาตรการควบคุมการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดิน เนื่องจากพื้นที่บ้านโพนไพล ตำบลพังเทียม ไม่เคยทำเหมืองเกลือมาก่อน เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การเกษตร และเป็นพื้นที่แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตร นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยังได้ออกหลักเกณฑ์การพิจารณาและเงื่อนไขการอนุญาตโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน (ฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ ๑) ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๓ ไม่สอดคล้องกับมติ ครม.ดังกล่าว ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ประกอบกิจการจำนวนมากตั้งโรงงานผลิตเกลือสินเธาว์ทั้งที่อยู่ในเขตและนอกเขตท้องที่ที่อนุญาต แยกเป็นดังนี้

ไม่ได้รับอนุญาต-อยู่นอกเขต

          กลุ่มที่ ๑ ผู้ประกอบการผลิตเกลือสินเธาว์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ผลิตเกลือสินเธาว์ และสถานที่ตั้งโรงงานอยู่ในเขตท้องที่ที่อนุญาต ประกอบด้วย โรงงานของบริษัท ศรีเอเซีย จำกัด, โรงงานของนายสมาน สมันเลาะห์ และโรงงานของนายแอ คล้ายขำดี จำนวน ๒ โรงงาน รวมทั้งสิ้น ๔ โรงงาน ทั้งนี้ การออกใบอนุญาตให้ผลิตและตั้งโรงงานดังกล่าวฝ่าฝืนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับข้างต้น ที่กำหนดว่าต้องเป็นท้องที่ซึ่งเคยมีการผลิตเกลืออยู่เดิม และต้องไม่เป็นแหล่งเกษตรกรรม หากมีการคัดค้านหรือร้องเรียนขึ้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องชะลอการพิจารณาอนุญาตจนกว่าทางจังหวัดจะสามารถหาข้อยุติได้ ซึ่งปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง ๒๒ ราย และชาวบ้านได้เคยร้องเรียนและคัดค้านการขออนุญาตไว้ ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กลับออกใบอนุญาตให้แก่โรงงานดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๖ มีหน้าที่ตามกฎหมายในการควบคุม กำกับดูแล และตรวจสอบให้โรงงานทั้ง ๔ แห่ง ปฏิบัติตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตและปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน แต่ปรากฏว่าได้มีการลักลอบผลิตเกลือสินเธาว์ตลอดทั้งปี โดยที่ไม่มีการสร้างคูรับน้ำเสียจากการทำเกลือ ซึ่งกำหนดให้ต้องปูรองด้วยวัสดุที่มีคุณสมบัติป้องกันการรั่วซึมหรือดาดด้วยคอนกรีตโดยรอบบริเวณ เพื่อให้น้ำเสียไหลลงสู่ที่เก็บขังรวมและสูบลงบ่อกักน้ำเสียในเขตพื้นที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๖ จึงละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งมีหน้าที่ตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ ๔ (พ.ศ.๒๕๓๙) เรื่อง กำหนดประเภทของโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม หรือออกสู่สิ่งแวดล้อม ลงวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๓๙ ก็มิได้ควบคุมหรือกำกับดูแลโรงงานทำการบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐานก่อนปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อม

          กลุ่มที่ ๒ ผู้ประกอบการผลิตเกลือสินเธาว์ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตเกลือสินเธาว์ และสถานที่ตั้งโรงงานอยู่นอกเขตท้องที่ที่อนุญาต ประกอบด้วย โรงงานของนายไพโรจน์ ยิ้มสุขไพฑูรย์, โรงงานของบริษัท ศรีเอเซีย เคมิคอล จำกัด และโรงงานของนายไกรสร โชติชาครพันธุ์ การออกใบอนุญาตให้ผลิตและตั้งโรงงานทั้ง ๖ โรงงานนั้น เป็นการออกใบอนุญาตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากได้นำเอกสารสิทธิในที่ดินซึ่งมิได้อยู่ในท้องที่ที่จะอนุญาตมายื่นขออนุญาตตั้งโรงงาน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ กลับออกใบอนุญาตให้แก่โรงงานดังกล่าว อันเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

          กลุ่มที่ ๓ ผู้ประกอบกิจการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและตั้งโรงงาน แต่ได้ประกอบกิจการอยู่ภายในท้องที่ที่อนุญาตและนอกเขตท้องที่ที่อนุญาต ประกอบด้วย บริษัท เกลือโคราช จำกัด, นางยุภาภรณ์ พุฒิวณิชย์พิมล, นายชัยวัฒน์ ปักเข็ม, นายฮานาฟี นรินทร, นายโพด จักรแก้ว และนายอดุลย์ หาญสงคราม รวม ๖ ราย ประกอบกิจการดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยเหมืองแร่ กฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง ๗ มีอำนาจหน้าที่ในการลงโทษผู้กระทำผิด แต่กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

          นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๒๒ ราย เห็นว่า การประกอบกิจการทำเกลือสินเธาว์ในท้องที่บ้านโพนไพล หมู่ที่ ๒ ตำบลพังเทียม ยังทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๒๒ รายได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติสุขได้ เนื่องจากโรงงานทำเกลือลักลอบปล่อยน้ำเสียลงไปในลำรางสาธารณะ และจากสภาพทางภูมิศาสตร์ บ้านโพนไพล หมู่ที่ ๒ มีระดับพื้นที่สูงกว่าบ้านทองหลาง หมู่ที่ ๖ และบ้านทองหลางพัฒนา หมู่ที่ ๑๙ จึงทำให้น้ำเสียจากการทำเกลือไหลลงสู่ลำรางสาธารณะและกระจายสู่พื้นที่บ้านทองหลางและบ้านทองหลางพัฒนา ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตร ทำให้สภาพทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป สัตว์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติและพืชผักที่เป็นอาหารของคนและสัตว์ได้ลดจำนวนลง ไม่สามารถใช้น้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติในการอุปโภค บริโภค และไม่สามารถนำไปให้สัตว์เลี้ยงกินได้ ในฤดูแล้งน้ำในสระที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๒๒ รายกักเก็บไว้เพื่อใช้การอุปโภค บริโภค และให้สัตว์เลี้ยงได้กิน ไม่สามารถใช้ได้เพราะน้ำมีความเค็ม อีกทั้งน้ำเสียดังกล่าวยังไหลลงสู่ที่นา ทำให้ไร่นาของผู้ฟ้องคดีทั้ง ๒๒ ราย ที่เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ไร่นาที่เคยให้ผลผลิตมากปัจจุบันผลผลิตตกต่ำมาก ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๒๒ รายได้มีหนังสือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน รวมทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ แต่ไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๒๒ รายแต่ประการใด จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘

          โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้ ๑. เพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ เฉพาะข้อ ๒.๓ ที่กำหนดให้บ้านโพนไพล ตำบลพังเทียม อำเภอโนนไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นอำเภอพระทองคำ) จังหวัดนครราชสีมา เป็นท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน

          ๒. เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ที่ออกให้แก่บริษัท ศรีเอเชีย เคมิคอล จำกัด ทะเบียน รง.เลขที่ ๓-๓๐๑(๑) – ๒/๓๖ นม และทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๕/๓๖ นม, นายสมาน สมันเลาะห์ ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๖/๓๘ นม, นายแอ คล้ายขำดี ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๑/๔๑ นม และทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๒/๔๑ นม, นายไพโรจน์ ยิ้มสุขไพฑูรย์ ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๑/๓๖ นม, นายสำราญ คำเปรม ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๑/๔๐ นม, นายอาดัม รอฮีม ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๒/๔๐ นม, บริษัท สยามทรัพย์มณี จำกัด ทะเบียน รง.เลขที่ ๓-๑๐๓(๔) – ๑/๔๒ นม และนายไกรสร โชติชาครพันธุ์ ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๑/๓๙ นม

          ๓. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ ร่วมกันหรือแทนกันดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญากับ บริษัท เกลือโคราช จำกัด, นางยุภาภรณ์ พุฒิวณิชย์พิมล, นายชัยวัฒน์ ปักเข็ม, นายฮานาฟี นรินทร, นายโพด จักรแก้ว, นายอดุลย์ หาญสงคราม, โรงงานของนายไพโรจน์ ยิ้มสุขไพฑูรย์ ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๑/๓๖ นม, บริษัท ศรีเอเชีย เคมิคอล จำกัด ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๕/๓๖ นม, นายสำราญ คำเปรม ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๑/๔๐ นม, นายอาดัม รอฮีม ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๒/๔๐ นม, บริษัท สยามทรัพย์มณี จำกัด ทะเบียน รง.เลขที่ ๓-๑๐๓(๔) – ๑/๔๒ นม และนายไกรสร โชติชาครพันธุ์ ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๑/๓๙ นม และ ๔. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๗ ดำเนินการฟื้นฟูบริเวณลำห้วยโนนเผาผี สระเก็บน้ำโนนเผาผี ในพื้นที่หมู่ที่ ๖ และบริเวณลำห้วยด่าน ในพื้นที่หมู่ที่ ๑๙ ตำบลพังเทียม โดยวิธีการสูบน้ำเค็มออกให้หมดแล้วสูบน้ำจืดลงในลำห้วยและสระเก็บน้ำให้เต็ม พร้อมสร้างคลอดน้ำจืด กว้าง ๔ เมตร สูง ๒ เมตร กั้นรอบพื้นที่หมู่ที่ ๖ และหมู่ที่ ๑๙ ตำบลพังเทียม เพื่อป้องกันเกลือไหลลงพื้นที่ดังกล่าว

เพิกถอนใบอนุญาตโรงเกลือ

          ทั้งนี้ ศาลปกครองนครราชสีมา (ศาลปกครองชั้นต้น) ได้พิพากษาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๒ ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของ (๑) บริษัท ศรีเอเซีย เคมิคอล จำกัด ทะเบียน รง.เลขที่ ๓-๓๐๑(๑) – ๒/๓๖ นม และทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๕/๓๖ นม (๒) นายสมาน สมันเลาะห์ ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๖/๓๘ นม (๓) นายแอ คล้ายขำดี ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๑/๔๑ นม และทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๒/๔๑ นม (๔) นายไพโรจน์ ยิ้มสุขไพฑูรย์ ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๑/๓๖ นม  (๕) สำราญ คำเปรม ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๑/๔๐ นม (๖) นายอาดัม รอฮีม ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๒/๔๐ นม (๗) บริษัท สยามทรัพย์มณี จำกัด ทะเบียน รง.เลขที่ ๓-๑๐๓(๔) – ๑/๔๒ นม และ (๘) นายไกรสร โชติชาครพันธุ์ ทะเบียน รง.เลขที่ จ๓-๑๐๓(๑) – ๑/๓๙ นม ตั้งแต่วันที่อนุญาต คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โดยผู้ถูกฟ้องคดี คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายสุนทร ริ้วเหลือง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายประวุฒิ ตั้งจรูญชัย อดีตอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ไม่เห็นพ้องด้วย จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด

พิพากษายกเลิกประกาศฯ

          พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวตั้งแต่วันที่อนุญาต คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยบางส่วน ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ เฉพาะข้อ ๒.๓ ที่กำหนดให้บ้านโพนไพล ตำบลพังเทียม อำเภอโนนไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอำเภอพระทองคำ) จังหวัดนครราชสีมา เป็นท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ตั้งแต่วันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๔ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

๑๕ ปีชาวพระทองคำต่อสู้

          ภายหลังฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเสร็จสิ้น นายถาวร เพชรขุนทด รองประธานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำนาเกลือจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์กับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า คดีนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ศาลปกครองนครราชสีมา พิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตโรงงานผู้ผลิตเกลือสินเธาว์ในพื้นที่อำเภอพระทองคำ ทุกใบอนุญาตที่ออกโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กระทั่งวันนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ เฉพาะข้อ ๒.๓ ที่กำหนดให้บ้านโพนไพล ตำบลพังเทียม อำเภอโนนไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอพระทองคำ เป็นท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ส่วนกรณีการเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการก็ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ถือเป็นคดีสิ้นสุด รวมระยะเวลา ๑๕ ปีเต็ม ที่ตนและชาวบ้านต่อสู้ผลกระทบจากการทำนาเกลือของผู้ประกอบการเอกชนในท้องที่อำเภอพระทองคำ ทั้งนี้ ตั้งแต่ตนเป็นแกนนำของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมีทั้งความรู้สึกดีและไม่ดี เพราะทางหนึ่งมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย เขาบอกว่าพวกเราชาวบ้านเหมือนเป็นไม้ซีกแล้วไปงัดไม้ซุง สิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจให้พวกเราต่อสู้ถึงวันนี้ ชื่อเสียงของตนบางคนก็ไปทำลายในสิ่งที่เสียหาย แต่ตนยึดหลักคุณธรรม คือ ความสุจริตทั้งต่อหน้าและลับหลังประชาชน รวมไปถึงข้าราชการ ถ้าผมไม่โกหกตัวเอง ก็ไม่โกหกประชาชนและข้าราชการด้วย

สภาทนายความ’คดีสิ้นสุด

          นายวิโรจน์ ช่างสาร คณะทำงานคดีนาเกลือของสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า คดีนี้ชาวบ้านหรือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการหรืออนุญาตให้ดำเนินกิจการผลิตเกลือในพื้นที่อำเภอพระทองคำได้ไปขอความช่วยเหลือสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา เมื่อประมาณปี ๒๕๔๕-๒๕๔๖ จากนั้นได้ส่งเรื่องร้องเรียนเข้าสู่สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้ตั้งคณะทำงานคดีนาเกลือมาสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมี ดร.มานิธ มานิธิคุณ เป็นประธาน จากนั้นได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา กระทั่งวันนี้ศาลปกครองสูงสุดตัดสินแก้ไขคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นในบางประเด็น โดยชี้ขาดอุทธรณ์คำพิพากษาของกระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (นายสุนทร ริ้วเหลือง) และอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา (นายประวุฒิ ตั้งจรูญชัย) ให้เพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ เฉพาะข้อ ๒.๓ นั่นหมายความว่า ท้องที่ดังกล่าวไม่สามารถประกอบกิจการโรงเกลือได้อีกต่อไป คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว โดยหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาฟังคำพิพากษาต้องแจ้งให้ผู้ประกอบกิจการโรงเกลือที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตหยุดดำเนินกิจการตามคำพิพากษาดังกล่าวด้วย

          มีประเด็นวินิจฉัยต่อไปว่า นอกจากชาวนาจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว ยังได้ยื่นฟ้องกลุ่มนายทุนที่ประกอบกิจการผลิตเกลือในท้องที่อำเภอพระทองคำด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลจังหวัดนครราชสีมา แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ได้พิพากษาให้ผู้ประกอบการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวนา เพราะว่าความเสียหายเกิดขึ้นจริง แต่ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๓๘๖ วันศุกร์ที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๙


700 1351