23rdApril

23rdApril

23rdApril

 

October 22,2016

สปก.ระดมสมองพัฒนาที่ดิน ยึดจากนายทุน ๑,๐๒๗ ไร่

           ผู้ว่าฯ โคราชนำทีมหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ระดมสมองเตรียมพัฒนาพื้นที่ ๑,๐๒๗ ไร่ ที่อำเภอปากช่อง ซึ่งยึดคืนจากนายทุน ให้ทุกภาคส่วนวางแผนพัฒนาหวังให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรแบบยั่งยืน 

           เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัดนครราชสีมา  นายวิเชียร จันทรโณๅทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายชำนาญ กลิ่นจันทร์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ ๘ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ประมงจังหวัดนครราชสีมา เกษตรจังหวัดนครราชสีมา สหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นครราชสีมา และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ ๕ เข้าร่วมประชุม แนวทางการพัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ยึดคืนจากการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๑,๐๒๗ ไร่ ณ ห้องประชุมสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา

    
           ทั้งนี้ พื้นที่จำนวน ๑,๐๒๗ ไร่ อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ ๑๕ บ้านเหนือ ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พิกัด E ๕๕๑๔๔๓ N ๑๖๓๐๐๗๔ Zone ๔๗ P ห่างจากที่ว่าการอำเภอปากช่อง ๑๑ กิโลเมตร ยึดคืนจากนายชูเกียรติ ตั้งพงศ์ปราชญ์ โดยเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๙ นายวิเชียรจันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว และเตรียมจัดทำแผนพัฒนาอาชีพสำหรับมอบให้เกษตรกรที่จะได้รับสิทธิ์เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้ ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า มีความเหมาะสมในการทำการเกษตรทุกชนิด โดยควรกำหนดมิให้การปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ เพื่อเป็นการลดปริมาณพืช ดังกล่าวในท้องตลาดในอนาคต ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาแล้ว 

           นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สรุปแนวทางในการดำเนินการเพื่อพัฒนา ดังนี้ ๑.สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดนครราชสีมา พิจารณากำหนดว่ารูปแปลง ประมาณ ๑๒๐ แปลง สำหรับมอบให้เกษตรกรไปพัฒนาอาชีพตามแนวทางของภาครัฐในลักษณะรูปแบบแปลงใหญ่ต่อไป ๒.สำนักงานชลประทานที่ ๘ ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ โดยพิจารณาจัดทำเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ความจุประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ๓.สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ โดยส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกสลับไม้ยืนต้นบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำเพื่อลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ส่วนพื้นที่ดินที่ติดป่าโซน C ควรเก็บรักษาไว้ เพื่อให้เกษตรกรรายที่ได้รับสิทธิ์เข้าไปบำรุงรักษาเป็นไม้ยืนต้นและสามารถเก็บผลผลิตไว้บริโภคหรือจำหน่ายได้อีกทางหนึ่ง ๔.สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยง สัตว์ปีก เนื่องจากใช้ระยะเวลาสั้น ได้ผลผลิตเร็ว ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที ๕.สำนักงานประมงจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการปล่อยพันธุ์ปลาไว้ช่วงสิ้นฤดูฝน เลี้ยงไว้ถึงฤดูแล้งหน้า สามารถให้เกษตรกรจับไว้เพื่อบริโภคและจำหน่ายได้ และ ๖.สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยใช้ Agi-map เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์พื้นที่

           นายชำนาญ กลิ่นจันทร์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า หลังจากได้รับคำสั่งจากทาง คสช. ทางส.ป.ก.สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการปิดบังคับคดีที่ดินของพล.ต.ต.ชาลี จำนวน ๕๐๐ ไร่ ในวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๙ โดยทางกฎหมายสั่งให้ทำการรื้อถอนที่ดินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่ของรัฐ และเมื่อได้พูดคุยกับทางกฎหมาย คาดว่าจะไม่เกิดปัญหาใด นอกจากนี้พื้นที่ดินดังกล่าว จำนวน ๒๐๐ ไร่ ได้มีเกษตรเข้าไปลงทุนปลูกแก้วมังกร ข้าวโพด มะเขือ และน้อยหน่า ได้มีการส่งหนังสือมาทางสปก. เป็นคำสั่งพิเศษพิจารณาขอพื้นที่ตรงนี้ และเจรจาว่าจะขอเก็บเกี่ยวผลผลิตตรงนี้ไปก่อน เพราะได้ทำการลงทุนไปแล้ว”

           “พื้นที่ตรงนี้ ณ เวลานี้ ทางกรมปศุสัตว์จะดำเนินการเลี้ยงโคนม แต่ในขณะเดียวกัน การเลี้ยงเพียงโคนมอย่างเดียว อาจส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งผังตรงนี้ทางส่วนกลางอาจจะแบ่งพื้นที่ปลูกหญ้า ประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ไร่ กระจัดกระจายพิจารณาตามความเหมาะสม และเปลี่ยนพื้นที่เกษตรรูปแบบใหม่ เป็นที่อาศัยกับที่ทำกินอยู่ด้วยกัน โดยจะจัดแบ่งรายละ ๔ ไร่ เป็นพื้นที่แปลงหญ้าของส่วนตัว ๒ ไร่ อีก ๒ ไร่ จัดทำเป็นรายได้สำหรับการเลี้ยงชีพ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกหน่วยงานได้รวบรวมข้อมูลและแผนโครงการทั้งหมดรายงานต่อส่วนกลาง หากมีคำสั่งเห็นชอบจะดำเนินการทันทีโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสามารถปฏิบัติตามภารกิจ หน้าที่ได้ เพื่อสนองนโยบายรัฐต่อไป” นายชำนาญ กลิ่นจันทร์ กล่าวในที่สุด

           ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า นายชูเกียรติ ตั้งพงศ์ปราชญ์ ถือหุ้นและเป็นกรรมการ อย่างน้อย ๓ แห่ง ได้แก่ ๑.บริษัท สำนักงานศักดิ์สิทธิ์ จำกัด ๒.บริษัท ประมวลผล จำกัด และ ๓.บริษัท เอส.พี.เอ็ม อาหารและเครื่องดื่ม จำกัด โดยบริษัท สำนักงานศักดิ์สิทธิ์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ทุน ๑ แสนบาท ประกอบธุรกิจที่ปรึกษากฎหมาย ที่ตั้งเลขที่ ๒๙๗ ถนนนครราชสีมา แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายชูเกียรติ ตั้งพงศ์ปราชญ์ ถือหุ้น ๓๐ % นางสาวชุวรรณ ตั้งพงศ์ปราชญ์ ๒๒.๕% นายเอกสิทธิ์ ตั้งพงศ์ปราชญ์ ๒๒.๔% นางสาวภาวิณี ตัญญพงศ์ปรัชญ์ ๒๐% นางพรพิมล วรวุธ รังสรรค์ ๕.๑% นายชูเกียรติ ตั้งพงศ์ปราชญ์ น.ส.ภัทรพร ตัญญพงศ์ปรัชญ์ นายเอกสิทธิ์ ตั้งพงศ์ปราชญ์ เป็นกรรมการ, บริษัท ประมวลผล จำกัด จดทะเบียนวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ ทุน ๓๕๐ ล้านบาท ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสุรา ไวน์ ที่ตั้งเลขที่เลขที่ ๕๖ ถนนสุขาภิบาล ตำบลนครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม บริษัท สุราพิเศษภัทรลานนา จำกัด ถือหุ้น ๙๙.๕% นายโกเมน ตันติวิวัฒนพันธ์ นายชูเกียรติ ตั้งพงศ์ปราชญ์ นายสวัสดิ์ โสภะ นายปราโมทย์ หรรษมนตร์ นายสมศักดิ์ วัฒนสุนทรกุล นายกอบชัย กิ่งชัชวาล เป็นกรรมการ และบริษัท เอส.พี.เอ็ม อาหารและเครื่องดื่ม จำกัด จดทะเบียนวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๔ ทุน ๖๐๖,๒๕๐,๐๐๐ บาท ประกอบธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายน้ำดื่มผลไม้ ที่ตั้งเลขที่ ๗๙ หมู่ที่ ๓ ตำบลลำลูกบัว อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม บริษัท สุราพิเศษภัทรลานนา จำกัด ถือหุ้น ๙๙.๘% นางอุไร กาญจนะ ๐.๑% น.ส.กนกนาฏ รังสีเทียนไชย นายชูเกียรติ ตั้งพงศ์ปราชญ์ นายพล โรจนดำรงกุล นายอวยชัย ตันทโอภาส นายการณ์ จิตรวิมล เป็นกรรมการ นอกจากนี้ นายชูเกียรติ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท      ไทย เบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๓๙๓ วันศุกร์ที่ ๒๑ - วันอังคารที่ ๒๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙


 

 


693 1343