19thApril

19thApril

19thApril

 

December 02,2016

ชู‘รพ.มหาราช’ต้นแบบศูนย์ปากแหว่งเพดานโหว่


ผู้บริหารร่วมบันทึกภาพในการประชุม “การเสริมสร้างศักยภาพการดูแลผู้ป่วย
ปากแหว่งเพดานโหว่”

          รพ.มหาราช นครราชสีมา ร่วมกับสมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ รวมทีมแพทย์ พยาบาล ประชุมวิชาการ “การเสริมสร้างศักยภาพการดูแล ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่” เพื่อศึกษา พัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาอย่างสมบูรณ์ เน้น “ศูนย์ปากแหว่งเพดานโหว่” ต้นแบบการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข

          เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นพ.ยุทธนา พูนพานิช นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ ประจำปี ๒๕๕๙ ของสมาคมปากแหว่งเพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะแห่งประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “การเสริมสร้างศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย ปากแหว่งเพดานโหว่” โดยมี รศ.นพ.วิชัย ชี้เจริญ นายกสมาคมความพิการปากแหว่งเพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะแห่งประเทศไทย นายแพทย์สุรสิทธิ์ จิตรพิทักษ์เลิศ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ นายแพทย์พินัย นิรันดร์รุ่งเรือง หัวหน้าศูนย์ปากแหว่งเพดานโหว่ ทันตแพทย์หญิงปองใจ วิรารัตน์ ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ให้การต้อนรับ               


รศ.นพ.วิชัย   ชี้เจริญ

          “งานครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา และสมาคมความพิการปากแหว่งเพดานโหว่ฯ เป้าหมายที่สำคัญคือ เพื่อให้แพทย์ ทันตแพทย์ และผู้เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข มีความรู้ เข้าใจรูปแบบแนวทางการรักษาผู้ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา เพื่อแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่สมบูรณ์แบบที่สุด และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความร่วมมือ ประสานงานระหว่างผู้ปฏิบัติงานในเครือข่ายอย่างเป็นระบบ รูปแบบการประชุม มีการบรรยายวิชาการ อภิปราย แลกเปลี่ยนความรู้ในคณะทำงาน โดยได้รับงบประมาณจัดประชุมจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๙ นครราชสีมา ศูนย์ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในเขตต่างๆ ทั่วประเทศและเอกชน ใช้เวลาประชุมระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙” รศ.นพ.วิชัย ชี้เจริญ กล่าว

          นายกสมาคมความพิการปากแหว่งเพดานโหว่ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อต้องการให้สมาชิกและผู้สนใจเข้าร่วมประชุมทางด้านวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ และพยายามที่จะดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน โดยมีแพทย์หลายสาขาวิชา รวมทั้งพยาบาล แก้ไขการพูด เพื่อรักษาเด็กเหล่านี้อย่างครบถ้วน กระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ประเด็นหลักๆ คือ การบริหารจัดการ การสร้างศูนย์ต่างๆ ที่ดูแลผู้ป่วยที่หลากหลาย รวมไปถึงการนำตัวอย่างผู้ป่วยมาปรึกษา สนทนา แลกเปลี่ยนความรู้และแก้ไขปัญหาด้วยกัน ซึ่งในประเทศไทยขณะนี้ โรคปากแหว่งเพดานโหว่ เกิดขึ้นประมาณ ๑.๘–๒ คนต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน จะแตกต่างกันในแต่ละภาคของประเทศ พบมากที่สุดในภาคอีสาน ส่วนภาคที่พบน้อยที่สุดคือ ภาคใต้ ๑.๐๓ ต่อ ๑,๐๐๐ คน สาเหตุของการเกิดโรคปากแหว่งเพดานโหว่นั้น ส่วนใหญ่มาจากพันธุกรรม รองลงมาคือสิ่งแวดล้อมในขณะตั้งครรภ์ ปัจจัยของสิ่งแวดล้อมในขณะตั้งครรภ์ก็คือเรื่องของขาดสารอาหาร ขาดวิตามิน สำหรับวิธีการป้องกันคือ การให้ความรู้กับประชาชนและแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคปากแหว่งเพดานโหว่ สำหรับครอบครัวที่มีเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่แล้ว ในทางพันธุกรรมจะมีโอกาสเกิดสูงถึง ๔๐ เท่า ในทางป้องกันคือ ถ้าในครอบครัวมีความประสงค์ที่จะมีบุตรคนต่อไป ก็จะต้องเข้ามาปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ามารับยา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการตั้งครรภ์

          นพ.พินัย นิรันดร์รุ่งเรือง หัวหน้าศูนย์ปากแหว่งเพดานโหว่ กล่าวว่า การติดตามผลการดูแลรักษา ต้องดูแลตั้งแต่แรกเกิดไปกระทั่งโต อายุเฉลี่ยการรักษาคือต้องติดตามไปถึงอายุ ๑๕ ปี มีการรักษาเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การผ่าตัด การจัดฟัน การฝึกพูด และติดตามในเรื่องผลการแทรกซ้อนต่างๆ รวมไปถึงในเรื่องของความสวยงามของใบหน้า การรักษาเด็กกลุ่มนี้ดำเนินการรักษามาเป็นสิบปีแล้ว ในส่วนของการจัดตั้งศูนย์ เราจะรวบรวมบุคลากรมาไว้ด้วยกัน เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ในเรื่องของคุณภาพการรักษา ด้านจิตใจ และการบริการ ที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ช่วง ๖ ปีที่ผ่านมา ทางศูนย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความพึงพอใจของพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือตัวเด็กก็ถือว่าดีขึ้นมาก

 

นสพ. โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๐๑ วันพฤหัสบดีที่ ๑ - วันจันทร์ที่ ๕ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙


695 1343