January 12,2017
เทศบาลขอนแก่นลุยปรับปรุงบึง สร้างภูมิทัศน์ให้สวยงาม ตอบโจทย์เมืองประชุมสัมมนา
เทศบาลนครขอนแก่นเดินหน้าปรับปรุงบึงแก่นนคร กำจัดน้ำเสีย ปรับภูมิทัศน์ สร้างลู่วิ่ง และทางจักรยานที่มีมาตรฐาน พร้อมตั้งคณะทำงานศึกษาจุดแข็ง-จุดอ่อน รองรับการเป็น Mice City ให้ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาได้พักผ่อนหย่อนใจ พร้อมเตรียมพัฒนาบึงทุ่งสร้าง สวนรัชดานุสรณ์ และสวนหนานหนิง
เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๑.๐๐ น. นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับการปรับปรุงภูมิทัศน์บึงแก่นนครว่า โครงการเกิดจากการที่เทศบาลนครขอนแก่นดำเนินการสร้างแนวป้องกันตลิ่งพัง ที่เกิดจากน้ำและคลื่นน้ำที่เซาะตลิ่งมาเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งที่ผ่านมาเทศบาลฯ ทยอยดำเนินการปรับปรุงมาโดยตลอด แต่เนื่องจากว่าจะต้องใช้งบประมาณสูงมาก จึงไม่สามารถทำคราวเดียวรอบบึงแก่นนครได้ และในช่วงที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะเป็นช่วงที่สำคัญเนื่องจากเป็นการทำทางวิ่งที่ยาวที่สุด อีกทั้งได้เกิดแนวคิดใหม่มาประกอบ จากเดิมที่จะทำเป็นทางวิ่งป้องกันตลิ่งพัง เลาะมาตามริมตลิ่งจนถึงลายหมอนขิด เชื่อมมาถึงสวนคูน โดยเลาะริมตลิ่งไปเรื่อยๆ ถึงศาลเจ้าแม่สองนาง และจะมาเชื่อมกับทางวิ่งที่สร้างเสร็จไปก่อนหน้านี้ ซึ่งถ้าดำเนินการครบตามแนวทั้งหมดนี้ ก็จะต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก จึงมีแนวคิดใหม่ โดยการทำแนวกันคลื่นและป้องกันตลิ่งด้วย พร้อมทั้งเป็นการปรับภูมิทัศน์ไปด้วย จึงก่อสร้างเป็นทางวิ่งจากสวนคูน ผ่านน้ำตรงไปยังเจ้าแม่สองนาง เพราะนอกจากปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว สามารถประหยัดงบประมาณไปถึง ๒๐ ล้านบาทด้วย นอกจากนี้ใต้สะพานยังมีแนวกันคลื่นเพื่อลดแรงกระแทกของคลื่นลง และทำให้เกิดความสวยงามอีกด้วย สรุปแล้วการดำเนินการในครั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาตลิ่งทรุดตัวและพังทลาย โดยการทำแนวกันคลื่น รวมทั้งยังเป็นการปรับภูมิทัศน์ของบึง และยังสามารถประหยัดงบประมาณในการก่อสร้างได้อีกด้วย
“สำหรับความคืบหน้าของโครงการฯ ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว ๔๐% จากที่ประชาชนสงสัยเรื่องน้ำภายในบึงแก่นนครลดลง และทำให้เกิดแนวคันดินขึ้น ทำให้บางคนตีความว่า เทศบาลฯ จะถมบึงแก่นนครนั้น แนวคันดินนี้เป็นแนวกันน้ำเพื่อสูบน้ำออก เนื่องจากจะมีการก่อสร้างสะพาน ซึ่งเมื่อการก่อสร้างสะพานแล้วเสร็จจะมีการนำคันดินนี้ออก ในโอกาสนี้เทศบาลนครขอนแก่นถือโอกาสดำเนินการต่อเนื่องจากเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ที่ทางเทศบาลฯ มีการขุดลอกบึงแก่นนครไปแล้วรอบหนึ่ง ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ จากการขุดลอกครั้งนั้น ทำให้มีทางวิ่งสำหรับรถบรรทุกซึ่งยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จน้ำก็มา จึงกลายเป็นดอนอยู่ตรงนั้นมาโดยตลอด อีกทั้ง ดินบริเวณท้องน้ำก็เป็นตะกอนซึ่งสะสมมา ๓๐ ปี เพราะบึงแก่นนครเป็นบึงปิด จึงไม่มีน้ำมาผลักดันน้ำเก่า ทำให้มีน้ำเก่าตกค้างมาตลอดหลายสิบปี นอกจากนี้ มีการให้อาหารปลา จึงมีอาหารปลาตกค้าง แล้วไม่มีน้ำเปลี่ยน จึงทำให้ตะกอนที่อยู่ใต้ท้องน้ำกลายเป็นพิษ ไม่เหมาะให้สัตว์น้ำอยู่อาศัย ซึ่งในเรื่องนี้ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาค ๑๐ เข้ามาตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า ตะกอนเป็นพิษ เทศบาลฯ จึงใช้โอกาสนี้ขุดลอกดินเพื่อเป็นแก้มลิงไปด้วย และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมรอบบึงแก่นนครด้วย อีกทั้งยังเป็นการระบายน้ำเสียไปด้วย ซึ่งไม่เหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ” นายธีระศักดิ์ กล่าว
นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น
ในส่วนของความคืบหน้าของการก่อสร้างนั้น นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยว่า เทศบาลฯ กำลังดำเนินการหล่อพื้นสะพานทางวิ่ง พร้อมทั้งทำเสาตอม่อของสะพาน ขณะนี้กำลังดำเนินการเกือบจะครบหมดแล้ว และเมื่อแนวคันดินเรียบร้อย การสูบน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำลงในระดับหนึ่ง การก่อสร้างก็จะเริ่มดำเนินการ โดยภาพรวมคือดำเนินการไปแล้ว ๔๐% และขอถือโอกาสนำเรียนเรื่องผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีประชาชนที่เห็นภาพการปรับปรุงบึงแก่นนครแล้วรู้สึกไม่สบายใจ เนื่องจากภาพที่ไม่สวยงามเหมือนเดิม ทางเทศบาลนครขอนแก่นต้องขออภัยมา และในบางกลุ่มที่มาวิ่งออกกำลังกายและอาจจะต้องออกไปวิ่งด้านนอกบึงฯ ซึ่งทางเทศบาลนครฯ ได้นำแนวกั้นไปกั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และสะดวกขึ้น คาดว่าปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐ โครงการนี้จะแล้วเสร็จ และมีประชาชนบางส่วนเป็นห่วงเรื่องปลาในบึงฯ เทศบาลนครขอนแก่นจึงมีการประสานไปยังสำนักงานประมงจังหวัดขอนแก่น เพื่อประสานในการจับปลาในบึงแก่นนคร ซึ่งมีอยู่หลายประเภท ทั้งปลาที่ต้องคุ้มครอง และปลาที่เป็นปัญหา เช่น ปลาชะโด ปลาซัคเกอร์ ในส่วนปลาที่ต้องคุ้มครองก็จะนำไปปล่อยในที่ที่เหมาะสม ปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจก็จะนำไปเพาะแล้วนำไปปล่อยในบึงทุ่งสร้าง และเมื่อบึงแก่นนครปรับปรุงเสร็จก็จะนำมาปล่อยที่บึงแก่นนคร เป็นต้น
โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจากนสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๐๙ วันพุธที่ ๑๑ - วันอาทิตย์ที่ ๑๕ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐
773 1,536