25thApril

25thApril

25thApril

 

January 18,2017

ทุนไล่‘โกรกมะเขือ’ มากินนอนข้างศาลากลาง สอบแผนที่ทางอากาศ

           ชาวโกรกมะเขือบุกร้องทุกข์กับผู้ว่าฯ ยึดพื้นที่ศาลากลาง ปักหลักค้าง หลังถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกที่ดินของตนเอง ราชการอ้างเป็นที่สาธารณะ ทั้งที่ทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สมัยร.๕ ศาลตัดสินแล้วรอยื่นอุทธรณ์ ที่ดินจังหวัดฯ อ้างหากรูปแผนที่ไม่ถูกต้อง ประชาชนคัดค้านได้ รองผู้ว่าฯ ยืนยันจะลงพื้นที่พบประชาชน ขอให้คุยกันด้วยเหตุผล และคำสั่งศาลถือเป็นที่สุด

           ตามที่มีราษฎรในพื้นที่บ้านโกรกมะเขือ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ออกมาเรียกร้องเพื่อให้ทางราชการช่วยเหลือ อ้างว่าถูกไล่ออกจากที่ดินของตนเอง ทั้งๆ ที่ บรรพบุรุษอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ คือตั้งแต่พ.ศ.๒๔๕๑ รวมระยะเวลากว่า ๑๐๐ ปี ก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อเวลาผ่านไป และมีการออกเอกสารสิทธิ์ให้ราษฎร เป็นเอกสารสิทธิ์ นส.๓ (พ.ศ. ๒๕๒๐), สค.๑ (พ.ศ.๒๔๙๘) และ ใบประสงค์สิทธิครอบครองมาตรา ๒๗ ตรี (พ.ศ.๒๕๑๙) ซึ่งภายหลังมีการตรวจสอบว่า พื้นที่บริเวณหมู่บ้านโกรกมะเขือ มีแร่โปแตสเซียมคลอไรด์คุณภาพสูง จำนวนมากและลึกลงไปกว่า ๕๐ เมตร มีกว่า ๑,๐๐๐ ล้านตัน ราคาขายจะอยู่ประมาณตันละ ๑๒,๒๕๐ บาท ซึ่งพื้นที่นี้ ถ้าตีเป็นเงินแล้วจะมีมูลค่าสูงถึง ๑๒ ล้านล้านบาท ต่อมามีการออกเอกสารทับซ้อนเป็น น.ส.ล. เอกสารพลเมืองใช้สอยร่วมกัน (๑๘ มี.ค. ๒๕๒๘) ปรับเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวให้เป็นที่หลวง และมีแผนที่จะให้เอกชนทำสัมปทานต่อไป ซึ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ไม่ได้รับรู้แต่อย่างใด หลังจากออกเอกสาร น.ส.ล.แล้ว ประชาชนมีการต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถต่อสู้กับอำนาจรัฐได้ หลายคนต้องฆ่าตัวตาย คือ นายทิ้ง นายขีด นายเล นางบุญไหล นางขำ และหลายคนป่วยตาย คนที่เหลือก็อยู่กันอย่างขัดสน หวาดระแวง ในขณะที่บางคนต้องถูกจำคุกในข้อหาบุกรุกที่ดินของตัวเอง

ตามความคืบหน้าศูนย์ดำรงธรรม

           เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘ กลุ่มราษฎรนำโดยนางรดา สะเทื้อน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมในเรื่องนี้ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ ในสมัยของนายธงชัย ลืออดุลย์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กลุ่มราษฎรประมาณ ๒๐ คน นำโดยนางรดา สะเทื้อน เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อติดตามความคืบหน้า โดยนายบุญยืน คำหงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (ขณะนั้น) ได้เชิญแกนนำประชุมชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจในขั้นตอนการแก้ไขปัญหา แต่กลุ่มราษฎรต้องการพบผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในเวลา ๑๓.๔๐ น. นายธงชัย ลืออดุลย์ จึงเดินทางมารับฟังปัญหา โดยได้สรุปการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นว่า ให้ราษฎรนำหนังสือสำคัญการครอบครองและหลักฐานเกี่ยวกับการออกหนังสือ น.ส.ล.โดยมิชอบมาแสดงต่อศาล เพราะจังหวัดไม่สามารถชี้ขาดทางคดีและข้อพิพาท แต่ให้แนวทางในการพิสูจน์ความจริงบนพื้นฐานความถูกต้อง รวมทั้งให้สปก.ในพื้นที่เร่งนำแผนที่ทางอากาศ การรังวัดและคำนวณเนื้อที่การแก้ไข น.ส.ล.ตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๑๙๐๕/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๖ มิ.ย. ๒๕๕๓ เรื่องแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง “วะช่องโคสาธารณประโยชน์” เลขที่ ๒๓๑๘๙ จากเนื้อที่ ๑,๓๒๙-๓-๕๗ ไร่ เป็น ๑,๒๗๙-๐-๔๑ ไร่ ตามที่ราษฎรกล่าวอ้างว่าออกโดยมิชอบนั้น เข้าสู่ขั้นตอนการพิสูจน์ให้ได้ข้อเท็จจริงโดยเร็ว นอกจากนี้ให้ทางจังหวัดศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราษฎร หากทำได้ให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้ราษฎรวางแผนชีวิตในเบื้องต้น หากการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ชี้ชัดว่ามีความผิดจริง และท้ายสุดผู้ว่าฯ ให้ผ่อนผันในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรของราษฎรในฤดูกาลนี้ได้เท่านั้น และถือเป็นข้อตกลงในที่ประชุมวันนี้ ซึ่งกลุ่มราษฎรพอใจและยุติการประชุม

           จากนั้นในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ กลุ่มประชาชนกว่า ๑๐๐ คน นำโดยนายธวัฒน์ชัย แสนประสิทธิ์ กำนันตำบลกุดพิมาน ได้มาชุมนุมที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอด่านขุนทด เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งดำเนินการกับผู้บุกรุกที่สาธารณประโยชน์โกรกมะเขือ จำนวน ๑๔ คน เพื่อนำที่ดินคืนให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน


นางรดา  สะเทื้อน

ขอความเป็นธรรมจาก‘ผู้ว่าฯ เชียร’

           ต่อมาในสมัยของนายวิเชียร จันทรโณทัย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ลงพื้นที่อำเภอด่านขุนทดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ โดยกลุ่มราษฎรบ้านโกรกมะเขือ กว่า ๔๐ คน เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับนายวิเชียร จันทรโณทัย เพื่อให้ทำการรังวัดที่ดินของราษฎรใหม่ หลังถูกภาครัฐเรียกคืนที่ดินทำกิน และแจ้งข้อหาบุกรุกที่สาธารณะ กระทั่งทำให้ราษฎรบางคนตัดสินใจผูกคอตายเพื่อจบปัญหามาแล้ว ซึ่งนางรดา สะเทื้อน อายุ ๔๘ ปี ราษฎรบ้านโกรกมะเขือ กล่าวว่า ราษฎรครอบครองที่ดินมานานกว่า ๕๐ ปี แต่จู่ๆ ก็มีหนังสือสำคัญที่หลวงทับที่ดินทำกินของประชาชน ก่อนจะมีการขับไล่ประชาชนออกจากที่ดิน และยังถูกแจ้งจับข้อหาบุกรุก จึงร้องเรียนไปยังส่วนราชการต่างๆ ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี ดีเอสไอ และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ระบุว่า เรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกันใหม่ ถึงแม้จะเป็นคดีไปแล้ว โดยจะตั้งคณะกรรมการรับฟังปัญหาของประชาชนอีกครั้ง

           สำหรับการต่อสู้ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานของราษฎรบ้านโกรกมะเขือในครั้งนี้ ส่งผลให้รายการ “คนค้นฅน” ของบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ได้มอบรางวัล “นักสู้ผู้ไม่แพ้” ให้แก่กลุ่มราษฎรบ้านโกรกมะเขือ ในงานประกาศรางวัลคนค้นฅน อวอร์ด ครั้งที่ ๘ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พร้อมทุนเกื้อหนุนความดีจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท และกลุ่มราษฎรได้นำเงินทุนในส่วนนี้มาใช้จ่ายในการเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรม

บุกยึดศาลากลางค้างแรม

           ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๐ กลุ่มราษฎรบ้านโกรกมะเขือ ประมาณ ๕ คน นำโดยนางรดา สะเทื้อน ได้เดินทางมาปักหลักค้างคืนภายในพื้นที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจากการลงพื้นที่ของ “โคราชคนอีสาน” เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๐ เพื่อพูดคุยกับราษฎรบ้านโกรกมะเขือ และได้รับการเปิดเผยจากนางรดา สะเทื้อน ว่า ตนและชาวบ้านโกรกมะเขือเดินทางมาจาก ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา สาเหตุที่เข้ามาปักหลักในขณะนี้ เนื่องจากเคยอยู่อาศัยและทำกินในที่ดิน น.ส.ล. มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษปี ๒๔๕๑ แต่ตอนนี้กลับถูกขับไล่โดยกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินของตัวเอง แต่เดิมปู่ย่าตายายอยู่อาศัยกันตามปกติไม่เดือดร้อน จนเมื่อประมาณปี ๒๕๕๓ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ของ ส.ส.วุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย พร้อมกับชาวต่างชาติเข้ามาเจาะสำรวจพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ทำกินของราษฎร จึงสังเกตว่าเมื่อบริษัทแร่เข้ามา ตนและเพื่อนบ้านก็เริ่มได้รับความเดือดร้อน โดยมีนายธวัฒน์ชัย แสนประสิทธิ์ กำนันตำบลกุดพิมาน พร้อมกับส.ส.วิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีข้อหาบุกรุก อ้างว่าตน และประชาชนเข้าไปบุกรุกพื้นที่ในหมู่ ๓ และหมู่ ๔ ตำบลกุดพิมาน จึงทำให้ถูกดำเนินคดี

คาดเหมืองแร่เหตุถูกขับไล่

           “คาดว่าสาเหตุที่โดนขับไล่ไม่น่าจะเป็นเพราะเหตุผลอื่น เนื่องจากพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่ น้ำประปาและไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง จึงไม่มีแรงจูงใจอื่นนอกจากเรื่องแร่ที่ทำให้คนต้องการเข้ามามีผลประโยชน์ในพื้นที่ ขณะนี้กำลังรอการพิสูจน์จากทุกหน่วยงาน โดยที่ดินผืนนี้ประชาชนไม่ได้เข้าไปทำกินตั้งแต่เกิดเรื่องมาเป็นระยะเวลา ๕ ปี ในช่วงแรกโดนขับไล่ให้ออกจากที่ทำกิน ต่อมาก็ถูกขับไล่ไม่ให้อยู่บ้านทั้งๆ ที่มีทะเบียนบ้าน และเริ่มหนักขึ้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการทำประชาคมว่าจะไม่ให้ประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ต่อไป เมื่อไม่ให้อยู่ที่บ้านจึงต้องมาปักหลักที่ศาลากลาง รวมทั้งเพื่อมาร้องขอความอนุเคราะห์จากท่านผู้ว่าฯ เพราะในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๐ ตนจะถูกศาลพิพากษาในคดีอาญา จึงกลัวว่าลูกหลานและผู้สูงอายุในหมู่บ้านจะไม่มีโอกาสขอพื้นที่อยู่ต่อไป ถ้าหากศาลพิพากษาให้ติดคุก คนในหมู่บ้านไม่รู้จะไปบอกใคร เพราะมีเพียงตนเท่านั้นที่พอจะรู้เรื่องราวและเล่าเรื่องราวได้ถูกต้อง ส่วนเอกสารที่ตนถือครองอยู่คือ ส.ค.๑ และน.ส.๓ ซึ่งตนอยากให้ทางราชการพิสูจน์ว่า เอกสารของใครเกิดขึ้นก่อน และแนวเขตน.ส.ล. ช่วงแรกอยู่ที่หมู่ ๓ และหมู่ ๔ ภายหลังถูกยักย้ายมาอยู่ที่หมู่ ๗ ได้อย่างไร เป็นการยักย้ายโดยการทุจริตของเจ้าพนักงานหรือไม่ ขณะนี้ตนได้ร้องขอความเป็นธรรมไปแล้วจากหลายหน่วยงาน” นางรดา กล่าว

ปักหลักจนกว่าจะได้พบผู้ว่าฯ

           นางรดา สะเทื้อน เปิดเผยอีกว่า เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้ลงพื้นที่พบกับประชาชนบ้านโกรกมะเขือเพื่อเข้ามาตรวจสอบและรับปากว่าจะช่วยแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงตัดสินใจเดินทางมารอพบผู้ว่าฯ ที่ศาลากลางจังหวัด ขณะนี้เป็นระยะเวลา ๕ วัน ก็ยังไม่ได้เข้าพูดคุย ขอยืนยันจะอยู่จนกว่าจะได้เข้าพูดคุยกับผู้ว่าฯ

           ทางด้านนางปุ๋ย บุญหล้า หนึ่งในประชาชนที่ปักหลักร้องทุกข์อยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประชาชนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ตอนนี้มีคนที่ยังติดคุกอยู่อายุระหว่าง ๗๐–๙๐ ปี บางคนถึงขั้นเสียชีวิตในระหว่างที่ขึ้นศาล ด้วยความที่อายุมากแล้วและมีอาการป่วย เมื่อเจอกับเรื่องเครียดจึงตัดสินใจผูกคอตายในระหว่างต่อสู้คดี ขณะนี้มีผู้ที่เสียชีวิตในระหว่างต่อสู้คดีทั้งหมด ๗ คน แม้กระทั่งครอบครัวของนางปุ๋ยก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากญาติพี่น้องทั้งหมดทำกินบนที่ดินผืนเดียวกัน ประกอบด้วย ไร่ นา และที่อยู่อาศัย ขณะนี้ไม่สามารถเข้าไปทำกินได้เพราะกลัวถูกจับ ซ้ำยังมีหนี้ที่กู้เพื่อใช้ขุดบ่อ เนื่องจากที่ดินทำกินเป็นที่ดินแห้งแล้งจำเป็นต้องมีน้ำไว้ใช้ในการทำการเกษตร ซึ่งในปัจจุบันตนอาศัยอยู่กับสามีและพี่สาว แม้จะถูกขับไล่แต่ก็จำเป็นต้องอยู่เพราะไม่มีที่ไป


นายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

คำพิพากษาศาลถือเป็นที่สุด

           ต่อมาเวลา ๑๔.๓๐ น. วันเดียวกัน ณ ห้องประชุม สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ “วะช่องโค” ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่ห้องประชุมสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ “วะช่องโค” ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดยมีนายณรงค์ชัย หอมศรีประเสริฐ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนางกานดา สายสุนทร เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาด่านขุนทด นายธวัฒน์ชัย แสนประสิทธิ์ กำนันตำบลกุดพิมาน นางรดา สะเทื้อน ตัวแทนประชาชน และคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม

           ที่ประชุมมีมติในการแก้ไขปัญหา ๓ ประเด็นดังนี้ ประเด็นแรกเขตของที่ดิน น.ส.ล. ถูกยักย้ายออกจากที่เดิมจึงไปทับซ้อนกับบริเวณที่ดินของประชาชน ประเด็นที่สอง ที่น.ส.ล.มีการวัดเขตและเปลี่ยนแปลงรูปแบบแผนที่แตกต่างจากเดิม และประเด็นที่สาม เมื่อปี ๒๕๒๗ แนวเขตน.ส.ล.เคยออกมาแล้วครั้งหนึ่งและเหตุใดภายหลังจึงมีการวัดเพิ่มเติม โดยศาลชั้นต้นได้สรุปคดีฝ่ายจำเลยหรือฝ่ายรัฐได้รับการยกฟ้องจากศาลชั้นต้นในกรณีข้อพิพาทระหว่างทั้งสองฝ่าย แต่เนื่องด้วยฝ่ายประชาชนยังเคลือบแคลงใจในคำตัดสินของศาลจึงต้องนำมาพูดคุยเพื่อมาทางออกร่วมกันในประเด็นดังกล่าวอีกครั้งในที่ประชุมเพื่อหาข้อยุติ

           นายธนพล จันทรนิมิ กล่าวว่า เมื่อศาลตัดสินแล้วในประเด็นที่หนึ่งที่บอกว่ามียักย้ายหลักเขต หากโจทก์รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมมีสิทธิ์ที่จะไปที่จะยื่นอุทธรณ์และหาพยานหลักฐานมาหักล้าง เพราะคำตัดสินของศาลถือเป็นที่สิ้นสุด ถ้าจะให้เจ้าหน้าที่แก้ไขตามที่เราบอก มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฝ่ายรัฐก็ต้องดำเนินตามคำสั่งของศาล

           ในประเด็นที่สอง นายณรงค์ชัย หอมศรีประเสริฐ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ปัญหานี้ต่อเนื่องมาจากประเด็นแรกที่ประชาชนยังสงสัยคือที่น.ส.ล. มีการวัดเขตและเปลี่ยนแปลงรูปแบบแผนที่แตกต่างจากเดิม โดยนายณรงค์ชัย และรองผู้ว่าฯ มีความเห็นตรงกันว่า คำสั่งของศาลที่ตัดสินออกมาแล้วครอบคลุมทั้งสองประเด็นแล้ว จึงให้ดำเนินการตามคำสั่งศาล

           ในประเด็นที่สามที่ว่า เมื่อปี ๒๕๒๗ เขตที่น.ส.ล. เคยออกมาแล้วครั้งหนึ่งและเหตุใดภายหลังจึงมีการวัดเพิ่มเติม นายสุรชัย ติ๋วแวด นายช่างชำนาญงาน สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาด่านขุนทด กล่าวว่า จากมติของที่ประชุมที่ทาง อบต.กุดพิมานจัดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน “วะช่องโค” ที่อำเภอด่านขุนทดปี ๒๕๕๘ ซึ่งมีการประชุมกับฝ่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบและทางอำเภอ โดยมีนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ (ขณะนั้น) เป็นประธานในการประชุม ซึ่งปัญหาในที่ประชุมเป็นประเด็นขึ้นมาคือ เรื่องของความไม่ชัดเจนในที่ดินสาธารณประโยชน์ในวะช่องโค รวมถึงการ กล่าวอ้างว่ามีการรุกล้ำและมีที่ดินบางแปลงบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ จึงมีคำสั่งจากอดีตผู้ว่าฯ ให้วัดที่ดินใหม่ เนื่องจากอบต.กุดพิมานและอำเภอ มีหน้าที่ในการดูแลที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงดังกล่าว จึงได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เพื่อทำการวัดขอบเขตใหม่ให้เกิดความชัดเจนว่า มีผู้บุกรุกที่ดินดังกล่าวหรือไม่

           นายณรงค์ชัย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า กำนันมีสิทธิ์ที่เป็นผู้ดูแลและเข้ามายื่นคำขอ และสำนักงานที่ดินก็เข้าไปรังวัดตามคำขอ เมื่อรังวัดเสร็จประชาชนที่อาศัยอยู่ในนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะคัดค้าน ในกรณีที่มีการคัดค้าน ทางสำนักงานที่ดินต้องปิดประกาศตามสถานที่ราชการ เพื่อให้โอกาสกับผู้ที่ยังไม่ได้คัดค้านในขณะนั้นมีโอกาสคัดค้านเพิ่มเติมภายใน ๓๐ วัน

จังหวัดรับปากลงพื้นที่ตรวจสอบ

           ทั้งนี้ นายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าฯ กล่าวย้ำในท้ายสุดว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล เมื่อศาลตัดสินมาอย่างไร ก็ให้ทำตามที่ศาลสั่ง ส่วนเรื่องที่ดินทำกินของประชาชนที่บอกว่าอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษนั้น ขอยืนยันว่าจะลงพื้นที่ แล้วค่อยมาตกลงกัน แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้เท่านั้น

           อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุผ่านรายการ “ข่าว ๓ มิติ” ที่ออกอากาศในคืนวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๐ ว่า หากจะดูว่า ใครเข้ามาอยู่อาศัยก่อนให้ดูจากการแปรภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลัง ซึ่งได้ให้กรมแผนที่ทหารส่งภาพถ่ายทางอากาศเมื่อพ.ศ.๒๕๑๒ มาให้ก่อน โดยเป็นภาพที่มีการบันทึกไว้ก่อนที่จะมีการขึ้นทะเบียนที่ดิน “วะช่องโค” ที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ เมื่อนำภาพทางอากาศมาวางซ้อนกับภาพถ่ายเมื่อพ.ศ.๒๕๑๒ ก็จะเห็นว่าใครเข้ามาอยู่หรือเข้ามาทำกินก่อน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า พื้นที่โดยรอบมีการทำกินมาก่อนพ.ศ.๒๕๑๒ จากนั้นเมื่อนำภาพมาซ้อนกัน จะเห็นว่าแนวเขตในปัจจุบันไปทับซ้อนที่ทำกินของราษฎรบางส่วนจริง รวมทั้งที่ดินของนางรดา สะเทื้อนด้วย

           ส่วนที่เป็นที่ระวางที่สาธารณประโยชน์ที่มีการประกาศไปก่อนหน้านี้ ด้านทิศตะวันออกตลอดแนวบางส่วนที่มีการระบุว่าเป็นที่ครอบครองหรือมีการออกโฉนดไปแล้ว ซึ่งเมื่อมีการนำแผนที่ทางอากาศของกรมแผนที่ทหารทับลงไปก็จะเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นป่ามาก่อน โดยจะต้องมีการพิสูจน์ต่อไปว่า เหตุใดแนวเขตน.ส.ล.วะช่องโคจึงเคลื่อนจากตะวันออกไปทางตะวันตก และหากผู้ได้รับโฉนดมาไม่สามารถพิสูจน์สิทธิ์การทำกินมาก่อนได้ ก็อาจถูกฟ้องดำเนินคดี รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

           ภายหลังจากการประชุมเสร็จ กลุ่มราษฎรซึ่งนำโดยนางรดา สะเทื้อน และคณะ ก็เดินทางกลับภูมิลำเนา โดยเปิดเผยว่า จากการประชุมครั้งนี้ ไม่มีเรื่องใดที่ทางจังหวัดจะสามารถช่วยเหลือราษฎรได้

สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป

 

 

 โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจากนสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๑๐ วันจันทร์ที่ ๑๖ - วันศุกร์ที่ ๒๐ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

 


688 1342