18thApril

18thApril

18thApril

 

January 19,2017

รองนายกฯลุยนครชัยบุรินทร์ ของบขยายพัฒนาสนามบิน ฝันสู่ศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง

            รองนายกรัฐมนตรีติดตามการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งระยะยาว พร้อมประชุมร่วม ๔ ผู้ว่าฯ “นครชัยบุรินทร์” เน้นย้ำให้นำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริปรับใช้กับโครงการยุทธศาสตร์จังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์ เพื่อยกระดับให้เป็นสนามบินศุลกากร รองรับการเจริญเติบโตเศรษฐกิจและท่องเที่ยว 


            ตามที่เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๓๐ น. พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อติดตามโครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการผันน้ำหนองน้ำขุ่น ตำบลหนองบอน อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับงบประมาณจากรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในอำนาจของรองนายกรัฐมนตรี ๑๐ ล้านบาท ให้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ขาดน้ำอุปโภค-บริโภค แหล่งกักเก็บน้ำเสื่อมโทรมตื้นเขิน โดยมีนายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นำเสนอข้อมูลปัญหา และแนวทางบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

๑๐ ล้านพัฒนาหนองน้ำขุ่น
            โครงการหนองน้ำขุ่นเป็นการผันน้ำเข้าแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิม ดำเนินการก่อสร้างโดยโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ ก่อสร้างคลองผันน้ำจากลำห้วยเสว สาขาของลุ่มน้ำชีที่มีน้ำปริมาณตลอดทั้งปี ระยะทางยาว ๕๓๐ เมตร ขุดลอกแหล่งน้ำให้มีปริมาณน้ำความจุเพิ่มมากขึ้น ๑๒๔,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างท่อลอดรับน้ำ ๑ แห่ง ก่อสร้างบันไดหินก่อ ๕ แห่ง ใช้งบประมาณการก่อสร้าง ๑๐ ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ๑๒๐ วัน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ตำบลหนองบอน อำเภอประโคนชัย ประชาชนในพื้นที่ได้มีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ได้ตลอดทั้งปี มีสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดทั้งสามารถพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อน ออกกำลังกายของคนในหมู่บ้านและใกล้เคียงได้ และในการดำเนินการก่อสร้างได้มีราษฎรบริจาคพื้นที่จำนวน ๒ คน ได้แก่ นายสนอง ต่างประโคน และนายวังชัย ศรีนอ

            สำหรับสภาพทั่วไปของหนองน้ำขุ่น ตำบลหนองบอน อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติมีขนาดเล็ก ปัจจุบันเป็นแหล่งน้ำดิบ สำหรับผลิตน้ำประปาใช้ร่วมกัน ๓ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองน้ำขุ่นหมู่ที่ ๕ บ้านหนองน้ำใส หมู่ที่ ๖ และบ้านหนองน้ำใส หมู่ที่ ๙ รวมกว่า ๖๐๐ ครัวเรือน ที่มีปริมาณความต้องการใช้น้ำ ๑๘๘ ลิตรต่อครัวเรือนต่อวัน หรือประมาณ ๖๐,๐๐๐ ลิตรต่อวัน แต่เนื่องด้วยปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินในช่วงฤดูฝนไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เต็มศักยภาพเพราะไม่ได้เชื่อมต่อกับลำห้วยธรรมชาติ อาศัยเพียงน้ำฝนตามฤดูกาลเท่านั้น ทำให้ในฤดูแล้งน้ำแห้งขอด ราษฎรตลอดทั้งสัตว์เลี้ยงขาดแคลนน้ำ ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ และใช้ในการปลูกพืชอย่างเพียงพอ จึงได้ร้องขอโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะยาว หากโครงการแล้วเสร็จประชาชนในพื้นที่ ๓ หมู่บ้าน ในบริเวณหนองน้ำขุ่น และประชาชนในพื้นที่ในตำบลหนองบอน อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ จะได้รับประโยชน์มากกว่า ๑,๐๐๐ ครัวเรือน และทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี

๑๕ ล้านผันน้ำลำมาศ

            ต่อมาเวลา ๑๓.๓๐ น. พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการผันน้ำจากลำน้ำมาศ เข้าสู่อ่างเก็บน้ำหนองทะลอก ต.นางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โดยมีนายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ โดยรับฟังการบรรยายสรุปจากสภาพปัญหา ความจำเป็น และแนวทางการดำเนินงานโครงการผันน้ำลำปลายมาศ-อ่างเก็บน้ำหนองทะลอก ต.หนองโบสถ์-ต.นางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ จากนาย กิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ บรรยายสรุปว่า อ่างเก็บน้ำหนองทะลอก กรมชลประทานสร้างเมื่อปี ๒๔๙๕ มีขนาดความจุ ๓๔ ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์กว่า ๓,๐๐๐ ไร่ เมื่อชุมชนเมืองนางรองเขตเศรษฐกิจเจริญเติบโต สภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ระยะหลังน้ำที่จะไหลเข้าภายในอ่างเก็บน้ำหนองทะลอกลดน้อยลงทุกปี ประกอบกับพื้นที่รับน้ำของอ่างหายไป ส่งผลให้ภาคการเกษตรได้รับความเดือดร้อน ขณะเดียวกันการประปาส่วนภูมิภาคได้ใช้น้ำเพื่อผลิตประปา เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำบ่อยครั้ง จึงเกิดเป็นโครงการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในระยะยาว

            โดยจังหวัดบุรีรัมย์ได้จัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นในอำนาจของรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) และได้รับงบประมาณสนับสนุนเงินจำนวน ๑๐ ล้านบาทเมื่อปีงบประมาณ ๒๕๕๙ และการประปาส่วนภูมิภาคสนับสนุนสมทบอีกจำนวน ๕ ล้านบาท รวมเป็น ๑๕ ล้านบาท ดำเนินโครงการผันน้ำจากลำน้ำมาศ ที่ไหลมาจากอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ ในพื้นที่ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ผ่าน อ.ปะคำ นางรอง ชำนิ ของ จ.บุรีรัมย์ ลงสู่แม่น้ำมูลที่อำเภอชุมพวง จ.นครราชสีมา ซึ่งในฤดูน้ำหลากไม่สามารถกักเก็บนำไปใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูแล้งเท่าที่ควร โดยการทำท่อลอดเนินดินระยะทาง ๖๐๐ เมตร จากฝายปอแดง ต.หนองโบสถ์ และปรับปรุงทางน้ำเดิมให้ไหลสะดวกมากขึ้น จะสามารถเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำหนองทะลอกปีละไม่น้อยกว่า ๒ ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรกรก็จะสามารถปลูกพืชผักใช้น้ำได้เหมือนเดิม รวมถึงเป็นแหล่งสำรองน้ำดิบในการผลิตน้ำประปารองรับการเจริญเติบโตของเมืองนางรองได้อีก ๑๐ ปีข้างหน้า

ประชุมร่วม ๔ ผู้ว่าฯ 

            ต่อมาในวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่หอประชุมจังหวัดบุรีรัมย์ พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปกำกับและตรวจติดตามผลการปฏิบัติราชการในภูมิภาคเขตตรวจราชการที่ ๑๔ ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดประกอบด้วย นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายวิทยา มากปาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และนายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เพื่อรับฟังการรายงานผลปัญหาต่างๆ ที่สำคัญของจังหวัด และการแก้ไขปัญหาที่แต่ละจังหวัดดำเนินการไปแล้ว 


พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี กับผู้ว่าราชการนครชัยบุรินทร์

 

ของบขยายและพัฒนาสนามบิน

            จากนั้นเวลา ๑๔.๐๐ น. พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปรับฟังบรรยายสรุป เหตุผลและความจำเป็น พร้อมให้ข้อเสนอแนะ ที่จังหวัดบุรีรัมย์เสนอขอโครงการส่งเสริมการเป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ขยายลานจอดเครื่องบิน ก่อสร้างทางขับเพิ่ม และขยายต่อเติมอาคารที่พักผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเตรียมยกระดับเป็นสนามบินศุลกากรรองรับการท่องเที่ยวอารยธรรมขอมกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ และการท่องเที่ยวกีฬามาตรฐานโลก 
    
มุ่งสู่ศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง

            ทั้งนี้ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เสนอขอรับงบประมาณเพื่อพัฒนาปรับปรุงท่าอากาศยานบุรีรัมย์ให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางอากาศของกลุ่มจังหวัด ได้แก่ การขยายลานจอดอากาศยานจากเดิมให้สามารถรองรับการจอดอากาศยานแบบ Boeing 737-400 ขนาด ๑๘๐ ที่นั่งให้เพิ่มมากขึ้นจาก ๒ ลำเป็น ๖ ลำ และมีการก่อสร้างทางขับเพิ่มขึ้นอีกจำนวน ๑ เส้น เพื่อให้อากาศยานขับเคลื่อนเข้าออกระหว่างทางวิ่งและลานจอดได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น มีการพัฒนาอาคารที่พักผู้โดยสารให้มีขนาดกว้างขวางรองรับประชาชน นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ส่วนโครงการจะได้รับการสนับสนุนหรือไม่ ต้องรอผลจากการประชุมคณะรัฐมนตรีในครั้งหน้า

 

 โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจากนสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๑๐ วันจันทร์ที่ ๑๖ - วันศุกร์ที่ ๒๐ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


692 1342