25thApril

25thApril

25thApril

 

January 21,2017

ทุ่ม ๑,๕๐๐ ล้าน ที่ดิน ๑๕ ไร่ รร.สอนบินระดับโลก ยกระดับเศรษฐกิจโคราช

                “บางกอก เอวิเอชั่น เซ็นเตอร์” ทุ่มงบ ๑,๕๐๐ ล้านบาท เปิดโรงเรียนฝึกสอนการบิน BAC ที่โคราช บนที่ดิน ๑๕ ไร่ ใกล้ท่าอากาศยานนครราชสีมา ฝันเป็นโรงเรียนสอนการบินระดับโลก หวังตอบสนองตลาดนักบินทั่วโลกที่กำลังขาดแคลน มั่นใจช่วยยกระดับเศรษฐกิจ และเพิ่มเม็ดเงินเมืองโคราช

                เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๐ นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนาวาอากาศโทปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ BAC ร่วมแถลงข่าว “การขยายการลงทุนของโรงเรียนฝึกสอนการบิน BAC” ณ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

                นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ กล่าวว่า นครราชสีมาเป็นจังหวัดใหญ่ จำนวนประชากรเป็นรองแค่กรุงเทพฯ มีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติจำนวนมาก ในเรื่องการขนส่งและการเดินทางทางอากาศ ที่ชาวนครราชสีมาเคยมองว่าสนามบินของจังหวัดมีระยะทางไกลจากตัวเมืองกว่า ๒๖ กิโลเมตร เรียกว่าไกลเกินไป แต่ต่อไปจะไม่มองเป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เพราะมีความตั้งใจไว้ว่า จะผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคนี้ จะไม่เชื่อมต่อเฉพาะกรุงเทพฯ แต่จะเชื่อมสายการบินไปเชียงใหม่ เชียงราย ลงใต้ไปภูเก็ต รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พนมเปญ(กัมพูชา) เวียดนาม ลาว มาเลเซีย และพม่า เป็นต้น ต่อไปโคราชจะก้าวไปสู่จุดนั้น ขณะนี้ จังหวัดนครราชสีมาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ยังมีห้างผุดขึ้นมาหลายแห่ง แสดงให้เห็นว่าอนาคตของจังหวัดนครราชสีมาในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด การที่ทางบริษัท บางกอก เอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด เลือกมาเปิดโรงเรียนสอนการบินที่นี่ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้าง และช่วยเป็นองค์ประกอบให้จังหวัดนครราชสีมาก้าวหน้าในด้านการเดินทางทางอากาศได้เป็นอย่างดี

 

โคราชเติบโตหลายโครงการ

                “ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางบกรองรับความเจริญเติบโตในอนาคตหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ หรือรถไฟความเร็วสูง รวมถึงท่อส่งก๊าซธรรมชาติซึ่งมีปลายทางอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมสุรนารี อีกท่อหนึ่งคือท่อส่งน้ำมันที่ผ่านเข้ามาทางอำเภอสีคิ้ว และมีปลายทางอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ กำลังศึกษาการเดินน้ำทางท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๕ เมตร จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ผ่านมวกเหล็กแล้วมาเติมที่ลำตะคอง เพื่อรองรับปัญหาภัยแล้งในเขตจังหวัดนครราชสีมา และกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ซึ่งจะใช้งบประมาณกว่าสี่พันล้านบาท จะเห็นได้ว่านครราชสีมาจะเป็นจังหวัดที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นทุกที วันนี้ก็ถือเป็นโอกาสดี เป็นก้าวสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ที่จะมีโรงเรียนสอนการบินมาเปิดใกล้ท่าอากาศยานนครราชสีมาแบบครบวงจร” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าว

ใหญ่ที่สุดในโลก

                นาวาอากาศโทปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (BAC) กล่าวว่า โรงเรียนฝึกสอนการบิน BAC ก่อตั้งมาแล้ว ๑๕ ปี ฝึกนักบินไปแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าคน ซึ่งปัจจุบันนักบินในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ ๓,๕๐๐ คน มาจาก BAC ๒,๐๐๐ กว่าคน ถือว่าผลิตนักบินได้มากพอสมควร ในขณะเดียวกัน โรงเรียนการบินของเราติด ๑ ใน ๕ อันดับโรงเรียนการบินเมื่อ ๕ ปีก่อน แต่ปัจจุบันได้ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ ๒ ของโลก ซึ่งโรงเรียนฝึกสอนการบิน BAC ถือเป็นสถาบันที่ผลิตนักบินออกสู่ตลาดมากที่สุดในประเทศ โดยในปีที่ผ่านมา สามารถผลิตนักบินได้ ๒๘๐ คน ส่วนปีนี้มีกำลังการผลิตถึง ๓๒๐ คน ซึ่งโรงเรียนฝึกสอนการบิน BAC ที่มีคุณภาพขนาดนี้ กำลังจะเกิดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา

                “โรงเรียนฝึกสอนการบิน BAC เปิดครั้งแรกที่สนามบินดอนเมือง และมาสร้างโรงเรียนการบินของเราเองที่จังหวัดนครนายก ซึ่งมีสนามบิน มีรันเวย์ มีลานจอดและที่พักให้นักเรียนการบินเป็นของตัวเอง ห่างจากสนามบินดอนเมืองเดิม ๔๐ กิโลเมตร มีกำลังการผลิต โดยใช้รันเวย์ขนาดเล็กอยู่ที่ประมาณ ๒๐๐ คน ในปัจจุบันไม่สามารถฝึกที่นั่นได้ เพราะมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา จะต้องส่งมาฝึกที่จังหวัดนครราชสีมาและพักอยู่ที่โรงแรม ซึ่งเพิ่มปริมาณขึ้นทุกปี ดังนั้นโรงเรียนฝึกสอนการบิน BAC จึงตัดสินใจว่าจะสร้างโรงเรียนการบินแห่งใหม่ ใหญ่กว่าที่นครนายก และจะถือว่าเป็นโรงเรียนการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อรองรับการฝึกบินให้ได้มากที่สุดในโลก” นาวาอากาศโทปิยะ ตรีกาลนนท์

                ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAC กล่าวอีกว่า เหตุผลที่เลือกสนามบินนครราชสีมาในการเปิดโรงเรียนฝึกสอนการบินแห่งใหม่นี้เพราะหากเดินทางจากกรุงเทพฯ สนามบินนครราชสีมาเป็นสนามบินที่ใกล้ที่สุด เชื่อว่าการเดินทางของนักเรียนการบิน ก็จะลดความเสี่ยงในการเดินทาง ข้อดีที่ ๒ คือสนามบินนครราชสีมามีความพร้อม อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ ครบครัน จะเห็นได้ว่าสนามบินนครราชสีมาไม่แพ้ใคร มีขนาดความกว้างยาวของรันเวย์ที่สามารถนำเครื่องบินใหญ่ลงจอดได้ สำคัญที่สุดคือเครื่องช่วยเดินอากาศเพราะการฝึกบินหรือการนำเครื่องบินขึ้นลงนั้น เครื่องช่วยเดินอากาศจะช่วยได้มาก โดยโรงเรียนฝึกสอนการบิน BAC จะทำการสร้างบริเวณปากทางเข้าท่าอากาศยานนครราชสีมา พื้นที่ประมาณ ๑๕ ไร่ จะใช้เวลาในการสร้าง ๑ ปี จากนั้นจะทำการฝึก และรับศิษย์การบินเข้ามาฝึกได้ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ คน ซึ่งประโยชน์ที่ชาวโคราชจะได้รับนั้น เนื่องจากในอนาคตจะมีความต้องการนักบินเป็นจำนวนมาก บริษัท Boeing สหรัฐอเมริกา และบริษัท Airbus ฝรั่งเศส เป็นบริษัทผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ทำวิจัยร่วมกันว่า ในอีก ๒๐ ปี ข้างหน้า ทั่วโลกจะมีความต้องการนักบินถึง ๖๑๗,๐๐๐ คน ดังนั้น อัตรานักเรียนที่เป็นชาวต่างชาติก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะประเทศไทยมีสภาพอากาศ อุณหภูมิ และภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการฝึกบิน เม็ดเงินที่จะนำเข้ามาในจังหวัดนครราชสีมาก็จะมีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงบุคลากรช่าง ต้องใช้ช่างประมาณ ๑๕๐ คน ต่อเครื่องบิน ๖๐ ลำ ซึ่งหากนักเรียนเทคนิค อาชีวะ เข้ามาฝึกการเป็นช่างซ่อมเครื่องบินกับทางโรงเรียนฝึกสอนการบิน BAC เป็นระยะเวลา ๓ ปี จะได้รับใบรับรองการซ่อมเครื่องบิน กรมท่าอากาศยานก็จะอนุญาตให้สอบใบอนุญาตซ่อมบำรุงอากาศยานได้ และในการฝึกงานนั้นจะได้รับเบี้ยเลี้ยงอีกด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับเด็กและเยาวชนในจังหวัดนครราชสีมา การขายแรงงานของเราก็จะเปลี่ยนไป จากงานช่างธรรมดาก็จะกลายเป็นช่างซ่อมอากาศยาน มีรายได้ที่มากกว่า ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของ BAC ที่มุ่งพัฒนาและทำประโยชน์ให้กับจังหวัดนครราชสีมาด้วย

 

ปลายปีนำเข้าตลาดหลักทรัพย์

                “การลงทุนเปิดโรงเรียนค่อนข้างสูง แต่เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางระหว่างสนามบินและ Academy จะประกอบไปด้วยห้องเรียน, หอพัก, ห้องประชุม, ศูนย์กีฬา และพื้นที่สันทนาการที่มีความทันสมัย รวมทั้งตัวเครื่องบินด้วย คาดว่าจะให้เม็ดเงินในการลงทุนประมาณ ๑,๕๐๐ ล้านบาท รวมถึงบริษัท บางกอก เอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (BAC) กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปลายปีนี้ คาดว่าจะระดมเงินได้ประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านบาท และเลือกที่จะมาลงทุนที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นหลัก เพื่อสร้างโรงเรียนการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เมืองของ

 

ตั้งเป้าผลิตนักบิน ๓๐๐ คน/ปี

                อนึ่ง บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (BAC) จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ด้วยทุนจำนวน ๒๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตั้งอยู่เลขที่ ๘๘/๑๑๗ ซอยวิภาวดีรังสิต ๗๒ แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เพื่อรับสอนการขับเครื่องบิน รับดูแล บำรุงรักษาเครื่องบิน คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วย ๑. นาวาอากาศโทปิยะ ตรีกาลนนท์ ๒. นาวาอากาศเอกสุรัตน์ สุขเจริญไกรศรี ๓. นาวาอากาศโทพัฒน์ วินมูน ๔. นายปฏิมา จีระแพทย์ และ ๕. นายธนัย ปรศุพัฒนา

 

                ทั้งนี้ BAC เป็นโรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย ก่อตั้งเมื่อพ.ศ.๒๕๔๕ และได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการและกรมการบินพลเรือน BAC เปิดสอนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี (CPL Course), หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล (PPL Course), หลักสูตรการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน (IR Course), หลักสูตรการบินด้วยเครื่องบินสองเครื่องยนต์ (MR Course), หลักสูตรครูการบิน (IP Course) รวมไปถึงหลักสูตรนักบินพาณิชย์เอก (ATPL Knowledge) มีกำลังการผลิตนักบินถึงปีละ ๒๐๐-๓๐๐ คน มีมาตรฐานและความพร้อมในทุกด้านการฝึก ทั้งพื้นที่การฝึกเครื่องบิน และบุคลากรการบินที่ได้ลงนามร่วมกับกองทัพอากาศเรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบัน BAC มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในไทย และยังมีแผนการขยายตัวไปในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ BAC มุ่งมั่นและมีความพร้อมในการผลิตนักบินพาณิชย์เข้าสู่อุตสาหกรรมการบินอย่างเต็มที่ โดยนอกเหนือจากหลักสูตรตามที่ข้อบังคับของคณะกรรมการกรมการบินพลเรือนที่ BAC ยึดเป็นแนวทางในการผลิตนักบินแล้ว BAC ยังลงทุนในการเสริมหลักสูตรนักบินตามโจทย์ของสายการบินต่างๆ ที่เน้นย้ำให้ศิษย์การบินมีประสบการณ์ที่กว้างและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งด้านการฝึกวินัย, บุคลิกภาพและลักษณะพึงประสงค์ของนักบิน, การศึกษาดูงานที่สนามบินต่างๆ และวิทยุการบิน, การนำเสนอ Final Project ที่ให้ศิษย์การบินได้รวบรวมความรู้ด้านการบินที่ได้เรียนมาใช้ตอบโจทย์ในกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง, การฝึกใน Flight Simulator Airbus A320 Type VI ถึง ๒๐ ชม. ก่อนจบหลักสูตร ซึ่งจะทำให้นักบินมีความพร้อมมากที่สุดก่อนปฏิบัติงานจริงกับสายการบิน

 

ผลิตนักบินแล้วกว่า ๑,๕๐๐ คน

                ในปัจจุบัน BAC ผลิตนักบินพาณิชย์ให้กับสายการบินระดับชาติหลายสายการบิน ทั้งไทยแอร์เอเชีย การบินไทย และไทยสมายล์ อีกทั้งยังมีกลุ่มลูกค้าสังกัดมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนการบินมาถึงปัจจุบัน BAC ผลิตนักบิน CPL จำนวน ๑,๔๐๓ คน โดย BAC วางเป้าหมายในการเป็นสถาบันอันดับหนึ่งในการผลิตนักบินสู่ตลาดโลก ปัจจุบันการรองรับปริมาณการเจรจาทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สายการบินต่างๆ ต้องสั่งซื้อเครื่องบินและเพิ่มเที่ยวบินให้บริการมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการนักบินยิ่งสูงมากขึ้นด้วย ตามที่รายงานของ Boeing เรื่อง Current Market Outlook 2016-2035 รายงานถึงสถานการณ์ความขาดแคลนนักบินทั่วโลก ซึ่งทั่วโลกมีความต้องการนักบินถึง ๖๑๗,๐๐๐ คน ภายใน ๒๐ ปีข้างหน้า โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีความต้องการสูงที่สุดถึง ๒๔๘,๐๐๐ คน

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจากนสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๑๑ วันเสาร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๕ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


 


687 1352