20thApril

20thApril

20thApril

 

February 16,2017

ครม.อนุมัติ ๑๑,๖๖๘ ล้าน เก็บสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ยืนยันโคราชสวยงาม

          ครม.มีมติอนุมัติงบ ๑๑,๖๖๘.๕๖ ล้านบาท ให้ กฟภ.พัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ รวม ๔ แห่ง “เชียงใหม่-พัทยา-หาดใหญ่-โคราช” กำชับมหาดไทยดูแลลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน ดูแลการดำเนินการให้เป็นตามกฎหมาย ฝ่ายผู้จัดการกฟภ.โคราชยืนยันทัศนียภาพเมืองโคราชจะดีขึ้น อัตราการเกิดอุบัติเหตุจะน้อยลงเพราะสายไฟไปอยู่ใต้ดินหมด

          ตามที่ “โคราชคนอีสาน” ได้เคยนำเสนอเรื่อง แผนดำเนินโครงการจัดระเบียบนำสายไฟฟ้าเหนือดินและสายเคเบิลลงสู่ใต้ดิน ของทางเทศบาลนครนครราชสีมา ภายใต้การบริหารของนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรี ในเส้นทางหลักเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เนื่องจากการขยายตัวของเมืองทำให้มีการติดตั้งสายไฟฟ้าและสายเคเบิลจำนวนมาก จึงมีแผนดำเนินโครงการเพื่อปรับภูมิทัศน์ของจังหวัดนครราชสีมาหรือโคราชให้สวยงาม ซึ่งจะเริ่มนำร่องที่บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ช่วงถนนชุมพล และถนนราชดำเนิน จากนั้นจะทยอยดำเนินการไปยังถนนสายหลัก รวมไปถึงย่านการค้าและพาณิชยกรรมด้วย หากโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นอีกหนึ่งเมืองต้นแบบที่ไร้สายไฟฟ้าและสายเคเบิล โดยมีการวางแผนที่จะแบ่งพื้นที่ในการดำเนินโครงการออกเป็น ๓ พื้นที่ (Zones) ซึ่งในการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ดิน ได้แก่ แบ่งการพัฒนาเป็น ๓ ระยะ คือ ระยะที่ ๑, ๒ และ ๓ ตามลำดับความสำคัญ โดยการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ดินระยะที่ ๑ ได้แก่ พื้นที่บริเวณถนนประจักษ์ ถนนมิตรภาพ ถนนบุรินทร์ ถนนสุรนารี ห้าแยกหัวรถไฟ ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ถนนราชดำเนิน ถนนราชนิกูล และแยกถนนไชยณรงค์ พบว่า บริเวณดังกล่าวซึ่งครอบคลุมเขตคูเมืองถึงลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และสถานีหัวรถไฟนครราชสีมา มีปริมาณโหลดหนาแน่นอยู่ระหว่าง ๑๒.๑๑๗-๒๓.๔๖๕ MW/km๒ และมีอัตราการเติบโตของโหลดในแต่ละปีต่ำ จึงเหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นระบบเคเบิลใต้ดิน โดยพิจารณาให้อยู่ในระยะที่ ๑ โดยมีการวางแผนดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ แต่ไม่มีความคืบหน้าในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด

          ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐ น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม ๕๐๑ ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีการประชุมถึงโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ อันได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พัทยา และหาดใหญ่ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ อนุมัติงบประมาณลงทุน ๑๑,๖๖๘.๕๖ ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ภายในประเทศ เป็นเงินจำนวน ๘,๗๔๘.๕๖ ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟภ. อีกจำนวน ๒,๙๒๐ ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้กระทรวงมหาดไทย โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน รวมทั้งให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไป

          ทั้งนี้ให้เร่งรัดดำเนินโครงการฯ ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด บูรณาการการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการฯ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน รวมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน อีกทั้งให้กระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลการดำเนินการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้เป็นตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องให้ความสำคัญกับการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการโครงการลงทุนให้เป็นไปตามแผนงานอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพโดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนของน้ำหนักตัวชี้วัดในระบบการประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Performance Appraisal : SEPA)  ในการวัดผลการดำเนินโครงการลงทุนตามแผนงานและระยะเวลาที่กำหนดด้วย

          ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ “โคราชคนอีสาน” ได้สอบถามไปยังนายมงคล ตรีกิจจานนท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา (กฟภ.นครราชสีมา) ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่นี้มีจังหวัดที่อยู่ในโครงการได้แก่ เชียงใหม่ พัทยา หาดใหญ่ และนครราชสีมา ซึ่งตามโครงการมีการเสนองบประมาณในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา ประมาณ ๑,๙๐๐ ล้าน แต่อาจจะมีการปรับลดหรือไม่ ยังไม่ชัดเจน ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงานนั้น มีขั้นตอนในส่วนของการออกแบบ และดำเนินการหาผู้รับจ้าง ซึ่งจะดำเนินการได้เมื่อใดนั้น ต้องรอมติอย่างเป็นทางการลงมายังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา เสียก่อน จึงจะเข้าสู่กระบวนการทำงานต่อไป

          “โคราชคนอีสาน” สอบถามเพิ่มเติมถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจังหวัดนครราชสีมาจะได้รับจากโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่นี้ นายมงคล ตรีกิจจานนท์ กล่าวว่า “อย่างที่เราเห็นกันอย่างชินตาในเรื่องของเสาไฟฟ้าและสายไฟที่ระเกะระกะ ทำให้บดบังทัศนียภาพในจังหวัดนครราชสีมา การพัฒนาระบบไฟฟ้าในครั้งนี้จะทำให้ทัศนียภาพดีขึ้น ชัดเจนในแง่ของความสวยงาม เพราะจะถูกนำลงใต้ดินทั้งเสาและสายไฟฟ้า รวมไปถึงในเรื่องของความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพราะจะไม่ต้องมีสายไฟไปติดอยู่กับอุปกรณ์ ผนัง ป้ายโฆษณาหรือตัวอาคารบ้านเรือนใดๆ  จะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้นและลดการเกิดอุบัติเหตุ อัตราการเกิดอุบัติเหตุก็จะน้อยมากเพราะระบบไฟฟ้าลงไปอยู่ใต้ดินหมดแล้ว”

          นอกจากนี้ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริเวณแรกที่จะดำเนินการในการย้ายสายไฟฟ้าลงดินตามโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่นี้ คาดว่าจะเป็นจากบริเวณห้าแยกหน้าสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา (ห้าแยกหัวรถไฟหรือห้าแยกนิ๊งหน่อง) ครอบคลุมไปถึงศาลหลักเมืองนครราชสีมา ซึ่งในเรื่องนี้หากมีรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างไร “โคราชคนอีสาน” จะติดตามมานำเสนอต่อไป

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๑๖ วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ - วันจันทร์ที่ ๒๐ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐


699 1344